ฟาร์มลุงรีย์จับมือเอไอเอส ติดอาวุธฟาร์มเกษตรกลางเมืองด้วย IoT
“สุดท้ายคือเพื่อนคนสำคัญที่รวมจิ๊กซอว์จนออกมาเป็นแพลตฟอร์ม iFarm นั่นคือ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ Ais ฟาร์มลุงรีย์ได้มีโอกาสร่วมในโครงการนำร่องทดลองนำอุปกรณ์ติดตั้งเข้าทดสอบตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2561 เก็บข้อมูลปรับปรุงแก้ไขร่วมกันระหว่างทีมวิศวกรของ Ais และฟาร์มลุงรีย์ โดยมีพี่อรรถ-อรรถพล ไชยจักร จาก Farm Behind the Barn เป็นที่ปรึกษา จัดวางผังระบบน้ำต่าง ๆ แล้วส่งต่อให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญของ Ais นำขึ้นระบบ Clouds และ Monitor เป็นระบบ iFarm (Intelligent Farm) ซึ่งความยากคือการทำงานร่วมกันของสองฝ่าย นั่นคือ ‘เกษตรกร – วิศวกร’ ที่ต้องลงมือทำและหารือกันค้นหาจุดลงตัว นำข้อมูลมาผสานกับเครื่องมือชี้วัดต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง เพื่อเก็บข้อมูลที่ได้คุณภาพและสามารถใช้งานได้จริง
“ในปีพ.ศ. 2562 นักพัฒนาอุปกรณ์ของ Ais และทีมเกษตรกรของฟาร์มลุงรีย์ เราค่อย ๆ แลกเปลี่ยนมุมมองกัน ทดลองต่อเนื่องปรับแก้จนลงตัว ภายในฟาร์มแบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ ที่ใช้ปัจจัยพื้นฐานที่ต่างกันให้เห็นภาพ โดยข้อมูลฝ่ายเกษตรกรเรายึดจากเพื่อน ๆ เกษตรกรรุ่นใหม่ Thailand Young Farmers ซึ่งเครือข่ายของเรามีความถนัดเฉพาะทางของแต่ละคน
โซนไส้เดือน ฟาร์มลุงรีย์เป็นคนกำหนดปัจจัยการเติบโตของไส้เดือน ซึ่งไส้เดือนอาศัยความชื้นจากน้ำที่พ่นเป็นละอองหมอก สามารถควบคุมความชื้นตลอดวันโดยไม่จำเป็นต้องมีคนดูแลเลยในส่วนนี้ จะทำก็เดือนละครั้ง คือวันที่ให้อาหารและเก็บเกี่ยวผลผลิต.
โซนโรงปลูกผักอัจฉริยะ มี Farm Behind the Barn ช่วยกำหนดปัจจัยการเติบโตของพืช ติดตั้งรูปแบบการให้น้ำ ทั้งระบบพ่นหมอก สปริงเกลอร์ และการให้น้ำแบบหยด ครอบคลุมการปลูกพืชได้หลากหลายประเภท
โซนห้องเห็ดอัจฉริยะ มี Mushroom Man เป็นคนกำหนดปัจจัยการเติบโตของเห็ด ซึ่งเป็นห้องที่ยากที่สุดเพราะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการควบคุม โดยเฉพาะเรื่องการระบายอากาศเป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้มีการใช้แสงเทียมช่วยควบคุมผลผลิต และเพิ่มมูลค่าด้วยการบังคับรูปทรงดอกเห็ดได้อีกด้วย
โซนสมาร์ทเล้า ได้คำแนะนำด้านโภชนาการอาหารสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์จากเพื่อน ๆ เกษตรกร เรามีทั้งหมู เป็ด และไก่ เลี้ยงในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนี้เสียงของสัตว์ต่าง ๆ ล้วนเติมเต็มบรรยากาศของการทำฟาร์ม ซึ่งทุกคนทักคือฟาร์มไม่มีกลิ่นเหม็น เพราะเราเติมจุลินทรีย์ในระบบน้ำอยู่เสมอ ทำให้ทั้งคนและสัตว์มีฟาร์มสุข
“ทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่เกษตรยุคใหม่อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันเราก็อัพเดทเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาอยู่เสมอ #AisDigitalForTHAIsAgriculture”
เมื่อพูดถึงเกษตรอัจฉริยะคนทั่วไปมักมองว่าทำได้ยากเพราะมีต้นทุนสูง ผลผลิตที่จำหน่ายได้จะคุ้มกับต้นทุนหรือไม่ โดยเฉพาะเกษตรในเมืองซึ่งมีพื้นที่จำกัด
“การทำระบบเกษตรอัจฉริยะมีต้นทุนตั้งแต่ราคาหลักพันจนถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ความยากง่าย และความต้องการของแต่ละคน ซึ่งผมยืนยันว่าทุกคนเข้าถึงได้แน่นอน แต่ก็มีข้อแม้ว่าเกษตรกรต้องเข้าใจพืชผลของตัวเองว่าต้องการปัจจัยอะไรบ้าง
“นอกจากผลกำไรที่หลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์แล้ว พื้นฐานง่าย ๆ ที่จะทำให้ต้นทุนการทำเกษตรลดลงก็คือ ความแม่นยำ ซึ่งช่วยลดความเสียหายและความผิดพลาดต่าง ๆ ส่งผลโดยตรงต่อคน คุณภาพของผลผลิต ผลผลิตที่เสียหาย การบริหารจัดการ และที่สำคัญคือเวลา
“สิ่งที่เราได้กลับมาก็คือเวลา ทั้งเวลาพักผ่อน มีเวลาให้กับตัวเองและใส่ใจคนรอบข้าง เพราะเดิมทีผู้เฒ่าผู้แก่ไม่อยากให้ลูกหลานทำอาชีพเกษตรกร เพราะเกษตรเป็นงานที่หนักเสมอ ต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ฤดูกาล สภาวะโลกร้อน สารพัดปัญหา เมื่อมีเวลามากขึ้นเราก็สามารถพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อได้
“พอมีความแม่นยำสิ่งที่ตามมาก็คือคุณภาพของผลผลิต ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางที่จะเกิดผลลัพธ์ใหม่ ๆ ในการกระทำแบบเดิม ๆ ฉะนั้นความท้าทายต่อไปก็คือการเลือกปลูกพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่มากขึ้น ราคาสูงขึ้น การจัดการยากขึ้น จากเดิมที่เราทำเกษตรด้วยตัวคนเดียว ตอนนี้เรามีผู้ช่วยเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาแบ่งเบาภาระ เมื่อทำสำเร็จเราจะมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นและความสุขก็จะเกิดขึ้นตรงนี้ด้วย”
นอกจาก 4 โซนเกษตรอัจฉริยะแล้ว ผู้มาเยือนจะได้เห็นอะไรในศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้อีกบ้าง
นอกจากพื้นที่งานระบบและจุดสาธิตการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยังมีโซนพิเศษในฟาร์ม ได้แก่ Fill in farm by Uncleree Farm ร้านค้าปลีกสินค้าเกษตรที่ต้องการใช้เท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น ไม่ต้องเอาไปเยอะให้เหลือทิ้ง ไม่มีเอกสารให้สิ้นเปลือง แต่ใช้วิธีสแกนและอ่านรายละเอียดวิธีการจนถึงการชำระเงินที่อำนวยความสะดวก
“เรามีบริการขวดพลาสติก ขวดแก้วสะอาดจากการล้างและใช้ซ้ำ เพื่อตัก ชั่งตวง และชำระเงิน สินค้ามีตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช ดินหมักสูตรต่าง ๆ ปุ๋ย จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์ วัสดุปลูก ภาชนะปลูก อุปกรณ์การเกษตรเบื้องต้น สำหรับคนเมืองที่เลือกคัดสรรมาแล้ว
“คนที่เข้ามาใช้บริการได้เลือกใช้แต่เพียงพอดี แถมยังลดการใช้บรรจุภัณฑ์เพราะใช้แค่ไหนตักแค่นั้น รูปแบบนี้ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียงทิ้งได้มากมาย อีกทั้งลูกค้าที่ตั้งใจมาซื้อสินค้าจริง ๆ สามารถเตรียมถุงมาตักเอง เราเน้นให้มีการเตรียมตัวและบริการตัวเองเป็นหัวใจสำคัญ จึงทำให้เกิดขยะให้น้อยที่สุด รบกวนโลกให้น้อยที่สุด อีกทั้งเรามีพนักงานไม่มาก ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะได้ไม่ต้องส่งไปให้ลูกค้าเป็นคนแบกรับ
“นอกจากนี้ยังมีของสดให้เลือกซื้อแบบ Fill in อีกด้วย ทั้งไข่ ข้าว เครื่องเทศ ผัก ผลไม้ตามฤดูกาลจากเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับฟาร์มลุงรีย์เป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้า จะซื้อไข่แค่ฟองสองฟองก็ได้ จะเอาไส้เดือนมาแลกไข่ก็ได้ จ่ายเป็นไส้เดือนแทนเงินก็ได้ เรามีอัตราแลกเปลี่ยนเป็นของตัวเอง ซึ่ง Fill in Farm by Uncleree Farm ก็พัฒนาไม่หยุดเช่นกัน มีการให้คำปรึกษา แนะนำสูตรปุ๋ย เลือก ตัก ชั่ง ผสมปุ๋ยกันสนุกสนาน ตามสูตรดินแบบต่าง ๆ เรียนรู้วิธีอารักษ์ขา พืชไปด้วยกัน ตั้งแต่ปลูกจนตัดกิน
“ต่อมาคือโซน Mom sun Kook คาเฟ่ Farm to table ขนานแท้ ก็เรามีฟาร์มอยู่ใกล้ขนาดนี้แล้ว จึงชวนแม่และพี่น้องลงครัว บ้านเราติดอาหารรสมือคุณแม่มากก็เลยอยากชวนมาชิม ว่ารสชาติจะถูกปากหลาย ๆ คนไหม วัตถุดิบสด ๆ จากฟาร์มสู่จานอาหารรสมือแม่ เมื่อออนไลน์ให้รู้ถึงที่มาที่ไปของวัตถุดิบ ก็เข้าถึงลูกค้า เข้าถึงคนกินได้อย่างอุ่นใจ”
“ฟาร์มสุขของเราก็คงเป็นเหมือนกับพื้นที่ในฝันที่ยามแก่ชราก็อยากทิ้งตัว อยากไปพักพิง ฟาร์มสุขของฟาร์มลุงรีย์ก็เกิดขึ้นง่าย ๆ จาก ‘ความพอดี’ นี่เอง ไม่ใช่อะไรใหญ่โต เมื่อฟาร์มเติบโต ชุมชนรอบ ๆ เติบโต ซึ่งคำว่าพอดีของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน แต่เราก็พอจะเดาใจคนเมืองได้ว่าฟาร์มสุขคืออะไร”
ทั้งหมดนี้คือฟาร์มลุงรีย์ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเพื่อนร่วมทางดังกล่าวข้างต้น และยังมีแผนต่อยอดอย่างไม่หยุดยั้ง
“ที่ผ่านมาความสำเร็จของฟาร์มลุงรีย์เกิดขึ้นจากการจัดการขยะที่เราทำได้ ปีนี้เราจะมีเพื่อนสรรพสัตว์ในดินยกพลมาช่วยไส้เดือนจัดการขยะอินทรีย์ ทำให้คนเห็นภาพวิธีการที่หลากหลายยิ่งขึ้น
“ผลิตผลจากฟาร์มจะมีความหลากหลายมากขึ้นในพื้นที่ที่น้อยลง เป็นโมเดลที่เราเลือกสรรมาแล้วว่าทำได้จริง เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น เห็นภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเราจะมีงานประจำปี ติดตามผลคนที่มาเยี่ยมชมฟาร์มและกลับไปทำจริง ได้มีเวทีอวดผลผลิตที่ตัวเองทำ ไม่จำเป็นต้องมากมาย แต่ได้มาแลกเปลี่ยนอัพเดทกันปีละครั้ง
“สุดท้ายนี้เราขอเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบจากคำถามสั้น ๆ ที่ว่า… เมื่อมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ชีวิตการเป็นเกษตรกรจะดีขึ้นได้อย่างไร #unclereefarm x #AisDigitalForTHAIsAgriculture”
เรื่อง: อังกาบดอย
ภาพ: ฟาร์มลุงรีย์