ออกแบบโรงเรือนอย่างไรดี? - บ้านและสวน
glasshouse

10 เรื่องต้องรู้ ก่อนทำโรงเรือนข้างบ้าน

อยากมี โรงเรือนข้างบ้าน สักหลัง จะเริ่มออกแบบอย่างไร? เลือกใช้วัสดุแบบไหนดี? มีข้อควรรู้อะไรบ้าง?

เชื่อว่าหลายคนที่ชื่นชอบการจัดสวน คงเคยนึกอยากทำโรงเรือนสวยๆ ไว้ในสวนข้างบ้านของตัวเองสักหลัง ไว้เป็นเรือนเพาะชำไม้ประดับยามว่าง ปลูกผักกินเองในบ้าน หรือเป็นมุมพักผ่อนส่วนตัว แต่อาจยังลังเลว่าหากตัดสินใจทำแล้ว ควรเริ่มออกแบบอย่างไร บ้านและสวน จึงขอนำเอา 10 เรื่องต้องรู้ก่อนทำ โรงเรือนข้างบ้าน มาฝากกัน

1 | “โรงเรือน” คืออะไร

โรงเรือน เป็นอาคารที่มุงด้วยวัสดุโปร่งแสง พื้นที่ภายในใช้สำหรับปลูกพืช เพื่อปกป้องและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพืชที่ปลูกได้ โดยในยุคแรกๆ จะใช้กระจกเป็นวัสดุกรุผิว เมื่อมองจากด้านนอกจะเห็นพืชสีเขียวอยู่ภายใน จึงทำให้มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Greenhouse หรือ Glasshouse นั่นเอง ปัจจุบัน โรงเรือนถูกพัฒนาไปจนมีลักษณะรวมถึงการใช้วัสดุหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการใช้งาน ทั้งเพื่อผลิตในเชิงการค้า การเพาะปลูกภายในครัวเรือน หรือการใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในสวนข้างบ้าน

2 | โรงเรือนดีอย่างไร ทำไมต้องมี

ควบคุมสภาพแวดล้อมได้

การเพาะปลูกพืชภายใต้สภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ ถือเป็นจุดประสงค์หลักของโรงเรือน ทั้งความเข้มและระยะเวลาของแสงแดด อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่มีความแปรปรวน ทำให้สามารถปลูกพืชนอกฤดูได้ตลอดทั้งปี

เหมาะสำหรับทำงานเพาะปลูก

ภายในโรงเรือนสามารถจัดสรรพื้นที่ได้อย่างเป็นสัดส่วน สะดวกต่อการทำงานสวน ทั้งโต๊ะสำหรับเพาะชำ พื้นที่วางต้นไม้ พื้นที่เก็บเครื่องมือ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่าย เช่น อุปกรณ์ในการแขวนผล หรือพยุงลำต้น

ปกป้องพืชจากโรคและสัตว์รบกวน

การปลูกในโรงเรือนช่วยป้องกันพืชของเราจากนก หนู กระรอก หรือแม้แต่หมาแมวที่เราเลี้ยง ที่อาจเข้ามากัดกินหรือทำลายพืชผัก รวมถึงป้องกันโรคพืชและแมลงรบกวนได้บางส่วน จึงช่วยลดการใช้สารเคมี ทำให้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง

พื้นที่พักผ่อนท่ามกลางพรรณไม้

นอกจากเพื่อการเพาะปลูกแล้ว บรรยากาศที่สวยงามภายในยังทำให้โรงเรือนสามารถเป็นห้องอเนกประสงค์สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจหรือใช้งานรูปแบบอื่นๆ เช่น เป็นมุมจิบกาแฟในสวน มุมนั่งอ่านหนังสือนอกบ้าน หรือเปิดเป็นคาเฟ่ในเรือนกระจกก็ทำได้เช่นกัน

โรงเรือนข้างบ้าน

3 | โรงเรือนข้างบ้าน ทำได้หลายขนาด

ปัจจุบัน มีตัวอย่าง โรงเรือนข้างบ้านสำหรับบ้านพักอาศัยให้เห็นมากมายหลายขนาด ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน งบประมาณ และพื้นที่ว่างนอกบ้านที่สามารถทำโรงเรือนได้ โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ขนาด ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้

ไซซ์ L – โรงเรือนใหญ่ในบ้านสวน

สำหรับบ้านที่มีพื้นที่กว้างๆ สามารถสร้างโรงเรือนหลังใหญ่แบบนี้ได้ โดยภายในสามารถจัดสรรพื้นที่ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นโรงเรือนเพื่อปลูกพืชเชิงการค้า หรือเป็นเรือนสะสมพันธุ์ไม้ในสวนพฤกษศาสตร์ส่วนตัว ที่เป็นทั้งพื้นที่เพาะชำ เก็บอุปกรณ์ และเรือนอเนกประสงค์ที่สวยงามร่มรื่น

ขนาด : กว้าง 3-4 เมตร ยาวมากกว่า 4-10 เมตรขึ้นไป คานสูงไม่ต่ำกว่า 2.20 เมตร

ไซซ์ M – โรงเรือนเล็กแบบบ้านคนเมือง

บ้านในเมืองส่วนใหญ่อาจไม่มีพื้นที่ว่างมากนัก โรงเรือนหลังเล็กพื้นที่ประมาณ 6 ตารางเมตรเช่นนี้ จึงเหมาะสำหรับเป็นทั้งเรือนปลูกผักขนาดย่อมสำหรับกินเองในบ้าน หรือเป็นเรือนปลูกไม้กระถางสวยๆ รวมถึงมุมเล็กๆ สำหรับนั่งเล่นท่ามกลางพืชผักนานาชนิด

ขนาด : กว้าง 2-3 เมตร ยาว 3-4 เมตร คานสูงไม่ต่ำกว่า 2.20 เมตร

ไซซ์ S – โรงเรือนแบบเพิงพิงผนัง

พื้นที่แคบๆ ข้างบ้านก็สามารถทำโรงเรือนแบบเพิงพิงผนังได้เช่นกัน โดยปรับระดับพื้นและปูด้วยวัสดุตามที่ต้องการ ตั้งโครงสร้างเสา-คานพาดกับผนัง มุงหลังคาด้วยวัสดุโปร่งแสงพร้อมยาซิลิโคนกันน้ำรั่วซึมบริเวณรอยต่อที่ติดกับผนังบ้าน

ขนาด : ลึก 1.50 เมตร คานสูงไม่ต่ำกว่า 2.20 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่

ไซซ์ XS – โรงเรือนกระบะข้างรั้ว

ส่วนบ้านที่ไม่มีพื้นที่ว่างมากพอสำหรับตั้งโรงเรือน ก็สามารถสร้างโรงเรือนในรูปแบบกระบะปลูกต้นไม้ในห้องปิดได้เช่นกัน โดยก่อผนังสูงขึ้นมาจากพื้นให้ลาดเอียงจากด้านหลังลงไปด้านหน้า ติดตั้งหน้าต่างโปร่งแสงที่สามารถยกเปิด-ปิดได้คล้ายกับตู้เตี้ยๆ เพื่อปลูกพืชด้านใน

ขนาด : ลึก 60 เซนติเมตร สูง 30-50 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่

4 | เลือกที่ตั้งโรงเรือนให้ถูกทิศถูกทาง

การตั้งโรงเรือนในพื้นที่จำกัด

อาจไม่ต้องดูเรื่องทิศทางมากนัก แต่ควรคำนึงถึงสภาพแสงที่พอเหมาะ ไม่มืดทึบจนเกินไป หากอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ก็ควรตัดแต่งกิ่งให้เรียบร้อย เพราะร่มไม้อาจจำกัดแสงสว่าง รวมถึงกิ่งที่ผุก็อาจหักร่วงลงมาจนเกิดความเสียหายแก่โรงเรือนด้วย

ไม่ตั้งโรงเรือนขวางทางลม

เนื่องจากลมแรงอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อวัสดุโรงเรือนในที่โล่งได้ อาจป้องกันด้วยการปลูกต้นไม้เป็นแนวกันลม แต่ก็ไม่ควรตั้งโรงเรือนในพื้นที่อับลมด้วยเช่นกัน เพราะจะส่งผลต่อการระบายอากาศ ทำให้เกิดโรคและแมลงรบกวนตามมา

วางโรงเรือนในแนวเหนือ-ใต้

หากไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ การวางเรือนตามแนวเหนือ-ใต้จะทำให้ต้นไม้ภายในโรงเรือนได้รับแสงสว่างอย่างทั่วถึง และมีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอ รวมทั้งทำให้ลมหมุนเวียนภายในโรงเรือนได้ดีด้วย

หลีกเลี่ยงการสร้างบริเวณเนินเขา

ควรตั้งโรงเรือนบนพื้นที่ราบเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาบริเวณฐานรากจากดินสไลด์ หากจำเป็นต้องตั้งบริเวณเนินเขา ควรดูทิศทางการไหลของน้ำ และหลีกเลี่ยงการตั้งโรงเรือนตรงจุดที่เป็นทางน้ำ หรือมีน้ำไหลผ่านเป็นประจำในหน้าฝน

โรงเรือนข้างบ้าน

5 | จัดสรรพื้นที่ภายในโรงเรือน

พื้นที่ในโรงเรือนอาจแบ่งตามการใช้งานออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

ส่วนปลูกพืช

อาจมีลักษณะเป็นแปลงปลูกลงดิน โต๊ะหรือชั้นวางกระถาง หรือราวแขวนก็ได้ ควรจัดให้สามารถเข้าไปใช้งานสะดวกทุกจุด ระบายน้ำได้ดี มีแสงส่องลงมายังต้นไม้ที่ปลูก หากมีพื้นที่มากพออาจแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

ส่วนทำงาน

ภายในโรงเรือนควรมีโต๊ะที่จัดพื้นที่สำหรับทำงานเพาะปลูก โดยมีอ่างหรือถาดผสมดินปลูก เว้นพื้นที่ด้านข้างสำหรับวางต้นไม้ที่นำมาเพาะหรือย้ายปลูก และหากมีอ่างล้างมืออยู่ใกล้ๆ ด้วยก็จะสะดวกต่อการใช้งานอย่างมาก

ส่วนจัดเก็บอุปกรณ์

ควรเป็นพื้นที่แห้ง สะอาด และปูพื้นแข็งเพื่อป้องกันความชื้นที่อาจทำให้เครื่องมือต่างๆ เสื่อมสภาพ ส่วนสารเคมีต่างๆ ควรเก็บไว้บนที่สูง หรือเก็บไว้ในตู้ที่มิดชิดไม่โดนแสงแดด นอกจากนี้ยังควรเตรียมพื้นที่สำหรับงานระบบพิเศษ (ถ้ามี) เช่น ถังผสมปุ๋ย รวมถึงพื้นที่วางเครื่องจักรสำหรับงานสวน เช่น เครื่องตัดหญ้า ไว้ตรงส่วนแห้งที่มีหลังคาคลุมด้วย

โรงเรือนข้างบ้าน

ระยะต่างๆ ในโรงเรือน

  1. ความสูงโรงเรือน (จากพื้นถึงระดับคาน) ไม่ควรต่ำกว่า 2-2.50 เมตร
  2. ความกว้างโต๊ะ (เอื้อมได้จากด้านเดียว) 60-70 เซนติเมตร
  3. ความกว้างโต๊ะ (เอื้อมได้จากทั้งสองด้าน) กว้างได้ถึง 140 เซนติเมตร
  4. ความสูงโต๊ะ 70-80 เซนติเมตร
  5. ราวแขวน สูงจากพื้น 2 เมตร โดยแขวนให้ต้นไม้อยู่ในระดับสายตา
  6. ชั้นวางต้นไม้ สูง 1.60 เมตร กว้าง 40 เซนติเมตร
  7. ทางเดิน กว้างอย่างน้อย 80 เซนติเมตร หรือ 1-1.20 เมตร สำหรับใช้รถเข็น

โรงเรือนข้างบ้าน

6 | หลังคาโรงเรือนไม่ได้มีแค่ทรงจั่ว

สำหรับโรงเรือนเดี่ยวแล้ว โดยทั่วไปมักใช้หลังคาทรงจั่วที่เรียบง่าย แต่จริงๆ แล้วหลังคาโรงเรือนยังมีอีกหลายรูปทรง ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เช่น

หลังคาจั่ว

หลังคาทรงดั้งเดิมที่นิยมใช้ในเขตอบอุ่นและเขตหนาว อาจออกแบบให้สามารถเปิดได้เพื่อระบายอากาศร้อนที่เกิดขึ้นภายในโรงเรือน

หลังคาจั่วสองชั้น

ช่วยให้อากาศร้อนภายในโรงเรือนระบายออกได้ดียิ่งขึ้น โดยที่น้ำไม่สาดเข้าด้านในโรงเรือนเมื่อมีฝนตก เหมาะสำหรับพื้นที่เขตร้อนอย่างในประเทศไทย

หลังคาครึ่งวงกลม (Quonset)

ก่อสร้างได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับการมุงหลังคาด้วยวัสดุที่โค้งงอง่าย เช่น แผ่นพลาสติก แต่ระบายอากาศร้อนได้ยาก จึงนิยมใช้ในพื้นที่อากาศหนาวเย็น

หลังคาฟันเลื่อย (Sawtooth)

ถูกออกแบบให้ระบายอากาศร้อนได้ดีด้วยช่องที่เปิดกว้างด้านบน จึงเหมาะสำหรับพื้นที่เขตร้อนอย่างในประเทศไทย นิยมใช้ในโรงเรือนที่ปลูกพืชเชิงการค้า

หลังคาทรงโดม (Dome)

มักใช้เป็นจุดเด่นทางสถาปัตยกรรมภายในสวนพฤกษศาสตร์หรือสถาบันวิจัย ไม่นิยมใช้สำหรับการปลูกพืชเชิงการค้า เพราะสามารถสร้างได้ในขนาดที่จำกัด

โรงเรือนข้างบ้าน

7 | วัสดุโครงสร้างต้องแข็งแรงคุ้มค่า

โครงสร้างโรงเรือน มีหน้าที่รองรับวัสดุผนังและหลังคาซึ่งปกป้องพืชด้านในจากทั้งแสงแดด พายุฝน ลมแรง และสัตว์นานาชนิด จึงแข็งแรงและทนทานต่อสภาพอากาศที่หลากหลาย โดยวัสดุที่ได้รับความนิยม ได้แก่

เหล็ก

  • ข้อดี : แข็งแรงทนทาน สร้างได้รวดเร็ว สามารถตัด ดัด เชื่อม ทำสีได้ตามดีไซน์ที่ต้องการ
  • ข้อจำกัด : เป็นสนิม ทำให้ต้องขัดและทาสีใหม่อยู่เสมอ ปัจจุบันมีราคาสูงขึ้น แต่ยังถือว่าคุ้มค่ากับการใช้งาน

ไม้

  • ข้อดี : สามารถสร้างด้วยตัวเองโดยใช้เครื่องมือเพียงไม่กี่อย่าง ให้ความรู้สึกอบอุ่น สวยงาม
  • ข้อจำกัด : อายุการใช้งานสั้นกว่าวัสดุอื่นๆ สำหรับพื้นที่กลางแจ้ง ควรระวังไม่ให้สัมผัสดินหรือความชื้นโดยตรง เพื่อไม่ให้ไม้ผุพังง่าย

อะลูมิเนียม

  • ข้อดี : น้ำหนักเบา แต่ทนทาน ติดตั้งง่าย ไม่เป็นสนิม ดูเรียบร้อยสวยงาม นิยมใช้คู่กับกระจก
  • ข้อจำกัด : ราคาสูง ต้องสั่งประกอบจากโรงงานก่อนนำมาติดตั้งที่หน้างานโดยช่าง

เหล็กชุบสังกะสี

  • ข้อดี : แข็งแรงทนทาน ไม่เป็นสนิมง่าย สามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องทาสีรองพื้น
  • ข้อจำกัด : ราคาสูงกว่าเหล็ก 15-25% แต่ก็ถือว่าช่วยลดต้นทุนในการทำสีลงด้วยเช่นนั้น

8 | วัสดุโปร่งแสงสำหรับผนัง-หลังคา

ลักษณะเฉพาะของโรงเรือนปลูกพืช คือการใช้วัสดุโปร่งแสงสำหรับผนังและหลังคา เพื่อให้แสงส่องเข้ามาด้านในได้ ปัจจุบัน มีวัสดุโปร่งแสงหลายชนิดที่เป็นที่นิยม โดยมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป เช่น

กระจก

  • ข้อดี : เป็นวัสดุที่แสงส่องผ่านได้ดีที่สุด ทนทานต่อรังสีต่างๆ จากดวงอาทิตย์
  • ข้อจำกัด : ไม่ทนแรงกระแทก มีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องใช้โครงสร้างที่แข็งแรงเป็นพิเศษและมีค่าก่อสร้างสูง

พอลิคาร์บอเนต

  • ข้อดี : โค้งงอได้ น้ำหนักเบา ติดตั้งรวดเร็ว มีการเคลือบสารกันยูวี ทำให้ใช้งานได้ยาวนาน
  • ข้อจำกัด : ราคาสูง รุ่นลอนลูกฟูกจำเป็นต้องเก็บขอบให้มิดชิด ไม่ให้เกิดคราบสกปรกในร่องซึ่งทำความสะอาดได้ยาก

ไฟเบอร์กลาส

  • ข้อดี : ราคาถูก เส้นใยไฟเบอร์ทำให้แสงที่ส่องลงมามีความนุ่มนวล เนื้อวัสดุเหนียว ใช้งานได้ยาวนาน
  • ข้อจำกัด : เส้นใยอาจทำให้แสงส่องลงมาไม่เต็มที่ จึงไม่เหมาะกับพืชที่ต้องการแสงปริมาณมาก

อะคริลิก

  • ข้อดี : แข็งแรง ทนทาน มีความใสใกล้เคียงกับกระจก มีรุ่นที่สามารถกันความร้อนและรังสียูวีให้เลือกใช้
  • ข้อจำกัด : ราคาสูง ทนแรงกระแทกได้ไม่มาก ไม่ยืดหยุ่น วัสดุมีการขยายตัว จึงต้องมีการเว้นระยะระหว่างแผ่นเมื่อติดตั้ง

9 | วัสดุพื้นต้องไม่ลื่น ระบายน้ำได้

ก่อนปูวัสดุพื้น ควรเตรียมพื้นโรงเรือนโดยอัดดินให้แน่น แล้วจึงอัดทรายหนา 5-10 เซนติเมตร ทำพื้นลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวก จากนั้นจึงปูวัสดุพื้น โดยเลือกวัสดุที่มีผิวหยาบ ไม่ลื่น เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้งาน ยกตัวอย่างวัสดุที่นิยมใช้กัน เช่น

หินเกล็ด/กรวดขนาดเล็ก

มีคุณสมบัติช่วยกักเก็บความชื้น และระบายน้ำได้ดี อีกทั้งยังราคาประหยัดด้วย ปูโดยการวางตะแกรงพลาสติกเหนือชั้นทรายอัด แล้วโรยหินหรือกรวดหนา 5-10 เซนติเมตร

แผ่นปูพื้นสำเร็จ

มีให้เลือกหลายชนิด เช่น อิฐตัวหนอน แผ่นคอนกรีต แผ่นหินทราย บล็อกพรุน เป็นวัสดุที่ดูเรียบร้อยสวยงาม และน้ำยังสามารถไหลผ่านลงไปด้านล่างได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังติดตั้งได้ง่าย ไว สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างสะดวก

พื้นคอนกรีตปูกระเบื้อง

นิยมใช้กับพื้นโรงเรือนที่ต้องการความแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ป้องการหนูและแมลงจากด้านล่าง แต่มีข้อจำกัดคือ พื้นประเภทนี้จะไม่ช่วยเก็บความชื้น และควรเตรียมระบบระบายน้ำให้ดีตั้งแต่ต้น

อิฐมอญ/ศิลาแลง

เป็นวัสดุที่สร้างความสวยงามเป็นธรรมชาติ ช่วยกักเก็บความชื้น ระบายน้ำได้ง่าย แต่ควรปล่อยให้พื้นแห้งบ้าง เพราะหากชื้นเกินไปอาจเกิดตะไคร่ที่ทำให้พื้นลื่นจนเป็นอันตรายได้

ไม้เนื้อแข็ง/ไม้สังเคราะห์

วัสดุอีกประเภทที่ช่วยสร้างบรรยากาศสบายๆ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน การติดตั้งควรยกพื้นไม้ไม่ให้สัมผัสพื้นดินโดยตรงหรือวางบนพื้นคอนกรีต เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากความชื้น หากเป็นไม้จริงควรเลือกไม้เนื้อแข็งเพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนาน อีกตัวเลือกหนึ่งคือ การใช้ไม้สังเคราะห์ที่ให้ผิวสัมผัสใกล้เคียงไม้จริง ไม่ผุง่าย ไม่มีปัญหาแมลงและปลวก อีกทั้งยังสามารถใช้งานกลางแจ้งได้ดีเพราะมีการผสมสารป้องกันแสงแดดในตัว

สร้างโรงเรือน ต้องลงเสาเข็มหรือไม่?

โรงเรือนโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องลงเสาเข็ม เว้นแต่ว่าดินในบริเวณนั้นมีลักษณะทรุด อ่อนตัว หรือเป็นพื้นดินที่เพิ่งถมได้ไม่นาน (เช่น ในโครงการบ้านจัดสรร) อาจลงเสาเข็มขนาด 3-6 เมตรร่วมด้วย

สำหรับโรงเรือนที่ไม่ได้ลงเสาเข็ม ควรเตรียมพื้นให้แข็งแรงด้วยการทำคานคอดินก่อนปูวัสดุพื้น หากที่ตั้งเป็นพื้นแข็งอยู่แล้ว เช่น ลานคอนกรีต สามารถตั้งโรงเรือนที่มีน้ำหนักไม่มากนักโดยยึดกับพื้นด้วยเพลตเหล็กง่ายๆ หรือวางลอยตัวบนพื้นได้เลย

10 | ติดตั้งระบบน้ำ-ไฟในโรงเรือน

แม้โรงเรือนข้างบ้านจะไม่มีงานระบบซับซ้อนเหมือนโรงเรือนที่เพาะปลูกเชิงการค้า แต่ก็ควรมีการวางระบบน้ำและระบบไฟให้เรียบร้อยเพื่อความสะดวกในการใช้งานด้วยเช่นกัน

ระบบน้ำ

ควรมีการเดินระบบน้ำเข้ามาใช้ภายในหรือด้านหน้าโรงเรือน สำหรับไม้ประดับบางชนิดที่ไม่ควรใช้น้ำประปาโดยตรง อาจเตรียมถังพักน้ำเอาไว้ก่อนสูบมารดต้นไม้ด้วย หากไม่มีเวลาหรือมีต้นไม้จำนวนมาก อาจติดตั้งระบบให้น้ำอัตโนมัติแบบมินิสปริงเกลอร์หรือแบบน้ำหยด หากต้องการเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิ อาจติดตั้งหัวพ่นหมอกภายในโรงเรือนด้วยก็ได้ สามารถติดตั้งเองได้ง่ายๆ โดยหาซื้อชุดระบบน้ำแบบต่างๆ พร้อมอุปกรณ์ครบชุด ได้ที่ร้านจำหน่ายสินค้าก่อสร้างทั่วไป

ระบบไฟ

ระบบไฟสำหรับโรงเรือนควรติดเบรกเกอร์แยกจากตัวบ้าน ภายในโรงเรือนควรมีปลั๊กไฟชนิดใช้งานภายนอกพร้อมฝาครอบกันน้ำ โดยติดตั้งสูงจากพื้น 1.20 เมตร และติดตั้งสายดินเพื่อความปลอดภัย อุปกรณ์ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าภายในโรงเรือน ได้แก่ ไฟส่องสว่าง พัดลมระบายอากาศ ปลั๊กไฟ ม่านม้วนไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยรีโมต และเครื่องตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ (ไทเมอร์)

ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ คืออะไร?

สำหรับระบบโรงเรือนอัจฉริยะที่เราอาจได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ในปัจจุบัน เป็นนวัตกรรมที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากสำหรับการปลูกพืชเชิงการค้า โดยเป็นระบบที่เราสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมผ่านเซนเซอร์และควบคุมปัจจัยต่างๆ ในการปลูกพืชภายในโรงเรือนได้ผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งแสง ความชื้น อุณหภูมิ การระบายอากาศ รวมถึงระบบอื่นๆ เช่น ระบบป้องกันแมลงรบกวน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ:


เรื่อง – Tinnakrit

ภาพ – คลังภาพบ้านและสวน


รวมบ้านสายเขียว ขอมี “โรงเรือน” เป็นพระเอก

ไอเดียทำโรงเรือนสะสมต้นไม้ งบไม่ถึงแสน

ต้นไม้ชนิดใดที่ควรปลูกในโรงเรือน

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag