“เกษตรอินทรีย์”ต้องปลอดสารเคมีมากแค่ไหน?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิกมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพที่ดี เพราะการบริโภคอาหารที่ไม่มีสารเคมีตกค้างย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ ทั้งยังดีต่อผู้ปลูก ไม่มีสารปนเปื้อนต่อดิน น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมด้วย
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมกระแสการบริโภคพืชผักออร์แกนิก ผักปลอดสารเคมี จึงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในบ้านเรา กระทั่งมีผู้คนไม่น้อยที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างข้างบ้านให้กลายเป็นแปลงปลูกผักอินทรีย์ไว้บริโภคเองในครอบครัว เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารเป็นที่ตั้ง
สำหรับมือใหม่ที่กำลังหาข้อมูลหรือเริ่มลงมือปลูกผักปลอดสารพิษ ควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า เกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกนั้น แท้จริงแล้วคืออะไร และมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรที่ต้องคำนึงถึงกันบ้าง
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองเกษตรอินทรีย์ในประเทศ ให้คำนิยามว่า เกษตรอินทรีย์ คือระบบการจัดการด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงวัตถุดิบที่ได้จากการสังเคราะห์ และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากการดัดแปรพันธุกรรม (GMO) มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์ และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน
แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นในการทำเกษตรอินทรีย์ ดังนี้
1.ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือฮอร์โมน
2. เน้นการฟื้นฟูบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ รวมถึงการปลูกพืชหมุนเวียน
3. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์พืชที่มาจากการผลิตแบบอินทรีย์
4. ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ใช้วิธีตัดหญ้า ใช้เศษพืชคลุมดิน ใช้พืชที่มีกลิ่นฉุนไล่แมลง ใช้น้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น
5. ป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีจากภายนอก ทั้งดิน น้ำ และอากาศ โดยทำแนวกันชนด้วยการปลูกไม้ยืนต้นหรือล้มลุกเป็นแถวเป็นแนว หรือขุดคูน้ำ เป็นต้น
6. เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้
จะเห็นได้ว่า กว่าจะสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้นั้นไม่ง่ายเลย เพราะนอกเหนือจากการดูแลพืชผักให้เจริญงอกงามด้วยวิธีธรรมชาติแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย แต่มือใหม่ที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งท้อนะคะ เพราะหากเราช่วยกันเพิ่มพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้มากขึ้น สิ่งที่ตามมาย่อมคือความยั่งยืน ซึ่งยั่งยืนทั้งเรื่องอาหารปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย
สำหรับผู้บริโภคผู้รักสุขภาพที่ต้องการอุดหนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะรู้ได้อย่างไรว่าผักที่เลือกซื้อเป็นผักออร์แกนิกของแท้หรือไม่ สามารถสังเกตได้จากเครื่องหมาย “ออร์แกนิกไทยแลนด์ (Organic Thailand)” ซึ่งรับรองมาตรฐานโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
และเครื่องหมาย “IFOAM Accredited” ซึ่งรับรองมาตรฐานโดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)
เรื่อง อังกาบดอย
ภาพ คลังภาพบ้านและสวน