สรุปสิ่งที่ควรรู้และขั้นตอนปลูกผักทานเอง แบบพร้อมเอาไปใช้ได้จริง
ผัก เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ยิ่งเป็นผักที่ปลอดสารเคมีด้วยแล้ว ยิ่งมีประโยชน์และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
สำหรับใครที่กำลังมองหา วิธีปลูกผักทานเองแบบเร่งด่วน บ้านและสวน สรุปวิธีการและเนื้อหาสำคัญมาให้ทุกท่านเริ่มต้นลงมือทำกันได้แล้ว เดี๋ยวนี้!!! ไปทำกันเลย !
สํารวจพื้นที่
ไม่ว่าพื้นที่ปลูกผักของคุณจะเป็นระเบียงห้อง สวนหน้าบ้าน หรือดาดฟ้า ขนาดเล็กใหญ่แค่ไหน แต่ปัจจัยสําคัญคือเรื่องแสงแดดในบริเวณนั้นต้องได้รับอย่างน้อยครึ่งวัน หากได้รับแสงแดดน้อยกว่าครึ่งวัน ควรเลือกปลูกผักที่สามารถปรับตัวได้ในแสงรําไร เช่น เตยหอม สะระแหน่ ชะพลู วอเตอร์-เครส ใบบัวบก จากนั้นจึงเริ่มออกแบบแปลงให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่และชนิดผักที่ปลูก เช่น ไม้เลื้อยควรทําแปลงเป็นซุ้มหรือค้างที่มีที่สําหรับให้เถาพืชได้ยึดเกาะพื้นที่ 1 ตารางเมตรสามารถปลูกผักได้ 3 กิโลกรัม ในเวลา 45-60 วัน ซึ่งเราสามารถปลูกผักผสมกันได้ให้เกิดความหลากหลาย
ควรยกแปลงผักเป็นเนินดินสูงขึ้นมาหรือสร้างกระบะปลูก เพื่อง่ายต่อการดูแล พื้นที่ที่มีความลาดเอียงหรือเป็นพื้นคอนกรีตควรทํากระบะหรือมีขอบแปลงชัดเจน เพื่อป้องกันดินถูกชะล้างในช่วงฝนตกหรือจากการรดน้ําต้นไม้ อาจเริ่มต้นปลูกเพียงแปลงเล็กๆหรือใส่กระถางก่อนจะขยายเป็นแปลงใหญ่ต่อไป นอกจากนี้ควรมีก๊อกน้ําหรือโอ่งรองน้ําฝนอยู่ในบริเวณใกล้ๆ สําหรับรดน้ําต้นไม้ หรือทําทางระบายน้ําอย่างเหมาะสม
เลือกเมล็ดพันธุ์
แน่นอนว่าคุณควรเลือกพันธุ์ผักที่ชอบรับประทานและสามารถนํามาทําอาหารได้บ่อย หาซื้อพันธุ์ได้ง่าย มีลักษณะนิสัยเข้ากับสภาพอากาศและปริมาณแสงของพื้นที่ปลูก สําหรับผู้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลควรปลูกผักพื้นบ้านที่ทนต่อโรค มีแมลงรบกวนน้อย และปลูกง่าย อย่างพริก โหระพา กะเพรา แมงลัก มะเขือเทศ มะกรูด แตงกวา อีกทั้งยังให้ผลผลิตเร็ว สามารถเก็บมาทําอาหารได้บ่อย
ปรับปรุงดิน
นอกจากนี้ยังควรเลือกเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ที่ไม่ได้ตัดแต่งพันธุกรรมจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น องค์กรกรีนเนท หรือมหาวิทยาลัยแม่โจ้หากจําเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ข้างซองบรรจุต้องมีเขียนว่า OP เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเก็บพันธุ์และปลูกต่อได้ ผิวของเมล็ดไม่คลุกสารเคมีเคลือบป้องกันแมลง ซองใส่เมล็ดต้องไม่ถูกแสงแดดหรือถูกฝนสังเกตวันหมดอายุ หากเมล็ดใกล้หมดอายุอัตราการงอกก็จะลดลง โดยทั่วไปควรใช้เมล็ดในซองให้หมดในวันที่เพาะปลูก หากซองเมล็ดถูกฉีกออกแล้ว สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 4 เดือน
เพาะกล้า
ดินที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดไม่ได้มีแร่ธาตุเพียงพอต่อการปลูกผักสําหรับเป็นอาหาร จึงต้องมีการปรับปรุงดิน โดยใช้วัสดุที่เหลือจากการทําการเกษตรเดิม ทั้งลํา แกลบ และเศษอาหารในครัวเรือนมาปรับปรุง หากพื้นที่ปลูกเป็นที่ดินซึ่งยังเป็นดินเดิมอยู่ แนะนําให้ใช้ดินเดิมผสมกับปุ๋ยคอกหนึ่งส่วน(ปุ๋ยคอกคือปุ๋ยที่ทําจากมูลวัวแห้ง) และเศษผัก ผลไม้ กิ่งไม้แห้ง คลุกเคล้าให้เข้ากันในอัตราส่วน 1:1 รดน้ําให้ชุ่ม ให้ได้ความชื้นประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ใช้วิธีวัดง่ายๆ โดยรดน้ําแล้วลองใช้มือกําดินที่ผสมแล้วดู ถ้าความชื้นได้ที่จะต้องไม่มีน้ําไหลออกตามง่ามมือ และเมื่อแบมือ ดินก็ยังคงจับกันเป็นก้อนอยู่ จากนั้นหาวัสดุคลุมดิน หากไม่มีที่ก็อาจใช้วิธีใส่กระสอบบ่มดินไว้ก็ได้ เมื่อถึงกําหนดแล้วจึงนําดินที่ปรุงแล้วมาปลูก หากปลูกในแปลงหลังหมักดินให้ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนโดยไม่ต้องทําอะไร เพื่อให้จุลินทรีย์ได้ย่อยเศษอาหารต่างๆโดยสังเกตจากการจับความร้อนในดิน ถ้ายังเกิดกระบวนการหมัก ดินที่หมักไว้จะมีความร้อนถ้ากลายเป็นเนื้อดินและเย็นก็แสดงว่าใช้ได้ ซึ่งในการเตรียมดินรอบที่สองอาจใช้เวลาเตรียมน้อยลงแค่ครึ่งเดือน เพราะดินมีจุลินทรีย์ทํางานอยู่แล้ว
การเพาะกล้าและย้ายกล้าควรทําระหว่างเตรียมดินเพื่อไม่ปล่อยให้เสียเวลา เพราะการเพาะกล้านั้นใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนย้ายลงแปลง ซึ่งก็จะทันเวลากันพอดี หากเป็นพืชที่มีเมล็ดใหญ่อย่างฟักทองหรือถั่ว เราสามารถทําวิธีเดียวกับการเพาะถั่วงอกได้ โดยนําเมล็ดมาแช่น้ําก่อนหนึ่งคืน จากนั้นนําเมล็ดวางบนกระดาษทิชชูที่ผ่านการชุบน้ํา พร้อมปิดด้วยทิชชูที่เปียกน้ําอีกชั้นหนึ่ง หากเป็นเมล็ดขนาดเล็กให้ทําวัสดุเพาะต้นกล้า โดยนําดินและขุยมะพร้าวมาร่อนด้วยตะแกรงหรือตะกร้าก็ได้จากนั้นผสมดินและขุยมะพร้าวที่ผ่านการร่อนแล้วอย่างละ 1 ส่วน และคลุกเคล้าให้เข้ากัน จริงๆแล้วจะใช้ดินร่อนละเอียดอย่างเดียวก็ได้ แต่ที่ผสมขุยมะพร้าวลงไปก็เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ดิน มีโพรงช่วยอุ้มน้ําและรักษาความชื้นดีกว่าวัสดุเพาะที่เป็นดินอย่างเดียว ใช้ไม้ขีดเป็นร่องลึกประมาณ3เท่าของขนาดเมล็ด จากนั้นโรยเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่อง ใช้ดินกลบทับบางๆ นําหนังสือพิมพ์มาปิดทับ พร้อมรดน้ําให้ชุ่ม เพื่อรักษาความชื้นและกระตุ้นการงอก จากนั้นเมื่อเมล็ดงอกจนเป็นต้นกล้าแล้วค่อยย้ายลงกระถางหรือแปลงปลูกเป็นลําดับถัดไป เลือกต้นกล้าที่แข็งแรง คือ ต้นตรง ไม่คดงอ มีรากอยู่เยอะ หลังจากย้ายกล้าลงแปลงจะใช้เวลา 30-45 วัน ถึงจะเก็บผลผลิตได้
ระหว่างการย้าย รากต้นกล้าต้องมีดินห่อหุ้มอยู่ตลอดเวลา เพราะรากมีความอ่อนไหวต่ออากาศมาก แม้ว่ารากจะถูกอากาศแค่ 2-3 วินาที ก็มากเพียงพอที่อากาศจะเข้าไปทําลายขนรากหรือรากขนาดเล็กเป็นจํานวนมากได้ อีกทั้งต้นกล้าควรอยู่ใต้ร่มเงาตลอดเวลา เพราะชอบอากาศและดินที่ชื้นตามธรรมชาติการย้ายต้นกล้าควรทําในตอนเย็น เพื่อไม่ให้ต้นกล้าถูกแดดตอนกลางวันเผาและรับความชื้นจากน้ําค้างในตอนกลางคืน ยิ่งหากย้ายกล้าในวันที่เมฆปกคลุมหนาแน่นด้วยจะดีมาก หลังย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูกหรือกระถางเสร็จต้องรดน้ําให้ชุ่มทันที
การดูแล
รดน้ํา 1-2 ครั้งต่อวัน ตามสภาพอากาศ สังเกตด้วยว่าต้นไม้มีอาการอย่างไร การรดน้ําอย่างสม่ําเสมอครั้งละ 15-20 นาที โดยเฉพาะเวลาเช้าเป็นช่วงเวลาที่สําคัญที่สุด ซึ่งเราสามารถฉีดยาไล่แมลงไว้ก่อนได้เลย สูตรที่แนะนําให้ทําเป็นสูตรที่ง่ายและได้ผลที่สุด คือ นําพริกแกงในครัวเรือนมาละลายน้ําและกรองเอาน้ําที่ได้มาผสมกับน้ําธรรมดาในอัตราส่วน 1:20 ฉีดตอนเย็นป้องกันไว้ ประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้ามีการปรับปรุงดินดีตั้งแต่แรก เราแทบไม่ต้องเติมปุ๋ยหมักลงไปเลย หลังจากเก็บเกี่ยวก็ปล่อยให้แปลงปลูกว่างและตากแดดให้แห้งสัก 1 สัปดาห์ ก่อนลงมือเพาะปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อราและเชื้อโรคต่างๆ
หากต้องการเพิ่มแร่ธาตุอาหารให้ผักด้วยปุ๋ยหมัก สามารถนําดินหรือวัสดุแห้งๆ อย่าง กากกาแฟ เศษใบไม้แห้ง ปุ๋ยคอกแห้ง มาผสมกับเศษอาหารในครัวเรือนในอัตราส่วนที่ดูไม่แฉะเกินไป ใส่ลงในภาชนะปิดอย่างกล่องพลาสติกไว้จนกว่าจะเต็ม เมื่อเต็มแล้วก็ปิดฝา ไม่เกินหนึ่งเดือนก็จะย่อยเป็นปุ๋ยหมัก ส่วนมากใช้เพียงรอบละครั้งตอนที่ย้ายต้นลงแปลง นอกจากนี้ยังสามารถบํารุงต้นไม้ด้วยจุลินทรีย์และฮอร์โมนสังเคราะห์แสงได้เช่นกัน
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : ภาพประชาสัมพันธ์,คลังภาพบ้านและสวน,ฤทธิรงค์ จันทองสุข
คุยกับ “โครงการสวนผักคนเมือง” ที่ปรึกษาให้เราเริ่มปลูกผักทานเองได้
ศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดให้ลองมาเก็บผักและไข่ไก่ออร์แกนิกด้วยตนเองกับมือ