มาดูวิธีช่วยลดปริมาณและกำจัด ขยะอาหาร จากการทานเหลือกัน! - บ้านและสวน

มาดูวิธีลดขยะอาหาร ด้วยการทำปุ๋ยหมัก

บทความจากหนังสือ “จงทำสวนของเรา” สำนักพิมพ์บ้านและสวน ขยะอาหาร

ถังขยะในบ้านของเราไม่มีเศษอาหาร นี่เป็นข้อสำคัญมากที่ทำให้ถังขยะไม่เน่าเหม็น และปริมาณขยะของเราก็น้อยมาก เพราะนอกจากไม่มีเศษอาหารแล้ว ขยะส่วนใหญ่ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ เช่น แก้ว โลหะ พลาสติก กระดาษ ก็จะถูกคัดแยกประเภทและส่งไปในที่ที่ควรไป ขยะอาหาร

เป็นความรับผิดชอบต่อขยะที่เราสร้างขึ้นไม่ให้เป็นภาระแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ฉันเห็นว่าทุกบ้านควรช่วยกันสร้างมาตรการในการจัดการขยะของตนเอง แม้ว่าจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองก็ตาม โดยเฉพาะเศษอาหารซึ่งไม่สมควรถูกทิ้งรวมในขยะทั่วไปและทำให้สถานการณ์ขยะเลวร้ายเพราะเกิดการเน่าเหม็น  เราจะช่วยกันลดและแก้ปัญหาขยะเน่าที่เต็มบ้านเต็มเมืองได้มากเลย ขยะอาหาร

วิธีแยกขยะ

ขยะอาหาร สำหรับเราไม่ใช่ขยะ แต่เป็นชีวิตหลังความตายเมื่อถูกพรากวิญญาณไปเป็นอาหารของคน แล้วก็กลับไปเกิดใหม่ในรูปแบบอื่นๆ เป็นคุณค่าชีวิตของอาหารที่ไม่มีสิ้นสุด ลองดูว่าเราสามารถทำอะไรกับเศษอาหารได้บ้าง

  • นำไปปลูกใหม่ ผักมากมายหลายชนิดเมื่อเราตัดใบกินแล้วยังสามารถนำกลับไปปลูกใหม่ได้อีก เช่น โหระพา สะระแหน่ แมงลัก ผักแพว แปะตำปึง ฯลฯ ใช้ก้านแช่น้ำไว้ไม่กี่วัน พอสังเกตว่ารากงอกก็นำกลับไปลงดินปลูกได้เลย ผักผลไม้ที่มีเมล็ดก็เก็บเมล็ดไว้ปลูกใหม่ต่อไป
  • นำไปเลี้ยงสัตว์ หมา เป็ด ไก่ ปลา เป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่ขจัดเศษอาหารของเรา แค่เลือกให้ตรงประเภทที่เหมาะสมกับพวกเขา เศษผักและผลไม้ที่หมาเราไม่กิน ก็ส่งไปให้เป็ดและไก่ เศษอาหารที่กินเหลือบางทีเราก็สาดลงบ่อน้ำให้พวกปลามาตอดกินหรือไม่ก็ย่อยสลายไปในธรรมชาติ
  • นำไปใช้ประโยชน์ต่อ ตัวอย่างเช่น
    • กากกาแฟ ใช้เช็ดถูภาชนะหรือหม้อกระทะที่มีคราบมัน ช่วยลดความมันได้เยอะเลย แล้วจึงนำไปล้างด้วยน้ำ ส่วนกากกาแฟนั้นค่อยเอาไปใส่กองปุ๋ย
    • น้ำมันที่ใช้แล้วเทใส่ขวดรวมไว้ เอาไปให้คนที่ทำไบโอดีเซล
    • เปลือกไข่ล้างสะอาด นำไปเป็นภาชนะสำหรับเพาะเมล็ดที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือบดให้ละเอียดผสมในดินปลูกต้นไม้ ช่วยเพิ่มแร่ธาตุให้ดินและป้องกันหอยทากไม่ให้มากวนต้นไม้ หรือบดละเอียดผสมในอาหารให้เป็ดไก่กินได้
    • เปลือกหอมหัวใหญ่ หากสะสมไว้มาก สามารถนำไปย้อมผ้าได้ด้วยการต้มในน้ำร้อนแล้วนำผ้าลงแช่ ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง จะได้ผ้าสีส้ม

  • นำไปทำปุ๋ย ปกติแล้วเราจะเหลือเศษอาหารถึงขั้นไว้ทำปุ๋ยน้อยมากด้วยวิธีการดังที่ว่ามาข้างต้น และเราเองก็ไม่กินอาหารเหลือทิ้งเหลือขว้างด้วย แต่วิธีนี้จะได้ใช้เมื่อเวลาที่เรามีการจัดกิจกรรมหรือมีคนเข้ามาใช้สถานที่มากๆ มักมีเศษอาหารเหลือทิ้งเสมอ เราจะใช้วิธีฝังในหลุมดินหรือหลุมหมักที่มีอยู่แล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็จะใส่เข่งหรือถังที่เตรียมพร้อมไว้ข้างครัวเสมอสำหรับใส่เศษอาหารหมัก นอกจากเศษผักและเปลือกผลไม้แล้ว ยังรวมถึงเศษอาหารที่กินเหลือ ก้างปลา กระดูกสัตว์ และเปลือกไข่ด้วย แค่ผสมเศษอาหารเหล่านี้กับดิน เศษใบไม้แห้ง หรือขี้วัวแห้ง คลุกเคล้าให้เข้ากันเพื่อให้วัสดุเหล่านี้ช่วยดูดซับความชื้นจากอาหาร  จะได้ไม่เกิดการเน่าเสีย หมักทับถมกันในหลุมหรือภาชนะที่เตรียมไว้ ถ้าใส่น้ำตาลหรือกากน้ำตาลเพิ่มลงไปจะเป็นอาหารให้จุลินทรีย์เติบโตได้เร็ว กระบวนการย่อยสลายจะได้เกิดเร็วขึ้น  เมื่อเวลาผ่านไปเศษอาหารของเราจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีนำไปผสมดินปลูกต้นไม้ต่อไป

  • ทำน้ำหมักชีวภาพ ใช้เศษผักหรือเปลือกผลไม้ ๓ ส่วน ผสมกากน้ำตาล ๑ ส่วน และน้ำ ๑๐ ลิตร (ถ้าต้องการผสมแบบเข้มข้น ไม่ต้องเติมน้ำก็ได้) หมักทิ้งไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดเป็นเวลา ๑ เดือน (อาจต้องเปิดฝาเพื่อไล่แก๊สออกบ้าง ป้องกันไม่ให้ขวดระเบิด) จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพนำไปเจือจางผสมกับน้ำใช้รดน้ำบำรุงต้นไม้ได้ หรือใส่ในกองปุ๋ยเพื่อเร่งการย่อยสลาย ส่วนน้ำหมักที่ได้จากเปลือกผลไม้รสเปรี้ยวอย่างเช่น มะนาว ส้ม หรือสับปะรด ผสมกับน้ำขี้เถ้า เหมาะจะนำไปใช้เป็นน้ำยาล้างจานซึ่งช่วยลดคราบมันได้

หมายเหตุ: ปัจจุบันนี้มีผู้ผลิตถังหมักชีวภาพแบบสำเร็จรูปออกมาจำหน่าย เป็นถังที่มีการออกแบบระบบเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน โดยไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนเลย ถ้าสนใจร่วมมือกันลดปัญหาขยะเน่าเหม็นของสังคม ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมและสั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ตนะคะ

ติดตามอ่านเรื่องราวการกลับไปอยู่กับธรรมชาติ  เรียนรู้จากการลงมือ และฝึกพึ่งพาตนเองอย่างสร้างสรรค์ในแง่มุมอื่น ๆ ของ Noojo Art and Farm (หรือ Noojo Art Museum) เพิ่มเติมได้ในหนังสือ จงทำสวนของเรา สำนักพิมพ์บ้านและสวน  www.baanlaesuan.com/books/agriculturepets/135242.html


เรื่องและภาพประกอบ : ภัทรพร อภิชิต
ภาพ : วีรวุฒิ กังวานนวกุล
บทความจากหนังสือ “จงทำสวนของเรา” สำนักพิมพ์บ้านและสวน

l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l