เกษตรฟื้นฟู กับ น้องเจนทำฟาร์ม แนวทางในการทำฟาร์มออร์แกนิก - บ้านและสวน

แนวทางการประยุกต์ใช้ เกษตรฟื้นฟู ในการทำฟาร์มออร์แกนิก

อาหารที่รับประทานเข้าไปจะรู้ได้อย่างไรว่า ใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งความสงสัยเหล่านี้ก็เกิดขึ้นกับ คุณเจน เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ น้องเจนทำฟาร์ม เกษตรกรสาวรุ่นใหม่ที่หันมาปลูกผักทานเองในครอบครัว เพื่อสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย สู่จุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มออร์แกนิกโดยใช้หลักการของเกษตรฟื้นฟู ที่ Udon Organic Farm จ.อุดรธานี

คุณเจน เล่าว่า “เริ่มต้นจากที่คุณแม่เขาอยากกินผักที่ปลูกเอง เพราะเห็นว่ามีคนที่เป็นโรคกันเยอะ จากการกินผักที่มีสารเคมี เราก็อยากสร้างอาหารที่ปลอดภัย เราจึงปลูกผักออร์แกนิกกันตั้งแต่เริ่มเลย ก็พบว่ามีปัญหาหลายอย่างทั้ง วัชพืช แรงงาน โรคพืช จนเราไม่เห็นผลกำไรสักที แล้วเราก็มาเจอเรื่อง เกษตรฟื้นฟู ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้”

เกษตรฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) นับว่าเป็นอีกแขนงหนึ่งของการทำเกษตรออร์แกนิก ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพราะสภาพแวดล้อมที่ดีจะส่งผลให้พืชผักผลไม้ สัตว์ต่างๆ ภายในฟาร์ม มีความแข็งแรงมากขึ้น โอกาสการเกิดโรคน้อยลง ส่งผลให้ลดต้นทุนการดูแลน้อยลงไปด้วย

“สังเกตไหมเวลาเดินเข้าไปในป่า มีพืชหลากหลายชนิดอยู่ด้วยกัน แต่ไม่เห็นมีต้นไม้ไหนเป็นโรคเลย เราก็เลยเปลี่ยน mindset เราจะทำให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด คือ ต้องเพิ่มความหลากหลาย อย่าปลูกอะไรอย่างเดียว ปลูกสมุนไพรคู่กับผักและมีป่าด้วย แบบนี้จะเวิร์คสำหรับการทำเกษตรแบบออร์แกนิก”

นอกจากความหลากหลายจะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว ยังมีในเรื่องหลักการของเกษตรฟื้นฟู การเลี้ยงสัตว์ภายในฟาร์ม รวมถึงการจำหน่ายและการตลาด ผ่านการเล่าเรื่องจากคุณเจน ไว้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เกษตรฟื้นฟู
สมาชิกครอบครัวของคุณเจน ที่ Udon Organic Farm จ.อุดรธานี

คุณแม่ติ๊ก – แสงมรี อินพักทัน ดูแลการปลูกผัก ผลไม้ การแปรรูป การแล่เนื้อ การจัดเก็บวัตถุดิบ และการจำหน่ายสินค้า

คุณพ่อนิค – นิโคลัส อินเนส-เทเลอร์ ดูแลสัตว์เลี้ยงทั้งหมด รับผิดชอบอาหารสัตว์ จัดการเรื่องปุ๋ยหมักดูแลระบบน้ำและระบบไฟ

คุณเจน – เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์ ส่วนเจนดูแลเรื่องการตลาด การทำวิดีโอถ่ายทอดความรู้ การขาย การทำบัญชีค่าใช้จ่ายทั้งหมด จัดการแรงงาน และดูแลสัตว์ที่เจ็บป่วย

เกษตรฟื้นฟู

5 หลักการของ เกษตรฟื้นฟู

1 I ปกคลุมหน้าดินเสมอ
เวลาเราเดินเข้าไปในธรรมชาติมันจะไม่มีการเปิดหน้าดิน ถ้าเปิดหน้าดินวัชพืชหญ้าจะขึ้นมาเต็มเลย เพราะเขาต้องการคลุมความชื้นและดินต้องอยู่ข้างล่าง

2 I ลดการรบกวนดิน (No Dig No Till)
ไม่ขุดไม่พรวนไม่ไถ อาจมีรบกวนบ้างเล็กน้อย แต่ว่าโดยรวมแล้วไม่มีการไถพรวนทั้งหมดเลย เราทำมาประมาณ 5 ปี แล้วเห็นผลได้ชัดเลย ในนาข้าวของเราไม่มีหญ้าเลย

3 I ปลูกพืชให้หลากหลายชนิด
อย่างแปลงผักแปลงหนึ่งเป็นปลูกสลัด แปลงหนึ่งเป็นปลูกแรดิช อีกแปลงปลูกกะหล่ำ หรือสลับกันมั่วๆ ได้เลยเพื่อให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด

4 I ต้องมีสัตว์ในการเกษตรเสมอ
เพราะเราต้องใช้ปุ๋ยหมัก ตามธรรมชาติแล้วทุกที่ต้นไม้ต่างๆ มันจะมีสัตว์อยู่เสมอ เราต้องใช้มูลจากสัตว์ เราต้องให้สัตว์เหล่านั้นกินพืชผักของเรา มันจะได้ครบวงจร สมมติเราไปซื้อปุ๋ยมาจากข้างนอก เขาอาจให้ไก่กินยาปฏิชีวนะ มันอาจเกิดการปนเปื้อนได้

5 I เก็บรักษารากไว้ในดินเสมอ
รากพืชที่อยู่ใต้ดินจะมีการสื่อสาร ด้วยเครือข่าย Mycorrhizal Network ในการส่งสัญญาณเตือนพืชใกล้เคียงว่ามีศัตรูพืชกำลัง และมีการแลกเปลี่ยนสารอาหารกัน เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องปลูกหลากหลาย อย่างต้นข้าวโพดขาดแมกนีเซียม แล้วถ้าต้นข้างๆ เป็นข้าวโพด ต้นนั้นก็จะขาดเช่นกัน แต่ถ้าต้นข้างๆ เป็นต้นพริก ต้นพริกบอกว่าฉันมีแมกนีเซียมเยอะเดี๋ยวฉันส่งให้ มันก็เลยเกิดวัฏจักรของความหลากหลาย

เกษตรฟื้นฟู

การทำ เกษตรฟื้นฟู ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่?

การที่จะฟื้นฟูพื้นที่ดินแห้งๆ จะต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นฟู กว่าการปนเปื้อนนั้นจะหายไป ประมาณ 3 ปี แต่ว่าในช่วงเวลานั้นเราต้องปลูกป่า มีแหล่งน้ำ มีสัตว์ภายในฟาร์ม และทำการเกษตรฟื้นฟู หลังจากนั้นเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลย

อย่างนาข้าว เราเห็นชัดเลย 1-3 ปีแรกแทบจะขาดทุนด้วยซ้ำ ข้าวได้น้อยมาก พอหลังจาก 3 ปี ข้าวผลผลิตดีขึ้นทุกปี อย่างปีที่แล้วเป็นปีที่ 4 ปรากฏว่าได้ผลผลิตเท่ากับ 20 ปีที่แล้ว โดยไม่ใช้สารเคมีเลย ความอุดมสมบูรณ์มันสามารถกลับมาได้ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน

เกษตรฟื้นฟู

การทำนาแบบ เกษตรฟื้นฟู

ประมาณ 4-6 สัปดาห์ก่อนเราจะดำนา จะตัดหญ้าให้สั้นแล้วใช้ผ้าใบพลาสติกคลุมหน้าดินไว้ พอคลุมเสร็จพวกหญ้าและเมล็ดจะเปื่อยยุ่ยเป็นปุ๋ย ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตกด้วยทำให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมักได้อย่างอัตโนมัติ ถึงแม้ว่าดินที่ได้จะไม่ร่วนซุยเท่ากับการพรวนดิน แต่ก็สามารถใช้ไม้นำร่องไปก่อนแล้วค่อยตามด้วยต้นกล้าข้าว

“ช่วงแรกที่ทำเราไม่อยากใช้พลาสติก เลยใช้หญ้าเนเปียมาทำ มันดีมากเลย ช่วงแรกที่ปลูกเราก็ต้องแหวกหญ้าเนเปียที่กาลังเน่าเปื่อยออก แต่ว่ามันใช้แรงงานเยอะ 4 คน 4 วัน ยังไม่จบ แต่สำหรับปีแรกที่เราอยากเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน มันดี แต่ค่าแรงงานมันสูงไป เราก็เลยเปลี่ยนไปใช้ผ้าใบ แล้วมันก็ใช้แรงงานน้อยกว่าเยอะ”

เกษตรฟื้นฟู

ต้องมีสัตว์ในการทำ เกษตรฟื้นฟู เสมอ

ของเราโชคดีที่ 3 ปีแรก เราเน้นทำกินเอง ไม่ได้เน้นจำหน่าย เพราะมันก็ต้องค่อยๆ ปรับไป แต่ถ้าอยากหากำไร จากเรื่องนี้ ต้องเลี้ยงสัตว์ไปด้วย เพราะว่า สัตว์ผลิตปุ๋ยหมักให้เราได้ เพิ่มความแข็งแรงให้กับพืชและยิ่งฟื้นฟูได้เร็ว ไม่ใช่แค่ปุ๋ยหมักที่ได้ แต่ยังมีการกระทำทางกายภาพ เช่น ไก่ที่เขี่ยดินซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้หญ้าขึ้นไวขึ้น วัวก็เหมือนกันคอยเหยียบดินช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดินและกระตุ้นหญ้าให้แตกดี เป็นอาหารไส้เดือนด้วย

แล้วเราเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยให้หมูมีที่เล่นน้ำ มีที่ให้เดินเยอะแยะเลย วัวเราก็ปล่อยในรั้วที่มีพื้นที่ใหญ่พอสมควร ที่วัวสามารถเดินเล่นได้ เข้าไปเดินในป่าได้ หรือถ้ามันไม่สบายมันจะไปกินพวกต้นข่อยหรือต้นที่เราไม่เคยเห็นมันกิน เพื่อรักษาตัวเอง ตามธรรมชาติของวัวแล้วมันมีโอกาสที่จะเข้าถึงธรรมชาติเหล่านี้ได้

เกษตรฟื้นฟู

การเลี้ยงวัวแบบ เกษตรฟื้นฟู

ตามธรรมชาติแล้ววัวมันกินหญ้าจากอีกที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แล้วมีสัตว์มาคอยต้อนเสมอ แล้วไปตามทางกว่ามันจะกลับมา หญ้ามันก็โตหมดแล้ว เราเลยใช้รั้วไฟฟ้าแทนสัตว์ตัวนั้น ถ้าเราปล่อยให้วัวอยู่ที่เดิมตลอด เราจะเห็นว่าดินจะเริ่มแน่น มีไมยราบ หญ้าก็จะตาย พื้นที่ตรงนั้นก็จะแห้ง ถ้าเราปล่อยให้วัวมันกัดจนสั้นไปหมด หญ้าไม่มีโอกาสฟื้นตัว

เกษตรฟื้นฟู
แปลงหญ้าที่ปล่อยไว้จนกระทั่งโตพอ พร้อมสำหรับให้วัวเข้ามากินหญ้า

เราเลยแบ่งเป็นล็อกที่ใหญ่พอให้วัวจะไม่ทะเลาะกัน แล้วย้ายไปเรื่อยๆ วนมาจนถึงล็อกแรกซึ่งหญ้าก็ฟื้นตัวดีแล้ว มันเป็นระบบที่วัวสามารถกินหญ้าได้ตลอดโดยที่ไม่ต้องอาหารจากข้างนอก เพราะการซื้ออาหารมาจากข้างนอก จะใช้แรงงานเยอะ และต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

เกษตรฟื้นฟู

สายพันธุ์วัวที่เลี้ยงมีบราห์มันแดง (Red Brahman) กับวัวพื้นเมือง ข้อดีของวัวพื้นเมือง คือ กินอาหารแค่ครึ่งหนึ่งของบราห์มันแดง ราคาถูกกว่าสามารถมีจานวนได้เยอะ กินง่ายเลี้ยงง่าย ช่วยขย่ำดินได้เร็ว และไม่มีไขมันแทรกเนื้อ เหมาะสาหรับเชฟที่ต้องการเนื้อวัวที่ healthy แต่มีข้อจากัดที่โตช้า สินค้าของเราไม่ใช่สำหรับตลาดทั่วไป เพราะเราขายเนื้อแข่งกันคนอื่นแถวนี้ไม่ได้ เนื่องจากค่าแรงงานของเราแพงกว่า เราต้องเจาะตลาดที่พิเศษที่คนอื่นเจาะไม่ได้

มีเชฟหลายคนมาถามว่ามีเนื้อพื้นเมืองออร์แกนิกไหม? แน่นอนว่าเนื้อวัวมันจะเหนียวกว่าแต่เราจะใช้วิธีการแปรรูปด้วย Dry Aging เก็บไว้ในตู้เย็น 2-4 องศาเซลเซียส ประมาณ 28 วัน เนื้อมันจะนิ่มของมันเอง และเนื้อจะขายได้แพงขึ้น