ศาลาในสวน กับเรื่องควรรู้ทั้งโครงสร้าง ราคา และการดูแล -บ้านและสวน

จะสร้างศาลาในสวน เริ่มต้นอย่างไร?

ศาลาในสวน เป็นหนึ่งจุดสำคัญที่คนรักสวนส่วนใหญ่นั้น ปรารถนาจะมี พื้นที่สำหรับนั่งเล่นชมนกชมไม้ หลบแดดร้อน ท่ามกลางสวนสวย ๆ ที่ชื่นชอบ

ซึ่งการสร้าง ศาลาในสวน นับเป็นหนึ่งงาน Hard scape ที่มีปัจจัยเรื่องโครงสร้างเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีความคงทนแข็งแรง เป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่ยังมีข้อควรคำนึงอีกมากมาย สิ่งที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักกังวลเมื่อจะสร้างศาลามีอยู่ 4 – 5 ประเด็น ได้แก่ ศาลา รูปแบบไหนที่จะเหมาะกับบ้าน ค่าก่อสร้างแพงหรือไม่ ไม่ค่อยมีพื้นที่ในสวน จะสร้างศาลาได้หรือไม่ วางศาลาตรงไหนในสวนดี การดูแลรักษาศาลายาก หรือเปล่า ลองมาดูกันไปทีละหัวข้อนะคะ

ศาลาในสวน

1. พื้นที่สำหรับการสร้างศาลาในสวน

ปัญหาหลักของคนเมืองคือ บ้านไม่มีพื้นที่สวน และมักคิดว่าต้องมีสวนขนาดใหญ่ถึงจะสามารถตั้ง ศาลาในสวนได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราสามารถออกแบบศาลาในสวนให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าจะมีสวนขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตามที โดยขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากใช้เพียงแค่นั่งเล่นพักผ่อน อ่านหนังสือ สำหรับคนเดียวหรือสองคน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ศาลาขนาดใหญ่ มีเพียงที่นั่งแบบเก้าอี้ยาวก็พอแล้ว หรือถ้ามี พื้นที่ระหว่างบ้านกับกำแพงรั้วก็สามารถสร้างศาลาโปร่งที่มีที่นั่งติดกำแพงไว้นั่งเล่นได้เช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วหากเป็นศาลานั่งเล่นในสวน สามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้ประมาณ 3 ขนาด คือ
ขนาดเล็ก นั่งได้ประมาณ 2-8 คน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เมตร
ขนาดกลาง นั่งได้ประมาณ 10-25 คน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เมตร
ขนาดใหญ่ นั่งได้ประมาณ 25-60 คน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-12 เมตร

ทั้งนี้หากพื้นที่ สวนของบ้านมีขนาดพอประมาณ ส่วนใหญ่แล้วมักวางศาลาไว้มุมรั้วหรือริมกำแพงให้มีระยะห่างจากตัวบ้านเพื่อให้เห็นวิวได้กว้าง แต่หากสวนมีขนาดใหญ่มากก็สามารถวางศาลาแบบลอยตัวเพื่อให้สามารถมองเห็นวิวรอบศาลาได้ นอกจากนี้หากพื้นที่บ้านมีองค์ประกอบพิเศษอื่น ๆ ภายในสวน เช่น มีบ่อน้ำ ก็สามารถนำ ศาลาไปวางไว้ริมบ่อน้ำ หรือหากมีต้นไม้ใหญ่ก็อาจสร้างบ้านต้นไม้ที่ให้บรรยากาศพิเศษในสวนได้เช่นกัน

ศาลาในสวน
แบบศาลาในสวน

2. รูปแบบการใช้งาน

มีผลอย่างมากต่อการเลือกรูปแบบ ขนาด รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของศาลาในสวน เช่น หากศาลานั้นเน้นวัตถุประสงค์ในการนั่งเพื่อชมวิวเป็นหลัก ศาลาควรตั้งอยู่ในตำแหน่งที่หันหน้ามองเห็นวิวของสวนที่ดีที่สุด แต่หากอยากให้ศาลาเป็นที่นั่งที่สงบ ก็ไม่ควรเลือกรูปแบบศาลาที่เปิดโล่งเกินไป ตั้งอยู่ในจุดที่ไม่โดนรบกวน ไม่ตั้งอยู่บริเวณสวนด้านที่ติดถนน ก่อนสร้างศาลาลองมาคิดใคร่ครวญว่าอยากทำอะไรที่ศาลาบ้าง จะได้เป็นการตัดสินใจในการเลือกวางตำแหน่งและหาขนาดที่เหมาะสม

3. ค่าก่อสร้างศาลา

งบประมาณการก่อสร้างศาลามีตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับ ขนาด รูปแบบ และวัสดุที่ใช้ หากมีงบประมาณไม่มากก็สามารถสร้างศาลา ขนาดเล็ก โดยใช้โครงสร้างโปร่งๆ ใช้วิธีปลูกต้นไม้สร้างขอบเขต สำหรับ หลังคาสามารถใช้โครงระแนงโปร่ง ใช้ไม้เลื้อย หรือสร้างศาลาใต้ต้นไม้ให้พอ อาศัยร่มเงาได้ ดังนั้นจึงสามารถกำหนดงบประมาณในการก่อสร้างศาลาได้ เช่น หากเป็นศาลาขนาด 10 ตารางเมตร โครงสร้างเหล็ก พื้นไม้เทียม ผนังโปร่ง หลังคากระเบื้อง ค่าก่อสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 – 80,000 บาท แต่หากเป็นศาลาที่มีขนาดใหญ่ มีประตู หน้าต่าง ผนัง และหลังคาที่เป็น เหมือนกับบ้านหลังน้อย ราคาก็ย่อมแพงขึ้นมาเป็นหลักแสน หากเป็นศาลา ที่มีรูปทรงพิเศษหรือสร้างในพื้นที่พิเศษ เช่น บ่อน้ำ บนต้นไม้ มีการก่อสร้าง ยุ่งยาก ก็จะมีราคาที่แพงขึ้นไปอีก

แบบศาลาในสวน

4. ส่วนประกอบของโครงสร้าง

ฐานราก: ไม่จำเป็นต้องรับน้ำหนักมากเท่ากับบ้าน แต่ก็ต้องแข็งแรงพอที่จะใช้งานได้อย่างปลอดภัยและไม่เกิดปัญหาอื่นตามมาภายหลัง โดยฐานรากที่แนะนำมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ ฐานรากแบบแผ่ และฐานรากเข็ม

พื้น: ควรเลือกใช้วัสดุที่ไม่ลื่นและทนทาน เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้สังเคราะห์ การทำทรายล้าง หรือคอนกรีตขัดหยาบ และควรสร้างให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าพื้นโดยรอบ เพื่อยืดอายุการใช้งาน ไม่ให้เปียกหรือโดนน้ำท่วม รวมถึงช่วยป้องกันสัตว์ที่ไม่ได้รับเชิญ

ผนัง: สามารถทำได้ทั้งแบบโปร่งที่มีเพียงเสาคานช่วยในการบ่งบอกอาณาเขต และแบบปิดล้อม อย่าง การกั้นด้วยระแนงโปร่ง กระจก หรือปลูกต้นไม้เป็นแนว

หลังคา : สามารถทำได้ทั้งแบบเปิดและปิดเช่นเดียวกับผนัง โดยหากเป็นหลังคาแบบเปิดอาจมีเพียงคานที่รัดรอบเสาหรือระแนงตีเป็นเส้น ส่วนหลังคาแบบปิดช่วยป้องกันแดดฝน ช่วยยืดระยะเวลาการนั่งเล่นในสวนให้ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ยังอาจสร้างบรรยากาศให้เป็นธรรมชาติด้วยการเลือกใช้ระแนงไม้เลื้อย เช่น เล็บมือนาง การเวก พวงแสด และสร้อยอินทนิลได้เช่นเดียวกัน

ส่วนประกอบอื่นๆ: ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ พัดลม หรือกระถางต้นไม้แบบแขวน สามารถใช้หลักการเดียวกันกับการออกแบบห้องภายในบ้านได้ เช่น ศาลาที่ทำหน้าที่เหมือนห้องรับประทานอาหารอาจจัดวางโต๊ะกินข้าวพร้อมเตาบาร์บิคิว หรือศาลาที่ทำหน้าที่เหมือนห้องรับแขกอาจจัดวางชุดเก้าอี้พร้อมติดลำโพงเพิ่มความสุนทรีย์ในการนั่งพักผ่อน

5. การดูแลรักษา

ศาลาในสวนเป็นสิ่งก่อสร้างที่ช่วยกันแดดกันฝน จึงควรเลือกใช้วัสดุ ที่ทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้ง การดูแลรักษาไม่จำเป็นต้องทำบ่อย แต่ การดูแลรักษาที่ดีจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้นได้ การดูแลรักษา ในรอบเดือน ควรหมั่นถอนหญ้ารอบๆ ศาลาเพื่อไม่ให้มีสัตว์ร้ายแฝงตัวมาได้ ส่วนทุก 3 – 6 เดือน ควรมีการฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อชำระล้างคราบสกปรกต่างๆ ที่เกาะติดตามศาลาให้หลุดออก อาจมีการขัดหรือเช็ดในจุดที่มีคราบติดแน่น ส่วนการบำรุงรักษาในรอบปี ควรมีการตรวจเช็กโครงสร้างว่าเสาคานมีการ โยกเยกหรือไม่ นอต สกรู ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ายังขันแน่น แข็งแรง ทนทานจากกระแสลม และรับน้ำหนักทุกคนที่อยู่ในศาลาได้ และเมื่อกาลเวลา ล่วงเลยผ่านไปนานหลายปีควรทาสีหรือทาน้ำยาเคลือบ จะทำให้ศาลาดูใหม่ และสวยงามอยู่เสมอ ทั้งเป็นการกระตุ้นให้อยากออกไปนั่งเล่นได้เป็นอย่างดี

แบบศาลาในสวน

เรื่อง : “ปาณิทัต รัตนวิจิตร”

ภาพ : สำนักพิมพ์บ้านและสวน


แจกฟรี! แบบเฉลียง แบบระเบียง ชานหน้าบ้านใช้ได้จริง

7 แบบสวนป่าธรรมชาติสวยสดชื่น


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x