ไก่ไข่พันธุ์ไวท์เลกฮอร์น ไก่นอกสวยงาม เลี้ยงง่ายเหมือนไก่บ้าน ให้ไข่ดีด้วย
พันธุ์ไก่ไข่ ในเล้าไก่ที่เรานำมาฝากครั้งนี้อาจจะดูเหมือนเล้าสำหรับ เลี้ยงไก่ไข่ ทั่วไป แต่รับรองว่ามีไอเดียที่น่าสนใจ และนำไปปรับใช้ไม่ยาก แถมยังช่วยประหยัดแรงและเวลาได้ด้วย
ไก่พันธุ์ไวท์เลกฮอร์น พันธุ์ไก่ไข่ ที่เลี้ยงในเล้าของคุณอรรถ-อรรถพล ไชยจักร วิศวกรโทรคมนาคมผู้ผันตัวมาเป็นเกษตรกร เจ้าของไร่หลังฉาง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ แห่งนี้ เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ในแนวคิดผลิตเพื่อทานในครอบครัว ส่วนที่เหลือจึงแบ่งขาย ที่นี่มีทั้งผักสลัดสดใหม่หวานกรอบรับประทานทุกวัน พร้อมไข่ไก่และเป็ดคุณภาพดีรสชาติอร่อยด้วยวิธีเลี้ยงแบบกึ่งปล่อย
เริ่มต้นเลี้ยงไก่ พันธุ์ไก่ไข่
อรรถเล่าว่าเลี้ยงไก่มาแล้วประมาณ 7 ปี เดิมทีเลี้ยงหลายพันธุ์ทั้งบาร์พลีมัทร็อค โร้ดไอส์แลนด์เรด และไวท์เลกฮอร์น พอถึงจุดหนึ่งจึงเหลือเพียงสายพันธุ์เดียวที่ชอบคือไวท์เลกฮอร์น (White Leghorn) อย่างเดียวประมาณ 30 ตัว ได้ผลผลิตไข่ประมาณ 15 ฟองต่อวัน
“ปัญหาเคยเจอเหมือนกันเพราะไก่ที่นี่เราเลี้ยงแบบไม่ทำวัคซีนเลย มีอยู่ปีหนึ่งเกิดโรคระบาด ทำให้ไก่ตายไป 95 % แต่ก็เจอแค่ครั้งนั้นครั้งเดียว ผมฝังไก่ไว้ใต้ต้นมะขามตรงใกล้เล้าไก่ ปรากฏว่าปีนั้นมะขามออกลูกดกมาจนถึงกับกิ่งหักลงมาเลย”
ไก่ไข่พันธุ์ไวท์เลกฮอร์น มีจุดเด่นคือขนสีขาว หงอนสีแดงสด มีความสวยงาม สามารถเลี้ยงปล่อยแบบไก่บ้านของไทย ให้ไข่เร็ว ดก ทั้งยังมีไข่เปลือกสีขาว แตกต่างจากไข่ไก่ทั่วไปที่ขายในท้องตลาด ลูกค้าที่ซื้อประจำจึงรู้ทันทีว่าเป็นไก่จากฟาร์มแห่งนี้
“เวลาเอาไข่ไปขายไปคนก็จะรู้ว่าเป็นไข่ไก่มาจากของเรา เพราะเปลือกไข่มีสีขาวล้วน ขณะที่ไข่ไก่จากฟาร์มที่เลี้ยงระบบอุตสาหกรรมจะไม่มีไข่สีนี้อยู่แล้ว ไก่พันธุ์นี้ผมได้มาจากพี่ที่รู้จักกันเริ่มจากเล็ก ๆ แค่ 10 ตัว ที่เหลือก็ฟักเองเป็นไก่ที่เกิดขึ้นที่นี่ทั้งหมด”
เล้าไก่กว้างขวางแบบอิสระ
เล้าไก่สร้างขึ้นง่าย ๆ ต่อเพิงยื่นออกมาจากฉางเก่าเป็นเพิงหมาแหงน มุงสังกะสีออกมาครึ่งเดียวให้มีพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์อยู่ในกรง และใช้ตาข่ายเหล็กกั้นผนังรอบด้าน ทำประตูกั้นแต่และโซนเป็นสัดส่วน ด้านนอกปลูกผักไชยาตลอดแนวติดกั้นเล้า ซึ่งตั้งใจให้สามารถเด็ดผักและโยนข้ามรั้วเข้าไปให้ไก่ได้เลย
“มีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่แถวนี้มาซื้ออาทิตย์ละครั้ง เป็นลูกค้าประจำเพราะเขารู้ว่าเราเลี้ยงแบบปล่อย คุณภาพไข่ดีกว่ามากครับ มีอยู่วันหนึ่งผมทำเบเกอรี่แล้วไข่หมดเลยไปซื้อไข่ที่ร้านชำมาเพิ่ม เปรียบเทียบรู้เลยว่ารสชาติต่างกัน เพราะเราเลี้ยงแบบกึ่ง Free range กรงไก่ขนาดกว้างกว่าปกติ สามารถเลี้ยงไก่ได้เป็นร้อยตัว เพราะการเลี้ยงไก่แบบปล่อยต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 4 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร เรามีไก่ 30 ตัว ในพื้นที่ 50 ตารางเมตร ในอนาคตผมมีแผนว่าจะปรับเล้าไก่ไว้อนุบาลไก่เท่านั้น พออายุ 1-2 เดือน ปล่อยเข้าป่าหลังบ้านเลี้ยงแบบ Free-range แบบเต็มตัว แต่ล้อมกั้นขอบเขตไว้ ”
อาหารแบบบ้านบ้าน
อาหารทั่วไปที่ให้ประจำวัน คือ รำ ปลายข้าวและอาหารไก่สำเร็จรูปผสมกัน รวมทั้งเศษอาหารในครัวเรือน พวกพืชผัก ผลไม้ ข้าวสุก ยกเว้นเนื้อสัตว์และกระดูกสัตว์ ใส่ถังรวมไว้นำมาให้ไก่ทุกวัน รวมทั้งหยวกล้วย ผักไชยาข้างเล้า ถ้ามีเวลาก็จะทำอาหารไก่เองใช้หยวกกล้วย รำ กากน้ำตาล เกลือ ปลายข้าว หมักไว้ 1 สัปดาห์ ไก่จะชอบอาหารฉ่ำ ๆ จิกกินได้นาน และตัดฟ้าทลายโจรให้บางครั้ง
ให้น้ำด้วยระบบลูกลอยประดิษฐ์เอง
ภายในเล้าจะวางกะละมังใส่น้ำธรรมดา แต่ติดตั้งระบบลูกลอยไว้ง่าย ๆ เมื่อน้ำพร่องลงต่ำกว่าลูกลอยระบบก็จะเติมน้ำอัตโนมัติ จึงไม่ต้องกังวลว่าไก่จะขาดน้ำ และช่วยทุ่นเวลาที่จะต้องมาเปิดน้ำเปลี่ยนน้ำแต่ละจุด ทำให้ไก่ได้รับน้ำเพียงพอทั้งยังลงไปเล่นน้ำได้ด้วย
“ตอนเช้าผมต้องมาเทน้ำเก่าออกทุกวัน น้ำที่เททิ้งก็จะเทลงแปลงผักไชยาข้างเล้า แล้วก็ล้างกะละมัง พอลูกลอยเติมน้ำก็ให้อาหารไก่ไปด้วยได้ แต่ผมไม่ได้มาคอยกวาดเล้าบ่อย ๆ เพราะว่าเราเลี้ยงไก่บนดิน มีโรยแกลบบ้าง ข้อดีของการเลี้ยงไก่บนดินคือไก่จะได้ธาตุอาหารจากดิน เช่น เหล็ก ซิลิกา ไข่ก็จะมีแร่ธาตุมากกว่าไข่ที่เลี้ยงระบบอุตสาหกรรม”
แหล่งซื้อเป็ดและ พันธุ์ไก่ไข่ มาเลี้ยง
การซื้อแม่พันธุ์เป็ดและไก่นั้น หากอยู่ใกล้แหล่งผลิตอยู่แล้วสามารถหาซื้อจากฟาร์มที่น่าเชื่อถือได้ หรือปัจจุบันมีร้านค้าทางออนไลน์หลายร้านให้เลือกซื้อ แต่หากอยู่ไกลอาจจะมีค่าขนส่งราคาแพง สำหรับไก่ในไร่หลังฉางอรรถซื้อจากร้านในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นร้านขายอาหารสัตว์ ซึ่งร้านเหล่านี้จะมีเครือข่ายผู้เลี้ยงไว้จำหน่ายมาส่งอาทิตย์ละครั้งอยู่แล้ว สามารถสั่งทางร้านไว้ล่วงหน้าได้ ถ้าซื้อจำนวนเยอะก็จองเอาไว้ก่อนได้ ไก่ไฮบริด ขนาดโตเต็มวัยราคาตัวละ 180-200 บาท ลูกไก่ 50 บาท ไก่พันธุ์ไวท์เล็กฮอร์น ขนาดโตเต็มวัยราคาตัวละ 400 บาท ลูกไก่ 100 บาท เป็นต้น
ติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Farm behind the barn
เลี้ยงไก่ไข่
เรื่อง วรัปศร
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ , อรรถพล ไชยจักร