อิฐมอญ หญ้ามาเลเซีย เปลญวน มาจากประเทศเพื่อนบ้านจริงเหรอ?
คนไทยมีชื่อเรียกสิ่งต่างๆ มากมายที่ถูกนิยามผ่านชื่อของชนชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นการบ่งบอกที่มา เรามาดูกันดีกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกในแบบต่างๆ นั้นได้อย่างไร ประเทศเพื่อนบ้าน
อิฐมอญ
ชาวมอญมีถิ่นฐานในไทยมากมาย ตามประวัติศาสตร์มีบันทึกการอพยพใหญ่ๆ ไว้ถึง 9 ครั้ง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งแรกตั้งแต่สมัยพระเจ้าตะเบ๊งชะเวตี้ เมื่อมาแล้วก็ประกอบอาชีพที่ตนถนัด ตั้งแต่ทำไร่ ทำนา ค้าขาย และทำเครื่องปั้นดินเผา โดยการทำอิฐก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนมอญถนัด แถมยังทำได้ดีจนเป็นที่นิยมไปทั่ว ชาวมอญจึงยึดครองคำนิยามของอิฐดินเผาสีแดงๆ ไปโดยปริยาย ซึ่งแหล่งผลิตใหญ่ก็ยังคงมีอยู่ที่อยุธยามาจนถึงปัจจุบัน
หญ้ามาเลเซีย
ถ้าคุณไปมาเลเซีย และได้มีโอกาสถามคนมาเลย์ว่า หญ้าที่คุณเห็นเขาปลูกกันตามสวนสาธารณะหรือตามบ้านทั่วไป นี่รู้ไหมว่าหญ้าแบบนี้คนไทยเรียกว่า หญ้ามาเลเซีย คนมาเลเซียนก็จะแปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะคนมาเลเซียนไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเจ้าหญ้าที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดีนี้จะถูกคนไทยเรียกตามชื่อประเทศของเขา เอาเป็นว่าชื่อสากลของมันคือ tropical carpet grass ก็แล้วกัน
ยาหม่อง
ยาหม่องแก้เคล็ดขัดยอกนี้ พม่าไม่ใช่คนคิด แต่ที่มามาจากการค้าขายที่พ่อค้าพม่าไปรับของจีนเข้ามาแล้วก็มาขายให้คนไทย ไปๆ มาๆ คนไทยก็เลยเรียกเป็นยาหม่องไปเสียเลย ส่วนคำว่าหม่องนั้น เป็นคำเรียกผู้ชายพม่าที่มีอายุน้อย คนไทยได้ยินหม่องๆๆๆ เยอะไปหมด ก็เลยเรียกแทนพม่าว่าหม่องไปเลย
ลอดช่องสิงคโปร์
หลายคนคงทราบกันแล้วว่าชื่อลอดช่องสิงคโปร์มาจากร้าน สิงคโปร์โภชนา ร้านขายลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์บนเส้นถนนเจริญกรุง แต่จริงๆ แล้วตามประวัติของของหวานชนิดนี้สืบค้นได้ว่าน่าจะมาจากอินโดนิเซียก่อนแล้วแพร่หลายไปทั่วอาเซียนตั้งแต่พม่า เลยไปถึงติมอร์กันทีเดียว โดยชื่อดั้งเดิมที่อินโดและมาเลย์เรียกคือ cendol พม่าเรียก mont let saung เวียดนามเรียก banh lot กัมพูชาเรียก lot ส่วนสิงคโปร์เรียกสิ่งนี้ว่าchendol โดยนิยมกินกับถั่วแดงและเยลลี่ รสชาติจะต่างจากบ้านเราไหมต้องลองชิมเอง
ผักชีลาว
ไปลาวถ้าไปขอผักชีเขา เราก็จะได้ผักชีลาวมาอย่างแน่นอน เพราะลาวเขาเรียกผักชนิดนี้ว่า ผักซี(ตามสำเหนียงลาว) เช่นเดียวบางจังหวัดในภาคอีสานของไทย เอาเป็นว่าชื่อภาษาอังกฤษของผักชีลาวก็คือ dill ส่วนผักชีไทยนี่คือ coriander …ว่าแล้วก็คิดถึงแกงอ่อม
เปลญวน
อันนี้มาจากสุพรรณบุรี โดยเริ่มจากชุมชนเวียดนามคริสต์แถวสามเสน ล่องเรือขึ้นไปตั้งรกรากที่บ้านแม่พระประจักษ์ แถว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีคิดทำเปลจากเส้นด้ายถักขึ้นมาแทนเปลที่ใช้ผ้าผืนผูกแบบเดิม แล้วทำขาย จนคนเรียกเปลถักแบบนี้ว่าเปลญวน แถมปัจจุบันยังเรียกเปลธรรมดาว่าเปลญวนอีกด้วยซ้ำ
ก๋วยจั๊บญวน ขนมเบื้องญวน ข้าวเกรียบปากหม้อญวน
ในไทยอาหารเวียดนามถือเป็นอาหารยอดนิยมอีกประเภทหนึ่ง จึงไม่แปลกใจที่จะมีชื่ออาหารเป็นญวนอยู่หลายเมนู จริงๆ แล้วคนไทยเรียกญวนตามคนเขมร ซึ่งญวนแปลว่าคนเถื่อน โดยคนเวียดนามจะเรียกตัวเองว่า เหวียต ส่วนมันแกวนั้นไม่ใช่มาจากคำว่าแกว ที่คนไทยเรียกคนเวียดนามจากสำเหนียงการพูดว่าพูดไม่รู้เรื่อง เพราะมันแกวนั้นเพี้ยนมาจากภาษาจีนว่ามั่งกวงนั่นเอง
ผักตบชวา
ตบท้ายด้วยผักสามหาวหรือผักตบ รู้กันดีว่าผักตบชวามาจากเกาะชวา เมื่อครั้ง รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถเสด็จประพาสอินโดนิเซีย ในปี 2444 ซึ่งอินโดเองก็เพิ่งรับมามาปลูกจากการเป็นอาณานิคมของฮอลันดาได้ไม่นาน (ถิ่นกำเนิดจริงอยู่ที่ลุ่มน้ำอะเมซอน) จากผักตบ 3 เข่งที่ปลูกเพื่อความสวยงาม ปัจจุบันกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องขุดลอกกันทุกปี ไม่ใช่เพราะประเทศไทยเท่านั้น แต่พบปัญหานี้กับหลายประเทศทั่วโลกเลยทีเดียว ส่วนผักตบไทยเดิมนั้นก็กำลังจะสูญพันธ์ไปเนื่องด้วยเพราะต้องมีรากยึดติดกับดินชายฝั่ง ไม่สามารถลอยน้ำได้แบบผักตบชวาผู้มายึดครองน่านน้ำ