กำจัดยุง ด้วยวิธีชีวภาพและเคมีอย่างปลอดภัย
ยุงเป็นต้นเหตุของโรคระบาด รบกวนการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตของคนมาอย่างต่อเนื่อง เราไม่อาจ กำจัดยุง ให้หมดสิ้นได้ แต่สามารถควบคุมปริมาณยุงได้
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) ได้ศึกษาวิธีการ กำจัดยุง และควบคุมประชากรยุงในหลายมิติทั้งทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมแต่ละกรณีได้อย่างปลอดภัย เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดี
ยุงต้นเหตุโรคระบาด
ยุง หนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นเหตุของโรคระบาดที่มีความรุนแรง โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะทำให้ประชากรกว่า 1 ล้าน
ยุง หนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นเหตุของโรคระบาดที่มีความรุนแรง โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะทำให้ประชากรกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตทุกปี เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย เชื้อไวรัสซิกา โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา และโรคไข้สมองอักเสบ ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกและไข้มาลาเรียในหลายปีที่ผ่านมาจำนวนมาก จากข้อมูลงานวิจัยของสำนักระบบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2557- 2561พบผู้ป่วยไข้เลือดอออก ประมาณ 390,848 ราย เสียชีวิต 438 ราย พบผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในปี พ.ศ. 2558 ทั้งหมด147 ราย รองลงมาในปีพ.ศ. 2561 ทั้งหมด 115 ราย โดยปีที่มีอัตราตายสูงที่สุดคือ ปี พ.ศ. 2558 พบอัตราการตาย 0.22 ต่อประชากรแสนคน จะเห็นได้ว่ายุงแมลงตัวเล็กๆแต่มีความอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
สายพันธุ์ยุงทั่วโลกนั้นมีมากถึง 3,500 ชนิด เนื่องจากยุงมีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ทนต่อมลภาวะและสารเคมี และมีวงจรชีวิตที่สั้นเพียง 2-3 สัปดาห์ รวมถึงยุงมีอัตราการขยายพันธุ์สูง เพราะการผสมพันธุ์เพียง 1 ครั้ง สามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิต ทำให้ยุงเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์จากโลกเราได้ยากมาก จากรายงานของ WHO ได้ให้ยุงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นสาเหตุการตายของมนุษย์อันดับที่ 1 โดยในประเทศไทยมียุง 4 ชนิดที่เป็นสายพันธุ์ที่ก่อโรค ได้แก่ ยุงลาย ยุงก้นปล่อง ยุงเสือ ยุงรำคาญ ตัวอย่างโรคที่ทำให้คนเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 คือ โรคไข้เลือดออก รองลงมาคือโรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคไข้ปวดข้อ และโรคชิคุณกุนยา
ภาวะโลกร้อนทำให้ยุงเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆในระบบนิเวศ ซึ่งภาวะโลกร้อนเป็นตัวกระตุ้นการแพร่โรคระบาดจากยุงเพิ่มขึ้น โดย EPA (United Stated Environmental Protection Agency) ได้รายงานว่า สัตว์จำนวนมากต้องปรับตัวต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงเพื่อการอยู่รอด การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลมีผลโดยตรงกับวงจรชีวิตของสัตว์ต่างๆ อย่างการย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อหาพื้นที่และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการสืบพันธุ์และการเจริญพันธุ์ โดยจากงานวิจัยต่างๆพบว่า
- ยุงลายบ้านพื้นถิ่นจะอาศัยอยู่บนพื้นที่ที่มีความสูงไม่เกิน 1,500 เมตรจากระดับทะเล แต่ในปัจจุบันพบว่าสามารถพบยุงในระดับความสูง 2,000 เมตรจากระดับทะเล ซึ่งมาจากปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิสูงขึ้น
- อุณหภูมิมีผลต่อวงจรชีวิตของยุง โดยพบว่าเมื่ออุณหภูมิต่ำลง วงจรชีวิตของยุงมีแนวโน้มจะยาวนานขึ้น
-อุณหภูมิที่ 31 องสาเซลเซียส ยุงโดยปกติจะเจริญเติบโตตามวงจรชีวิตจากไข่เป็นตัวเต็มวัย 7-14 วัน
-อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส ยุงจะมีวงจรชีวิต 10-12 วัน
-อุณหภูมิที่ 20 องศาเซลเซียส ยุงอาจจะมีวงจรชีวิตถึง 20 วัน - อุณหภูมิมีผลต่อการเจริญเติบโตของไข่ในท้องยุง โดยพบว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นยุงจะมีแนวโน้มรอบการวางไข่ และสามารถเป็นพาหะในการนำโรคได้ถี่ขึ้นในรอบปี
-อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส ไข่ในท้องยุงจะใช้เวลาเจริญเติบโต 4-5 วัน
-อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ไข่ในท้องยุงจะใช้เวลาในการเจริญเติบโต 2-3 วัน
การควบคุมและ กำจัดยุง
ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคจากยุงสำหรับมนุษย์มีมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม โดยปัจจุบันมีวิธีในการควบคุมและ กำจัดยุง หลากหลายวิธีโดยสามารถแบ่งรายละเอียดได้ดังนี้
1.วิธีทางกายภาพ (Physical Control) เป็นการควบคุมและกำจัดยุงแบบง่ายที่สุด เน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เช่น
- กำจัดน้ำขังในพื้นที่และภาชนะต่างๆ
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของยุง เช่น ไม่ให้มีขยะในแหล่งน้ำ ปรับระบบบ่อน้ำให้เป็นน้ำไหล การกำจัดวัชพืชในสวนไม่ให้ขึ้นรก
- ลดการสัมผัสระหว่างคนกับยุง เช่น แต่งกายให้มิดชิด ทาสารป้องกันยุง การติดมุ้งลวด
2.วิธีทางชีวภาพ (Biological Control)เป็นวิธีแก้ปัญหายุงที่ทนทานต่อสารเคมี และไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยการใช้สิ่งมีชีวิตในการช่วยควบคุมยุง ได้แก่
- แมลงตัวห้ำ (แมลงที่กินแมลงด้วยกันเป็นอาหาร) เป็นศัตรูตามธรรมชาติที่สามารถควบคุมประชากรของยุงได้ เช่น แมลงเหนี่ยง ตัวอ่อนแมลงปอ มวนแมลงดาสวน จิ้งจก ตุ๊กแก
- กลุ่มปลากินลูกน้ำ (Larvivorous Fish) เช่น ปลาหางนกยูง จะกินอาหารได้หลายชนิด เช่น ลูกน้ำยุง ตัวอ่อนแมลงต่างๆ หนอนแดง พืชน้ำ ตะไคร่น้ำ ฯลฯ และปลาแกมบูเซีย ปลาสอด ปลาหัวตะกั่ว ปลากัด เป็นต้น
- ลูกน้ำยุงยักษ์ มีศักยภาพในการกินลูกน้ำยุงลายได้ดีมาก โดยเฉลี่ยแล้วลูกน้ำยุงยักษ์ 1 ตัวสามารถกินลูกน้ำยุงลายได้ 940 ตัวต่อวัน แต่การควบคุมยุงลายในเขตเมืองโดยการใช้ยุงยักษ์มีข้อจำกัด เนื่องจากยุงยักษ์ไม่สามารถแพร่พันธุ์ในเขตเมืองได้เพราะขาดแหล่งอาหาร (อาหารของยุงยักษ์คือ น้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้) จึงต้องนำไข่หรือลูกน้ำยุงยักษ์ไปปล่อยเพิ่มเป็นระยะๆ
- แบคทีเรีย (Bacteria) ลูกน้ำยุงก็มีโรคภัยไข้เจ็บเหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป โรคของยุงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมักทำให้การย่อยอาหาร การหายใจ และการหมุนเวียนโลหิตของลูกน้ำผิดปกติ โดยแบคทีเรียจะเข้าสู่ตัวลูกน้ำได้ 3 ทาง คือ ทางผิวหนัง ทางท่ออากาศ และทางปาก แบคทีเรียที่นิยมนำมาพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงลาย คือ แบคทีเรีย B.t.i. (Bacillus thuringiensis var. israelensis serotype H-14) แบคทีเรียชนิดมีประสิทธิภาพดีในการกำจัดลูกน้ำยุงลายและลูกน้ำยุงก้นปล่อง แต่ได้ผลไม่มากนักสำหรับการกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ ได้รับการผลิตออกจำหน่าย ตามท้องตลาด มีชื่อการค้าแตกต่างกันไปและมีหลายสูตรให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดของแหล่งน้ำ
3.วิธีทางเคมี (Chemical Control) ในปัจจุบันมีการใช้สารเคมีกำจัดแมลง (Insecticides) เป็นจำนวนมาก และถูกจัดให้เป็นวัตถุมีพิษ วิธีที่นิยมใช้ ได้แก่
- การพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอกควัน (Thermal Fog Generator) ซึ่งใช้น้ำมันเผาไหม้เป็นความร้อนไปทำให้สารเคมีกำจัดแมลงแตกตัวเป็นละอองเล็กๆ และเมื่อเจอกับอากาศเย็นก็จะกลายควันสีขาว
- เครื่องพ่นฝอยละเอียด (Ultra-low volume: ULV) ใช้แรงกดอากาศทำให้สารเคมีแตกตัวเป็นละอองฝอย ซึ่งจะมองไม่เห็นละอองน้ำยา
- การใช้ทรายอะเบท หรือทีมีฟอส (Temephos)
ประเภทสารเคมี สามารถเลือกใช้สารจากธรรมชาติ หรือสารเคมีที่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องควบคุมการใช้งานให้ปลอดภัย
- สารจากธรรมชาติ (Natural Products) เช่น สารไพรีทรินซึ่งสกัดจากดอกเบญจมาศ สารนิโคตินจากใบยาสูบ สารสกัดจากสะเดา (Neem) โล่ติ๊น (Rotenone)
- สารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายกำจัดยุง ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีดังนี้
- กลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (Synthetic pyrethroid compounds) เช่น เพอร์เมทริน (Permethrin) เดลตาเมทริน (Deltamethrin) แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน (Lambda-cyhalothrin)
- กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine compounds) เช่น ดีดีที
- กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟส (Organophosphate compounds) เช่น เฟนิโทรไธออน (Fenitrothion) มาลาไทออน (Malathion) ไดคลอร์วอส (Dichlorvos)
- กลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate compounds) เช่น โปรพ็อกเซอร์ (Propoxur) เบนดิโอคาร์บ (Bendiocarb) เมโทมิล (Methomyl)
4.การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง (Insect Growth Regulators: IRG) เป็นทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เพราะสารเหล่านี้มีผลข้างเคียงต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆต่ำ ลดปัญหาแมลงดื้อยา และไม่ก่อฤทธิ์ตกค้างในสิ่งแวดล้อม การควบคุมแมลงศัตรูในปัจจุบัน มีการใช้สารคล้ายจูวิไนล์ฮอร์โมนและสารยับยั้งการสร้างผนังลำตัว เป็นต้น โดยจะไปขัดขวางการทำงานระบบประสาท และต่อมไร้ท่อในแมลง ส่งผลให้เกิดการเจริญที่ผิดปกติ จนกระทั่งระยะตัวหนอนก็จะตายไปในที่สุด (Slama and William, 1965) สารในกลุ่มนี้ยังนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำและกำจัดแมลงวันอีกด้วย สารในกลุ่มนี้ เช่น ไพริพร็อกซิเฟน (Pyriproxifen) เป็นต้น
5.การควบคุมโดยวิธีพันธุกรรม (Genetic Control) เป็นการทำให้โครโมโซมของยุงพาหะให้ไม่สามารถนำเชื้อได้ ทำให้ยุงเป็นหมันโดยใช้สารกัมมันตรังสีโดย Genetic Control เป็นการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของแมลง ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 แบบคือ
- Sterile Release เป็นการทำให้แมลงเป็นหมันแล้วปล่อยแมลงที่เป็นหมันนี้ไปแย่งผสมพันธุ์กับแมลงในธรรมชาติ วิธีการนี้เหมาะที่จะใช้กับแมลงที่ผสมพันธุ์ครั้งเดียว เช่น ยุงตัวเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดชีวิตของมัน
- Genetic Manipulation of Vector เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมของแมลงให้มีความต้านทานต่อเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเจริญในตัวแมลงได้ ดังนั้นจึงลดความเป็นพาหะของแมลงลง เมื่อสร้างแมลงสายพันธุ์ใหม่ที่ต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ขึ้นมาแล้วนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อกระจายลักษณะทางพันธุกรรมดังกล่าว ก็จะช่วยลดการกระจายของโรคลงได้
6.การควบคุมประชากรยุงโดยเพาะพันธุ์ยุงที่มีเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia แบคทีเรีย Wolbachia พบได้ทั่วไปภายในแมลงกว่า 60% ของแมลงทั้งหมดของโลก เเบคทีเรียชนิดนี้สามารถวิวัฒนาการได้หลายทาง แมลงบางชนิดต้องพึ่งพาเเบคทีเรียตัวนี้เพื่อการอยู่รอด แต่สำหรับแมลงอีกหลายชนิด เชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้ถือเป็นโรคที่คุกคามและอาจทำให้ไข่ของเเมลงไม่ฟักเป็นตัว
นักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล ในคอนเนคติคัทกล่าวว่า เชื้อเเบคทีเรีย Wolbachia จะไม่ได้พบในยุงที่เเพร่เชื้อโรคร้ายเเรง และเชื้อเเบคทีเรีย Wolbachia สามารถทำให้ยุงสายพันธุ์ที่เป็นพาหะของโรคซิกากับไข้เลือดออกเป็นหมันได้ โดยมีวิธีดังนี้
- การปล่อยยุงตัวผู้ที่มีเชื้อเเบคทีเรียWolbachia ออกไปในสภาพเเวดล้อม เมื่อยุงตัวผู้เหล่านี้ผสมพันธุ์กับยุงตัวเมีย เชื้อเเบคทีเรียWolbachia จะทำให้ไข่ของยุงตัวเมียตายลง วิธีนี้ได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จในประเทศสิงคโปร์ เมืองกวางโจว ประเทศจีน และบางส่วนของสหรัฐอเมริกา เช่น ไมอามี เท็กซัส และแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากไข่ที่จะเกิดจากตัวเมียในธรรมชาติ ที่ผสมพันธุ์กับตัวผู้ที่มีแบคทีเรียWolbachia จะไม่ฟักออกมา จำนวนยุงที่ก่อโรคภายในชุมชนจึงลดจำนวนลงอย่างมาก ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้นับว่าเป็นเครื่องมือในการลดความสามารถของยุงในการแพร่เชื้อไข้เลือดออก และเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพที่ได้รับการพิสูจน์ในหลายประเทศ
- เป็นการปล่อยยุงตัวผู้เเละยุงตัวเมียที่มีเชื้อเเบคทีเรีย Wolbachia ออกไปสู่สภาพเเวดล้อมเพื่อไปผสมพันธุ์กับยุงชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ เมื่อเวลาผ่านไป ยุงที่มีเชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้จะทดแทนยุงที่มีเชื้อซิกาและไข้เลือดออก เพราะทำให้ยุงเหล่านี้เป็นหมัน มีการใช้ในเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย บราซิล และออสเตรเลีย รวมถึงการปล่อยยุงดัดแปลงของทั้งสองเพศ โดยตัวเมียที่ติดเชื้อจะถ่ายทอดแบคทีเรียไปยังลูกหลาน เมื่อเวลาผ่านไป ยุงที่มีแบคทีเรียWolbachia จะเข้ามาแทนที่ประชากรพื้นเมืองที่ก่อโรค
จะเห็นได้ว่ามีการคิดค้นนวัตกรรมมากมายมาใช้ควบคุมประชากรยุง เพื่อจะลดการเป็นโรคและการตายที่เกิดขึ้นโดยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ในการนำมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชากรยุง และการจัดการยุงเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ตัวอย่างการเลือกสารจากธรรมชาติ (Natural Products) เป็นหนึ่งวิธีที่พบว่ามีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตโดยรอบ เป็นการใช้สารจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อยุง รวมไปถึงสารธรรมชาติสกัดที่มีความเข้มข้นเพียงพอในการหยุดการทำงานของยุง ทำให้ยุงสลบชั่วคราว ไม่ฆ่ายุง เป็นการไล่ยุงออกจากพื้นที่จากการสร้างพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของยุง
ทั้งนี้ก่อนเลือกเครื่องมือต่างๆในการควบคุมยุง สิ่งสำคัญที่ต้องทำอันดับแรก คือ การเก็บกวาดพื้นที่โดยรอบบ้านอาคารไม่ให้มีน้ำขัง ไม่มีสิ่งของหรือขยะกองรกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของยุง และกำจัดแหล่งน้ำนิ่งซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของยุง ถือเป็นหลักการง่ายๆที่ทุกคนทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากยุง ภัยตัวจิ๋วที่เป็นพาหะโรคร้ายมาถึงเรา
อ้างอิง:
- https://www.voathai.com/a/sterile-mosquitoes-tk/3766468.html
- https://www.nature.com/articles/d41586-021-02914-8
- https://www.ptat.org/uploads/pdf/journalPdf_35-2-2012-e6.pdf
- https://www.cheminpestcontrol.com/products/product-38
- https://www.greenbestproduct.com
- http://www.cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4608/lesson/main2.html
รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน
ติดตาม FB : riscwellbeing
เรื่อง : Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) เรียบเรียงโดย ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ และกชกร รัตนมา
เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์