ปลูกตะไคร้ ตะไคร้เงินล้าน ปลูกขาย สร้างรายได้เงินล้าน - บ้านและสวน

ปลูกตะไคร้ จำหน่ายสร้างรายได้เงินล้าน

“ตะไคร้” ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกษตรกรตำบลแม่ดง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เพราะ ปลูกตะไคร้ สร้างรายได้มากถึงหลักล้านได้

เดิมทีเกษตรกรตำบลแม่ดงมีอาชีพกรีดยางพาราเป็นอาชีพหลัก แต่หลายปีที่ผ่านมาชาวสวนยางในพื้นที่ประสบปัญหาโรคใบร่วงยางพาราระบาดหนักทำให้ผลผลิตยางลดลงเกินครึ่ง ประกอบกับราคายางตกต่ำมากส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน เกษตรกรจึงหันมา ปลูกตะไคร้ และพืชผักเป็นอาชีพเสริมแล้วนำไปขายยังตลาดสุไหงโก-ลก

ปลูกตะไคร้

คุณนูรียะห์  ดือรอแม เกษตรกรและผู้รวบรวมผลผลิตข่าตะไคร้ส่งออกไปยังมาประเทศมาเลเซีย เล่าให้ฟังว่าแรกเริ่มตนได้เพาะปลูกพืชผักหลาย ๆ ชนิดเพื่อนำผลผลิตไปขายในตลาดสดสุไหงโก-ลกพบว่ารายได้ค่อนข้างดี จึงพูดคุยและชักชวนเพื่อนบ้านมาร่วมกันเพาะปลูกและรวบรวมผลผลิตเพื่อให้สามารถนำไปขายได้ทุกวันเป็นอย่างนี้เรื่อยมา

จนกระทั่งวันหนึ่งมีพ่อค้าชาวมาเลเซียเข้ามาติดต่อขอซื้อข่าตะไคร้จำนวนมาก คุณนูรียะห์จึงตอบตกลงและกลับไปชักชวนเกษตรกรในพื้นที่เริ่มปลูกข่าตะไคร้ตั้งแต่วันนั้น จนปัจจุบัน มีเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมากหันมาปลูกและขยายพื้นที่ปลูกข่าตะไคร้ร่วม 400 ไร่ มีจุดรับซื้อหลักในพื้นที่ตำบลแม่ดงและพื้นที่ข้างเคียงไม่น้อยกว่า 8 จุด สามารถรับซื้อผลผลิตรวมกันประมาณ 10 ตันต่อวัน ส่งต่อไปยังพ่อค้าชาวมาเลเซียที่เข้ามาตั้งจุดขนถ่ายสินค้าในฝั่งอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกหมุนเวียนและเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายได้ทุกวันตลอดทั้งปี

ปลูกตะไคร้ เงินล้าน

เกษตรกรผู้ปลูกตะไคร้ส่วนใหญ่มักจะขอใช้พื้นที่ว่างระหว่างร่องสวนที่ปลูกใหม่ หรือพื้นที่สวนยางหลังการโค่นไม้ยางพาราออกหมดแล้วของเกษตรกรรายอื่น ๆ โดยแลกกับการดูแลพื้นที่ตรงนั้นไม่ให้รกร้างเป็นการตอบแทนและไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ บางรายเจ้าของพื้นที่ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ปลูกตะไคร้ให้อีกด้วยเป็นการพึ่งพาอาศัยกันอย่างดีเยี่ยม

การ ปลูกตะไคร้ และเก็บเกี่ยว

วิธีการปลูกของชาวบ้านจะเริ่มตั้งแต่กำจัดวัชพืชในแปลงจากนั้นจึงเตรียมดินปลูกโดยขุดหลุมปลูกขนาดประมาณ 20 x 20 x 20 เซนติเมตร และพรวนดินในหลุมให้ร่วนซุย จากนั้นนำต้นพันธุ์ตะไคร้ลงปลูก 2-4 ต้นต่อหลุม โดยไม่แยกต้นออกจากกัน ระยะห่างระหว่างหลุม 80-100 เซนติเมตร หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน จึงให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หลุมละ 1 ช้อนโต๊ะ เดือนละ 1 ครั้ง ทั้งหมด 3 ครั้ง จนอายุได้ 5 เดือนจึงเริ่มเก็บเกี่ยว เนื่องจากพื้นที่นี้มีฝนตกชุกตลอดปีจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำตลอดระยะเวลาการปลูกยกเว้นช่วงเดือนเมษายนบางปีที่ฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

ปลูกตะไคร้

ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตตะไคร้นั้น เกษตรกรจะเลือกเก็บเฉพาะกอที่ต้นอวบใหญ่ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ และขุดไปทั้งกอ และแบ่งตะไคร้ส่วนหนึ่งไว้เป็นต้นพันธุ์สำหรับปลูกทดแทนครั้งต่อไปทันที เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเกษตรกรจะนำตะไคร้ไปตัดแต่งส่วนรากและกาบใบเก่าออกไปเหลือไว้แต่ต้นตะไคร้อวบขาว นำไปวางเรียงไว้เพื่อมัดรวมกันเป็นกำ ๆ ละ 100 ต้น เมื่อมัดแล้วจึงตัดใบให้เหลือเฉพาะต้น ความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เมื่อนำไปวางเรียงกันจึงดูเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม จากนั้นนำไปส่งยังจุดรับซื้อในหมู่บ้าน ในราคามัดละ 60-80 บาท (ราคาขึ้นลงตามภาวะการตลาด) เกษตรกรสามารถผลิตตะไคร้ได้วันละ 10-20 มัด ต่อราย

เกษตรกรที่วางแผนปลูกให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี จะมีรายได้ทุกวันวันละ 600-1,200 บาท รายได้ต่อเดือนโดยเฉลี่ย 10,000-15,000 บาทต่อครัวเรือน เฉพาะการปลูกพืชกลุ่มนี้เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในกลุ่มนี้หลายล้านบาทต่อปี ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเงินเก็บออม และสามารถส่งเสียบุตรหลานให้มีการศึกษาในระดับสูงขึ้นได้

ปลูกตะไคร้ เงินล้าน

การ ปลูกตะไคร้ นอกจากจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลแม่ดงมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากทางภาครัฐอนุญาตให้รถบรรทุกของพ่อค้าจากมาเลเซียเข้ามารับผลผลิตข่าตะไคร้จากฝั่งไทยได้ แม้ในยามวิกฤตรุนแรงเกษตรกรผู้ปลูกข่าตะไคร้ตำบลแม่ดงก็ยังมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้อย่างต่อเนื่อง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และนอกจากนี้ทางหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอแว้ง ได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้านวิชาการ ให้ความรู้ในการผลิตข่าตะไคร้อย่างมีประสิทธิถาพ และสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป

เรื่องและภาพ : อับดะห์  มามะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอแว้ง  จังหวัดนราธิวาส

ถ่านชีวภาพและวิธีสร้างเตาเผาที่ทำได้ในครัวเรือน

ไผ่ซางหม่น พืชสารพัดประโยชน์

ติดตามบ้านและสวน บ้านและสวน Garden&Farm