Health & Well-being Materials วัสดุสร้างบ้านที่ดีและปลอดภัย - บ้านและสวน

Health & Well-being Materials วัสดุสร้างบ้านที่ดีและปลอดภัย

3. วัสดุรีไซเคิล และวัสดุ Upcycling (Recycle & Upcycling Materials)

วัสดุเพื่อสุขภาวะที่ดี ที่ยิ่งใช้ยิ่งรักษ์โลก ( Well-being materials for Better world) ช่วยลดขยะ และลดการใช้ทรัพยากรใหม่

Well-being Materials

พรมจากขยะขวดพลาสติก ฆ่าโควิด-19

ในยุค New Normal นี้ ปัญหาขยะพลาสติกนั้นมีมากมาย แถมยังมีภัยอันตรายจากโควิด-19 อีก หรือว่านี่จะเป็นสัญญาณเตือนให้เราหันกลับมาคิดใหม่ เปลี่ยนใหม่ ในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมีการคิดนวัตกรรมเปลี่ยนขยะขวดพลาสติกมาถักทอเป็นพรม ผสมผสานเทคโนโลยี AVA ( Anti-Viral Allergy Free ) ที่มีประสิทธิภาพสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสชนิด RNA ทั้งโคโรน่า เมอร์ส (MERS) และซาร์ส (SARS) โดยการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการการผลิตโปรตีนของไวรัสตัวใหม่ ด้วยการกำจัดโปรตีนที่ห่อหุ้มไวรัส ทำให้ไวรัสส่วนใหญ่จะตายลงทันที และยังยับยั้งการถอดรหัสสารพันธุกรรม ทำให้ไวรัสที่ยังเหลืออยู่ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารของไรฝุ่นอีกด้วย ​

Well-being Materials

กระเบื้องโมเสกจากเปลือกข้าว และหินเทียมจากเปลือกไข่ สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์

วัสดุของคนไทยที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

            โมเสกจากเปลือกข้าว Husk mosaics ผลิตภัณฑ์จาก Sonite Surface Innovation ที่ได้นำเปลือกข้าวที่เป็นขยะเหลือทิ้งจากการเกษตร สามารถเพิ่มมูลค่าให้เป็นวัสดุ Bio-composite  กระเบื้องโมเสกที่นำมาตกแต่งผนังได้อย่างสวยงาม มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

Well-being Materials

หินเทียมจากเปลือกไข่ Upcycling Egg Shell Solid Surface ผลิตภัณฑ์จาก Sonite Surface Innovation ที่ร่วมวิจัยกับ RISC ในการนำเปลือกไข่ไก่ที่เป็นขยะเหลือทิ้งจำนวนมาก มาเพิ่มมูลค่าให้เป็นวัสดุหินเทียม (Solid Surfaces) มีส่วนผสมของเปลือกไข่ 30% สามารถนำไปใช้เป็นท๊อปเคาน์เตอร์ และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ บอกเลยว่า ลวดลายของหินเทียมเปลือกไข่นั้น ดูดีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้ความรู้สึกเหมือนหินขัด TERRAZZO เป็นวัสดุ Eco-Friendly เพราะสามารถช่วยลดภาระการจัดการขยะ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งคุณสมบัติการใช้งานยังทนทานเทียบเท่าหินเทียมปกติอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://sonitesurfaces.com/

แผ่นหลังคาสะท้อนความร้อน กันรังสี UV จากกล่องนม UHT

รู้หรือไม่? กล่องนม หรือกล่องน้ำผลไม้ UHT ที่เราดื่มอยู่ทุกวัน สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นวัสดุแผ่นหลังคา ECO ROOF แผ่นหลังคากันความร้อน สะท้อน UV ที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม UHT คุณสมบัติเด่น คือ มีขนาดที่ใหญ่กว่ากระเบื้องหลังคาลอนคู่ทั่วไป 4 เท่า แต่เบากว่า 50% มีความแข็งแรงทนทาน กันแดด กันฝน ยืดหยุ่นไม่แตกหักง่าย และสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ได้ ทำให้แผ่นหลังคานั้นไม่ร้อน ช่วยลดต้นทุนค่าฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ที่โรงงานอุตสาหกรรม คลังสินค้า ที่จอดรถ สิ่งปลูกสร้างทางการเกษตร และเฟอร์นิเจอร์

รู้อย่างนี้แล้ว หลังจากดื่มนมหรือน้ำผลไม้เสร็จ ช่วยกันล้างให้สะอาดเตรียมไว้ได้เลย เพราะบริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด มีบริการเก็บกล่องเครื่องดื่มตามบริษัทฯ โรงงาน สถานศึกษา วัด หน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ทำให้กล่อง UHT ที่ใช้แล้วเหล่านี้ แทนที่จะทิ้งเป็นขยะก็สามารถนำกลับมาเป็นวัสดุที่ใช้ได้อีกนาน

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.fiberpattana.com/


4. วัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ( Health & Safety Materials ) 

วัสดุเพื่อสุขภาวะที่ดี ที่ยิ่งใช้ยิ่งสุขภาพดี (Well-being materials for Better Health)  และไม่ก่อให้เกิดแนวโน้มความเจ็บป่วยในอนาคตแน่นอน โดยแบ่งเป็นวัสดุเพื่อคุณภาพอากาศที่ดี และวัสดุเพื่อสุขภาพและความปลอดภัย

  • วัสดุเพื่อคุณภาพอากาศที่ดี (Indoor Air Quality)

สีฟอกอากาศ  วัสดุสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้

การเลือกสีทาภายในบ้าน ไม่ใช่เลือกสีอะไรก็ได้ หรือเฉดสีที่ชอบเพียงอย่างเดียว ต้องเลือกคุณสมบัติของสีที่มีคุณภาพดี เช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรีย ที่สำคัญต้องปลอดภัยจากสารระเหยพิษ VOCs ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะห้องที่ต้องการความสะอาดเป็นพิเศษ เช่น ห้องนอนเด็ก โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก หรือบริเวณที่ไม่ต้องการกลิ่นรบกวน ยิ่งต้องใส่ใจในการเลือกสีเป็นพิเศษ ปัจจุบันมีสีทาภายในที่มีเทคโนโลยี Air Detoxify สร้างอากาศที่บริสุทธิ์ ไร้กลิ่น มีค่า VOCs ต่ำ สามารถขจัดสารก่อมะเร็งในอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมี Microban สามารถป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย สามารถดูได้จากการผ่านมาตรฐานสากล “Sensitive Choice” โดยสถาบัน โรคหอบหืดแห่งประเทศออสเตรเลีย (National Asthma Council Australia จึงเหมาะกับอาคารที่ต้องการผ่านมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ทั้งอาคารเขียวของไทย (TREES) และสหรัสอเมริกา (LEED)

Tips

มารู้จัก VOCs

VOCs หรือ Volatile Organic Compounds คือ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย สามารถระเหยเป็นไอได้ในอุณหภูมิห้องและความดันปกติ ส่งผลต่อคุณภาพอากาศในบ้านทำให้เป็นอากาศเป็นพิษ มักพบในน้ำยาทำความสะอาด สารฆ่าแมลง สีทาบ้าน กาว ยาแนว ฯลฯ หากได้รับสารพิษนี้เป็นประจำจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน หากได้รับสารเป็นระยะเวลานานๆ อาจก่อโรคมะเร็ง อวัยวะภายในถูกทำลาย ในหญิงที่ตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดการพิการของเด็กแรกเกิดได้

เฟอร์นิเจอร์ปลอดสารฟอร์มาลดีไฮด์ เพื่อสุขภาพที่ดี

สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นก๊าซไม่มีสี มีความเป็นพิษ สามารถปนเปื้อนได้ในอากาศ สารชนิดนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมสี สารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้อัดและไม้แปรรูปอื่นๆ และถูกนำมาใช้เป็นน้ำยารักษาเนื้อไม้เพื่อป้องกันปลวกและแมลงต่างๆ โดยเฉพาะในการทำตู้ โต๊ะ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงสิ่งทอและที่นอนไม่ได้มาตรฐาน ลองสังเกตง่ายๆ เวลาซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้เข้าบ้าน มักจะมีกลิ่นฉุนของใหม่ ซึ่งก็คือไอระเหยของสารฟอร์มาลดีไฮด์ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณที่มาก อาจเกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วงและหมดสติหรือถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด แต่ถ้าสูดดมในปริมาณที่ไม่มากนัก อาจเกิดอาการระคายเคือง เช่น แสบตา แสบจมูก ซึ่งหากสูดดมในระยะยาว จะทำให้เกิดผลเสียกับระบบร่างกายต่าง ๆ และก่อให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย

การเลือกเฟอร์นิเจอร์ให้ปลอดภัยจากสารฟอร์มาลดีไฮด์ โดยสังเกตสัญลักษณ์ที่บ่งบอกค่ามาตรฐานการวัดค่าสารฟอร์มาลดีไฮด์ European formaldehyde emission Standards ในเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • E2 ระดับที่ปลอดปล่อยสารที่อันตรายกับผู้ใช้ 
  • E1 มาตรฐานสากลสำหรับพื้นไม้และเฟอร์นิเจอร์มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ ไม่เกิน 0.75 ppm
  • E0 มาตรฐานขั้นสูงมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ไม่เกิน 0.07 ppm
  • Super E0 ไม่พบสารฟอร์มาดีไฮด์เลย

กระเบื้องหายใจ-ฟอกอากาศได้

สูดหายใจได้ลึกขึ้นกว่าเคย เพราะปัจจุบันมีนวัตกรรมกระเบื้องตกแต่งหลายแบรนด์ที่มีคุณสมบัติช่วยฟอกอากาศ ดักจับสารพิษ ฝุ่น สามารถดูดซับและระบายความชื้นได้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดเชื้อรา ลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ป้องกันการแพร่กระจายกลิ่นเหล่านี้ไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ลดฝุ่น ที่สำคัญสามารถดูดซับสารฟอร์มาลดีไฮด์ และสาร VOCs ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น กระเบื้องที่ผลิตจากดินและเถ้าภูเขาไฟที่พัฒนาให้มีรูพรุนขนาดเล็กถึง 1 ในล้านส่วนของมิลลิเมตร ( 1 นาโนเมตร) ด้วยรูพรุนเล็กๆ ที่มีอยู่จำนวนมหาศาลของพื้นผิวและภายในเนื้อวัสดุ ทำให้กระเบื้องดูดซับและกักเก็บความชื้นและกลิ่นต่างๆไว้ในรูพรุนเล็กๆ เพื่อทำให้อากาศในห้องมีความบริสุทธิ์ และด้วยพื้นผิวที่มีความละเอียดสูง ทำให้น้ำและคราบสกปรกไม่สามารถฝังแน่นและเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์วัสดุที่ใช้แล้วสุขภาพดี ไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในอนาคต

  • วัสดุเพื่อสุขภาพและความปลอดภัย (Health & Safety)

หินสังเคราะห์ NSF 51 ปลอดภัยไร้มะเร็ง

ห้องครัวเป็นพื้นที่ใช้ในการประกอบอาหาร แต่ก็เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรียต่างๆ จึงต้องใส่ใจดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และความปลอดภัยเป็นพิเศษ วัสดุสำหรับเคาน์เตอร์ครัวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ จึงควรเลือกวัสดุ Food Grade ได้รับการรับรอง NSF 51 Certificated  ที่ปลอดภัยสำหรับการสัมผัสกับอาหาร อย่างหินสังเคราะห์ หรือ Solid Surface ที่นอกจากใช้งานได้ทนทานต่อรอยขีดข่วนเหมือนหินแกรนิตแล้ว ยังได้รับการรับรองโดย NSF Standard ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ถูกสุขอนามัยไม่มีอันตรายจากการสารกัมมันตภาพรังสีอย่างเรดอนแน่นอน นอกจากนี้บางผลิตภัณฑ์ยังเพิ่มเติมคุณสมบัติเรื่อง การยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ และง่ายต่อการดูแลรักษาอีกด้วย

Tips

Radon คืออะไร

Radon (เรดอน) คือ สารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ เกิดจากการสลายของยูเรเนียม จากชั้นใต้ดินซึ่งยังไม่เสถียร จะสลายตัวและแผ่รังสีได้เองตลอดเวลาโดยไม่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิหรือความดัน ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ซึ่งสามารถพบได้ในวัสดุก่อสร้างประเภทหินธรรมชาติ เช่น หินแกรนิต

กระเบื้องยับยั้งเชื้อโรค

กระเบื้องเป็นวัสดุก่อสร้างพื้นและผนังยอดนิยมเราจะต้องสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นี้ ทำให้ต้องหมั่นทำความสะอาดพื้นอยู่เสมอ การเลือกใช้กระเบื้องจึงควรคำนึงถึงเรื่องการทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีรอยต่อถี่จนเกินไปที่จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค รวมถึงวัสดุที่เลือกใช้ควรที่จะมีคุณสมบัติต้านทานแบคทีเรียได้ดี โดยมี Healthy Tile วัสดุกระเบื้องสำหรับยุค New Normal ที่คิดค้นออกมาหลากหลายให้ตอบโจทย์การทำพื้นที่ในบ้านให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรีย เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนในบ้าน เช่น กระเบื้องกลุ่ม ANTI-BACTERIA และ Hygienic Tile บางแบรนด์มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ 99% หรือมีส่วนผสมของสารซิลเวอร์นาโน (Silver Nano) ในเนื้อสีกระเบื้อง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ เช่น เชื้อ Escherichia Coli หรือ E. Coli ซึ่งเป็นสาเหตุของท้องเสียรุนแรง โรคอุจจาระร่วง และ เชื้อ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง

พื้นปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

การหกล้มเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายและพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักมีการลื่นล้ม และครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกหักพบว่า 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอด ส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองและต้องมีคนดูแลตลอดเวลา มีภาวะสับสน มีปัญหาการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าตามมา

การออกแบบและเลือกใช้วัสดุสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะมีการออกแบบพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน หลีกเลี่ยงธรณีประตู ไม่มีระดับที่เสี่ยงต่อการสะดุด วัสดุพื้นจะต้องไม่ลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำ และเลือกใช้วัสดุที่มีความปลอดภัยสามารถรองรับแรงกระแทกได้ หากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายได้เป็นอย่างมาก เช่น วัสดุพื้นที่ทำจากแผ่นยาง EPDM ที่มีความยืดหยุ่น และทนทานในการใช้งานสูง สามารถดูดซับและลดแรงกระแทกเมื่อเกิดการหกล้มทำให้ลดโอกาสเสี่ยงกระดูกหักได้ คุณสมบัติของวัสดุสามารถทนความชื้นและรังสี UV จึงนำไปปูพื้นได้ทั้งภายนอกและภายใน เหมาะสำหรับห้องผู้สูงอายุ หรือนำไปใช้กับทางเดินและสนามเด็กเล่น หรือ พื้นไวนิลชนิดที่มีชั้นโฟมช่วยรับแรงกระแทก ก็ช่วยลดการบาดเจ็บการจากล้มได้อีกทั้งควรเลือกพื้นผิวที่ไม่ลื่นแม้เปียกน้ำ และทนรอยขูดขีดข่วนจากการเข็นรถ Wheelchair ก็จะใช้งานได้อย่างยาวนานและปลอดภัย


รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน

ติดตาม FB : riscwellbeing


เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์


การปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี ตามหลัก WELL Building Standard

การติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับบ้าน อ่านแล้วตัดสินใจได้เลย

ติดตามบ้านและสวน