ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ต้องทำความรู้จักระบบน้ำกันหน่อย? - บ้านและสวน

เริ่มต้น ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ต้องรู้จักระบบน้ำกันหน่อย

ในการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แม้จะมีข้อถกเถียงเรื่องของสารเคมีที่ตกค้างใน ผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเกิดจากการสะสมของ “ไนเตรท”อนุมูลของไนโตรเจนที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต แต่หากพืชได้รับมากเกินไปจะสะสมสารไนเตรทไว้ในส่วนของก้านใบและลำต้น ซึ่งสารไนเตรทเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดมะเร็ง

แต่การ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีผลวิจัยชี้ชัดว่าการทานผักไฮโดรโปนิกส์จะส่งผลให้เกิดมะเร็ง ในขณะที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งต่างเห็นตรงกันในเรื่องนี้และยังคงหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ มีเพียงหนทางชี้แนะในการเลือกทานผักที่มีไนเตรทสะสมไม่เกินกว่ามาตรฐานกำหนด โดยค่าวัดมาตรฐานของไนเตรทอยู่ที่ไม่เกิน 3000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งการควบคุมสารไนเตรทต้องขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของผู้ปลูกผักจำหน่ายด้วย

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

เพื่อความมั่นใจว่า ผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ทานอยู่ปลอดภัย ไม่มีค่าไนเตรทที่สูงเกินไป ลองมาปลูกผักไว้ทานเองกันดีกว่า!

รู้จัก ไฮโดรโปนิกส์ กันก่อน

ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponic) คือการปลูกพืชในน้ำที่ผสมสารละลายอาหารปลูกเลี้ยง หรือที่เรียกกันตามท้องตลาดว่า “ปุ๋ยน้ำ” โดยผักที่ปลูกแบบ Hydroponic ส่วนมากจะเป็นผักกินใบ และเป็นพืชระยะสั้นที่เก็บเกี่ยวในระยะเวลาอันรวดเร็ว ที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ได้แก่ เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก ร็อคเก็ต ฟิลเลย์ กรีนคอส บัตเตอร์เฮด ผักกาดหอม ระยะเวลาในเก็บเกี่ยวคือ 40 -60 วัน ส่วนใหญ่นั้นจะใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารในเมนูสลัดผักที่มักจะรับประทานสดๆ

ไม่ใช่แค่ผักกินใบเท่านั้นที่สามารถปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ได้ เพราะยังมี สตรอว์เบอร์รี่ มะเขือเทศ หัวหอมใหญ่ หัวไชเท้า มันฝรั่ง รวมถึงเมล่อน ก็ปลูกได้เช่นกัน แต่การเลือกชนิดของผักต้องพิจารณาภาชนะที่ใช้ปลูกให้มีขนาดเหมาะสม เพื่อให้พืชได้ปริมาณสารอาหารที่ครบถ้วนและเติบโตได้ด้วย

ระบบไฮโดรโปนิกส์มีระบบไหนบ้าง

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ มีด้วยกันถึง 5 ระบบคือ

  1. NFT (Nutrient Film Technique)
  2. NFLT (Nutrient Flow Technique)
  3. DFT (Deep Flow Technique)
  4. DRFT (Dynamic Root Floating Technique)
  5. FAD (Food and Drain)

ที่นิยมปลูกในเมืองไทยมี 2 ระบบคือ

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ NFT (Nutrient Film Technique)
ภาพจาก http://utahaquatics.com/how-does-a-hydroponic-system-work/

1. NFT (Nutrient Film Technique) 

เป็นระบบให้น้ำที่ผสมสารละลายธาตุอาหารพืชไหลผ่านรากพืชเป็นแผ่นบางๆ บนรางปลูกอย่างต่อเนื่อง รางปลูกจึงต้องมีความลาดเอียงเพื่อให้แผ่นน้ำที่ไหลผ่านมีความบางคล้ายฟิล์ม

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ DFT (Deep Flow Technique)
ภาพจาก http://guyubtani.blogspot.com/2016/05/cara-bertanam-hidroponik-dft-deep-flow-technique.html

2. DFT (Deep Flow Technique) 

เป็นระบบที่ปลูกพืชโดยรากแช่อยู่ในสารละลาย โดยจะมีการปลูกพืชบนแผ่นโฟมหรือวัสดุที่ลอยน้ำเพื่อยึดลำต้น ระบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบไฮโดรโปนิกส์ลอยน้ำ (Floating Hydroponic Systems) ระบบนี้นิยมปลูกโดยทั่วไปและสามารถประยุกต์รางปลูกได้จากวัสดุที่หลากหลาย เช่นท่อน้ำ กล่องโฟม ถังน้ำ หรือแม้กระทั่งขวดพลาสติก ก็สามารถทำได้

เริ่มต้น ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ต้องรู้

สำหรับใครที่อยากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ให้พิจารณาเป็นข้อๆ ดังนี้

1. เลือกพันธุ์ผักที่ต้องการปลูก

ก่อนอื่นต้องเลือกเลยว่าจะปลูกผักชนิดไหนไว้ทานเอง โดยอย่าลืมว่าต้องเป็นผักที่ตนเองและสมาชิกในครอบครัวชอบรับประทาน

2. พิจารณาสถานที่

ข้อดีของการปลูกผักในน้ำคือไม่ต้องใช้พื้นที่มากมาย บ้านที่มีพื้นที่จำกัด บนระเบียงขนาดเล็ก ก็สามารถปลูกได้ หากตำแหน่งตรงนั้นมีแสงแดดส่องถึง ฝนไม่สาด อากาศไม่ร้อนอบอ้าว ปกติแล้วผักกินใบจะต้องการแสงอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนผักกินผลต้องการแสงอย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อวัน หากตรวจสอบแล้วบริเวณที่จะปลูกมีแสงเพียงพอก็สามารถดำเนินการได้

3. อุปกรณ์ที่ใช้ปลูก

สำหรับรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้นมีให้เลือกทั้งแบบสำเร็จรูปซึ่งมีจำหน่ายให้ติดตั้งได้ทั้งระบบภายในเซตเดียว มีหลายขนาดให้เลือกพร้อมวิธีประกอบทุกขั้นตอน แต่หากขนาดรางที่มีจำหน่ายในท้องตลาดใหญ่เกินกว่าพื้นที่ที่เรามีก็สามารถทำรางปลูกผักไฮโดรเองได้ โดยกำหนดขนาดได้ตามพื้นที่ที่ต้องการ ไปดูวิธีทำแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบทำเอง

4. รู้จักสารละลายอาหารพืช

ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งสิ่งคือสารละลายอาหารพืชหรือปุ๋ยน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้พืชเจริญเติบโต โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 สูตรคือสูตร A B ใช้ผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ฉลากกำหนดไว้ หากใช้เกินประมาณที่กำหนดผักจะดูดซึมไนโตรเจนไปสะสมไว้ในรูปแบบของสารไนเตรทซึ่งเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรงมะเร็งอย่างที่กล่าวในขั้นต้น การควบคุมปริมาณการให้ปุ๋ยน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ

แต่ในขณะเดียวกันหากไม่ต้องใช้ปุ๋ยน้ำก็สามารถปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบอินทรีย์ได้ เรียกระบบนี้ว่า Aquaponics

Aquaponics ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงปลา
การทำงานของ Aquaponics ภาพจาก https://www.waterwheelfarms.ca/aquaponics/

Aquaponics อควาโปนิกส์ เป็นการผสมผสานระหว่างการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กับการเลี้ยงปลา โดยเลี้ยงปลาในตู้ด้านล่างแล้วหมุนน้ำจากตู้ปลาซึ่งมีทั้งมูลปลา เศษอาหารที่ปลากิน คราบเมือก เต็มไปด้วยสารอาหารไปหล่อเลี้ยงพืชผักที่ปลูกอยู่ด้านบน มีปั้มน้ำจะทำหน้าที่หมุนเวียนระบบน้ำและเพิ่มออกซิเจนเพื่อให้จุลินทรีย์ในน้ำย่อยสลายมูลปลา และสารต่างๆ ให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ จากที่ให้สารอาหารกับผักด้วยปุ๋ยน้ำก็ปรับเปลี่ยนเป็นให้อาหารจากมูลปลานั่นเอง

Aquaponics จึงเป็นเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่งแต่จะให้ปลอดภัย 100% ต้องควบคุมปัจจัยอื่นอีก อาทิ อาหารปลา สภาพแวดล้อมบริเวณที่ปลูกผัก เป็นต้น

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ขายก็ได้นะ

หากปริมาณผักที่ปลูกมีจำนวนมาก ผักไฮโดรโปนิกส์เป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก สามารถจำหน่ายได้ในตั้งแต่กิโลกรัมละ 200-300 บาทโดยมีบริการรับซื้ออย่างแพร่หลาย

สำหรับมือใหม่หัดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Aquaponics ปลูกผักร่วมกับเลี้ยงปลา และ Hydroponics ปลูกผักด้วยน้ำแบบง่าย 

สวนผักจัดสวย ปลูกประดับบ้าน

เรื่อง JOMM YB

ข้อมูลจาก Hydroponics ปลูกผักด้วยน้ำแบบง่าย,Aquaponics ปลูกผักร่วมกับเลี้ยงปลา ,www.thaipan.org ,www.forfarm.co