สวนญี่ปุ่นเล็กๆ หน้าบ้านขนาด 6 x 8 เมตร
สัตว์เลี้ยงกับสวนเป็นอีกหนึ่งโจทย์เจ้าปัญหาสำหรับนักออกแบบจัดสวน ไม่ว่าจะเป็นน้องหมาที่ขุดคุ้ยดินช่วยรื้อแปลงปลูกต้นไม้ หรือน้องแมวที่แอบฉี่ในสนามหญ้าจนต้นเหลืองตายเป็นหย่อม หลายบ้านจึงเลือกแก้ปัญหาด้วยการออกแบบพื้นที่แยกจากกัน
อย่างเช่นบ้านหลังนี้ที่เลี้ยงแมวมากถึง 11 ตัว ทั้ง ๆ ที่เจ้าของบ้านแพ้แมว แต่ด้วยใจรักจึงได้ให้ความสำคัญกับน้อง ๆ ถึงขั้นออกแบบ สร้างบ้าน และ สวนญี่ปุ่นเล็กๆ เพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ
“คุณมาศ – ผกามาศ ธีวีระพันธ์ ภรรยาผมชอบแมวมากครับ ค่อย ๆ ซื้อมาเลี้ยงทีละตัว ๆ แล้วอยู่ ๆ เขาก็เกิดผื่นแดงขึ้นทั้งตัว ไปหาคุณหมอโรคผิวหนังคุณหมอก็ถามว่ามีสัตว์เลี้ยงในบ้านหรือไม่ เราเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะแมวรึเปล่า เลยไปสร้างบ้านแมวที่บ้านของน้องสาวที่อยู่ติดกันให้แมว ๆ อยู่กันโดยเฉพาะ ผื่นก็ยุบลง สรุปว่าสาเหตุน่าจะมาจากแมวจริง ๆ แต่ด้วยใจก็ยังรักที่จะเลี้ยง จึงได้ตั้งใจจะทำสวนสวย ๆ ใกล้ ๆ กับบ้านแมวไว้เป็นอาณาเขตเดียวกัน ซึ่งทั้งผมและภรรยา เราชอบประเทศญี่ปุ่นกันมากครับ แต่ช่วงโควิดเดินทางไม่ได้ ก็คิดว่าจะทำยังไงให้ญี่ปุ่นมาอยู่ในบ้านเราดีจนไปเจอคุณไม้ในสื่อติดตามไปดูผลงานที่เพจและเฟซบุ๊กส่วนตัวและติดต่อให้มาช่วยจัดสวนให้ครับ” คุณหมอทีม – นายแพทย์สฤษฏ์ ถอสุวรรณ์ พูดถึงจุดเริ่มต้นสวนของคนรักแมวแห่งนี้ให้ฟัง
คุณไม้ – ฐาปนิต โชติกเสถียร ผู้ออกแบบและเจ้าของ Murraya Garden พาเดินชมสวนพร้อมเล่าให้ฟังว่า “คุณหมออยากได้สวนญี่ปุ่นเพื่อน้องแมวโดยเฉพาะครับ เป็นสวนที่มีความเกี่ยวเนื่องล้อไปกับบ้านแมวสไตล์มูจิ (Muji) ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และเน้นมอสส์เป็นหลัก ผมจึงออกแบบเป็นสวนสไตล์ทรอปิคัลที่มีความเป็นญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้ญี่ปุ่นจ๋าซะทีเดียว และบริเวณสำหรับจัดสวนเป็นที่โล่งหน้าบ้านซึ่งเป็นหลังหัวมุมอยู่ติดกับถนนทั้งด้านหน้าและด้านข้างของบ้าน ผมได้ต้องสร้างให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับน้องแมวและเพิ่มความเป็นส่วนตัว โดยการทำรั้วไม้ไผ่สูง 2.5-3 เมตร เพื่อบังมุมมองจากภายนอก ช่วยกรองเสียงและฝุ่น
“สวนที่ต้องการเลี้ยงมอสส์ พื้นที่ต้องค่อนข้างร่ม ผมเลือกใช้ไม้ต้นเพื่อสร้างร่มเงาเป็นองค์ประกอบหลักของสวน แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ที่มีขนาดเพียง 6 x 8 เมตร ต้นไม้ที่จะนำมาใช้ต้องไม่ใหญ่จนดูอึดอัด และต้องสามารถสร้างร่มเงาที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของมอสส์ด้านล่างได้ ผมจึงเลือกเป็นเสม็ดแดง 3 ต้น ที่มีฟอร์มต้นสวยงามตามสไตล์สวนญี่ปุ่น ปลูก 3 ตำแหน่งบนเนินเตี้ย ๆ ที่ดันให้ชิดติดกำแพง แล้วปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มสูงต่ำให้พื้นที่สวนเล็ก ๆ นี้ดูมีมิติ เปิดพื้นที่โล่งตรงกลางด้านหน้าให้รู้สึกว่าสวนดูกว้างขึ้น
“สวนนี้เราไม่ได้ใช้ต้นไม้ที่หลากหลายมากนักครับ ไม้ระดับรองลงมาเลือกใช้ไผ่เหลืองแคระและไผ่ซางหม่น เพื่อสร้างความเชื่อมต่อจากระแนงไม้ไผ่ลงมายังพื้นที่สวนด้านล่าง และสร้างคาแรกเตอร์ความเป็นสวนญี่ปุ่นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ส่วนไม้ระดับล่างส่วนใหญ่เป็นไม้ในร่ม เลือกที่มีใบขนาดเล็ก เทคเจอร์ดูละเอียด ผิวใบสีเขียวเป็นมันสวยงาม อย่าง เฟินก้านดำเปรู กนกนารีญี่ปุ่น หรือต้นที่มีใบลักษณะเรียวยาว เช่น พลับพลึงแดงแคระ ไอริสน้ำ เพิ่มต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่ เช่น เสน่ห์จันทน์ เพื่อให้เกิดมิติในเรื่องของขนาด เติมเต็มองค์ประกอบในการจัดสวน พื้นด้านล่างปูด้วยมอสส์น้ำ กนกนารีเลื้อย และหนวดปลาดุกแคระ ซึ่งบริเวณที่ปลูกมอสส์นั้นก็จะทำเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ตะปุ่มตะป่ำเช่นกัน เพื่อเพิ่มลูกเล่นให้สวนเล็ก ๆ นี้ดูไม่เรียบเนี้ยบจนเกินไป วางแผ่นหินกาบสีเทาดำเป็นทางเดินในสวน
“ตั้งเก๋งจีนที่ทำจากหินแกรนิตเป็นสเค้าเจอร์ตกแต่งสวนเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นสวนญี่ปุ่น เพิ่มรางน้ำไหลแต่เปลี่ยนจากรางไม้ไผ่เป็นรางเหล็ก เพื่อสร้างจุดเด่นที่แตกต่าง สวนดูสนุกและมีความโมเดิร์นผสมเข้าไป รางรับน้ำทำเป็น 3 สเต็ปลดหลั่นกัน ปลายสุดวางอ่างหินแกรนิตเพื่อรองรับน้ำเกิดเสียงน้ำไหลเบา ๆ ทำให้สวนไม่นิ่งเงียบจนเกินไป ข้าง ๆ
วางหินปูนก้อนใหญ่สีดำใช้เป็นที่นั่งในสวนจะดูเป็นธรรมชาติกว่าใช้เก้าอี้ สร้างภาพรวมของสวนที่ดูนิ่งตามสไตล์สวนญี่ปุ่น
“สิ่งที่สำคัญสำหรับมอสส์ก็คือ ปริมาณแสงและความชื้นที่เหมาะสมเพียงพอครับ สวนนี้จะติดตั้งระบบพ่นหมอกไว้ทั้งหมด หัวพ่นหมอกจะอยู่บริเวณพื้นเป็นหลักเพื่อให้ความชื้นกับมอสส์ และช่วยสร้างของบรรยากาศสวนป่าสภาพอากาศและฤดูไหนบ้านเรามีผลกับต้นไม้ในสวนค่อนข้างมากนะครับ ถึงแม้ว่าเราจะปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างร่มเงาให้ไม้ระดับล่าง มีระบบพ่นหมอกเพื่อเติมความชื้นให้ต้นไม้แล้วก็ตาม เราก็ต้องหมั่นสังเกตด้วยนะครับว่าปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะสวนที่มีมอสส์ซึ่งต้องการการดูแลใส่ใจมากเป็นพิเศษครับ”
สำหรับคุณผู้อ่านที่เห็นสวนนี้แล้วอยากมีสวนสไตล์ญี่ปุ่นสวย ๆ ในพื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านตัวเองบ้าง คุณไม้แนะนำให้ทดลองจัดสวนด้วยตัวเองดูก่อนก็ได้ โดยพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ คือ เลือกใช้ไม้ประธานหรือไม้ใหญ่ที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไปที่สำคัญคือเลือกต้นที่มีลีลา มีฟอร์มต้นที่สวยงามตามแบบสวนญี่ปุ่น ส่วนไม้ระดับล่างก็เลือกที่มีใบขนาดเล็ก และเลือกชนิดให้เหมาะสมกับปริมาณแสงในสวน ส่วนพื้นด้านล่างถ้าปลูกมอสส์ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องแสงและความชื้น จัดวางต้นไม้ต่าง ๆ อย่างมีศิลปะให้ดูสวยงาม การจัดสวนเป็นการเรียนรู้ลองผิดลองถูก สนุกและเรียนรู้ไปกับมันเป็นการสร้างประสบการณ์ให้ตัวเราเอง
เจ้าของ : นายแพทย์สฤษฏ์ ถอสุวรรณ์ และคุณผกามาศ ธีวีระพันธ์
ออกแบบ : Murraya Garden โดยคุณฐาปนิต โชติกเสถียร
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม