ห้องเรียนพอดีพอดี บรรเทาวิกฤติด้วยโอกาส
โรงเรียนบ้านท่าฮ่อ
ออกแบบ : Spacetime Architects โดยคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล
“อยากทำโรงเรียนในแบบที่กลมกลืนไปกับบริบทและชุมชนมากกว่า” คุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล เล่าถึงการออกแบบห้องเรียนพอดีพอดีแห่งนี้ให้เราฟัง สิ่งที่สถาปนิกต้องทำก็คือ การเลือกใช้วัสดุที่ได้มาอย่างคุ้มค่าและแม่นยำในการเลือกใช้ สร้างรูปแบบที่เด็กๆและคุณครูจะใช้งานอาคารได้ง่าย และมากกว่านั้นคุณกรรณิการ์ยังให้เด็กๆได้มีส่วนรวมในการก่อร่างสร้างโรงเรียนแห่งนี้ เช่น การช่วยกันปั้นอ่างล้างมือจากดินเหนียว “ถ้าเขารักและผูกพันกับโรงเรียน เขาก็จะอยากดูแลโรงเรียนให้ดี”
ห้องเรียนที่โอบล้อมไม้ใหญ่บริเวณกึ่งกลางของชานไม้เอาไว้จากสามทาง เป็นห้องเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาล ด้วยวัยกำลังซนพื้นที่ลานไม้จึงเป็นลานวิ่งเล่นที่ดีมากของเด็กๆ คุณกรรณิการ์เลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เช่น ไม้อัดและแผ่นซีเมนต์บอร์ด โดยตัวโรงเรียนนั้นเป็นโครงสร้างเหล็ก ใช้บานเกล็ดเป็นช่องเปิดรับลม ซึ่งเปลี่ยนจากกระจกเป็นไม้อัดและซีเมนต์บอร์ดสลับสีกัน เพื่อความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวของเด็กๆจึงทำช่องเปิดรับแสงบริเวณจั่วของอาคารแทน หลังคาเมทัลชีตที่ปูทับด้วยหญ้าคาและฝ้าเพดานจากไม้ไผ่สานก็ช่วยกันความร้อนจากแดดยามเที่ยงได้เป็นอย่างดีและเช่นเดียวกันก็ป้องกันลูกเห็บในฤดูหนาวได้อีกด้วย
คุณกรรณิการ์จงใจให้ภาพของอาคารหลังนี้มองดูคล้ายบ้านเรือนพื้นถิ่น ทั้งหลังคาหญ้าคาที่มีไม้ไผ่ทับกันปลิวอยู่ด้านบน หรือการยกพื้นเล็กๆ รวมทั้งบานเกล็ดไม้ เพราะนี่คือโรงเรียนของเด็กๆในช่วงเวลาประถมวัย การได้มีภาพจำของอัตลักษณ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้บ้างก็เป็นสิ่งดีๆที่จะติดตัวเด็กๆเหล่านี้ไปอีกนานเท่านาน และเมื่อพวกเขาโตขึ้น ก็น่าจะมั่นใจได้ว่าอย่างน้อย อาคารรูปทรงแบบบ้านๆของโรงเรียนแห่งนี้น่าจะติดตรึงอยู่ในความทรงจำของพวกเขาอย่างแน่นอน