มาตรการป้องกันโควิด ของบ้านยุค New Normal - บ้านและสวน

บ้านยุค New Normal มีกิน ปลอดโควิด เราต้องรอด!

เมื่อวิถีชีวิตเข้าสู่ New Normal การออกแบบบ้านจึงเปลี่ยนไป ซึ่งไม่เพียงเฉพาะการปรับตัวเรื่องสุขอนามัย ยังรวมถึงวิถีชีวิตอื่นๆ ของคนยุคนี้ คนที่มีบ้านเดิมก็เพียงปรับเปลี่ยนฟังก์ชันตามพื้นที่ที่มีอยู่ แต่สำหรับบ้านสร้างใหม่ สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการออกแบบบ้านในอนาคต

มาตรการป้องกันโควิด

ป้องกันเชื้อโรคตั้งแต่หน้าบ้าน

มาตรการป้องกันโควิด และป้องกันโรคติดต่อที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยของร่างกาย โดยการทำความสะอาดตั้งแต่การล้างมือ การฆ่าเชื้อ จนถึงการชำระล้างร่างกาย  ซึ่งการออกแบบบ้านตามวิถีเดิมนิยมทำห้องน้ำไว้หลังบ้าน แต่ในเมื่อสุขอนามัยกลายเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีความเป็นไปได้ที่โถงทางเข้าบ้านในอนาคตจะมีโซนทำความสะอาดร่างกาย เพื่อรักษาภายในบ้านให้เป็นโซนปลอดเชื้อ แต่สำหรับบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ก็นำไปเป็นไอเดียไปปรับใช้กันได้

1.ล้างมือก่อนเข้าบ้าน ทำอ่างล้างมือที่หน้าบ้านและจัดวางให้เข้ากับสวน

2.ถอดรองเท้าไว้นอกบ้าน โดยมีที่นั่งและตู้เก็บรองเท้า

3.ฆ่าเชื้อทุกสิ่ง มีพื้นที่ทำความสะอาดสิ่งของที่จะนำเข้าภายในบ้านด้วยวิธีต่างๆ โดยทำเป็นพื้นที่โล่งสำหรับวางของ หรือเป็นตู้แบบปิดมิดชิด

4.ลดการนำสิ่งของไม่จำเป็นเข้าบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงการนำเชื้อโรคเข้าบ้าน โดยทำตู้ ชั้นและราวสำหรับเก็บของใช้ที่ไม่จำเป็นต้องนำเข้าไปในบ้าน หรือจะต้องใช้ในวันถัดไป เช่น เสื้อคลุม กระเป๋าผ้า

5.เปลี่ยนเสื้อผ้า มีตู้เก็บเสื้อผ้าที่เตรียมไว้สำหรับเปลี่ยน และช่องหน้าต่างเชื่อมกับส่วนซักรีด/ซักล้างที่วางตะกร้าสำหรับใส่เสื้อผ้าใช้แล้ว

6.ใกล้ส่วนซักรีด/ซักล้าง หากไม่สามารถจัดส่วนซักรีด/ซักล้างควรให้อยู่ใกล้ห้องน้ำได้ อาจแค่วางตะกร้าแบบมีฝาปิดสำหรับใส่เสื้อผ้าใช้แล้วในห้องน้ำก็ได้

7.ทำความสะอาดร่างกาย ออกแบบห้องน้ำที่เมื่อก่อนมักทำไว้หลังบ้านให้มาอยู่ใกล้ทางเข้า สำหรับสมาชิกที่กลับมาจากไปข้างนอกได้ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้า อีกทั้งเป็นห้องน้ำสำหรับแขกซึ่งจะไม่ต้องเดินเข้าไปด้านในบ้าน

8.ใส่รองเท้าสำหรับในบ้าน สำหรับแขกและคนที่ไม่ได้ทำความสะอาดร่างกาย ควรใส่รองเท้าสำหรับในบ้าน

9.จำกัดโซน ออกแบบพื้นภายในบ้านให้สูงกว่าพื้นโถงทางเข้า 10-15 เซนติเมตร ก็ช่วยลดสิ่งสกปรกเข้ามาในบ้าน ทำประตูกั้นอีกชั้นเพื่อลดการกระจายเชื้อ และมีช่องระบายอากาศหรือพัดลมดูดอากาศออกช่วยหมุนเวียนอากาศในโถงทางเข้า

10.ระบายอากาศ มีหน้าต่างหรือพัดลมดูดอากาศระบายสู่ภายนอก

มาตรการป้องกันโควิด

ใช้อุปกรณ์ไร้มือสัมผัส

การสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกันกลายเป็นความหวาดกลัว อุปกรณ์อาคารระบบอัตโนมัติจึงตอบโจทย์ได้ดี เช่น ประตูอัตโนมัติ ก๊อกน้ำระบบเซนเซอร์ หรือระบบสั่งการด้วยเสียง รวมถึงมีอุปกรณ์ที่ช่วยลดการสัมผัสหลายแบบให้เลือกใช้ มาตรการป้องกันโควิด

มาตรการป้องกันโควิด

ประตูหน้าบ้านรับพัสดุง่าย ไม่กลัวโจร

การหยุดอยู่บ้านกว่าเดือน ทำให้เราได้ฝึกการสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะปู่ย่าตายายได้หัดใช้แอพพิเคชั่นจนทำได้เอง ซึ่งในวันที่ลูกหลานออกไปทำงานกันแล้วมีแต่ผู้สูงอายุอยู่บ้านลำพัง การเปิดประตูรับพัสดุก็อาจกลายเป็นจุดเสี่ยงที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสได้ จึงมีไอเดียการออกแบบประตูรับพัสดุ 3 แบบให้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

  • แบบที่ 1 ช่องรับพัสดุที่ประตูเล็ก เจาะช่องขนาด 30x 50 เซนติเมตร และติดตั้งหน้าบานแบบเปิดลง โดยใช้บานพับหรือมีโซ่ดึงให้หน้าบานค้างอยู่ได้เพื่อใช้เป็นที่วางพักกล่องพัสดุได้ด้วย พร้อมทำที่คล้องแม่กุญแจป้องกันการเปิดจากภายนอก
  • แบบที่ 2 ช่องรับพัสดุที่รั้ว/ประตูรั้ว หากมีรั้วหรือประตูรั้วที่เป็นระแนงโปร่งและโครงเหล็กอยู่แล้ว อาจเจาะช่องแล้วทำโครงเหล็กบานเลื่อนอีกชั้น โดยทำรูปแบบและสีให้กลมกลืนกับรั้วหรือประตูรั้วเดิม
  • แบบที่ 3 กล่องรับจดหมายและพัสดุ สำหรับบ้านที่กำลังก่อสร้าง สามารถทำกล่องรับจดหมายและพัสดุแบบฝังผนังให้กลมกลืนกับบ้านได้ อย่างการเจาะผนังรั้วแล้วออกแบบให้มีช่องรับจดหมายด้านบน ส่วนช่องด้านล่างสำหรับใส่พัสดุขนาดประมาณ 40 x 50 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร ที่มีฝาเปิดได้สองด้านและมีล็อกด้านใน หากใครไม่ค่อยอยู่บ้าน อาจติดตั้งกล้องที่พูดคุยผ่านโทรศัพท์มือถือได้ก็เป็นอีกตัวช่วยที่ดี

บ้านป้องกันฝุ่น PM 2.5

แม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมาแรงจนกลบเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไปเลย แต่อย่าลืมว่าฝุ่น PM 2.5 จะยังกลับมาเยือนเราอย่างหนักหน่วงทุกปี วิถีปกติแบบใหม่จึงยังคงมุ่งลดต้นเหตุของฝุ่น คือ ลดการสร้างความร้อนและการสะสมความร้อนให้กับเมือง ลดการใช้รถยนต์ ลดการเผา และปลูกต้นไม้สร้างพื้นที่สีเขียวต่อไป ส่วนการออกแบบบ้านเพื่อรับมือฝุ่น PM 2.5 มี 3 แนวทางดังนี้

1.บ้านเปิดโล่งได้และปิดสนิทได้ บ้านควรเปิดโล่งเพื่อระบายอากาศได้เมื่ออากาศดี แต่ในช่วงที่ฝุ่นมาเยือนก็ต้องปิดช่องต่างๆ ไม่ให้ฝุ่นเข้าได้ด้วย ซึ่งจุดที่ฝุ่นจะเข้ามาได้ส่วนใหญ่คือรอยต่อของประตูและหน้าต่าง โดยสามารถเสริมขอบยางเพื่อให้ปิดได้สนิทมากขึ้น ส่วนภายในบ้านจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องฟอกอากาศเพื่อลดฝุ่น

2.เพิ่มความชื้นรอบบ้าน หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง การเพิ่มความชื้นในอากาศอย่างการติดตั้งเครื่องพ่นหมอกไว้รอบบ้านก็ช่วยลดปริมาณฝุ่นลงได้บ้าง

3.จัดภูมิทัศน์ช่วยลดฝุ่น ลดความร้อน ออกแบบการจัดวางต้นไม้สามารถช่วยลดฝุ่นไม่ให้ฟุ้งกระจายเข้ามาในบ้าน โดยปลูกต้นไม้ที่สร้างร่มเงาและดักฝุ่นได้ดี ซึ่งมีลักษณะใบเรียวเล็ก มีขน มีใบหนาแน่น หรือมีผิวใบขรุขระ เช่น ทองอุไร ตะขบฝรั่ง แคแสด สร้อยอินทนิล เล็บมือนาง อาจทำบ่อน้ำและปลูกไม้คลุมดินช่วยรักษาความชื้นผิวดิน เป็นการเพิ่มความชื้นในอากาศ ลดความร้อนสะสม และเมื่ออุณหภูมิมีความแตกต่างกันจะช่วยให้เกิดลมถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติ

ลดการใช้พลังงาน=รักษ์โลก=ประหยัดเงิน

พลังงานแพงขึ้นทุกวัน ต่อไปใครไม่ประหยัดมีหวังหมดตัวแน่ โดยสามารถลดการใช้พลังงานด้วย 5 แนวทางดังนี้

1.เปลี่ยนพฤติกรรม เรื่องง่ายๆ ที่เราต่างรู้และไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่ก็มักเผลอลืมกัน มาย้ำเตือนกันการเปลี่ยนพฤติกรรมกันอีกครั้ง เช่น ปิดและถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้ เปิดเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศา เปิดม่านรับแสงแทนการเปิดไฟ ปิดเครื่องปรับอากาศล่วงหน้า 15 นาทีก่อนออกจากห้อง เป็นต้น

2.ปรับบ้านให้กันร้อนและเปิดรับแสงธรรมชาติ บ้านที่เย็นสบายและมีแสงธรรมชาติเข้ามาได้ จะลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศและไฟแสงสว่างได้มาก โดยสามารถลดความร้อนได้หลายวิธี เช่น ติดตั้งฉนวนกันความร้อน, ทำชายคา แผงบังแดด ผนังกันความร้อนโดยเฉพาะทิศตะวันตกและทิศใต้ที่โดนแดดมาก, ติดฟิล์มกันความร้อนที่กระจก, ใช้ผ้าม่านชนิดกันรังสียูวี และทำช่องเปิดให้มีแสงธรรมชาติเข้ามาได้ เช่น ทำหลังคาสกายไลต์บริเวณโถงทางเดิน, ใช้ผนังบล๊อกแก้ว หรือทำคอร์ตกลางบ้าน ก็จะลดการเปิดไฟแสงสว่างช่วงกลางวันและบ้านดูโปร่งสบายมากขึ้น

3.รักษาสภาพแวดล้อมให้เย็น บ้านไม่อาจอยู่เย็นสบายได้ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและอึดอัด จึงต้องรักษาสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้เย็นควบคู่กันไป ด้วยการปลูกต้นไม้สร้างร่มเงา ปลูกพืชคลุมดินช่วยรักษาความชื้น ไม่เทพื้นคอนกรีตทุกตารางนิ้วเพราะคอนกรีตจะกักเก็บความร้อนไว้นาน แต่มีส่วนที่เป็นพื้นดินหรือบ่อน้ำที่จะช่วยลดอุณหภูมิ และมีช่องโล่งให้ลมธรรมชาติได้หมุนเวียน

4.ใช้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงที่ใช้พลังงานน้อย แม้ราคาจะแพงกว่าแต่ก็คุ้มค่าในระยะยาว เช่น หลอดไฟแอลอีดี เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นระบบอินเวอร์เตอร์ ก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำ จึงควรเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานและการใช้พลังงานก่อนซื้อ รวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนานจะคุ้มค่ากว่าผลิตภัณฑ์ราคาถูกแต่เสียเร็ว ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงานในการผลิตและการกำจัดขยะ

5.ใช้พลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดที่เหมาะกับเมืองไทยซึ่งมีแสงแดดเหลือเฟือ สามารถนำมาใช้ในบ้านได้มากขึ้นเพราะอุปกรณ์มีราคาถูกลง แล้วยังนำไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ขายคืนให้การไฟฟ้าฯ ได้ด้วย

ผลิตอาหารเองได้ ไม่อดตายในยามวิกฤติ

ช่วงเวลาที่ผ่านมายิ่งย้ำให้รู้ว่าเราเป็นผู้บริโภคที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากน้อยเพียงใด หลายคนจึงหันมาสร้างแหล่งผลิตอาหารเองในบ้าน ทั้งปลูกผักสวนครัว ปลูกเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกุ้ง สามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการปลูกผักในกระถางวัสดุเหลือใช้ เช่น ถุงปุ๋ย แกลลอนน้ำ และสวนผักแนวตั้งซึ่งเหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็ก หรือปลูกผักสวนครัวร่วมกับการจัดสวนในบริเวณบ้าน ส่วนคนที่กำลังสร้างบ้านใหม่สามารถวางแผนให้มีพื้นที่ทำกสิกรรมในบ้านได้ โดยออกแบบให้มีพื้นที่ดาดฟ้าซึ่งได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับบ้านที่มีพื้นที่บนดินไม่เพียงพอ ควรให้วิศวกรคำนวณการรับน้ำหนัก และทำระบบกันซึมพื้นดาดฟ้า หากทุกบ้านทุกตึกมีสวนเกษตรบนดาดฟ้า เราก็จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น มีพืชผักปลอดภัยที่ปลูกเองไว้กินกันเองในครัวเรือน


เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล


ฆ่าเชื้อโรคในบ้านด้วยการอบโอโซน หรือพ่นน้ำยาแบบไหนกำจัดโควิด19 ได้ดีกว่า

กรมการแพทย์แผนไทยฯ ชี้ ผลวิจัย“ฟ้าทะลายโจร” ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระยะ 2

ติดตาม facebook.com/baanlaesuanmag