ฟาร์มลุงรีย์ จับมือเอไอเอส ติดอาวุธฟาร์มเกษตรกลางเมืองด้วยเทคโนโลยี IoT - บ้านและสวน

ฟาร์มลุงรีย์จับมือเอไอเอส ติดอาวุธฟาร์มเกษตรกลางเมืองด้วย IoT

สำหรับคนที่ชื่นชอบการทำเกษตร โดยเฉพาะการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี เชื่อว่าคงคุ้นหน้าคุ้นตา ลุงรีย์ – ชารีย์ บุญญวินิจ เกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของ ฟาร์มลุงรีย์ ในซอยเพชรเกษม 46 ซึ่งเคยร่วมแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงไส้เดือนผ่านหนังสือ My Little Farm Vol.3 ทำปุ๋ยไส้เดือนใช้เอง

ภาพของฟาร์มลุงรีย์ที่เราเห็นกันวันนี้แตกต่างจากวันวานอย่างเห็นได้ชัด โดยเขาได้ปรับปรุงพื้นที่ภายในฟาร์มร่วมกับเอไอเอส พัฒนาโรงเรือนปลูกผัก ห้องปลูกเห็ด คอกเลี้ยงสัตว์และส่วนที่ใช้เลี้ยงไส้เดือนสำหรับทำปุ๋ย โดยนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) สร้างแพลตฟอร์มฟาร์มอัจฉริยะ จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข แหล่งเรียนรู้ที่เน้นการแบ่งปันและบูรณาการความรู้การทำเกษตรในเมือง (Urban Farming) ให้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งโซนให้ผู้มาเยือนได้ศึกษาดูงานกันอย่างเต็มที่

สำนักพิมพ์บ้านและสวนมีโอกาสได้พูดคุยกับลุงรีย์ถึงแนวคิดการนำเทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Intelligent Farm (iFarm) มาช่วยในการจัดการ เรามาติดตามเรื่องราวน่าสนใจของฟาร์มลุงรีย์โฉมใหม่กันค่ะ

“ทิศทางที่ฟาร์มลุงรีย์สนใจคือการตั้งต้นด้วยเศษขยะสด หรือ Food waste ซึ่งเป็นปัญหาสังคมเมืองที่แก้ไม่หาย เราจึงเริ่มลงมาแก้ที่ต้นตอในหน่วยครัวเรือน แยกออกตั้งแต่ต้นทางจากขยะไปสู่ดินที่ดี และจากดินก็แปรสภาพเป็นผลผลิตเกษตรปลอดภัย

“สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือความตื่นตัวที่จะสร้าง คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เทคนิคและกระบวนการใหม่ ๆ ภายใต้ความสนุก โดยช่วยกันระดมสมองทำให้เกิดเครือข่ายเกษตรที่เข้มแข็ง และสิ่งที่จะลืมไม่ได้เลยนั่นก็คือ อย่าลืมว่าผืนดินที่เรายืนอยู่คือโลก สิ่งแวดล้อมและจิตสำนึกดี ๆ ทำให้เราไม่สับสนทิศทาง และพร้อมร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยยังคงความเป็นฟาร์มลุงรีย์ไว้

“เพื่อนที่ร่วมทางกันก็เหมือนการที่เราตามหาจิ๊กซอว์ เดินเส้นต่อจุด โดยเราเองก็ไม่รู้ตัว หันมาอีกทีก็ทำให้เราอุ่นใจว่าเราไม่ได้เดินคนเดียว เรามีเพื่อนร่วมทางสุดเจ๋งที่ช่วยสนับสนุน

“เริ่มจากหลังคาเขียว Fiber Pattana (บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด) เจ้าของหลังคากล่องนมที่ช่วยให้ร่มเงาภายในฟาร์ม หลังคากล่องนมมีข้อดีคือ ทำให้ฟาร์มไม่ร้อน เพราะกล่องนมด้านที่เป็นฟรอยด์มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน และช่วยดูดซับเสียงดังจากฝนทำให้สัตว์เลี้ยงไม่เครียด แถมยังทนกรดและแข็งแรง นอกจากหลังคายังมีแผ่นเรียบจากกล่องนมที่เรานำมาใช้ขึ้นโครงสร้าง เศษต่าง ๆ ที่ได้จากการรีไซเคิลก็เอามาเป็นกระถางต้นไม้ที่ฝังลงดินได้เลย ทำให้การจัดการ Food waste กลมกลืนกันไปหมด

“เพื่อนคนที่สองคือ Sv Group ผู้ผลิตชีวภัณฑ์อารักษ์ขาพืชที่ผ่านมาตรฐาน ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาออนไลน์ โดยที่เกษตรกรสามารถถ่ายภาพแมลงศัตรูพืชส่งมาสอบถามได้ ทางทีมงานมีผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์และแจกแจงชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการให้ข้อมูลที่ทันสมัยและตอบโจทย์การใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน ซึ่งการจัดการศัตรูพืชก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก้าวสู่เกษตรแม่นยำในอนาคต

“เพื่อนคนที่สามคือโครงการมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Programs Manager Scholars of Sustenance Foundation) องค์กรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะเศษอาหารที่ครบครัน เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญในการเดินทางของขยะเศษอาหาร ซึ่งเศษอาหารนั้นมีหลายประเภทที่เราต้องทำความเข้าใจในการจัดการ เพื่อเชื่อมต่อกับอีกหลาย ๆ องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาเรื่องจักรวาลของขยะเศษอาหารในประเทศ เพื่อนคนนี้ทำให้ฟาร์มลุงรีย์ตาเป็นประกาย มองเห็นภาพปุ๋ยหมักกองโตที่เกษตรกรสามารถออกแบบโมเดลให้เข้ากับเศษอาหารที่มี ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการทำดินหมัก ชวนมาช่วยกันจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

“เพื่อนคนที่สี่หนังสือคือเพื่อน ฟาร์มลุงรีย์มีโอกาสได้เขียนหนังสือ My Little Farm Vol.3 ทำปุ๋ยไส้เดือนใช้เองกับสำนักพิมพ์บ้านและสวน เพื่อสื่อสารให้เห็นว่าเราพัฒนาจากฟาร์มไส้เดือนในรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์สำหรับคนเมืองโดยเฉพาะ ข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่หรือเรื่องเวลาที่ปิดโอกาสการทำให้บ้านเป็นสวนผักเป็นโจทย์ที่ยากเสมอ ปัจจุบันฟาร์มลุงรีย์พิสูจน์ให้เห็นว่ามีวิธีที่เป็นไปได้ว่าควรทำอะไร ทำอะไรก่อน-หลัง ระหว่างทางจะต้องเจอและรับมือกับปัญหาอะไร บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านตัวอักษร ภาพวาด และภาพกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านมากที่สุด

“เพื่อนคนต่อมาคือกองกำลังเกษตรโยธิน ฟาร์มลุงรีย์เชื่อว่าบันไดขั้นที่ 9 ของบันได 9 ขั้น คือเกษตรกรพันธมิตร Young Smart Farmers หรือ YSF ซึ่งเป็นเครือข่ายเพื่อน ๆ เกษตรกรจากทั่วประเทศ วันนี้มีคุณธรรมรัตน์ แย้มขจร ประธานเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดกรุงเทพมหานคร มาร่วมพูดคุยและเน้นย้ำความสำคัญของเทคโนโลยี เพราะนอกจากเรื่องการผลิตแล้ว วันนี้เกษตรกรต้องเก่งเรื่องการตลาด ต้องตอบลูกค้า รับสินค้าในเพจที่ตัวเองสร้าง ต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้โดนใจ ต้องออกตลาดจำหน่ายสินค้า คำถามสำคัญก็คือ… เกษตรกรมีเวลาเท่าไรกันที่ให้กับเนื้องานที่ตัวเองทำอยู่จริง ๆ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ การจ่ายเวลาให้กับปัจจัยและเงื่อนไขที่เข้ามา ทำให้เรามีเวลาโฟกัสกับงานเกษตรมากขึ้น มีเวลาได้พักผ่อน และเกิดการพัฒนาเพื่อต่อยอดต่อไป

อ่านต่อหน้า 2