สวนจิเซ็น สวนคาเระซันซุย และสวนโระจิความงดงามในช่วงใบไม้ผลิ - บ้านและสวน

สวนจิเซ็น สวนคาเระซันซุย และสวนโระจิ ความงดงามในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

เคยสงสัยไหมครับว่านักจัดสวนเขาจัดสวนที่บ้านกันไหม ?

เรามีนัด คุณภูริ – ภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล เจ้าของบริษัทวาบิซาบิ สปิริต จำกัด นักออกแบบจัดสวนมือวางอันดับต้น ๆ ของสวนสไตล์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่บ้านของเขา และสวนที่บ้านคุณภูริ ไม่ว่าจะเป็น สวนจิเซ็น สวนคาเระซันซุย หรือสวนโระจินั้นไม่ธรรมดาจริง ๆ  

ครอบครัวของคุณภูริที่ไม่ได้มีกันแค่ 4 คนพ่อแม่ลูก ยังมีปลาคาร์ปฝูงใหญ่ มีคุโระและซน ตัวป่วนของบ้าน นอกจากนี้ยังมีแมว เฟอร์เร็ต และหนูแฮมเตอร์ สัตว์เลี้ยงตัวโปรดของน้องอากิและน้องธิดาอีกด้วย

“ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนจะย้ายมาอยู่บ้านนี้แล้วครับว่าอยากจะเลี้ยงปลาคาร์ป ด้วยความชอบและความผูกพันที่ผมเคยไปศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น บ่อปลาคาร์ปกับสวนญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกที่ลงตัวเหมาะสมที่สุดครับ ตอนนั้นผมแค่มีความชอบและยังไม่ได้ทำงานจัดสวนจริงจัง เลยคิดว่าหานักจัดสวนมืออาชีพมาทำให้น่าจะดีกว่า แต่ตอนนั้นบ้านเรายังไม่ค่อยรู้จักสวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมในแบบที่ผมชอบมากนัก เราเองก็สื่อสารกับนักจัดสวนไม่ค่อยได้ ทำได้แค่ให้ดูรูปอ้างอิง เปลี่ยนมาหลายคนก็ยังไม่ถูกใจ สุดท้ายเลยตัดสินใจลงมือเองโดยมีทีมช่างคอยช่วยครับ ออกแบบเอง ไปเลือกต้นไม้ เลือกของแต่งสวนทุกชิ้นด้วยตัวเอง ใช้เวลาทำอยู่ประมาณ 2 เดือนครับ   

“บ้านเราไม่ได้มี 4 ฤดูเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่น ผมตั้งใจอยากให้เป็นสวนแบบโระจิ เพื่อสื่อถึงบรรยากาศของฤดูใบไม้ผลิครับ คำว่า ‘โระจิ’ ดั้งเดิมแปลว่า ตรอก ซอกซอยเล็ก ๆ ต่อมาภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนอักษรแต่อ่านออกเสียงเหมือนเดิม จึงมีความหมายว่า น้ำขัง น้ำค้าง หมอก ความชุ่มฉ่ำ หรือความร่มรื่น ในบางครั้งเราเลยเรียกสวนโระจิว่า ‘สวนน้ำค้าง’ เป็นสวนที่มีความชุ่มฉ่ำ ชุ่มชื่น พื้นมีมอสส์ดูเขียวสบายตา คำว่าสวนโระจินี้อาจฟังไม่ค่อยคุ้นหู ให้นึกถึงมุมสวนที่มีอ่างน้ำรินและมีน้ำไหลจากกระบอกไม้ไผ่ ที่เราเรียกว่า ‘สวนชา’ ซึ่งก็คือรูปแบบหนึ่งของสวนโระจิ”

อีกหนึ่งไฮไลต์ของสวนนี้คือทางเดินในสวน โดยการวางหินแต่ละก้อนจะวางเส้นเป็นตัววาย (Y) มีการฆ่าเส้นไม่ให้เป็นสันตรงตัดกัน ต้องวางให้เส้นแยกซ้ายขวาสับหว่างกันเป็นสามแยก ซึ่งมาจากตัวอักษรญี่ปุ่นคำว่า คน (人) ตามตำราของญี่ปุ่น เป็นวิธีจัดวางหินมาตั้งแต่สมัยโบราณ

บริเวณหน้าบ้านเนื้อที่ประมาณ 160 ตารางเมตร มองเห็นน้ำตกไกลๆ ที่ริมรั้ว ถัดมาเป็นอาคารสไตล์ญี่ปุ่นที่ใช้เป็นห้องชงชารับรองแขก มีระเบียงไม้ริมบ่อน้ำขนาดใหญ่ไว้นั่งเล่นดูปลาคาร์ป บรรยากาศร่มรื่นด้วยร่มเงาต้นไม้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเจ็ดชั้น หมากเม่า จิกน้ำ พะยอม หรือชุมแสง พื้นทางเดินในสวนที่จัดเรียงด้วยก้อนหินอย่างประณีตบรรจง ทั้งยังตกแต่งมุมสวนด้วยตะเกียงหิน รูปแกะสลัก และหินหลากหลายรูปทรงดูแปลกตา ซึ่งคุณภูริเล่าว่าสวนนี้มีสวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมถึง 3 รูปแบบผสมรวมกันอยู่ ทั้งสวนจิเซ็น สวนคาเระซันซุย และสวนโระจิ

“ภาพรวมของสวนเป็นสวนจิเซ็น หรือจะเรียกว่า ‘สวนธรรมชาติ’ ก็ได้ครับ ซึ่งดู ๆ แล้วก็จะคล้ายสวนทรอปิคัลที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา ต่างกันที่ต้นไม้ไม่แน่นทึบเท่า จะมีความโปร่งโล่งมากกว่า เนื่องจากที่ญี่ปุ่นมีพื้นที่จำกัด ต้องใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีให้ได้มากที่สุด ความจริงแล้วสวนธรรมชาติของญี่ปุ่นมีการตัดแต่งค่อนข้างมาก แต่เรียกว่าเป็นการแต่งฟอร์มน่าจะเหมาะกว่า คือควบคุมให้ทรงพุ่มและกิ่งทุกกิ่งมีลักษณะเป็นไปอย่างที่ต้องการและวางแผนไว้ แต่ก็ต้องดูเนียนเป็นธรรมชาติด้วย ถึงขั้นมีศาสตร์ในการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ให้ศึกษากันเลยทีเดียวครับ

สวนด้านในยังคงตกแต่งด้วยหินหายากที่เป็นของสะสม เช่น หินหนังช้าง (สีดำ) ที่มีลักษณะยาวและคดโค้ง ถูกวางไว้โคนต้นกำแพงเจ็ดชั้นให้ดูเหมือนเป็นรากต้นไม้ที่ชอนไชโผล่ขึ้นมาเหนือดิน ถัดมาเป็นกลุ่มหินลาวาภูเขาไฟจากบุรีรัมย์ (สีน้ำตาล) เด่นด้วยตะเกียงหินโบราณขนาดใหญ่

“น้ำตกของสวนญี่ปุ่นก็ถูกสร้างเลียนแบบน้ำตกธรรมชาติเช่นเดียวกัน อาจต่างไปในเรื่องของการเลือกใช้หิน ผมเลือกใช้หินแกรนิตสีเทาและหินชั้น ออกแบบให้น้ำตกมีสองหน้า ชั้นน้ำตกไม่สูงนักแต่หน้าน้ำจะกว้างหน่อยครับ ให้น้ำไหลเบาๆ และไหลเข้าบ้านตามหลักฮวงจุ้ย บ่อปลาขนาด 40 ตัน และเลี้ยงปลาคาร์ปด้วย จำเป็นจะต้องมีระบบบ่อกรองที่ดี ซึ่งผมซ่อนไว้ใต้ห้องชงชา เป็นการใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดครับ

ด้านหน้าประตูทางเข้าห้องชงชาจัดเป็นสวนชา ตกแต่งด้วยอ่างน้ำริน ตะเกียงหินโอะริเบะ มีน้ำไหลจากกระบอกไม้ไผ่ อ่างน้ำรินมีไว้สำหรับล้างมือล้างปากก่อนจะเข้าเรือนชา
น้ำตกในสวนก่อด้วยหินแกรนิตสีเทาและหินชั้น ชั้นน้ำตกจะไม่สูงนักและออกแบบให้มีหน้าน้ำกว้าง ให้น้ำไหลเบาๆ และไหลเข้าบ้านตามหลักฮวงจุ้ยให้โชคลาภเงินทองไหลเข้าบ้าน

“โดยหลักการแล้วต้นไม้ที่ใช้ในสวนญี่ปุ่นมักเลือกที่มีฟอร์มโค้งหงิกงอตามธรรมชาติ ใบขนาดไม่ใหญ่ ผิวใบมันเงา ซึ่งในบ้านเรามีต้นไม้ให้เลือกนำมาใช้เยอะเลยครับ ไม้ระดับล่างส่วนใหญ่จะเป็นไม้ในร่มที่โตช้า เพื่อรักษาภาพรวมของสวนให้นิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลงเร็วจนเกินไป ส่วนเฟินที่เห็นในสวนส่วนใหญ่จะขึ้นเองครับ อาจเห็นว่ามีต้นไม้อื่นที่ไม่ค่อยใช้จัดสวนในบ้านเราปนอยู่บ้าง เนื่องจากผมใช้สวนที่บ้านเป็นห้องทดลองครับ ลองปลูกต้นไม้หลาย ๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นเมเปิ้ล ไฮเดรนเยีย ฮอสตา อาซาเลีย ถ้าเติบโตได้ดีก็จะนำไปใช้จัดสวนให้ลูกค้าครับ

ตะเกียงหินโบราณแบบดั้งเดิมมีหลายรูปแบบ มีชื่อเรียกเฉพาะ และวัตถุประสงค์การนำไปใช้ที่ต่างกัน เช่น ตะเกียงโอะริเบะ พบได้ในสวนชา
มุมด้านในสวนจำลองเป็นสวนภูเขา มีลำธารกรวด สะพานหิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสวนคาเระซันซุย ฉากไม้ไผ่ด้านหลังเป็นไผ่ซางหม่นของบ้านเรา เป็นฟากไม้ไผ่ที่ทาด้วยสีเคลือบที่คุณภูริผสมสีเอง โดยใช้สีมะฮอกกานีเป็นหลัก ผสมสีให้ออกเป็นสีโทนแดงดำให้ดูคล้ายของญี่ปุ่นที่ใช้เปลือกไม้ฮิโนกิ

“ผมสะสมก้อนหินหายากที่มีลักษณะแปลกๆ อย่างเช่น หินหลังคา หินหนังช้าง หินลาวาภูเขาไฟ หินเหล็กไหล รวมไปถึงรูปปั้นหินแกะสลักต่าง ๆ ทั้งพระพุทธรูป รูปปั้นจิโซ รวมไปถึงตะเกียงหินรูปแบบต่าง ๆ จะว่าสวนนี้เป็นเหมือนโชว์รูมก็ได้นะครับ ผมนำเข้าตะเกียงหินมาจำหน่ายด้วย อยากให้เห็นว่าตะเกียงหินนำไปใช้ในลักษณะใดได้บ้าง ทั้งหมดเป็นของเก่าทำจากหินแกรนิตและสกัดด้วยมือ บางชิ้นมีอายุกว่าร้อยปี ของเหล่านี้ยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่าครับ

ถ่านที่ใช้ปูตกแต่งพื้นสั่งนำเข้ามาจากญี่ปุ่น เป็นไม้เผาให้มีลักษณะแตกคล้ายดอกไม้ จริงๆ แล้วถ่านไม้พวกนี้ที่ญี่ปุ่นใช้ในพิธีชงชาหรือใช้จุดไฟปิ้งย่างทั่วไป แต่ก็มีการนำมาใช้ตกแต่งสวนเพื่อความสวยงาม การเตรียมพื้นที่ใช้วิธีเดียวกับการปูพื้นทางเดินในสวน สิ่งที่สำคัญคือถ่านไม้พวกนี้ค่อนข้างเปราะบาง หากโดนกระแทกหรือต้องรับน้ำหนัก จึงไม่ควรปูในที่ที่ต้องถูกเหยียบย่ำเดินสัญจรไปมา
พื้นที่ริมรั้วด้านนอกบ้านออกแบบเป็นสวนภูเขา เป็นพื้นที่โชว์ของสะสมของคุณภูริ ไม่ว่าจะเป็นตะเกียงหิน รูปปั้นจิโซ หรือหินหายาก รั้วฉาบด้วยปูนผสมฟางสับทาสีขาว เพื่อให้ตัดกับหินประดับและของตกแต่งต่างๆ ที่มีสีดำเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดคอนทราสต์ที่เด่นขึ้นมา ด้านบนรั้วตกแต่งด้วยหลังคาญี่ปุ่นโบราณที่สั่งนำเข้ามาโดยเฉพาะ มีสนใบพายต้นสวยเป็นไม้ประธานเด่นของสวน

“สวนญี่ปุ่นเป็นสไตล์สวนที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย เราจะวัดกันที่อายุมากกว่า ยิ่งนานวันสวนยิ่งมีคุณค่า สิ่งที่จะมีการปรับเปลี่ยนก็พวกวัสดุตกแต่งต่าง ๆ เช่น ฉากไม้ไผ่ที่หมดอายุใช้งาน สวนที่บ้านผมมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ครับถ้าผมมีเวลา ผมมีโอกาสเดินทางไปเห็นสวนญี่ปุ่นในหลายๆ ที่ที่มีลูกเล่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เราก็ทดลองนำมาปรับใช้กับสวนที่บ้านเรา ปัจจุบันทิศทางของสวนญี่ปุ่นในบ้านเราดีขึ้นนะครับ นักจัดสวนบ้านเราเสพงานและนำเสนอสวนญี่ปุ่นในมุมที่ลึกขึ้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ทำให้สวนญี่ปุ่นในบ้านเรามีสไตล์ที่หลากหลาย เป็นสวนที่คนญี่ปุ่นจัดกันตามบ้านจริง ๆ ไม่ใช่สวนที่อยู่ตามวัดซึ่งเป็นภาพจำในอดีตอย่างที่ผ่านมา และทำให้คนหันมาสนใจกันมากขึ้นครับ”

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมิถุนายน 2567
เจ้าของ – ออกแบบ : Wabisabi Spirit โดยคุณภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ