บ้านไทย เรือนหมู่ ไทยโมเดิร์นอยู่สบาย บรรยากาศกลางไร่และภูเขา - บ้านและสวน

เรือนหมู่อยู่เย็น ไทยโมเดิร์นอยู่สบาย บรรยากาศกลางไร่และภูเขา

บ้านไทยโมเดิร์นที่เชื่อมทุกส่วนด้วยทางลาดรองรับผู้สูงอายุ อยู่สบายและประหยัดพลังงาน ทำหลังคาโปร่งแสงทั้งหลังเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ

บ้านไทย
ออกแบบทางลาดผืนใหญ่เชื่อมทุกพื้นที่ ตั้งแต่ทางขึ้นรถ ทางเข้าบ้าน จนถึงทางเดินไปยังห้องนอน เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตสำหรับผู้สูงอายุ
บ้านไทย

เมื่อแรงบันดาลใจและความฝันได้นำพาคุณหมอผู้หลงรักภูเขา การเดินป่า และกลิ่นหอมดินหลังฝนตก มาลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในดินแดนแห่งขุนเขา จึงได้ซื้อที่ดินในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สร้าง บ้านไทย โมเดิร์นยกพื้นสูงมีใต้ถุน ให้กลมกลืนกับวิถีชีวิต บริบท และธรรมชาติที่มีฉากหลังเป็นวิวภูเขา โดยเชื่อมแต่ละเรือนด้วยชานโล่งซึ่งทำหน้าที่เป็นทางลาดขนาดใหญ่ เชื่อมการใช้งานตั้งแต่พื้นดินจนถึงห้องนอนโดยไม่มีบันได ด้วยวางแผนให้เป็นบ้านที่จะสร้างครอบครัวและรองรับวัยเกษียณในอนาคต

บ้านไทย
ออกแบบบ้านยกพื้นสูงแทนการถมที่ โดยรักษาระดับพื้นดินเดิมไว้ มีการถมบางส่วนบริเวณบ่อน้ำและทุ่งนาเดิมที่มีน้ำขัง พื้นที่โดยรอบบ้านเป็นไร่ยาสูบและพืชไร่หมุนเวียนที่มีฉากหลังเป็นภูเขา

บ้านใหม่ที่บ้านเกิด

เมื่อจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านสำหรับครอบครัวได้รวมการมีวิวสวยๆ และอยู่กับธรรมชาติไว้ด้วย บ้านของสองคุณหมอ คุณต้อม-วงศกร เจริญไทย คุณมิ้นท์-อภิรดา ถนอมวงศ์ทัย และ น้องต้นไม้ – เด็กชายธราดล เจริญไทย จึงมีผืนดิน ต้นไม้ สายลม แสงแดด และทิวเขารวมอยู่ด้วย ผ่านมุมมองและการออกแบบจาก คุณแชมป์-สณทรรศ ศรีสังข์ และคุณแตน-วรัญญู มกราภิรมย์ สถาปนิกแห่ง TA-CHA Design

คุณต้อมเล่าย้อนกลับไปว่า “ผมชอบธรรมชาติ ชอบเดินป่าและทำกิจกรรมกลางแจ้ง เลยอยากได้บ้านที่มีพื้นที่เปิดโล่ง มีต้นไม้ เห็นวิวสวยๆ ผมเป็นคนเชียงใหม่ ส่วนภรรยาเป็นคนหล่มสัก ด้วยเรามีแนวคิดคล้ายกัน เมื่อ 6 ปีก่อนจึงมาหาที่ดินสำหรับสร้างบ้าน จนมาถูกใจพื้นที่ตรงนี้ประมาณ 2 ไร่ครึ่ง เดิมเป็นทุ่งนาแบบสวนผสม มีบ่อน้ำ และด้านหลังมีต้นลานต้นใหญ่ ซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้ ที่ชอบมากคือวิวที่มองไปเห็นวัดราษฎร์ประดิษฐ์วราราม และมีฉากหลังเป็นภูเขาที่สวยมาก ต่อมาจึงหาสถาปนิกจากนิตยสารบ้านและสวนที่ติดตามมานานแล้ว ผมชอบรูปแบบ บ้านไทย ร่วมสมัย จนมาถูกใจบ้านที่ใช้ชื่อว่า ‘บ้านอยู่เย็น’ ซึ่งออกแบบโดย TA-CHA Design จึงลองติดต่อไป

“ผมบอกกับสถาปนิกว่าอยากได้บ้านที่มีชาน ระเบียงเยอะๆ เพราะปกติจะไม่ค่อยอยู่ในห้อง แต่นั่งเล่นนอนเล่นอยู่นอกบ้านมากกว่า และอยากเห็นวิวสวยๆ อนาคตวางแผนจะมีลูก 2 คน และมีพ่อกับแม่มาอยู่ด้วย”

บ้านไทย
พื้นชานมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงออกแบบแทรกคอร์ตกลางชานด้วยเส้นโค้งที่เกิดจากการซ้อนกันของวงกลม สร้างความสัมพันธ์ของมุมมองและภูมิทัศน์ พร้อมออกแบบราวกันตกและแผงไม้ไผ่ให้ร้อยเป็นเนื้อเดียวกับบ้าน

ชาน พื้นที่แห่งปฏิสัมพันธ์

การออกแบบบ้านไม่มีสูตรสำเร็จ สถาปนิกจึงใช้วิธีพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูล และสัมผัสถึงความรู้สึกนึกคิดของเจ้าของบ้าน “เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนหลงรักภูเขา มีความประทับใจพื้นที่ตรงนี้ และตั้งใจจะลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวที่นี่ ได้พูดคุยถึงวิถีชีวิตของทั้งคู่ พบว่าด้วยอาชีพแพทย์จึงทำงานไม่เป็นเวลา และมีการวางแผนในอนาคตว่าจะมีใครมาอยู่บ้าง จึงเกิดเป็นโปรแกรมการออกแบบที่มาจากผู้ใช้งาน จากพื้นที่ตั้ง และความต้องการต่างๆมาวิเคราะห์ เราถอดบุคลิกเจ้าของบ้านมาผสมกับบริบทที่ไม่อยากให้แปลกแยกจากชุมชน จึงเป็นบ้านที่ดูกลมกลืนแต่ก็มีความทันสมัย ใช้วิธีเชื่อมด้วยชานให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เชื่อมคนเข้ากับต้นไม้ ในแบบแรกที่เสนอไปยังมีการใช้บันได แต่เจ้าของบ้านห่วงการใช้งานในอนาคตสำหรับผู้สูงอายุ จึงปรับแบบโดยทำชานเป็นทางลาดผืนใหญ่ให้เชื่อมตั้งแต่พื้นดินจนถึงห้องนอน เป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เชื่อมคนกับต้นไม้ และเชื่อมความรู้สึกกับมุมมองวิวภูเขาด้านหลังบ้าน”

บ้านไทย
การเลือกใช้ไม้ไผ่ มาจากการหาวัสดุท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่ง ซึ่งพบว่าพื้นที่ใกล้เคียงมีไม้ไผ่มาก จึงนำมาใช้ในส่วนประกอบที่ไม่ใช่ตัวอาคารเพื่อลดภาระการดูแลรักษา
บ้านไทย

เรือนหมู่อยู่เย็น

“การวางผังมีลักษณะเป็นเรือนหมู่ยกพื้นสูงมีใต้ถุน ออกแบบด้วยหลักการพื้นฐานตามทิศทางแดดและลม เรือนหลักคือเรือนนั่งเล่นและเรือนนอนวางผังไม่ขวางตะวัน ทำหลังคาทรงจั่วสูงให้มีพื้นที่ใต้หลังคา โดยความร้อนจะลอยตัวสูงอยู่ด้านบน แล้วออกแบบหน้าบันด้วยวิธีการซ้อนไม้ให้มีช่องระบายอากาศ ทำให้ลมพัดเข้ามาพาความร้อนใต้หลังคาออกไป ในส่วนผนังที่ได้รับแสงแดดมาก ทำผนังสองชั้นเพื่อป้องกันความร้อน ออกแบบชายคายื่นลงต่ำเพื่อบังแสงแดดที่จะเข้ามาทางช่องเปิด และเจาะช่องเปิดบริเวณที่มีชายคาเท่านั้น” สถาปนิกอธิบายถึงการออกแบบให้บ้านให้เย็น รวมถึงการระบายอากาศตามธรรมชาติ “ทุกเรือนจะมีคอร์ตภายใน อย่างห้องนั่นเล่นกับห้องนอนใหญ่จะทำช่องเปิดกว้างให้เชื่อมต่อกับคอร์ต แต่ก็ยังมีความเป็นส่วนตัวสูง เมื่อมีการเปิดหน้าต่าง ระบบการระบายอากาศก็จะทำงาน”

ห้องรับประทานอาหารและนั่งเล่นเป็นห้องที่เย็นสบายและใช้งานบ่อยที่สุด มีมุมมองเห็นวิวภูเขาหลังบ้าน โดยออกแบบให้เชื่อมต่อกับครัวไทย คั่นด้วยคอร์ตขนาดเล็กที่เปิดระบายอากาศตามธรรมชาติได้ 
บ้านไทย
ข้อดีของบ้านยกพื้นสูง คือ ป้องกันน้ำท่วมและความชื้นจากดิน ประหยัดกว่าการถมดิน และมีการระบายอากาศใต้อาคาร โดยทำบันไดแบบไม่มีลูกตั้งให้ดูโปร่งและไม่ปิดช่องทางลม

บ้านไทย อยู่สบายและประหยัดพลังงาน

การออกแบบอยู่บนแนวคิดการประหยัดพลังงาน “ในสภาวะปกติ เจ้าของบ้านควรอยู่ได้โดยไม่ต้องเปิดไฟแสงสว่าง และเครื่องปรับอากาศ คือในบ้านต้องมีแสงธรรมชาติเข้าถึงเพียงพอ และเมื่อเปิดหน้าต่างต้องมีลมพัดผ่านบ้าง มีการระบายอากาศได้เอง จึงมีเสนอเรื่องลมและแสงสว่าง พร้อมๆกับความงาม โดยทั้งหลังเลือกใช้หลังคาไฟเบอร์กลาสโปร่งแสงที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนและรังสียูวีได้ดี บางส่วนของบ้านที่ต้องการความสว่างก็ใช้หลังคาโปร่งแสงโดยตรง ห้องทั่วไปใช้ฝ้าเพดานยิปซัมบอร์ดที่กรุฉนวนโฟมมาในตัวช่วยป้องกันความร้อนอีกชั้น และออกแบบเจาะฝ้าเพดานให้เป็นช่องแสง เพื่อนำแสงจากหลังคาลงมาใช้ในห้องตามจุดที่ต้องการแทนการเปิดไฟ”

ออกแบบเจาะฝ้าเพดานเป็นช่องแสงแนวยาว แล้วติดตั้งแผ่นอะคริลิกรับแสงสว่างจากหลังคาโปร่งแสงแทนการเปิดไฟ
ส่วนล้างจานในห้องครัวเปิดเพดานรับแสงธรรมชาติ ทำหน้าต่างบานเลื่อนและมุ้งลวดให้ระบายอากาศและกลิ่นได้ตลอดเวลา ทั้งยังมองเห็นกิจกรรมในห้องรับประทานอาหารได้ด้วย

ลดการใช้ทรัพยากร

“สตูดิโอเรามีแนวคิดลดใช้ทรัพยากรของมาตลอด หนึ่งในนั้นคือการใช้ไม้เก่าเพื่อรียูสการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า โดยซื้อบ้านไม้เก่าที่เขาจะขายอยู่แล้วมาทั้งหลัง ซึ่งจะได้ไม้ที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและขนาด จึงต้องอาศัยคนเลือกที่มีความชำนาญเพื่อช่วยประเมินว่าคุ้มหรือไม่ ก็จะได้ไม้คุณภาพดี ไม้หน้าใหญ่อยู่ในนั้นด้วย จากนั้นทำการไสเพื่อเปิดผิวไม้ บางครั้งไม่สามารถระบุชนิดไม้ได้ชัดเจน แต่ช่างไม้จะพิจารณาจากคุณสมบัติความแข็งอ่อนของเนื้อไม้จากการตัด การเฉือน แล้วดูว่าไม้นั้นควรจะไปทำอะไร และเลือกให้เหมาะกับงานที่จะนำไปใช้ โดยไม้หนาและแข็งแรงจะนำมาทำวงกบและประตูหน้าต่าง ส่วนที่เหลือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกบ้าน เพราะงานไม้เก่ามักมีร่องรอยที่บ่งบอกถึงกาลเวลา และใช้เวลาค่อนข้างนานในการทำงาน อย่างบ้านนี้ใช้เวลาทำงานไม้ร่วม 2 ปี แต่ไม้เก่าก็จะมีปัญหาน้อยกว่าไม้จากป่าปลูกและไม้ใหม่ ทั้งการบิดงอและการยืดหดตัว เจ้าของบ้านที่จะใช้ไม้เก่าจึงต้องมีความเข้าใจและยอมรับข้อจำกัดได้”

แม้ห้องนอนจะอยู่ด้านที่ติดถนน ก็สามารถเปิดหน้าต่างได้แบบเป็นส่วนตัว เพราะออกแบบผนังทึบที่เปิดโล่งด้านบนและด้านล่างให้เป็นคอร์ตของห้องนอน
ห้องแต่งตัวเปิดรับแสงจากหลังคาเพื่อให้สว่างเพียงพอสำหรับการแต่งหน้าแต่งตัว แม้จะร้อนกว่าห้องอื่นๆ แต่ด้วยกิจวัตรที่จะใช้งานในช่วงเช้าและช่วงเย็น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งาน
ห้องน้ำมีคอร์ตภายในที่ก่อผนังทึบและเปิดเป็นช่องโล่งด้านบนและด้านล่าง เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้มาก และทำหน้าต่างบานกระทุ้งกรุบานเกล็ดไม้ให้ระบายอากาศได้ตลอดเวลา
บ้านไทย

บ้านที่เปลี่ยนไปตามฤดู

ความน่าอยู่ของบ้าน ไม่ใช่เพียงเฉพาะสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่วิถีชีวิต ธรรมชาติที่โอบล้อม และการออกแบบให้สอดสัมพันธ์กัน ทำให้สัมผัสความงามในความธรรมดาที่เกิดขึ้นและผันเปลี่ยนไป “ผมชอบวิวมุมชานหลังบ้านที่สุด ได้มองเห็นทิวเขาในแต่ละวันที่ไม่เคยเหมือนกันเลย เป็นมุมนั่งชิลจิบกาแฟยามเช้าหรือปาร์ตี้หมูกระทะกับญาติมิตร รอบๆเป็นไร่ยาสูบ และปลูกพืชไร่หมุนเวียน เช่น ข้าว ข้าวโพด ผักกาดขาว เป็นทัศนียภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล การอยู่บ้านจึงรู้สึกเหมือนได้ไปเที่ยวรีสอร์ตด้วย แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดสำหรับบ้านนี้คือ การทำงานของสถาปนิก เพราะผมปรึกษาทุกเรื่อง เขามีความรู้เป็นทะเลเลย ระหว่างก่อสร้างมีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งผ่านและสำเร็จมาได้เพราะมีสถาปนิกเป็นที่ปรึกษาและแก้ปัญหาให้”

เป็นความโชคดีในวันที่ บ้านและสวน มาเยี่ยมบ้านหลังนี้มีฝนตกช่วงบ่าย ภาพเทาๆของวิวภูเขาที่มองผ่านม่านไม่ชัดเจนนัก แต่ได้สัมผัสความเย็นและกลิ่นไอดินที่เป็นความหอมของธรรมชาติที่ชวนให้รู้สึกทั้งสงบและชุ่มชื่นใจ

บ้านไทย
ชานด้านหลังบ้านทำราวกันตกเป็นเคาน์เตอร์บาร์สำหรับนั่งเล่น ดื่มกาแฟ หรือนั่งพื้นเอกเขนกจัดปาร์ตี้หมูกระทะกับญาติมิตรท่ามกลางวิวที่สวยงาม
บ้านไทย
บรรยากาศยามฝนตกที่ให้ความเย็นชุ่มชื้น เคล้ากลิ่นฝนและกลิ่นดินที่เป็นความหอมจากธรรมชาติ

เจ้าของ : คุณวงศกร เจริญไทย – คุณอภิรดา ถนอมวงศ์ทัย

ออกแบบสถาปัตยกรรม-ตกแต่งภายใน : TA-CHA Design โดย คุณสณทรรศ ศรีสังข์ และคุณวรัญญู มกราภิรมย์  


คอลัมน์บ้านสวย นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเมษายน 2565

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล, BeerSingnoi


URBAN BREEZE บ้านอยู่เย็น

รวมบ้านไทยร่วมสมัยที่อยู่สบายทั้งกายและใจ

ติดตามบ้านและสวน