การกำจัดวัชพืชหลังการจัดสวน ให้เบาบางและหมดสิ้น
ปัญหาชวนปวดหัวของนักจัดสวนและเจ้าของบ้านคือ เมื่อจัดสวนไปแล้วสักระยะหนึ่ง จะมีวัชพืชขึ้นแทรกอยู่ในสนามหญ้า โดยเฉพาะวัชพืชจำพวกใบแคบ อย่าง พวกหญ้าต่าง ๆ และหญ้าแห้วหมู
บ้านและสวน จึงนำเสนอวิธี การกำจัดวัชพืช จำพวกหญ้าและแห้วหมูที่ขึ้นแทรกในสนามหญ้า ที่เกิดขึ้นหลังการจัดสวนไปแล้ว โดยที่พยายามรักษาหญ้าสนามไม่ให้เสียหาย ดังนี้
1. การดูแลรักษาสนามหญ้า
ถ้าหญ้าที่เราปลูกมีความสมบูรณ์แข็งแรงวัชพืชก็ขึ้นแทรกได้ยาก ดังนั้น ควรมีการวางแผนการดูแลรักษาสนามหญ้าอย่างสม่ำเสนอ และปฏิบัติให้ตรงตามกำหนด เพื่อให้หญ้าสนามสมบูรณ์แข็งแรง เช่น การตัดตรงเวลาและตัดให้มีความยาวที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้หญ้ายาวมาก ๆ แล้วค่อยตัดสั้นทีเดียว เพราะ จะทำให้หญ้าจะอ่อนแอ หรือไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขังในสนามหญ้าบ่อย ๆ
2. การกำจัดโดยใช้แรงงานคน
แม้ว่าจะมีการเตรียมดินก่อนการจัดสวนเป็นอย่างดีแล้ว ก็อาจจะมีวัชพืชติดมาและขึ้นแทรกหลังการจัดสวนได้ ดังนั้น เมื่อพบเห็นวัชพืชขึ้นแทรก พยายามขุดเอาหัวหรือลำต้นใต้ดินออกไปด้วย ซึ่งหลังการจัดสวนในช่วงแรก ๆ อาจต้องทำบ่อย ๆ ทุกอาทิตย์ เพื่อให้วัชพืชเบาบางลง และหมดไปในที่สุด
3. การกำจัดด้วยสารเคมี
หากพบว่าสนามหญ้ามีวัชพืชขึ้นมาก และมีพื้นที่กว้างเกินกว่าจะใช้กำลังแรงคนขุดถอนได้ การกำจัดวัชพืช ก็มีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งปัจจุบันมีสารเคมีที่ผลิตออกมาใช้กำจัดวัชพืชแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ในที่นี้ขอแนะนำ สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในสนามหญ้า ไว้ให้เลือกใช้ 2 ตัว แต่จะบอกเป็นชื่อสามัญของสาร เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำชื่อไปเสิร์จ เพื่อค้นหาชื่อการค้าที่ตัวเองหาซื้อใกล้บ้านได้สะดวก เพราะชื่อการค้าของสารเหล่านี้จะมีอยู่หลายยี่ห้อ
- 2,4-ดี ไดเมทิลแอมโมเนียม (2,4-D-dimethylammonium) หรือ ชื่อการค้า เช่น ซีทีมีน, หมาแดง-น้ำ, ทูโฟตร้า, ช้างน้ำ 84 สารนี้จะกำจัดวัชพืชแบบเลือกทำลาย ใช้ในอัตราส่วน สารกำจัด 80 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงเช้า มีระยะปลอดฝน 4- 6 ชั่วโมง เหมาะสำหรับใช้กำจัดวัชพืชจำพวกกก เช่น แห้วหมู กกทราย และวัชพืชใบกว้างทั้งหลาย แต่ใช้ไม่ได้กับวัชพืชใบแคบพวกหญ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หญ้าชันกาด หญ้าคา หญ้าตีนนก ดังนั้น ผู้ใช้ต้องสำรวจก่อนใช้สารนี้ว่า สนามหญ้าของเรามีวัชพืชที่ตรงกับสารตัวนี้หรือไม่
- ฮาโลซัลฟูรอน-เมทิล (halosulfuron-methyl) มีชื่อการค้าว่า เพอมิท (Permit) เป็นตัวยาที่เด่นในการกำจัดแห้วหมูมาก เหมาะสำหรับสนามหญ้าที่มีแห้วหมูที่ขึ้นหนาแน่น และแห้วหมูต้องมีใบ 5-6 ใบขึ้นไปจึงจะได้ผลดี ให้ใช้อัตราส่วน สารเพอมิท 8 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงเช้า มีระยะปลอดฝนสั้น เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น และหลังฉีดพ่นเพอมิทแล้ว วันนั้นก็ไม่ต้องรดน้ำให้หญ้าสนาม
วิธีการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชในสนามหญ้า
1. ตัดหญ้าให้สั้นกว่าปกติเล็กน้อย แล้วให้น้ำตามปกติ ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน เพื่อรอให้หญ้าและแห้วหมูแตกใบขึ้นมาจนเห็นชัด
2. ถ้าเป็นช่วงแล้ง ให้รดน้ำแก่สนามหญ้าล่วงหน้าก่อนการฉีดพ่นสาร 1 วัน เพื่อให้สนามหญ้ามีความชื้นและไม่แห้งเกินไป
3. ผสมสารตามอัตราและปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก ทั้งนี้อาจใช้สารจับใบผสมร่วมด้วย โดยต้องผสมตัวยาให้ละลายกับน้ำอย่างดีก่อน แล้วจึงเติมสารจับใบลง ผสมให้เข้ากันอีกครั้ง
4. เลือกใช้หัวพ่นแบบผ่าหรือแบบปะทะ ที่ให้ละอองสารเป็นรูปพัด
5. ฉีดพ่นในช่วงเช้า แดดไม่จัด ลักษณะการฉีดเหมือนคำแนะนำที่ผ่านมา
หลังจากฉีดพ่นสารเคมีผ่านไปแล้ว 1 วัน สามารถเปิดระบบให้น้ำและดูแลสนามหญ้าได้ตามปกติ แต่ไม่ควรเข้าไปใช้สนามหญ้าใน 24 ชั่วโมง หลังฉีดพ่นสาร
6. ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเห็นผลจากการใช้สาร หากผ่านไปอีก 1-2 เดือน ยังพบวัชพืชหลงเหลืออยู่ในสนามหญ้าก็สามารถฉีดซ้ำได้ โดยเลือกสารตัวใดตัวหนึ่งใน 2 ตัวนี้ ให้ตรงกับชนิดวัชพืชที่ขึ้นมาใหม่
หลังจากที่แก้ไขปัญหาวัชพืชในสนามหญ้าได้ ปัญหาวัชพืชในสวนก็ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยลงไปทันที แต่ต้องรีบบอกไว้ก่อนว่า ปัญหาเรื่องวัชพืชในสวนไม่มีวันจะหมดไปสิ้นเชิงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะ สนามหญ้ามีพื้นที่กว้าง และมีสภาพแวดล้อมทุกอย่างตรงกับความต้องการของวัชพืช ดังนั้น แม้เราจะกำจัดได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชก็ปลิว หรือแพร่มาจากที่อื่นได้ตลอดเวลา แต่เราจะเบาแรงในการกำจัดลงไปได้มาก และถ้าได้ดูแลรักษาหญ้าสนามให้สมบูรณ์แข็งแรง ก็แทบไม่ต้องกังวลกับวัชพืชในสนามหญ้าอีกเลย
ประเภทของวัชพืช ที่มักพบบ่อยและกำจัดยากในสนามหญ้า
หญ้าจัดสวน ต้องเลือกแบบไหน? ดูแลอย่างไร?
เรื่อง-ภาพ: อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย