เห็ดมิลกี้ เจ้าเห็ดยักษ์แสนอร่อย กับ 10 เรื่องต้องรู้ก่อนเริ่มปลูก
เห็ด คือ ส่วนหนึ่งที่เชื้อราชั้นสูงสร้างขึ้นมาเหนือดิน เพื่อ ใช้ในการแพร่ขยายสปอร์ออกไป และ เชื้อราเองก็ไม่ใช่พืชจึงไม่มีคลอโรฟิลล์ในการสังเคราะห์แสง เพื่อสร้างอาหาร แต่ต้องอาศัยการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุต่างๆ ในการเจริญเติบโต
การปลูก เห็ดมิลกี้ จึงไม่จำเป็นต้องทำแปลงอยู่ด้านนอกอาคาร เพื่อ ให้ได้รับแสงแดดเหมือนกับพืชผักที่เราปลูกกัน ไม่จำต้องรดน้ำ แต่เพียงแค่มีพื้นที่ภายในบ้านที่สะอาด ไม่โดนแดด ไม่มีลม และ มีอินทรีย์วัตถุให้เขาได้ย่อยสลาย เพื่อ ใช้ในการเจริญเติบโต ก็สามารถเลี้ยงเห็ดไว้เก็บกินภายในบ้านได้แล้ว
เห็ดมิลกี้เป็นเห็ดยักษ์ที่มีกลิ่นเหมือนนม แต่พอสุกแล้วกลิ่น และ รสชาติจะเหมือนกับอาหารทะเล และ สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายจนไม่ซ้ำเมนูเลย แต่ก่อนจะหาเชื้อเห็ดมาปลูกอย่างน้อยอยากให้รู้จักเห็ดมิลกี้มากขึ้นกันก่อน
เห็ดมิลกี้ (Milky Mushroom) มาจากหิมาลัย
เห็ดมิลกี้ยังมีชื่อหนึ่งที่ เรียกกันว่า เห็ดหิมาลัย ซึ่งมาจากถิ่นกำเนิดของเห็ดชนิดนี้ ที่มาจากหิมาลัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย โดยเห็ดชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่ เป็นเห็ดขนาดใหญ่ หมวกเห็ดกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-14 ซม. ก้านอวบหนาขนาดใหญ่ มีสีขาวทั่วทั้งต้น เนื้อแน่น เส้นใยสูง สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาล และ คอเลสเตอรอลในเลือด และ ช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น
รสชาติและกลิ่นของ เห็ดมิลี้ เหมือนนม
เห็ดมิลกี้ดอกสดมีกลิ่นไม่เหม็นหืนเหมือนเห็ดที่เคยทาน แต่กลับมีกลิ่นคล้ายกับนมตามชื่อเห็ดมิลกี้ และ จุดเด่นคือมีเนื้อที่หนา และ แน่น แล้วเมื่อพอปรุงสุกก็จะมีกลิ่นคล้ายกับอาหารทะเล เหมือนกุ้งไม่ก็ปู และ ไม่ใช่แค่กลิ่นเท่านั้นแต่พอได้ทานเข้าไปรสชาติก็เหมือนอีกเช่นกัน
แต่ละส่วนใช้ทำอาหารต่างกัน
อย่างดอกเห็ดขนาดใหญ่ สามารถนำมาใช้ทำเป็น เบอเกอร์เห็ดมิลกี้ โดยนำดอกเห็ดมาย่างใช้แทนแป้งของตัวเบอเกอร์ ส่วนก้านก็สามารถนำมาหั่นเต๋า ทำเป็นเห็ดดองไว้ทานคู่กับสลัดก็ได้ นอกจากนี้ ก็ยังสามารถทำเมนูเห็ดมิลกี้อื่นๆ ได้อีกมากมาย ทั้ง สปาเก็ตตี้คาโบนาล่าเห็ดมิลกี้ ซุปเห็ดมิลกี้ ดอกเห็ดมิลกี้ย่าง เป็นต้น
เห็ดมิลกี้ มีโปรตีนสูง
เห็ดมิลกี้ นอกจากจะสามารถใช้ส่วนต่างๆ มาทำอาหารที่หลากหลายได้แล้ว ยังมีโปรตีนที่สูงติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งพบว่าเห็ดมิลกี้มีโปรตีนร้อยละ 20.2-32.2 ของน้ำหนักแห้ง จึงเป็นที่นิยมของผู้คนที่รับประทานมังสวิรัติ เพราะสามารถรับประทานเห็ดมิลกี้ แทนแหล่งโปรตีนอื่นได้ดี
ราคาซื้อขาย 700-1,000 บาท/กิโลกรัม
เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีรสชาติที่อร่อย มีความต้องการในตลาดมาก ประกอบกับวิธีการปลูกที่ไม่ใช้น้ำ ซึ่งคุณภาพของเห็ดที่ได้จะดีกว่า จึงทำให้เห็ดมีน้ำหนักเบาแต่เนื้อแน่น เน่าเสียยาก และ ในบางฟาร์มจะเก็บเห็ดแค่รอบแรกครั้งเดียว เพื่อให้เห็ดมีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งจำนวนดอกเห็ดที่ได้จะอยู่ที่ 8-12 ดอกต่อกิโลกรัม จึงทำให้การปลูกเห็ดมิลกี้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
ปลูกเห็ดมิลกี้ไม่ต้องใช้น้ำ
สาเหตุที่ไม่ใช้น้ำก็ เพื่อ ไม่ให้ก้อนเห็ดมีความชื้นมากเกินไป พอความชื้นสูงก็จะทำให้ก้อนเห็ดเน่าได้ง่าย และ คุณภาพเห็ดที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงใช้ฟางข้าวในการเลี้ยงเชื้อ ซึ่งฟางข้าวที่นำมาใช้ต้องมีสีเขียวอมเหลืองดูสดใหม่ และต้องผ่านการฆ่าเชื้อมาก่อนด้วยการนึ่ง จึงทำให้ฟางข้าวดูดซึมน้ำไว้พอสมควร เวลามาใช้จึงไม่จำเป็นต้องเติมน้ำอีก เพราะ มีความชื้นที่เพียงพอแล้ว
อยากให้เห็ดมิลกี้ออกไวต้องเคสซิ่ง (Casing)
เคสซิ่ง (Casing) คือ การเปิดดอกโดยใช้มูลไส้เดือนคลุมผิวหน้าก้อนเห็ด เพื่อ กระตุ้นให้เห็ดเกิดดอกได้ไว ทำให้ผู้ปลูกสามารถบังคับเห็ดให้ออกดอก และ กำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความชื้น และ อายุของก้อนเห็ดด้วย ส่วนก้อนเห็ดที่ไม่ทำเคสซิ่ง ต้องรดจนเชื้อเห็ดในถุงแก่เต็มที่จึงจะออกดอก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ นับจากวันทำก้อนเห็ด
ปริมาณแสงส่งผลต่อรูปร่างของ เห็ดมิลกี้
แสงจำเป็นในการช่วยกระตุ้นการสร้างตุ่มดอก และ การเจริญของดอกเห็ด โดยเฉพาะในระยะออกดอก ถ้าเห็ดได้รับแสงน้อยก้านเห็ดจะยืดยาวหาแสง ในทางกลับกัน ถ้าเห็ดได้รับแสงมากจะส่งผลให้ก้านสั้น และ ดอกจะมีขนาดที่ใหญ่แทน ทำให้ เราสามารถกำหนดรูปร่างของเห็ดได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการใช้ชิ้นส่วนไหนมาทำอาหาร
ปลูกเพียง 28 วันก็เก็บ เห็ดมิลกี้ ได้
หลังจากที่ได้ก้อนเห็ดที่เชื้อเดินดีแล้ว ก็ให้เปิดถุงพร้อมพับปากถุงลงมา และ ทำการเคสซิ่ง หลังจากนั้น ให้นำไปวางไว้ในห้องสะอาด ที่มีอุณหภูมิ 30-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70% และ ระวังไม่ให้ก้อนเห็ดโดนแดด ฝน ลม ไม่ต้องให้น้ำเพิ่ม ภายใน 14 วัน เส้นใยจะพัฒนาเป็นจนเกิดเป็นดอกเห็ดจิ๋ว ก็ให้รอไปอีก 7 วัน เท่านี้ก็สามารถเก็บเห็ดมารับประทานได้แล้ว รวมเป็น 28 วันพอดี
เก็บเห็ดมิลกี้ควรใส่ถุงมือ
จะพยายามเก็บเห็ดมิลกี้ให้มีความชื้นต่ำ เพราะ ถ้ามีความชื้นสูงเมื่อไหร่จะทำให้เห็ดเน่าเสียได้ง่าย เก็บรักษาได้ไม่นาน ส่งผลให้ก้าน และ ดอกเห็ดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และ มีรสขม เมื่อนำมาปรุงอาหารจึงไม่อร่อย เวลาเก็บเห็ดก็ต้องสวมถุงมือเพื่อป้องกันความชื้นจากมือ โดยถอนออกมาทั้งก้าน ใช้มีดตัดส่วนที่สกปรกออก ค่อยๆ ลอกก้านด้านนอกออกจนเห็นเนื้อใน และ ให้ห่อด้วยกระดาษสะอาดไม่ต้องแน่นมาก
สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้การปลูกเห็ดแบบคนเมือง ก็สามารถไปอุดหนุน หนังสือ My Little Farm Vol.10 ปลูกเห็ดแบบคนเมือง กันได้นะ ซึ่งภายในเล่มจะมีเทคนิคเกี่ยวกับเห็ดมากมายที่สามารถทำเองง่ายๆ ด้วยตัวเอง
อยากปลูกเห็ดไว้เก็บกินเองที่บ้านจะเริ่มอย่างไร