คอร์ตกลางบ้านกับต้นไม้ใหญ่ของบ้านเรียบง่ายสไตล์เซน
คอร์ตกลางบ้าน ถูกจัดวางลงในผังของบ้านนี้เป็นสิ่งเเรก ด้วยต้องการบ้านที่เงียบสงบ สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ มีเส้นสายที่แลดูวิจิตรแต่ถ่อมตน การลำดับพื้นที่แบบ Japanese Zen จึงถูกเลือกนำมาใช้ และต้นไม้ใหญ่สองต้นที่วางตัวเป็นประธานอยู่ในทั้งสองคอร์ตก็เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของพื้นที่เลยทีเดียว
สถาปนิก : คุณปกรณ์ อยู่ดี โดย INLY STUDIO คอร์ตกลางบ้าน
“ต้นหว้าน้ำโขงที่ คอร์ตกลางบ้าน ทั้งสองต้นนี้ ทางอีสานเรียกว่าเป็นไม้กล้าม หรือไม้โขด ที่มีการบิดตัวสร้างให้ดูมีเรื่องราวไม่น่าเบื่อจนเกินไป พอนำมาไว้ที่กึ่งกลางของสวนจึงเป็นเหมือนจุดนำสายตาทั้งในส่วนของทางด้านหน้าบ้านที่มีทั้งห้องรับแขก และห้องรับประทานอาหาร รวมทั้งสวนด้านหลังที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว” คุณปกรณ์ อยู่ดี จาก INLY STUDIO เริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงแนวคิดเริ่มต้นของการออกแบบบ้านหลังนี้ ให้มีความสัมพันธ์กันระหว่าง “บ้าน” กับ “สวน” สามารถพักผ่อนเเละสัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิดตามวิถีเเห่งเซน ขณะเดียวกันก็ช่วยเติมเต็มความรักความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว
“เราอยากให้ทุก ๆ จุดของบ้าน สามารถเข้าถึงธรรมชาติได้จริง ๆ จึงจะเห็นได้ว่า จากคอร์ตกลางที่มีไม้ใหญ่อยู่จะค่อย ๆ กลายเป็นชาน ซึ่งใช้เป็นทางสัญจรของบ้าน ชานนี้สามารถใช้นั่งเล่นชมสวนได้ พอขยับเข้าไปจึงจะกลายเป็นห้องต่าง ๆ ที่มีประตูกระจกกั้นไว้อีกที โดยยังคงมองเห็นเเละเปิดรับวิวธรรมชาติได้เช่นเดิม
“ขณะที่แสงและเงาที่ตกกระทบลงมาจะค่อย ๆ ไล่จากสว่างไปยังเเสงที่ค่อย ๆ สลัวลงเมื่ออยู่ในพื้นที่ด้านใน เราเลือกใช้ระแนงรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เงาสลัวเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรม ส่วนหนึ่งเพราะอยากให้บ้านมีความสุขุม โดยแฝงรายละเอียดไว้ แต่จะไม่ใช่รายละเอียดที่โชว์ออกมาโดยตรง ซึ่งขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ แทน”
นอกจากความเชื่อมโยงกับสวนในทุกจุดของบ้านแล้ว พื้นที่ต่าง ๆ ในบ้านหลังนี้ ยังเชื่อมโยงหากันอย่างเป็นส่วนตัวอยู่ในที
“บ้านหลังนี้มีสมาชิกอยู่ 3 คน คือ คุณพ่อ คุณแม่ และลูกสาว ทุก ๆ คนอยากจะมีพื้นที่ส่วนตัวได้ใช้เวลาในพื้นที่แบบที่ตัวเองชอบ คุณลูกอาจอยากนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าว ขณะที่คุณพ่อก็นั่งเล่นอยู่ตรงห้องที่มีโต๊ะญี่ปุ่น เมื่อห้องแยกกันความเป็นส่วนตัวก็จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เข้ามาเพิ่มเติมคือ แล้วจะทำอย่างไรให้พวกเขายังรู้สึกเชื่อมโยงกันได้อยู่ จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านหลังนี้ นั่นคือ See Through House หมายถึง การมองผ่านต้นไม้โดยยังเห็นกันและกันได้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวคนละที่ในบ้าน แต่ทุก ๆ คนก็ยังจะรู้สึกและมองเห็นกันได้ทั้งหมด โดยมีสวนช่วยสร้างความรู้สึกส่วนตัวทั้งยังร่มรื่นไปพร้อม ๆ กัน”
การสร้างลำดับของพื้นที่ในบ้านหลังนี้ ทำให้เกิดรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้นในการใช้งาน สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือการสร้าง “ความเป็นไปได้” ของความสัมพันธ์ระหว่าง “สวน” กับ “บ้าน” ในหลากวิธี ทั้งโดยทางตรงที่สามารถเดินเล่นชมสวนเผื่อผ่อนคลาย หรือในทางอ้อมซึ่งคือความร่มรื่นชุ่มชื่นจากสวน คุณปกรณ์ยังพยายามสร้างความสัมพันธ์นี้ในทางที่เร้นลับไปมากกว่านั้นอีก เช่น การปล่อยให้สวนเป็น Fore Ground และ Back Ground ของการมองทะลุผ่านไปยังสถาปัตยกรรม รวมทั้งเงาจากสวนที่พาดผ่านไปตามกำแพง และสอดแทรกตัวเองเข้าไปในอาคารตามเวลาที่เปลี่ยนไป ธรรมชาติจึงอยู่ในทุก ๆ จังหวะของบ้านหลังนี้ได้อย่างลงตัว…
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : PanoramicStudio
รับชม บ้าน และ สวน ที่น่าสนใจ พร้อมข่าวสารใหม่ๆเกี่ยวกับเรื่องบ้านได้ทาง แฟนเพจบ้านและสวน
อ่านต่อ : บ้านชั้นเดียว แบบโมเดิร์นล้านนากลิ่นอายแบบญี่ปุ่น โดย Inly Studio