4 ทศวรรษ 4 นักจัดสวน กับ 4 แบบสวนยอดนิยม
ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา นิตยสารบ้านและสวนเติบโตไปพร้อมๆกับคุณผู้อ่านและปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามยุค สมัย หนึ่งในคอลัมน์ที่ได้รับความนิยมอยู่เสมอคือ “สวนสวย” ซึ่งนำเสนอรูปแบบไอเดียการจัดสวนของเหล่านักออกแบบมากฝีมือ
ฉบับนี้ขอหยิบยกเทรนด์สวนของ นักจัดสวน 4 คน 4 สไตล์ ได้แก่ อาจารย์สาโรช โสภณางกูร นักจัดสวนผู้ทำให้สวนบาหลีและสวนญี่ปุ่นเป็นที่แพร่หลายในยุคนั้น คุณวรวุฒิ แก้วสุก นักจัดสวนสไตล์ทรอปิคัลเรนฟอเรสต์ที่ออกแบบได้ใกล้เคียงกับความเป็นธรรมชาติ คุณศิริวิทย์ ริ้วบํารุง และคุณจาตุรงค์ ขุนกอง จาก Little Tree ผู้เริ่มต้นจัดสวนเองที่บ้านและส่งเข้าประกวดในโครงการสวนจัดเอง จนกลายเป็นนักจัดสวนสไตล์อังกฤษที่โด่งดัง และบริษัทกิ่ง ก้าน ใบ จำกัด ผู้ออกแบบสวนสไตล์โมเดิร์นเรียบง่าย แต่ตอบโจทย์ทุกฟังก์ชันการใช้งานได้อย่างลงตัว นักจัดสวนทุกท่านนั้นเรียกได้ว่าเติบโตไปพร้อมกับ “บ้านและสวน” ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบันที่ฝากผลงานเอาไว้ในนิตยสารมาแล้วหลายฉบับ แต่ละท่านจะมาบอกเล่าแนวทางการจัดสวนที่ตนเองถนัด เพื่อเป็นไอเดียให้คุณผู้อ่านทุกท่านกัน
Asian is Eternity กลิ่นอายเอเชียไม่จางหาย – อาจารย์สาโรช โสภณางกูร
หาก นึกถึงนิตยสารบ้านและสวนเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว นักจัดสวนท่านหนึ่งที่มีผลงานผ่านตาอยู่เสมอในหน้านิตยสาร และมีอิทธิพลต่อการจัดสวนในเมืองไทยในฐานะผู้ทำให้สวนสไตล์บาหลีและญี่ปุ่น เป็นที่แพร่หลายในบ้านเราในขณะนั้น คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก อาจารย์สาโรช โสภณางกูร จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถาปัตย์ 19 ที่แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ก็ไม่ทำให้การจัดสวนของท่านดูล้าสมัยเลย
ครั้งแรกกับ “บ้านและสวน”
ตอน นั้นจัดสวนเพื่อแสดงสินค้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราจัดเป็นสวนไทยมีน้ำตกมีกระบอกน้ำไหล มีรูปปั้นสัตว์ และต้นไม้ ซึ่งก็เข้าตาลูกค้าที่เข้ามาชมงาน ทางนิตยสารบ้านและสวนเองตอนนั้นได้ถ่ายภาพแล้วก็นำมาลง จากวันนั้นก็มีผลงานต่อมาเรื่อยๆ ถือเป็นโอกาสที่ดีของอาจารย์ เพราะนิตยสารบ้านและสวนได้นำงานไปลงบ่อยมาก บางปีลงทุกฉบับเลย มีลูกค้าที่เขายอมรับให้โอกาสเราได้จัดสวนมาก พอออกสื่อคนก็เริ่มจ้าง เพราะอยากลงนิตยสาร ตอนนั้นก็จัดสวนทุกสไตล์ เราเริ่มจากสวนแบบไทยที่มีโมกต้นหนึ่ง ตอไม้ตอหนึ่ง โอ่งใบหนึ่ง กับกระบอกน้ำไหลนิดหน่อย มีกรวดมีไม้พุ่มก็เสร็จแล้ว เป็นมุมเล็กๆ ต่อมาก็เริ่มออกแบบสวนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หลากหลายสไตล์มากขึ้น และยังมีโอกาสร่วมงานกับ “บ้านและสวน” อยู่พักหนึ่งในคอลัมน์ที่ออกแบบมุมสวนเล็กๆ โดยมีแปลนและกำหนดงบประมาณสำหรับให้ผู้อ่านนำไปจัด
ทำไมถึงชอบสวนสไตล์เอเชีย
แรก เริ่มคือจัดสวนญี่ปุ่นซึ่งเป็นสวนที่อาจารย์ชอบที่สุด เพราะมันนิ่งเรียบง่ายและเป็นประเทศแรกที่เรามีโอกาสได้ไปเที่ยวชมของจริงใน งานเอ็กซโปที่เมืองโอซากา ซึ่งก็ได้ไอเดียเยอะมากในการจัดสวน ต่อมาก็มีทั้งสวนไทย สวนป่า สวนไม้หอม หลากหลายไปเรื่อย แต่ส่วนใหญ่เป็นงานที่เน้นธรรมชาติ มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมเอเชียเข้ามาด้วย จะไม่รับงานโมเดิร์นเลย ส่วนสวนบาหลีเกิดขึ้นจากอาจารย์ไปนำพวกตุ๊กตาบาหลีเข้ามาขายที่ร้าน ซึ่งสวนเอเชียเป็นสวนที่ประกอบกับพรรณไม้และธรรมชาติของบ้านเราได้ง่าย ทั้งมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสวนบาหลีได้อย่างแนบเนียน ดูแลให้สวยงามได้ไม่ยาก พอเริ่มลงในนิตยสารเยอะเข้า ก็เริ่มเป็นที่นิยมจนดูเหมือนเป็นสไตล์งานของเราในที่สุด
เอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตน
สวน ควรจะมีที่มาที่ไป มีความเป็นจริงและความเป็นไปได้ ไม่ใช่จัดแบบอะไรก็สามารถเข้ามาอยู่ในสวนของเราได้หมดทุกสไตล์ เรายึดธรรมชาติเป็นหัวใจหลัก นอกจากพรรณไม้ในธรรมชาติแล้ว เราอาจนำสิ่งประดิษฐ์เข้ามาแทรกแทนบางอย่างได้ อาจารย์ชอบอุปกรณ์ประกอบในการจัดสวน เพราะสวนต้องมีมากกว่าต้นไม้ ทั้งหิน ตอไม้ และเซรามิก เราชอบจัดให้เกิดบรรยากาศคล้ายในธรรมชาติ มีรูปปั้นนกและสัตว์ แล้วก็เปิดเสียงนก เสียงกบ เสียงเขียด ตอนนั้นยังไม่มีใครทำเลย เราต้องไปนั่งอัดเสียงสัตว์ในธรรมชาติจริงๆ มาเปิดเพื่อสร้างบรรยากาศในสวน อีกอย่างอาจารย์ชอบเดินทางไปดูสวนตามต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและอินโดนีเซียไปมาเท่ากันเลย เพื่อหาความเชื่อมั่นให้ตัวเองด้วย ว่าสิ่งที่เราคิดและออกแบบไปเป็นรูปทรงองค์ประกอบตามลักษณะของสวนสไตล์นั้น จริงหรือไม่ เมื่อเราได้เห็นก็จะเชื่อมั่นในตัวเองและสามารถจัดสวนแบบนั้นๆได้อย่าง สมบูรณ์
สไตล์สวนในอนาคต
อาจารย์ คิดว่าก็คงคละกันไปหมดแล้ว คือไม่ว่าเราจะเสียเงินจัดสวนรูปแบบใดก็ตาม ท้ายที่สุดก็คละกลับเป็นแบบธรรมชาติหมด เพราะเราไม่สามารถดูแลให้ทุกอย่างนิ่งเหมือนตอนแรกได้หรอก ต้องปล่อยให้เจริญเติบโตแบบสบายๆ เราต้องปรับเข้ากับธรรมชาติของสวน ต้องเข้าไปผสมผสานกัน โดยเฉพาะสวนบ้าน เรายังต้องอยู่กับบ้านตลอด เราต้องมองจากบ้านออกไปแล้วมีความสุข แฟชั่นอาจหมุนไปเรื่อยๆ เป็นสไตล์ต่างๆ แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องเลือกสิ่งที่สบายและเข้ากับเรา
ข้อมูลเพิ่มเติม : สถาปัตย์ 19