การป้องกันวัชพืช ก่อนการจัดสวน เพื่อลดภาระการดูแลในระยะยาว - บ้านและสวน

การป้องกันวัชพืช ก่อนการจัดสวน เพื่อลดภาระการดูแลในระยะยาว

การป้องกันวัชพืช ก่อนการจัดสวน เป็นวิธีที่ดีที่สุด และเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งต้องเริ่มในขั้นตอนการเตรียมดิน ก่อนการปลูกต้นไม้ และหญ้าสนาม

การป้องกันวัชพืช เป็นการกำจัดวัชพืชที่มีอยู่ในพื้นที่ก่อนการจัดสวน ซึ่งหลังจากการสำรวจพื้นที่ที่จัดสวนว่ามีวัชพืชชนิดใดบ้างแล้ว ให้ประเมินหาวิธีการที่เหมาะสม และเลือกใช้อุปกรณ์กำจัดวัชพืชที่เป็นไปได้ โดยอาจพิจารณาจากวิธีการที่ บ้านและสวน นำมาแนะนำ ดังต่อไปนี้

การป้องกันวัชพืช

1. ใช้แรงคน และเครื่องมือที่เหมาะสมในการขุดถอนออกทิ้ง

ต้องประเมินดูขนาดพื้นที่, ปริมาณวัชพืช และกำลังคนว่าพอสู้ไหว ถ้าทำได้จะวิธีนี้ได้ผลดีมากเช่นกัน แต่การขุดวัชพืชออกนั้น ต้องขุดพรวนลึก ๆ จึงจะเอาลำต้นใต้ดินขึ้นมาได้ โดยเฉพาะวัชพืชที่กำจัดยากต่อไปนี้ คือ แห้วหมู หญ้าชันกาด หญ้าคา วัชพืชพวกนี้มีเศษรากหรือลำต้นใต้ดินหลงเหลืออยู่ใต้ดินเล็กน้อยก็งอกขึ้นใหม่ได้ วัชพืชใบกว้างที่กำจัดยาก เช่น ผักโขม  ผักโขมหนาม ไมยราบใหญ่ ไมยราบเลื้อย  

มีวิธีการกำจัดที่หลายคนใช้แล้วได้ผล คือ พื้นดินบริเวณที่วัชพืชจำพวก แห้วหมู หญ้าชันกาด หญ้าคา ขึ้นหนาแน่น กำจัดด้วยการขุดดินออกเป็นบล็อกขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้างตามความหนาแน่นของวัชพืช โดยขุดให้ลึกลงไปถึงชั้นลำต้นใต้ดินของวัชพืชแล้วเอาออกไปทิ้งทั้งหมด ไม่ต้องมานั่งทุบพรวนดินเพื่อเก็บออกทีละต้น แล้วสั่งดินที่ไม่มีวัชพืชเข้ามาถมแทนที่ ส่วนที่ขึ้นเบาบางก็ใช้แรงคนขุดพรวน ถอนออกทิ้ง

2. การใช้สารเคมี

เมื่อพูดถึงเรื่องสารเคมี หลายคนจะเกิดความกลัวและกังวล แต่หากได้ศึกษาในข้อเท็จจริงแล้วจะพบว่า การใช้สารเคมี ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ในเวลาและอัตราที่เหมาะสม เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายได้มาก ไม่ได้มีผลเสียต่อสภาพดินและไม่มีผลกระทบต่อชีวิตของเจ้าของสวนอย่างที่กลัวกัน

เมื่อประเมินพื้นที่แล้วว่าจำเป็นต้องใช้สารเคมี เราจะต้องรู้จักชนิดของวัชพืช เพื่อจะได้เลือกใช้กลุ่มสารเคมีที่สามารถกำจัดอย่างได้ผล เพราะสารเคมีกำจัดวัชพืชจะมีหลายกลุ่ม ดังนี้

  • สารกำจัดวัชพืชประเภทเลือกทำลาย เช่น สำหรับกำจัดวัชพืชประเภทใบกว้าง อย่าง ผักโขมและไมยราบเลื้อย แต่ในพื้นที่นั้นมีพืชหลักอื่นที่เราต้องการอยู่และเป็นพืชใบแคบ (ใบเลี้ยงเดี่ยว) เช่น หญ้าสนาม ไอริส ซุ้มกระต่าย พลับพลึง ตะไคร้ ให้ใช้ 2,4-D-ไดเมทธิลแอมโมเนียม
  • สารกำจัดวัชพืชชนิดไม่เลือกทำลาย เช่น ไกลโฟเซต (Glyphosate), กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียมล, อะลาคลอร์ ถ้าพื้นที่ที่ต้องจัดสวนมีวัชพืชทั้ง 3 ประเภท คือวัชพืชใบแคบ วัชพืชใบกว้าง และวัชพืชจำพวกกก ขึ้นปะปนกันอยู่อย่างหนาแน่น และส่วนใหญ่จะเป็นวัชพืชใบแคบ เช่น หญ้าชนิดต่าง ๆ รวมถึงแห้วหมู เพราะเป็นวัชพืชที่ทนทานในทุกสภาพ อีกทั้งพื้นที่นั้นไม่มีพืชหลักอื่นที่เราต้องการและประสงค์จะกำจัดวัชพืชใบแคบอื่น ๆ ด้วย เพราะสารกำจัดกลุ่มนี้จะทำลายได้ทั้งวัชพืชใบกว้างและใบแคบ โดยที่สารชนิดนี้ จะดูดซึมเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของวัชพืชจนถึงราก เหง้าและลำต้นใต้ดินทุกชนิด

Tips ไกลโฟเซต ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม (Glyphosate Isopropylammonium) มีชื่อการค้า เช่น ไกลโฟเซต 48, ราวด์อัพ เป็นสารที่กำจัดวัชพืชได้ทั้งชนิดใบกว้างและใบแคบ รวมถึงกก เช่น แห้วหมู แต่กำจัดได้ดีที่สุดกับชนิดใบแคบ ใช้ฉีดพ่นทางใบแล้ววัชพืชจะดูดซึมเข้าไปทำลายส่วนต่าง ๆ อย่างช้า ๆ และหากต้องการให้ได้ผลดีต้องฉีดพ่นกับวัชพืชที่มีใบ 4-8 ใบ หรือต้นที่แก่เต็มที่ หากฉีดพ่นวัชพืชที่มีอายุน้อยมักจะไม่ได้ผล หลังฉีดพ่นไกลโฟเซต ให้ทิ้งระยะปลูกพืชไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์

วิธีการใช้สารเคมีกำจัดหญ้า

1.ถ้าวัชพืชขึ้นสูงและอยู่ในสภาพที่รกมาก ให้สะสางกิ่งไม้ เก็บเศษวัสดุต่าง ๆ ออกก่อน แล้วตัดหญ้าหรือวัชพืชให้มีความสูงสม่ำเสมอเท่ากัน อย่าให้สูงเกิน 30 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้หญ้าแตกใบใหม่ออกมาอย่างเพียงพอ ซึ่งพร้อมที่จะใช้สารฉีดพ่นกำจัด

2.การผสมสารไกลโฟเซตที่ได้ผล สำหรับวัชพืชกำจัดยากตามที่กล่าวมาให้ใช้สัดส่วนและวิธีผสมตามลำดับต่อไปนี้ (สามารถนำสัดส่วนนี้ไปปรับใช้ตามขนาดพื้นที่ที่ต้องการ)
2.1 ใช้น้ำสะอาด 20 ลิตร ที่ปราศจากขุ่นตะกอน และต้องไม่ใช้น้ำกระด้าง ถ้าไม่มั่นใจ ให้ใช้แอมโมเนียมซัลเฟต (ปุ๋ยสูตร 21-0-0) 750 กรัม ละลายน้ำให้เข้ากันแล้วทิ้งไว้ 15 นาทีก่อน เพื่อช่วยแก้ไขความกระด้างของน้ำ และช่วยให้พืชเคลื่อนย้ายสารไกลโฟเซตได้ดีขึ้น จากนั้นตักน้ำที่ผสมปุ๋ยนี้มา 2-3 ลิตร เพื่อใช้ผสมสารไกลโฟเซตปริมาณ 250 ซี.ซี. คนให้เนื้อยาเข้ากัน แล้วเทกลับลงในน้ำทั้งหมด คนให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วใช้สารจับใบชนิดไม่มีประจุ (non ionic) ผสม 10 ซีซี หรือตามอัตราที่แนะนำของแต่ละยี่ห้อ คนให้เข้ากันอีกครั้ง
Tips การผสมสารจับใบให้ผสมขั้นตอนสุดท้ายเสมอ
2.2 ให้เลือกใช้หัวพ่นยาแบบผ่าหรือแบบปะทะ ที่ให้ละอองสารเป็นรูปพัด จะทำให้สารสัมผัสถูกใบพืชได้ดีกว่าใช้หัวพ่นรูปกรวยที่นิยมใช้กับสารฆ่าแมลง

3.สารจะดูดซึมได้ดี เมื่อวัชพืชอยู่ในระยะเติบโตแตกใบสมบูรณ์ วัชพืชไม่อยู่ในช่วงออกดอกหรือติดเมล็ดไม่เหี่ยวแห้งขาดน้ำ ไม่มีฝุ่นจับใบวัชพืชในปริมาณมาก และวัชพืชต้องอยู่ในสภาพไม่เปียกน้ำ เพราะทั้งฝุ่นและสภาพการเปียกน้ำจะทำให้ตัวสารที่ฉีดสัมผัสกับใบพืชน้อย ทำให้วัชพืชบางส่วนรอดตาย

4.ฉีดพ่นในช่วงเช้าแดดอ่อน โดยพ่นให้สูงจากวัชพืชไม่เกิน 30 เซนติเมตร และหลังพ่นสารไปแล้วต้องมีระยะปลอดฝน 4- 6 ชั่วโมง หากเกิดฝนตกก่อน 4 ชั่วโมงต้องฉีดซ้ำ

5.หลังฉีดปล่อยทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ ก็เข้าทำการไถพรวนตากแดดให้บางส่วนของวัชพืชแห้งตายอีก 1-2 สัปดาห์ แล้วเก็บเศษวัชพืชออก จากนั้นก็ดำเนินการจัดสวนต่อไป พื้นที่นี้ก็ไม่มีวัชพืชขึ้นมารบกวนอีกเลย

3.ผ้าคลุมวัชพืช หรือแผ่นคลุมวัชพืช

แผ่นคลุมวัชพืชสามารถป้องกันวัชพืชได้ในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นวัชพืชใบกว้าง/วัชพืชฤดูเดียว แต่วัชพืชใบแคบจำพวกกก เช่น แห้วหมู และพวกหญ้าจะยังสามารถแทรกขึ้นมาได้ จึงนิยมใช้แผ่นคลุมดินกันวัชพืช เพื่อรองพื้นก่อนใส่กรวดจัดสวน หรือใช้เพื่อคลุมดินรอบ ๆ พืชหลัก (พืชผัก-พืชสวน) ในระยะแรก เพื่อให้พืชหลักเติบโตให้ผล แต่ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อการกำจัดแบบสิ้นรากถอนโคน หมายความว่า เมื่อหมดฤดูปลูกพืชที่ต้องการ ก็ปล่อยให้วัชพืชขึ้นต่อได้ เพราะวัชพืช ก็มีส่วนช่วยคลุมดินให้ดินสมบูรณ์ได้เหมือนกัน

Tips ผ้าคลุมวัชพืช หรือแผ่นคลุมวัชพืชมีหลายเกรด หลายชนิด ต้องเลือกให้เหมาะสม ซึ่งจะแตกต่างจากแผ่นพลาสติก โดยแผ่นคลุมกันวัชพืชจะยอมให้น้ำซึมผ่านได้ เพื่อให้พืชหลักที่ปลุกเติบโตได้ด้วย ถ้าเป็นแผ่นพลาสติกน้ำซึมไม่ได้จะมีผลต่อระบบรากพืชหลัก

เรื่อง: อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย

ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย