ห้องเรียนพอดีพอดี บรรเทาวิกฤติด้วยโอกาส
โรงเรียนบ้านดอยช้าง
ออกแบบ : Site Specific โดยคุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์
เป็นห้องเรียนพอดีพอดีแห่งสุดท้ายซึ่งกำลังจะสร้างเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นความท้าทายของการออกแบบอาคารบนพื้นที่ภูเขา และโรงเรียนบ้านดอยช้างก็มีจำนวนนักเรียนมากที่สุดในโครงการ อาคารหลังนี้จึงมีขนาดใหญ่โตที่สุดไปด้วย
ด้วยคำนิยามว่า “Heart of School” หรือ “หัวใจของโรงเรียน” คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ได้ออกแบบเป็นอาคารสองชั้นโครงสร้างเหล็กที่มีลักษณะเปิดเข้าหาลานกลางโรงเรียน พร้อมทำบันไดขนาดใหญ่เพื่อทำหน้าที่คล้ายอัฒจันทร์ที่เด็กๆจะได้นั่งดูเพื่อนๆเล่นกีฬา หรืออาจนั่งทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งยังเป็นทางขึ้นอาคารอีกด้วย การออกแบบที่เกิดขึ้นทำให้อาคารเกิดพื้นที่ระหว่างภายในกับภายนอก เพราะคุณชุตยาเวศเชื่อว่าการศึกษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนต่างก็มีความสำคัญเทียบเท่ากันนั่นเอง
อาคารในเขตพื้นที่แผ่นดินไหว
การออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้ วิศวกรผู้ออกแบบจะต้องพิจารณารูปแบบของอาคารก่อน โดยต้องคำนึงถึงระบบโครงสร้าง (Structure) การยึดชิ้นส่วนต่างๆ (Anchorage) การยึดโยงโครงสร้าง (Bracing) ข้อต่อ (Connection) และความเหนียวของโครงสร้าง (Ductility) เป็นสำคัญ และก่อนการก่อสร้างวิศวกรยังต้องพิจารณาพื้นที่ สภาพดินในเขตนั้น รูปแบบของอาคาร รวมถึงต้องควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย
ปกติแล้วโครงสร้างสำหรับต้านทานแผ่นดินไหวจะแบ่งเป็นสองแบบหลักๆ คือ แบบที่ยินยอมให้โครงสร้างซับแรงได้ กับแบบแข็งเกร็ง หรือที่เรียกว่า “Rigid Frame” ซึ่งไม่ว่าจะลักษณะใดก็ล้วนทำเพื่อให้ผู้ใช้งานอาคารมีเวลาเพียงพอต่อการหลบหนีออกมาจากอาคารนั่นเอง
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, Design for Disaster