ฟาร์มผักออร์แกนิก ทำสวนกับมาดาม สวนครัวปลูกสมุนไพรฝรั่ง - บ้านและสวน

“ทำสวนกับมาดาม” ฟาร์มผักออร์แกนิกของ 2 นักปลูก ที่อยากให้ทุกคนที่มามีสุขภาพที่ดี

นี่ไม่ใช่คาเฟ่ที่มีแปลงผัก แต่ ทำสวนกับมาดาม คือ ฟาร์มผักออร์แกนิกที่มีคาเฟ่เป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักให้ดื่มด่ำกับรสชาติของผักสดเก็บจากแปลงปลูก ผ่านมือสองคู่ของสองมาดามที่บอกกับเราว่าหากอยากสุขภาพดีให้มา ทำสวนกับมาดาม

คุณยุ้ย อภิรดี นกสุวรรณ และ คุณแหม่ม พัฐพศิญา ทิพย์สุมณฑา 2 เพื่อนซี้ที่ใช้เวลาร่วมกันมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยยาวมาถึงวัยทำงานในสายอาชีพนักแลนด์สเคปของบริษัทอสังหาฯ ชื่อดังของเมืองไทย ทั้งคู่ได้จับมือกันเริ่มสร้างสรรค์ ฟาร์มผักออร์แกนิก แห่งนี้ภายในเวลาไม่นานนัก ภายใต้อุดมการณ์เดียวกันคือ เป็นพื้นที่หล่อเลี้ยงฝันและปรารถนาอยากให้คนที่มารู้จักรักสุขภาพเช่นเดียวกับเธอทั้งสอง

ฟาร์มผักออร์แกนิก ทำสวนกับมาดาม

คุณแหม่มเล่าว่า “เราบอกกับทุกคนเสมอค่ะ ว่าที่นี่คือฟาร์มผักออร์แกนิกที่มีคาเฟ่สำหรับเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มที่ปลูกอย่างปลอดภัย หัวใจสำคัญคือเราทั้งคู่อยากทำสวน อยากสื่อสารให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ คาเฟ่จึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่ทำหน้าที่เชิญให้คนเข้ามาหาเรา หากได้ลองดื่มน้ำผักเคลหรือทานผักสดที่เราปลูกเองแล้วจะเปลี่ยนให้เขาเข้าใจว่าทำไมต้องปลูกผักทานเอง ได้อยู่ในสถานที่สวยๆ ได้เห็นว่าการทำสวนไม่ได้จำเป็นจะต้องเลอะเทอะนะคะ สามารถแต่งตัวในลุคที่ดูดีได้ เรายังมีความสุขกับการแต่งตัวแบบผู้หญิง จะเห็นเราทั้งคู่ในลุคใส่หมวกใส่รองเท้าบูทเป็นซิกเนเจอร์ในแบบของสองมาดามค่ะ”

“ตรงนี้เป็นที่หล่อเลี้ยงฝันค่ะ แม้เราทั้งคู่จะเป็นนักแลนด์สเคป แต่บทบาทของงานประจำที่หล่อเลี้ยงชีพก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งก็มีความว้าวุ้นในการทำงานบ้าง แต่การปลูกผักเหมือนเป็นการได้พักจากตรงนั้น เป็นความสงบ เป็นสมาธิ ซึ่งจริงๆ แล้วภาพสวนที่สมบูรณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่เดือนเองนะคะ ช่วงเดือนตุลาคมของปีที่แล้วก็เจอน้ำท่วมทำให้เราต้องปรับดินเพิ่ม แต่พอเริ่มปลูกผักก็เป็นภาพอย่างที่เห็นเลยค่ะ สวนสวยๆ แบบนี้ทุกคนสามารถทำมันได้” คุณยุ้ยเล่า

ฟาร์มผักออร์แกนิก ทำสวนกับมาดาม

เราไม่อาจจะย้อนกลับไปเล่าถึงช่วงเริ่มต้นที่ทั้งคู่รู้จักกัน แต่อยากบอกเล่าถึงช่วงเวลาเริ่มต้นที่คุณยุ้ยได้ชักนำคุณแหม่มเข้าสู่วงการปลูกผัก แล้วฟื้นวิชาที่ทั้งคู่เคยร่ำเรียนในช่วงมหาลัยให้กลับมาให้ประโยชน์อีกครั้งนี้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บอกได้เลยว่าเต็มไปด้วยความสุขที่เบ่งบานไม่ต่างจากพืชผักที่ปลูกในสวนเลยทีเดียว

จุดเชื่อมโยงก่อนถึงจุดเริ่มต้นของ ทำสวนกับมาดาม ฟาร์มผักออร์แกนิก

มันเริ่มจากยุ้ยก่อนค่ะ เมื่อ 3 ปีที่แล้วมีเวลาได้ work from home ทำให้ได้อยู่บ้านเยอะขึ้นก็หาอะไรทำไปด้วย บวกกับช่วงนั้นโควิดระบาดก็สนใจดูแลสุขภาพ ทานอาหารเสริมเยอะมากค่ะ อยากสุขภาพแข็งแรง ซึ่งอาหารเสริมที่ทานยุ้ยก็เห็นว่ามีเคลเป็นส่วนประกอบ เกิดสงสัยว่าผักเคลคืออะไรนะ ก็เริ่มศึกษาถึงประโยชน์ของเขาค่ะ ไปถึงวิธีปลูก เลยลองสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์มาลองปลูกในกระถางหน้าบ้าน ปลูกพร้อมกับผักอื่นๆ อย่างเมล็ดเขือเทศ ผักสลัด ผักอื่นที่เราอยากทานจนเต็มหน้าบ้านทาวน์เฮ้าส์เลยค่ะ พอมันเยอะเราก็เริ่มแจกจ่ายแบ่งเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำงานแล้วให้ได้ลองชิมผักอร่อย รวมถึงพี่แหม่มด้วย”

ฟาร์มผักออร์แกนิก ปลูกสมุนไพรฝรั่ง

“เรียกว่ายุ้ยเป็นคนชักนำให้กลับมาปลูกผักเลยค่ะ แหม่มเรียนจบสาขาพืชสวนมาก็จริง แต่วิธีการปลูกผักก็คืนวิชาให้อาจารย์ไปหมดแล้ว พอกลับมาสนใจจริงๆ จังๆ ก็ฟื้นความรู้กันใหม่ ช่วงแรกที่ตกลงกันว่าจะทำพื้นที่ตรงนี้ก็วางแผนตั้งแต่ต้นเลยค่ะ จะมีการขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำ ลงปลูกต้นเลมอน กำหนดพื้นที่แปลงผัก โรงเรือน ตั้งใจมีแค่อาคารเล็กๆ เพราะอยากมีที่หลบแดดนั่งพักเวลาทำสวน เวลาเพื่อนๆ มาเยี่ยมจะได้มีที่นั่งพัก แต่พอไปเจอรูปแบบที่ชอบเราก็นำสิ่งที่ชอบเข้ามารวมอยู่ในสวนค่ะ กลายเป็นฟาร์มผักที่ทุกคนเข้าใจว่าเป็นคาเฟ่แทน” คุณแหม่มเล่าความเป็นมาอย่างออกรส ชี้ให้เห็นจุดเชื่อมโยงของคู่ที่มีคำว่า สุขภาพดี และ การปลูกผัก โยงถึงกัน

ฟาร์มผักออร์แกนิก ทำสวนกับมาดาม
โซนต้นเลมอน มีหลายสายพันธุ์ ทั้ง พันธุ์ยูเรก้า พันธุ์อัสสัม
ผักกระถาง บางส่วนแบ่งจำหน่ายให้นำกลับไปปลูกต่อที่บ้านได้
ฟาร์มผักออร์แกนิก ทำสวนกับมาดาม
โซนผักเคลในโรงเรือนแบบเปิด ปลูกบนโต๊ะปลูกเก็บเกี่ยวได้สะดวก

จากหน้าบ้านทาวน์เฮ้าส์สู่แปลงผักกลางแจ้ง ดิน ยังคงสำคัญ

จบจากงานแบ่งสัดส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นงานถนัดของนักแลนด์สเคป แต่การปลูกผักก็ไม่ใช่เรื่องยากของสองนักจัดสวนด้วยพื้นฐานที่ได้ร่ำเรียนมา แต่เกือบ 20 ปีในสายอาชีพ ทั้งคู่อาจจะคุ้นเคยกับไม้ดอกไม้ประดับที่ใช้จัดสวนเสียมากกว่าจึงต้องนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้ง

“ช่วงที่ลองปลูกหน้าบ้านทาวน์เฮ้าส์ ยุ้ยได้เรียนรู้ในหลายๆ จุดมาบ้างแล้วค่ะ อย่างธรรมชาติของผักแต่ละชนิด แสง น้ำ ปุ๋ย ต้องแบบไหน แต่พอได้ลองปลูกในพื้นที่ที่กว้างขึ้น อยู่ในบริเวณที่ล้อมด้วยธรรมชาติที่ไม่ได้เป็นออร์แกนิก ทำให้ผักที่เราปลูกมีแมลงศัตรูพืชมารุมเยอะมากค่ะ แล้วเราก็มาเจอว่ามันจำเป็นมากๆ ที่จะต้องทำดินให้ดีเพื่อให้ผักของเราสู้กับศัตรูพืชได้ ซึ่งตอนแรกยุ้ยก็ใช้ดินถุงที่ขายตามท้องตลาดค่ะ ปลูกไปสักพักดินก็ยุบ จึงเริ่มไปศึกษาวิธีปรุงดินอย่างจริงจัง เริ่มจากดูคลิปในออนไลน์ก่อนซึ่งแต่ละคนก็มีสูตรของตนเอง ร้อยคนก็ร้อยสูตร ยุ้ยเลยต้องเลือกมาปรับใช้แบบที่เหมาะสมกับเรา”

ส่วนผสมวัสดุปลูกที่คุณยุ้ยเลือกใช้เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย ได้แก่ ดินใบก้ามปู มูลวัว กาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว อย่างละ 1 ส่วน ผสมกับขี้หมู 1/3 ส่วน หมักทิ้งไว้ 1 เดือนก่อนนำมาใช้ หากปลูกผักสลัดที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 45 วัน หลังจากเก็บผักก็เพียงเติมปุ๋ยคอกเพิ่มก็สามารถปลูกได้อีกหนึ่งครอป แต่หากปลูกพืชชนิดอื่นก็จะเพิ่มส่วนผสมตามความชอบของพืชแต่ละชนิด อาทิ ต้นโรสแมรี่ก็จะผสมทรายเพิ่มเข้าไปให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น หากปลูกเคลก็จะเพิ่มสัดส่วนของอินทรีย์วัตถุให้เกิดความร่วนซุยมากขึ้น

แปลงอิฐก่อสูงประมาณ 30 เซนติเมตร วางระบบสปริงเกลอร์ช่วยให้รดน้ำได้สม่ำเสมอขึ้น

ชนิดของพืชกินได้ เลือกปลูกตามที่ถนัดใน ฟาร์มผักออร์แกนิก

จากการวางแลนด์สเคปของพื้นที่ถูกกำหนดสัดส่วนต่างๆ ไว้ตั้งแต่ต้น การเรียงลำดับของแปลงปลูกจึงมีความชัดเจน เป็นระเบียบ เริ่มจากโซนสวนสวยในมุมพักผ่อนรอบตัวอาคารคาเฟ่สีขาว แปลงเลมอนพันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกเชื่อมมายังโซนสมุนไพรฝรั่ง ซึ่งออกแบบเป็นแปลงปลูกอิฐก่อได้กลิ่นอายของสวนอังกฤษนิดๆ ต่อเนื่องไปยังโซนโรงเรือนผักสลัดและโรงเรือนปลูกเคลที่สร้างหลังคาเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่อาจจะได้มากเกินไปจากน้ำฝนธรรมชาติ

“พืชที่ปลูกจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของเราและความชอบของเขาค่ะ เหมือนเป็นแฟนกันที่ค่อยๆ เรียนรู้กันไป อย่างช่วงหน้าฝนเราควบคุมปริมาณน้ำไม่ได้ โซนแปลงกลางแจ้งที่เคยปลูกผักสลัด ผักก็สู้ไม่ไหวต้องย้ายไปลูกในโรงเรือนแทน แล้วปลูกสมุนไพรฝรั่งและดอกไม้กินได้ตรงนี้ สวิสชาร์ดที่เห็นเพิ่งลงแปลงได้ 2 เดือนเองค่ะ แต่เพราะเราใส่ใจกับการปรุงดินมากๆ บวกกับเป็นช่วงอากาศค่อนข้างเย็นทำให้เขาโตเร็ว ผักส่วนใหญ่เราจะเพาะเมล็ดเองค่ะ เลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจว่าปลอดภัย ออร์แกนิกจริงๆ ทั้งเคล ผักสลัดต่างๆ สมุนไพรฝรั่งก็เริ่มตั้งแต่เพาะเมล็ดค่ะ ตอนแรกๆ ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่พอต้นเริ่มโตเราก็เลือกขยายพันธุ์แบบปักชำดีกว่า ทำง่ายและเห็นผลเร็วกว่าวิธีเพาะเมล็ด”

ฟาร์มผักออร์แกนิก สวิสชาร์ด
สวิสชาร์ด ผักปั่นสดที่ใช้เวลาปลูกเพียง 2 เดือน พร้อมเก็บรับประทาน
ฟาร์มผักออร์แกนิก เคล
เคลไดโนเสาร์ ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้นาน ให้เก็บใบล่างจากใบล่างก่อน

คุณแหม่มเล่าต่ออีกว่าพืชผักหลายชนิดๆ ที่เห็นในสวนล้วนเกิดจากการขยายพันธุ์เอง อย่าง มินต์ ไธม์ ลาเวนเดอร์ โรสแมรี่ที่ใครๆ ก็ว่าปลูกยาก แต่หากรู้หลักในการเติบโตของเขา รู้ว่าเขาชอบดินแบบไหน น้ำ แสงแดด ต้องปริมาณเท่าใด อย่างสูตรดินปักชำโรสแมรี่ที่นี่ใช้แค่พีทมอสผสมกับทรายเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะขยายพันธุ์เพื่อปลูกต่อแบบนี้ได้

สมุนไพรฝรั่ง มินต์ ไธม์
สมุนไพรฝรั่งในแปลง
สมุนไพรฝรั่ง มินต์ ไธม์
สมุนไพรฝรั่งในแปลง

น้ำ หนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อรสชาติผัก

อีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาทำเซอร์ไพร้สสองมาดามคือผักมีรสเค็ม เพราะน้ำที่ใช้รดนั้นเป็นน้ำกร่อยตามสภาพภูมิประเทศ แผนเดิมที่ขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำจึงต้องเปลี่ยนเป็นเลี้ยงปลาแทน แล้วใช้น้ำประปารดทั่วสวนแบบ 100%

“คิดไว้ตั้งแต่ทีแรกแล้วค่ะว่าจะติดตั้งระบบรดน้ำในทุกจุดค่ะ แต่สปริงเกลอร์จะทำได้ก็ต่อเมื่อเราวางเลย์เอ้าต์เสร็จทั้งหมด ช่วงแรกๆ จึงต้องใช้สายยาง ใช้เวลากว่าจะรดเสร็จก็ครึ่งวัน พอมีสปริงเกลอร์ก็ช่วยในเรื่องความสม่ำเสมอของน้ำค่ะ ให้น้ำได้ทั่วถึงมากกว่าตอนรดด้วยสายยาง เพราะตอนรดน้ำเองหากตรงไหนร่มเราก็จะยืนรดนานหน่อย แต่ตรงไหนแดดแรงเราก็จะรดผ่านเร็วๆ (หัวเราะ)” คุณยุ้ยเล่า\

โรงเรือนปลูกผักสลัด

ทำฟาร์มผักออร์แกนิก ต้องเจอ แมลงตัวร้าย

“ตอนแรกๆ ที่เจอหนอนชอนใบกินยอดเคล แหม่มก็ไม่กล้าทำร้ายเขาค่ะ สงสาร แต่ยุ้ยก็บอกว่ามันกินผักเรานะ ต้องเก็บทิ้ง หลังๆ เจอก็โยนลงบ่อให้เป็นอาหารปลา การกำจัดศัตรูพืชเรายังใช้วิธีเก็บทิ้งเป็นหลักค่ะ ทั้งหนอน ทั้งหอยทาก ช่วงฤดูฝนจะเยอะมาก มีใช้สารชีวภัณฑ์อย่างน้ำส้มควันไม้ ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย แต่กว่าจะออกฤทธิ์ผักเราก็เกลี้ยงแปลงได้เหมือนกันเลยใช้วิธีเก็บทิ้งเร็วกว่าค่ะ” คุณแหม่มเล่า

ด้วยปัญหาเรื่องแมลงการเลือกมุ้งโรงเรือนจะต้องมีความถี่ที่ละเอียดโดยเลือกใช้มุ้ง 32 ตา เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชตัวจิ๋วเข้าไปทำลายผักสลัดได้

โซนเล้าไก่ที่กำลังรอไก่มาเพิ่ม

ความสวยงามที่ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว

หนึ่งจุดที่น่าสนใจและเป็นศูนย์กลางทำให้องค์ประกอบอื่นๆ ในสวนเชื่อมเข้าหากันคือมุมแปลงสมุนไพรฝรั่งที่ปลูกในกระบะอิฐ วางเรียงอย่างเป็นระเบียบ เปิดรับทั้งตัวอาคารสีขาว อาคารไม้หลังเล็ก และโรงเรือนผักสลัด โดยพืชพรรณที่ปลูกล้วนแต่เป็นพันธุ์ไม้กินได้ทั้งสิ้น

“ชนิดของพืชที่ปลูกไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์เรื่องความสวยงามเลยค่ะ แต่จะยึดหลักการดูแลมากกว่าเพื่อกรุ๊ปชนิดของพืชให้ปลูกในแปลงเดียวกันได้ เลือกพืชที่ชอบน้ำปริมาณใกล้เคียงกัน ชอบแสงแดดเหมือนกัน ดินปุ๋ยคล้ายๆ กัน อะไรแบบนี้ พูดง่ายๆ คือสภาพความอยู่เหมือนกันนั้นเอง” คุณแหม่มเล่า

ฟาร์มผักออร์แกนิก แปลงผักสวยๆ
ดอกไม้ที่ปลูกในสวน ล้วนเป็นดอกไม้กินได้หรือใช้ประโยชน์ในเมนูอาหาร เช่น กุหลาบ เก็กฮวย ลาเวนเดอร์

คุณยุ้ยเสริมต่ออีกว่าลักษณะของแปลงปลูกก็ปรับไปตามสะดวก อย่างความสูงของโต๊ะปลูกผักสลัดที่เหมือนว่าจะดูเตี้ยนิดนึงเพราะเกิดจากการถมดินเพิ่มหลังจากเจอเหตุการณ์น้ำท่วม ส่วนความสูงของแปลงปลูกสมุนไพรฝรั่งก็เน้นให้สามารถนั่งขอบแปลงเพื่อเก็บผักได้ ส่วนของโต๊ะปลูกต้นเคลก็ต้องกะระยะถึงตอนต้นเคลสูงขึ้นให้สามารถเก็บใบได้ง่ายๆ ด้วย

ฟาร์มผักออร์แกนิก แปลงปลูกเคล
ข้อดีของโต๊ะปลูก นอกจากจะสะดวกต่อการใช้งานแล้วยังใช้เป็นมุมเก็บอุปกรณ์ได้ด้วย

ให้พื้นที่หล่อเลี้ยงฝันได้ทำงานของมัน

วันนี้อาจจะยังเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งอาชีพของสอง อาชีพที่อยากให้คนสุขภาพดีด้วยการปลูกผักออร์แกนิกและทานผักที่ปลอดภัย สเต็ปต่อจากนี้ที่ทั้งสองวาดหวังคือ การสร้างความเข้าใจให้ผู้คนด้วยการแบ่งปันความรู้ ให้เขารู้ว่าสุขภาพที่ดีนั้นต้องทานผักแบบไหน ต้องปลูกแบบไหน และผักที่ปลูกเองนั้นมันอร่อยมากขึ้นเพียงใด

“ยุ้ยภาคภูมิใจกับผักที่ปลูกมากค่ะ มันเพิ่มความอร่อยขึ้นมาได้ถึง 50% เลยนะ จึงอยากให้ทุกคนได้รู้ว่าจริงๆ มันไม่ได้ยาก เมื่อเราความรู้มี Know how ก็อยากจะแบ่งปันให้กลับไปปลูกที่บ้าน ให้ได้ลองดูแลผักที่ปลูกเอง อย่างเด็กที่เขาไม่กินผักเลย พอได้ลองปลูกเขาจะภูมิใจและชอบกินผักที่เขาปลูก เราจึงเปิด Workshop ให้ทุกคนได้ลองมาเรียนรู้ด้วย ในอนาคตก็อยากให้ที่นี่เป็นหนึ่งศูนย์เรียนรู้การปลูกผักออร์แกนิกด้วยเช่นกันค่ะ”

“พอแหม่มเห็นกิจกรรมโรงเรียนของลูก มันเหมือนสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ เราได้ทำเพื่อคนอื่นให้คนเข้าใจวิธีการดูแลสุขภาพ ไม่ได้คิดว่าถ้าเขาปลูกผักได้แล้ว เขาจะมาซื้อผักเราอีกไหม แต่อยากให้ลองปลูกกินเอง ปลอดภัยด้วยมือของเขาและภูมิใจที่ได้กินผักที่อร่อยเพราะปลูกเองมากกว่าค่ะ” คุณแหม่มกล่าวทิ้งท้าย

ฟาร์มผักออร์แกนิก

8 วันใน 1 เดือน คือช่วงเวลาที่ 2 มาดามมาใช้ชีวิตในพื้นที่ตรงนี้ แต่ที่น่าแปลกใจคือความสุขเพียง 8 วันกลับช่วยลบล้างเรื่องวุ่นวายจากชีวิตการทำงานประจำและบทบาทของคุณแม่ ให้เป็นความสงบ เกิดสมดุลในการใช้ชีวิต และส่งต่อความสุขนี้ยังคนรอบข้าง ทั้งสามีของทั้งสองและลูกๆ ของคุณแหม่มด้วย

สุดท้าย สิ่งหนึ่งที่เห็นแล้วปฏิเสธไม่ได้คือ 2 เกษตรกรในร่างที่สดใสกับแฟชั่นที่เป็นธรรมชาติ แค่นี้ก็อยากจะทำตาม 2 มาดามกันแล้ว

อยากสุขภาพดีให้มา ทำสวนกับมาดาม ได้ที่ >> ทำสวนกับมาดาม Tumsuankabmadams แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน โทร.096 292 6956

เรื่อง JOMM YB

ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม ,ภูเบศ บุญเขียว ,ภาณุ พิมพิลา

คุณโพและคุณหนูดี กับการปลูกผักอินทรีย์บนพื้นที่ที่เคยเป็นกองขยะ

สวนเกษตรในบ้าน ที่มี ไก่ เป็ด ห่าน กระต่าย เด็ก อยู่ร่วมกัน