สวนยุโรปและสวนเอเชียร่วมสมัย ที่ออกแบบตามหลักฮวงจุ้ย
เมื่อเจ้าของบ้านให้โจทย์มาว่าชอบสวนอังกฤษและสวนทรอปิคัล เป็นสวนที่ต้องไม่รก ไม่ต้องดูแลจัดการอะไรมาก แต่ต้องร่มรื่น มีดอกไม้สีสันสดใส และช่วยเสริมสถาปัตยกรรมของบ้านให้โดดเด่นขึ้น จึงเป็นที่มาของ สวนยุโรปและสวนเอเชียร่วมสมัย แห่งนี้
นอกจากนี้ ทางเจ้าของบ้านยังมีรูปปั้นม้าเพกาซัสและองค์พระพิฆเนศที่สั่งทำพิเศษเพื่อเตรียมไว้ประดิษฐานในสวน ดังนั้น สวนยุโรปและสวนเอเชียร่วมสมัย จึงเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมดได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือทั้งอาคารรวมไปถึงสวนยังถูกจัดวางอย่างถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยด้วย
คุณดอส – ปณัฐ สุมาลย์โรจน์ นักจัดสวนผู้ก่อตั้งบริษัทเพอโกล่าร์ จำกัด ได้รวบรวมความต้องการและอธิบายแนวคิดในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ทั้งหมด “พื้นที่ทั้งหมด 1.5 ไร่ หลังจากซินแสวางตำแหน่งต่าง ๆ ตามหลักฮวงจุ้ยแล้ว ทั้งเจ้าของบ้าน ทีมออกแบบบ้าน และทีมออกแบบสวนมาร่วมพูดคุยกัน แล้วค่อยออกแบบ ซินแสกำหนดให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ตามแนวของเสาอาคาร พิจารณาจากสถาปัตยกรรมของบ้านที่เป็นทรงยุโรป ประกอบกับความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากได้สวนที่ดูเรียบร้อยสบายตา ต้นไม้ไม่ต้องมากจนดูรก สวนฟอร์มัลเป็นสไตล์ที่ตอบโจทย์ที่สุดครับ
“สวนฟอร์มัลของที่นี่จะต่างไปจากที่เคยเห็นทั่วไปครับ จะเห็นว่ามีไม้ใหญ่ปลูกอยู่ตามมุมต่าง ๆ และเป็นฟอร์มที่ใช้ในสวนทรอปิคัล เราเลือกใช้ไม้มงคล เช่น นางกวัก มั่งมี ตามความเชื่อที่จะช่วยเรียกทรัพย์และส่งเสริมบารมีให้เจ้าของบ้าน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าต้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่เพื่อให้เหมาะกับขนาดของพื้นที่ หากลงต้นที่เล็กกว่านี้ก็จะจม เราใช้ไม้พุ่มอย่างคริสตินา ชาฮกเกี้ยน ตัดแต่งเป็นทรงเหลี่ยม เพื่อใช้เป็นขอบกำหนดผังสวนฟอร์มัลให้ชัด เสริมด้วยไม้ดอกที่มีอายุการใช้งานนาน ออกดอกดก ดูแลง่าย และอยู่ในโทนสีโทนสีขาว ชมพู ฟ้า ม่วง ตามสไตล์สวนอังกฤษแบบที่ คุณเก๋ – เปรมระพี ยิ่งถิราทรัพย์ เจ้าของบ้าน ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นพุดศุภโชค บุษบาฮาวาย มาร์กาเร็ต ยี่โถแคระ ต้อยติ่งเทศ แวววิเชียร ไม้ดอกกลุ่มนี้เราจะตัดแต่งเพียงแค่คุมขนาดทรงพุ่ม ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรงเรขาคณิต เพื่อยังคงรักษาภาพรวมของสวนฟอร์มัลที่เป็นระเบียบครับ”
ในระหว่างที่เรากำลังเดินไปชมสวนอีกโซน คุณดอสเล่าว่าการออกแบบของเพอโกล่าร์จะเป็นสวนแนวร่วมสมัย ใส่ความโมเดิร์นสอดแทรกเข้าไปในรากฐานเดิมของสไตล์สวนแต่ละแบบ มีการผสมผสานสไตล์สวนเข้าด้วยกันเพื่อให้สวนมีความสวยงามต่างออกไป ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของสถานที่ และมักออกแบบโดยใส่ฟังก์ชันซ้อนฟังก์ชัน ทั้งในเรื่องของการใช้งานและการแก้ปัญหาในการออกแบบ
“ที่นี่เราจะแบ่งสวนออกเป็น 2 สไตล์ สวนยุโรปอยู่ด้านหน้า ส่วนสวนสไตล์เอเชียอยู่ด้านหลัง ที่เรียกแบบนี้เนื่องจากในงานออกแบบของเราจะมีการผสมสไตล์สวนที่ใกล้เคียงเข้าด้วยกัน จะไม่เป็นสไตล์ใดสไตล์หนึ่งที่ชัดเจนอย่างที่เล่าให้ฟังครับ
“สวนน้ำชายุโรปที่อยู่ด้านหน้าเรือนรับรองนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดครับ จามจุรีต้นใหญ่เป็นสิ่งที่คุณไก่ขอเอาไว้ เพราะชอบฟอร์มต้นที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา เป็นตัวแปรหลักที่กำหนดสไตล์สวนโซนนี้ครับ ด้วยลักษณะทรงต้นที่แตกกิ่งแผ่กว้าง ทำให้บริเวณด้านล่างค่อนข้างร่ม ซึ่งมีผลกับการเลือกใช้ต้นไม้ระดับล่าง เราออกแบบสวนโซนนี้ให้มีความเป็นธรรมชาติผ่อนคลายมากขึ้น เลือกใช้พรรณไม้และจัดวางในตำแหน่งที่ไม่เป็นระเบียบนัก แต่ยังคงใช้ไม้ตัดแต่งทรงพุ่มและต้นไม้ที่มีฟอร์มสวยด้วยตัวเอง เช่น เข็มอินเดีย นีออน สนหอม ปริกหางกระรอก โกศจุฬาลัมพา หรือผักชีลาว เพื่อให้เชื่อมโยงกับสวนฟอร์มัลด้านหน้าบ้าน วางแผ่นหินธรรมชาติเป็นทางเดิน พื้นโรยกรวดแกลบสีน้ำตาล ทำให้ดูลื่นไหลไม่แข็งจนเกินไป กำหนดจุดวางศาลา โคมไฟสนาม กระถางเอิร์น และม้านั่งอัลลอยสไตล์ยุโรป ให้กลิ่นอายของสวนอังกฤษแบบที่คุณเก๋ชอบ นอกจากสวนที่ดูร่มรื่นส่งเสริมสถาปัตยกรรมของเรือนรับรองแล้ว ยังใช้เป็นพื้นที่เอาต์ดอร์สำหรับนั่งเล่นพักผ่อน เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วยครับ
“โซนสวนหลังบ้านเป็นงานออกแบบที่ค่อนข้างยากครับ เนื่องจากมีพระพิฆเนศที่คุณไก่สั่งทำเป็นพิเศษและซินแสกำหนดให้ประดิษฐานไว้ด้านหลังบ้านติดกับบ่อปลาคาร์ป อีกทั้งยังมีห้องทำงานที่ต่อเติมระเบียงและหลังคาสไตล์จีน คุณไก่อยากได้สวนที่มองแล้วสบายตา และมีความเป็นส่วนตัว เราจะออกแบบอย่างไรให้สวนอยู่ตรงกลาง เชื่อมความเป็นเทรดดิชั่นและคัลเจอร์ของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดในบริเวณนี้ให้กลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกัน ผมออกแบบให้มีความผสมผสานระหว่างสวนสไตล์จีนกับสวนญี่ปุ่น โดยไม่เอนไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งชัดเจน
“ผมเรียกสวนโซนนี้ว่าสวนเอเชีย หรือจะเรียกว่าเป็นสไตล์โมเดิร์นโอเรียนทัลก็ได้ครับ ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดหมึกจีนที่เป็นภาพทิวเขาซ้อนเหลื่อมกัน มีต้นไม้ฟอร์มสวยคล้ายบอนไซ เราใช้แผ่นพลาสวูดตัดเป็นรูปภูเขาวางซ้อนบนกำแพงเดิม ตกแต่งทาสีใหม่ ต้นไม้เด่นโซนนี้จะเน้นไม้ฟอร์มลีลา เช่น หว้าแม่น้ำโขง จิกน้ำ และพุดกังหัน ส่วนไม้พุ่มด้านหลังจะเน้นไม้ใบหรือไม้ฟอร์มเฉพาะ เช่น หญ้าถอดปล้อง สนเลื้อย หลิวใบ หนวดปลาดุกแคระ ที่มีสีเขียวให้ความรู้สึกสบายตา ใส่ความเป็นญี่ปุ่นด้วยตะเกียงหิน ตกแต่งเพิ่มด้วยหินแกรนิตก้อนใหญ่ ทางเดินใช้เป็นแผ่นพื้นทรายล้าง พื้นโรยหินเกล็ดสีขาวและสีเทาเข้มสลับกันเป็นเส้นโค้งให้ดูพลิ้วไหว เปรียบเหมือนสายน้ำที่ไปบรรจบกับบ่อปลาคาร์ป เพิ่มลูกเล่นให้ดูน่าสนใจมากขึ้นครับ”
สวนนี้เป็นตัวอย่างของการผสมผสานสไตล์สวนเข้าด้วยกัน เกิดเป็นแนวสวนร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์ในแบบของเพอโกล่าร์ การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่นอกจากจะตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยแล้ว ยังมีฟังก์ชันแฝงอื่น ๆ ซ่อนซ้อนไว้ เพื่อใช้พื้นที่ในสวนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับเดือนกันยายน 2567
เจ้าของ : คุณเปรมระพี ยิ่งถิราทรัพย์
ออกแบบ : บริษัทเพอโกล่าร์ จำกัด โดยคุณปณัฐ สุมาลย์โรจน์
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : นันทิยา บุษบงค์