ทุ่งน้ำนูนีนอย (Nunienoi) พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างมาก กับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม
ทุ่งน้ำนูนีนอย (Nunienoi) ของนักนิเวศวิทยา ดร.อ้อย – สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เป็นต้นแบบที่ดีในการทำรู้จักคำว่า “Rewild” กับพื้นที่ชุ่มน้ำกลางนาที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
สวนทุ่งน้ำ หรือ wetland การคืนระบบนิเวศสู่ธรรมชาติในเมือง
การทำให้สวนในบ้านเป็นมิตรต่อโลกและเพื่อนต่างสายพันธุ์
จากนาสู่ป่าที่อยู่ร่วมกันได้
ทุ่งน้ำนูนีนอยแห่งนี้เกิดขึ้นจากดร.อ้อย และครอบครัว ซื้อที่ดินที่อำเภอเชียงดาวแห่งนี้ ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาท้องนาเอาไว้ไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยทดลองระบบการผลิตให้อยู่ร่วมกับการฟื้นป่ากลับมาใหม่ ไม่ใช่ป่าต้องอยู่แต่ในอุทยานแห่งชาติเท่านั้น พื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่ในเมืองก็สามารถเข้าสู่กระบวนการ Rewild ได้ การทำพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นบ้านของพืชและสัตว์พื้นถิ่นจึงเกิดขึ้น เพราะสามารถเข้ากับการทำนาได้ดี
นิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ
“บ้านต้องมีโครงสร้างใช่ไหมคะ ระบบนิเวศก็เช่นกัน สำหรับ Wetland (พื้นที่ชุ่มน้ำ) โครงสร้างก็คือชายน้ำที่มีความลึกต่างกัน ตั้งแต่ชายน้ำที่น้ำไม่ท่วม ส่วนที่น้ำท่วมบ่อย ไปจนถึงที่ลึกไปเลย ทั้งหมดคือโครงสร้างที่พืชและสัตว์อาศัยอยู่ มีพงต้นแขม มีบัวให้สัตว์ได้มาวางไข่” ดร.อ้อย นักนิเวศวิทยาผู้ก่อตั้งทุ่งน้ำนูนีนอยมานานกว่า 2 ปี อธิบายให้เราฟัง
แต่ก่อนที่จะเริ่มทำให้น้ำมีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัยที่ดีของสัตว์นั้น ต้องเริ่มมาจากคุณภาพน้ำที่ดีก่อน พื้นที่แห่งนี้จึงออกแบบใหม่ เพื่อการบำบัดน้ำจากลำเหมืองสาธารณะที่อาจไม่ได้มีคุณภาพที่เหมาะสมนัก โดยวางบ่อไว้ตามจุดต่าง ๆ ดังนี้ เริ่มจากบ่อแรกเป็นบ่อพักตะกอนที่น้ำขุ่นจะอยู่ในจุดนี้ก่อน สังเกตได้ว่าบ่อนี้จะไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์หรือมีไม้น้ำขึ้นเท่าไร จากนั้นเข้าสู่บ่อถัดมาพร้อมกับทางน้ำที่คดเคี้ยวเพื่อเติมอากาศให้น้ำ และไหลไปยังพื้นที่น้ำแฉะ ก่อนไหลรวมลงบ่ออีกครั้ง และเดินทางไปยังบ่อที่มีคุณภาพน้ำดีอย่างบ่อใหญ่ที่เป็นบ่อบัวด้านติดกับที่พักอาศัย และแปลงกุหลาบต่อมา
สมดุล พึ่งพา เพื่อนและศัตรู
ในโซนแปลงกุหลาบตรงนี้เองถือเป็นแปลงการเกษตรที่มีความสมดุลและน่าสนใจ เนื่องจากกุหลาบมักเป็นที่ชื่นชอบของศัตรูพืชหลายชนิด แต่กุหลาบที่นี่ยังคงออกดอกงาม สามารถนำไปทำชากุหลาบได้ โดยไม่ต้องกังวลกับสารเคมี ในแปลงนี้ ยังพบแมงมุมอีกกว่า 50 สายพันธุ์ที่มาช่วยกินศัตรูพืช ดร.อ้อย อธิบายว่า “ชีวิตต่าง ๆ ช่วยกันกำกับวงจรนิเวศให้เรา ระบบนิเวศจะมีเพื่อนและศัตรู ถ้าเราขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ในระบบนิเวศ ชีวิตเราก็ง่ายขึ้น
“นอกจากนี้น้ำรอบแปลงยังเป็นแหล่งอาศัยของปลากัดที่ชอบอยู่ในน้ำสะอาด และปลาอื่น ๆ อีกหลายชนิด แสดงให้เห็นว่าคุณภาพน้ำในจุดนี้ เมื่อได้รับการบำบัดตามธรรมชาติแล้วดีเพียงใด หรือบางคนอาจสงสัยว่าที่นี่ต้องมียุงเยอะแน่เลย แต่ก็ไม่ใช่ เพราะเรามีแมลงปอเยอะเช่นกัน แมลงปอตัวหนึ่งจะกินยุงถึงวันละร้อยตัว เลยไม่ได้มียุงเยอะอย่างที่บางคนเข้าใจ”
การทำงานของบ่อดักตะกอนในทุ่งน้ำนูนีนอย
ระบบทุ่งน้ำกินพื้นที่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำหน้าที่บำบัดน้ำชลประทานที่ไหลเข้ามา โดยมีหลักการง่าย ๆ คือขุดบ่อลึกที่ต้นทาง เพื่อทำหน้าที่ชะลอน้ำที่ไหลเข้ามาและปล่อยให้ตะกอนที่มากับน้ำทิ้งตัวลงก้นบ่อ ส่วนน้ำที่อยู่ด้านบนก็จะไหลเข้าสู่ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ ให้พืชน้ำช่วยกรองและบำบัดต่อ หรืออาจสร้างแก่งเพิ่มออกซิเจนในน้ำ แต่เนื่องจากพื้นที่ของนูนีนอยมีความลาดเอียงไม่มากนัก จึงไม่มีแก่ง แต่มีฝายยกน้ำให้ล้นไหลลงไปสู่บ่อต่าง ๆ ผ่านพื้นที่ทุ่งน้ำแฉะ (Wet Meadow) และทางไหลคดเคี้ยวเอื่อย ๆ (Meandering) เลียนแบบลักษณะการเดินทางของทางน้ำพื้นราบ ซึ่งก็มีบทบาทช่วยบำบัดน้ำ รวมถึงเพิ่มอากาศและทิ้งตะกอนละเอียด จากนั้นเมื่อถึงสระหน้าบ้าน (บ่อ 4) น้ำก็จะใสสะอาด เคล็ดลับสำคัญ คือ ให้สร้างความหลากหลายทางกายภาพเยอะ ๆ โดยเฉพาะระดับน้ำตื้น – ลึกที่แตกต่างกันในระบบ Wetland เพื่อเกื้อหนุนหลากหลายชีวิตทั้งพืชและสัตว์น้ำ
พฤติกรรมของสัตว์ที่เปลี่ยนไป
ดร.อ้อย ยังขยายความต่อไปอีกว่า ตอนนี้ที่นี่มีนกหลายชนิดเข้ามาพักพิง โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องมีนกหายากให้เห็น แต่ดีใจที่พฤติกรรมของนกที่มาเปลี่ยนไป จากเดิมนกกวักแถวนี้ที่พอมาก็จะกลัวคน มาตรงบ่อก็จะรีบวิ่งผ่าน พอนกรุ่นที่สองที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ก็จะกลัวคนน้อยลง นกจะลงมาใช้ชีวิตสบาย ๆ ขึ้นในที่แห่งนี้ อีกทั้งยังมีเป็ดแดงมาอยู่โดยไม่ต้องกลัวคนมายิง
ทั้งหมดนี้ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการคืนความเป็นป่าให้กลับเข้ามามีส่วนร่วมกับคนอีกครั้ง และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของพืชพรรณไม้พื้นถิ่นที่ช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้แต่ละพื้นที่ ท่ามกลางวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินอยู่
นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567
สถานที่ : ทุ่งน้ำนูนีนอย (Nunienoi) อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
เจ้าของ: ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ออกแบบ: ใจบ้านสตูดิโอ
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ภาพประกอบ: เอกรินทร์ พันธุนิล