เยี่ยมโรงเรือนบรอมีเลียดหรือสับปะรดสีหลากชนิด พร้อมวิธีการปลูกแบบมืออาชีพ
การ ปลูกสับปะรดสี ที่มีสีสันสดใสและรูปทรงอันหลากหลายของทั้งใบ ดอก และทรงต้นที่งามราวกับผลงานศิลปะที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ทำให้ คุณอ๊อตโต้- ทินกร กำลังงาม เริ่มหลงเสน่ห์ของ “บรอมีเลียด” หรือ “สับปะรดสี” รวมถึงต้นไม้ในวงศ์ Bromeliaceae ชนิดอื่นๆ
จนเริ่ม ปลูกสับปะรดสี สะสม เพาะพันธุ์สำหรับประกวดและจำหน่ายจนเต็มโรงเรือน ทำให้ OTTO Bromeliad กลายเป็น โรงเรือนสับปะรดสี ที่น่ามาเที่ยวชมและล้วงความลับในการปลูกมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
การสร้างโรงเรือนสับปะรดสี
โรงเรือนอ๊อตโต้ บรอมีเลียดตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณอ๊อตโต้เป็นผู้ออกแบบโรงเรือนด้วยตัวเอง แต่ละเรือนใช้ปลูกพรรณไม้ต่างประเภทกัน เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพรรณไม้ชนิดนั้นๆให้มากที่สุด เช่น ไม้ทนแล้งหรือไม้ทะเลทรายจะใช้หลังคากันฝนแบบโปร่งแสง เพื่อให้แสงแดดส่องเข้ามาช่วยทำให้ภายในมีความชื้นน้อยที่สุด แต่ยังต้องเปิดด้านข้างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนโรงเรือนบรอมีเลียดจะแบ่งเป็น 2 เรือนใหญ่ คือ ดิกเกียหรือสับปะรดหนาม กับสับปะรดสีทั่วไป เนื่องจากดิกเกียจัดอยู่ในกลุ่มไม้ทนแล้ง ต่างจากสับปะรดสีทั่วไปที่ส่วนใหญ่ชอบความชื้น ดังนั้นโรงเรือนของดิกเกียจะเปิดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พื้นปูคอนกรีตเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาดและแห้งเร็ว ส่วนโรงเรือนสับปะรดสีอื่นๆจะปูพื้นดินโรยกรวดที่ช่วยสะสมความชุ่มชื้นได้ตลอดวัน หากพื้นที่ปลูกมีแสงแดดจัด ความชื้นสัมพัทธ์น้อย ก็จะทำให้เกิดอาการใบเหลืองจากแดด และอาจทำให้ใบไหม้ได้
“สิ่งสำคัญคือต้องกรองแสงด้วยหลังคาซาแรนกรองแสงอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นสับปะรดสีที่ปลูกกลางแดดได้อย่างแอคเมีย โฮเฮนเบอร์เกีย และนีโอเรเจเลียก็ตาม สำหรับผู้ปลูกสับปะรดสีในสวนทั่วไปควรปลูกในที่ที่ได้รับแสงเพียงครึ่งวันเช้า เพราะแดดในช่วงบ่ายอาจแรงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน”
วัสดุปลูกและการดูแล
คุณอ๊อตโต้เล่าถึงการใช้วัสดุปลูกต่อว่า “แม้บรรยากาศในโรงเรือนหรือภายในสวนควรต้องชุ่มชื้น แต่วัสดุปลูกหรือเครื่องปลูกไม่ควรแฉะจนเกินไปหรือเกิดน้ำขังได้ง่าย คนทั่วไปสามารถใช้กาบมะพร้าวสับเป็นวัสดุปลูกอย่างเดียวได้เลย แต่ควรแช่น้ำไว้ 3 วันก่อนใช้ อาจผสมกับถ่านและอิฐมอญทุบด้วยก็ได้ สำหรับผู้ที่จะปลูกสับปะรดสีในสวนแนวตั้งควรใช้รากชายผ้าสีดาแห้งจะช่วยสะสมความชื้นได้ดีที่สุด
“สามารถบำรุงโดยใช้ปุ๋ยสูตรเสมอหรือปุ๋ยละลายช้า โรยที่ด้านบนวัสดุปลูกในช่วงเย็น และต้องเลือกกระถางให้เหมาะสมกับต้นและดินในกระถางด้วย อาจใช้กระถางที่มีขนาดเล็กกว่าต้นก็ได้ เพราะยิ่งกระถางใหญ่ ปริมาณวัสดุปลูกยิ่งมาก ความชื้นก็จะยิ่งเยอะเกินไปและระบายน้ำได้ช้า อาจส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับเชื้อราและเน่าได้ง่าย ส่วนการรดน้ำจะรดทุกวันก็ได้ หรือจะวันเว้นวันก็ได้ สิ่งสำคัญคือสังเกตอย่าให้น้ำที่ขังตรงกลางต้นแห้ง
“ส่วนดิกเกียจะใช้วัสดุปลูกที่แตกต่างกันออกไป คือเน้นให้โปร่งและระบายน้ำง่าย เช่น ดินปนทรายผสมกับกาบมะพร้าวสับละเอียด เช่นเดียวกับการให้น้ำ ควรให้เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็พอ ในช่วงฤดูฝนสามารถหยุดให้น้ำไปได้เลย”
การขยายพันธุ์
วิธีขยายพันธุ์ที่ง่ายที่สุดคือการแยกหน่อ โดยตัดหน่อที่ตัดแยกออกมาแล้วควรทาด้วยปูนแดงหรือยากันเชื้อรา ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงนำไปชำบนกาบมะพร้าวสับ โดยรากจะออกบริเวณโคนกาบใบ ให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
การเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความสนุกในการปลูกบรอมีเลียดหรือสับปะรดสีคือการผสมให้ได้สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจได้ลูกผสมที่สวยกว่าเดิมหรือด้อยกว่าเดิมก็ได้ โดยนำเกสรเพศผู้จากต้นพ่อไปผสมในเกสรเพศเมียของต้นแม่จากต้นที่กำลังออกดอกอยู่ รอจนต้นเกิดเมล็ดก็นำไปเพาะเป็นต้นใหม่
“มีสูตรที่คนในวงการบอกกันต่อมาว่าต้นลูกจะได้สีและลายของใบจากต้นที่เป็นเกสรเพศผู้ ส่วนลักษณะรูปทรงต้นไม้ได้จากต้นที่เป็นเกสรเพศเมีย แต่ผมว่าไม่จริงเสมอไป ถือเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของการปลูกสับปะรดสีที่คอยลุ้นว่าลูกที่เกิดจะออกมามีสีสันและลวดลายอย่างไร”
โรคที่พบและการดูแลรักษา
ศัตรูพืชของสับปะรดสีมีอยู่ไม่มาก โดยทั่วไปที่พบบ่อยคือเพลี้ยหอยและตั๊กแตน ซึ่งจัดการได้โดยขูดตัวออกให้หมด ตัดใบแห้งและใบแก่ด้านล่างออก และโรยด้วยสตาร์เกิลจี (Starkle G: ชื่อการค้า)
หากรอบโคนต้นเริ่มเน่าแสดงว่าเป็นโรคแอนแทรคโนส ให้นำต้นนั้นมาตัดส่วนใบที่เน่าออก แล้วทิ้งหรือทำลายโดยการเผา จากนั้นก็ล้างและนำสับปะรดสีต้นนั้นไปผึ่งให้แห้ง ก่อนนำไปปลูกในวัสดุปลูกใหม่และอาจพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา
“อย่าลืมหมั่นล้างและทำความสะอาดแกนกลางของสับปะรดสีให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด เพื่อไม่ให้เกิดตะไคร่ เพราะจะไปเกาะทำให้สีของใบไม่สวยงามเท่าที่ควร”
สามารถเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรือนของคุณอ๊อตโตได้ที่
โรงเรือนอ๊อตโต้ บรอมีเลียด 339 หมู่ที่ 5 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ 08-1783-9771
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข