4 ระดับความเข้มแสงในห้องที่เหมาะกับต้นไม้ พร้อมวิธีการวัดแสงอย่างง่าย
ไม้ดอกไม้ประดับช่วยเพิ่มบรรยากาศในบ้านให้ดูสดชื่นมีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี แต่การจะหาต้นไม้สักต้นมาใส่กระถางวางไว้ในบ้านสำหรับมือใหม่แล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ การปลูกต้นไม้นั้น มีปัจจัยให้พิจารณามากมายทั้งเรื่องของขนาด ชนิดพันธุ์ การดูแล และตำแหน่งที่ปลูก โดยเฉพาะเรื่องของแสงแดดที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต
พืชแต่ละชนิดมีความต้องการแสงแดดที่แตกต่างกัน เพื่อใช้ในการคายน้ำและการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) โดยปริมาณความเข้มแสงในระดับต่าง ๆ จะส่งผลทำให้ต้นไม้มีรูปทรงและสีของใบที่เปลี่ยนไปได้ เช่น ต้นไทรที่ปลูกกลางแจ้งจะมีใบสีเขียว ทรงพุ่มฟูแน่น แต่หากย้ายเข้ามาปลูกในร่ม ใบก็อาจจะเบาบางลงผิดกับตอนที่ปลูกกลางแจ้ง ดังนั้น การให้แสงสว่างที่เหมาะสมจึงช่วยให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างดีและมีรูปทรงสวยงาม
วิธีง่ายในการวัดระดับความเข้มของแสงในห้องอย่างง่าย
วิธีที่รวดเร็วและง่ายสำหรับการตรวจสอบวัดปริมาณความเข้มของแสงสว่าง (intensity) ในบ้าน คือ การทดสอบด้วยมือและสังเกตที่เงา โดยให้นำกระดาษหรือพื้นผิวระนาบเรียบอื่น ๆ มารองเป็นพื้นหลัง จากนั้นให้ยกมือขึ้นมาห่างจากพื้นหลังประมาณ 1 ฟุต หรือ 1 ไม้บรรทัด
– หากมองไม่เห็นเงาหรือเห็นเงาจางมาก แสดงว่าบริเวณนั้นได้รับแสงน้อย
– หากมองเห็นเงา แต่ค่อนข้างเบลอและคลุมเครือ แสดงว่าบริเวณนั้นมีแสงปานกลาง
– หากมองเห็นเงาได้คมชัดและชัดเจน แสดงว่าบริเวณนั้นมีแสงมากหรือได้รับแสงโดยตรง
ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทดสอบ คือ ช่วงที่แสงจ้าหรือแรงที่สุดในบ้าน เช่น ถ้าหน้าต่างหันไปทางทิศตะวันออกให้ทดสอบในช่วงเช้า หรือหากหน้าต่างหันหน้าไปทางทิศตะวันตกให้ทดสอบในช่วงบ่ายประมาณ 15.00-18.00 น. ดังนั้น ทิศทางของตำแหน่งห้องและช่องเปิดก็มีผลต่อระดับของแสงภายในห้องด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เรายังอาจวัดปริมาณแสงในห้องด้วย เครื่องวัดแสง Lux meter หรือ Light Meter ซึ่งมีหน่วยเป็น Lux (ลักซ์) หรือ FC (Foot candle) ในสภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนดไว้ได้เช่นเดียวกัน
ระดับความเข้มของแสงในห้อง
1.Bright Direct Light / Full Sun แสงตรง แรงจัด
พื้นที่ที่โดนแสงแดดจัดส่องถึงโดยตรงจะเป็นพื้นที่ที่สว่างที่สุดในบ้าน มักจะอยู่บริเวณระเบียง ดาดฟ้า หรือริมหน้าต่างที่ไม่มีอะไรกั้นระหว่างต้นไม้กับแสงแดด เว้นแต่กระจกใส ซึ่งต้นไม้ในบ้านส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบแสงแดดที่ตรงและแรงจัด เนื่องจากแสงที่มากเกินไปจะทำให้ต้นไม้แสดงอาการผิดปกติออกมา เช่น ใบเปลี่ยนสี เหี่ยวเฉา หรือเกิดรอยไหม้จากแดด จึงมีเพียงต้นไม้ไม่กี่กลุ่มที่สามารถทนความร้อนและแสงแดดได้ดี เช่น กลุ่มไม้อวบน้ำ (Succulents) อย่าง อากาเว่ ว่านหางจระเข้ และแคคตัส กลุ่มไม้ดอก อย่าง กุหลาบ ว่านสี่ทิศ โฮย่า ชวนชม เฟื่องฟ้า และกลุ่มพืชที่มีใบหลากสี อย่าง ฤาษีผสม โกสน หมากผู้หมากเมีย ดาดตะกั่ว เพราะ พืชเหล่านี้จะปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องการแสงสว่างเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ในการสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารขึ้นมาใช้ให้เพียงพอ
2.Bright Indirect Light แสงทางอ้อม สว่างและคงที่
พื้นที่ที่ได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอและเต็มวันประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง แต่อาจจะมีระดับความเข้มของแสงรองลงมา ส่วนใหญ่มักจะอยู่ห่างจากหน้าต่างประมาณ 1 – 2 เมตร และไม่อยู่ในเส้นทางของแสงอาทิตย์โดยตรง หรือได้รับแสงในช่วงบ่ายทางด้านทิศใต้หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่มีการกรองแสงออกบางส่วน หรือสะท้อนผ่านจากพื้นผิวอื่นที่ไม่ใช่แสงแดดโดยตรง เช่น เงาจากต้นไม้ใหญ่ หลังคาไม้ระแนง หรือม่านโปร่งแสง ซึ่งพรรณไม้สวนใหญ่สามารถนำมาจัดวางได้ในบริเวณนี้ โดยเฉพาะกลุ่มไม้ประดับที่มีใบสวยงาม ชอบแสงแดดเต็มวัน แต่ไม่ทนต่อแดดแรงโดยตรง เช่น ไม้จำพวกบอนสี สนฉัตร หนวดปลาหมึก กล้วยไม้ ไอวี่ ทิลแลนด์เซีย และไทรใบสัก
3.Medium Light แสงปานกลาง ร่มรำไร
บริเวณที่มีความเข้มแสงปานกลางจะได้รับแสงแดดโดยเฉลี่ยประมาณ 2 – 4 ชั่วโมงต่อวัน มักจะอยู่ในตำแหน่งกลางห้องที่ห่างจากหน้าต่างออกมา เช่น ห่างจากหน้าต่างที่หันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกประมาณ 2 – 2.5 เมตร หรือห่างจากหน้าต่างที่หันไปทางทิศใต้หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2.5 – 3.5 เมตร รวมไปถึงบริเวณใกล้หน้าต่างที่หันไปทางทิศเหนือที่ได้แสงแดดยามเช้า ซึ่งมีความเข้มแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ยามบ่ายน้อยกว่าจากทิศอื่น ๆ โดยพรรณไม้ที่เหมาะสมส่วนใหญ่จะเป็นไม้ในเขตร้อนชื้น ที่มีวิวัฒนาการจากการเจริญเติบโตได้ดีบนพื้นป่าที่มีแสงสว่างเพียงพอ แต่ถูกกรองผ่านพุ่มไม้สูงของต้นไม้และเถาวัลย์ เช่น กลุ่มปาล์ม เฟิน เศรษฐีเรือนใน สับปะรดสี ยางอินเดีย มอนสเตอรา ฟิโลเดดรอน หูเสือ และพลูด่าง ซึ่งหลายชนิด นอกจากจะช่วยเพิ่มบรรยากาศให้บ้านดูสดชื่นมีชีวิตชีวาได้แล้ว ยังช่วยฟอกอากาศ เพิ่มออกซิเจน และดูดซับสารพิษภายในห้องได้อีกด้วย
4.Low light แสงน้อย ในร่มเงา
พื้นที่ที่มีความเข้มแสงต่ำมักจะได้รับแสงธรรมชาติเพียงเล็กน้อยจากหน้าต่างบานเล็ก หรืออยู่ห่างไกลจากหน้าต่าง อยู่ใกล้บริเวณที่มีร่มเงาหนาแน่น ถูกบดบังด้วยอาคารหรือต้นไม้ รวมถึงมุมมืดในบ้านที่อาจได้รับเพียงแสงประดิษฐ์จากหลอดไฟเท่านั้น ซึ่งพรรณไม้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแสงน้อยได้ มักจะเป็นพืชที่มีใบสีเขียวสดหรือเขียวเข้ม เนื่องจากจะมีคลอโรฟิลล์อยู่อย่างหนาแน่น ทำให้สามารถสังเคราะห์แสงได้ในปริมาณมาก และเก็บสะสมอาหารไว้ได้นาน แต่จะมีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าพืชชนิดอื่น เช่น บัวดอย หน้าวัว คล้า ลิ้นมังกร เขียวหมื่นปี เดหลี และกวักมรกต แต่หากนำพืชชนิดอื่นที่ต้องการแสงมากมาไว้ในบริเวณนี้ อาจทำให้ต้นไม้แสดงอาการผิดปกติออกมาได้ เช่น สีของใบที่เข้มผิดปกติ หรือกิ่งก้านที่ยาวเก้งก้างไม่แข็งแรงและยืดออกไปในทิศทางที่มีแสงส่องถึง
Tips ต้นไม้ทุกชนิดย่อมต้องการแสงเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้น การตั้งกระถางต้นไม้ไว้ในที่ร่มนานเกินไปอาจทำให้ต้นไม้อ่อนแอลงได้ จึงควรหมั่นนำต้นไม้ในบ้านออกไปรับแสงแดดด้านนอกบ้าง โดยค่อย ๆ ให้ต้นไม้ได้รับแสงเพิ่มทีละนิด ไม่ควรนำออกไปไว้บริเวณที่แดดจัดทันที เพราะอาจจะเกิดอาการใบไหม้ได้ และเมื่อต้นไม้เริ่มกลับมาสดใสมีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงค่อยนำมาตั้งไว้ในร่มได้ตามเดิม