สร้างบ้านเย็นด้วย 9 ภูมิปัญญาการสร้างบ้านแบบไทย ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับบ้านในเมืองร้อน
ทุกวันนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่บ้านโมเดิร์นรูปทรงสี่เหลี่ยมไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ด้วยความที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน เพราะฉะนั้นการสร้างบ้านเย็น แบบโมเดิร์นทันสมัยที่เหมาะกับวิถีชีวิตคนไทยจึงจำเป็นต้องมีการประยุกต์ด้านต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการเลือกวัสดุและการจัดวางองค์ประกอบของแผนผังของบ้านให้เหมาะสม โดยดึงภูมิปัญญาการสร้างบ้านแบบไทยมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ บ้านเย็น แบบโมเดิร์น ที่คุณชื่นชอบสามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยของคุณและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนและมีความสุขที่สุด
01 หลังคา : เป็นส่วนที่สัมผัสกับความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง เราสามารถป้องกันความร้อนไม่ให้ถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านได้ ด้วยการติดฉนวนกันความร้อน โดยเลือกชนิดกันความชื้นและมีความหนาอย่างน้อย 6 นิ้ว ส่วนกระเบื้อง หลังคาควรเลือกใช้สีอ่อนที่มีสารเคลือบสะท้อนความร้อนเพื่อช่วยให้บ้านเย็นขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือ เว้นระยะช่องว่าง ระหว่างหลังคากับฝ้าเพดาน แล้วทําช่องลมระบายความร้อนที่ผ่านเข้ามาทางหลังคาได้อีกทาง
TIPS :
01 หลังคาแบบจั่ว ปั้นหยา และมนิลา ล้วนเป็น หลังคาที่ระบายความร้อนได้ดี
02 การติดระบบพ่นละอองน้ำก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วย ลดความร้อนได้เป็นอย่างดี
02 ชายคา : การทําชายคาให้ยื่นออกไปมากกว่าปกติเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาการสร้างบ้านแบบไทยมายาวนาน เนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อน ชายคาที่ยื่นออกไป จะทําหน้าที่ป้องกันแสงแดดที่ทํามุมแนวเฉียงเข้ามาในบ้าน การทําชายคาหรือกันสาดควรเน้นที่ทิศใต้และทิศตะวันตก เพื่อช่วยป้องกันความร้อนยามบ่าย ไม่ให้ปะทะเข้าสู่ตัวบ้านโดยตรง
03 ผนังจากบล็อกช่องลม : ดึงประโยชน์จากลมมาใช้ในบ้านให้มากที่สุดด้วยการ ต่อบล็อกช่องลมเป็นผนัง นอกจากจะช่วยให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ไม่มีอะไรมาขวางทางลมแล้ว ยังเป็นการช่วยพรางสายตาจากเพื่อนบ้านได้อีกทาง ปัจจุบันมีลายให้เลือกหลากหลาย ราคาต่อก้อนไม่เกิน 10 บาท
อ่านต่อ : BAAN CHONG ประกอบบล็อกคอนกรีตให้อยู่ในรูปของบ้านโมเดิร์น
04 ใต้ถุนสูง การยกใต้ถุนสูง : เป็นภูมิปัญญาของคนไทยมาแต่โบราณ ยามหน้าฝนหากเกิดน้ำหลากยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และยามน้ำลดก็ใช้ใต้ถุนบ้านเป็นพื้นที่พักผ่อน การยกใต้ถุนนี้ยังส่งผลดีมาถึงปัจจุบัน เช่น สามารถดูแลซ่อมบํารุงงานระบบได้สะดวก อีกทั้ง งานระบบยังไม่ถูกรบกวนจากความชื้นที่มาจากพื้นดินและใช้เป็นส่วนนั่งเล่นรับลมธรรมชาติเย็น ๆ โดยไม่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในบ้านที่เปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน
TIP : การยกใต้ถุนสูงสามารถทําได้โดยการใช้โครงสร้างเหล็กเพราะมีความยืดหยุ่นสูง ทั้งยังช่วย ให้บ้านมีโครงสร้างที่ดูเบา ลอยตัว และประหยัดเวลาในการก่อสร้าง
อ่านต่อ : HOUSE KHAO LOY บ้านเล็กในป่าใหญ่
05 ช่องเปิด : ช่องเปิดในแต่ละห้องควรมีตําแหน่งตรงกันทั้งสองด้านเพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวก อีกทั้งยังให้ความ รู้สึกว่าห้องนั้นดูโล่งสบายและได้แสงธรรมชาติตลอดเวลา โดยขนาดของช่องเปิดมีความสําคัญไม่น้อย หากช่องที่รับลมเข้ามีขนาดเล็กและช่องลม ออกมีขนาดใหญ่จะช่วยให้รับลมได้มาก แต่ถ้าช่องลมเข้ามีขนาดใหญ่ แต่ช่องลมออกดูเล็กกว่า ลมจะเข้าสู่ตัวบ้านได้น้อยตามไปด้วย
06 ผนังบ้าน : ผนังบ้านเป็นอีกส่วนหนึ่งของบ้านที่รับความร้อน ไม่น้อยไปกว่าหลังคา คุณสามารถลดความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านได้ด้วยการเลือกทาสีบ้านโทนอ่อน และ การทําผนังสองชั้นโดยใช้วัสดุเป็นอิฐมวลเบาแทน การก่อผนังอิฐและคอนกรีตที่เป็นวัสดุสะสมความร้อน แล้วเว้นช่องว่างตรงกลางสําหรับใส่ฉนวนกันความร้อนเข้าไป วิธีนี้จะช่วยลดการสะสมความร้อนและ ภาระของเครื่องปรับอากาศได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์
07 ระเบียงบ้าน : ระเบียงบ้านเปรียบเสมือนผนังล่องหนช่วยกันความร้อนเข้าสู่บ้านได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ควรทําระเบียงให้ยื่นออกไปอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อให้เดินสวนกันได้สบาย หรือนั่งเล่นผ่อนคลายได้แบบไม่อึดอัด ส่วนวัสดุปูพื้นระเบียงควรเลือกชนิดกันความลื่น ทนแดด และความชื้นได้ดี
08 พื้นรอบบ้าน : หลีกเลี่ยงการเทพื้นคอนกรีตในบริเวณที่รับแดด เพราะคอนกรีตเป็นวัสดุสะสมความร้อนและคายความร้อนได้ช้า โดยจะคายความร้อนออกมาในตอนกลางคืนทําให้บริเวณบ้านมีอุณหภูมิสูงตลอดเวลา แก้ไขได้ด้วยการโรยกรวดหรือปลูกพืชคลุมดินทดแทน
09 บริบทรอบบ้าน : วางตําแหน่งต้นไม้ให้บังแดดทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ช่วยให้บ้านได้ร่มเงาและช่วยกรองความร้อน ที่จะเข้ามาสู่ตัวบ้านได้อีกชั้น หรือจะสร้างบ่อน้ำในทิศทางที่ลมธรรมชาติพัดผ่านก็จะทําให้บ้านเย็นขึ้น เนื่องจากลมจะช่วยพัดพาความชื้นจากบ่อน้ำที่ระเหย เป็นไอเย็นเข้าสู่ตัวบ้าน
TIP : ลองปลูกพืชคลุมดินแทนการเทคอนกรีต เพราะพืชคลุมดินจะดูดซับน้ำใต้ดินและระเหยออก ทางใบช่วยให้อุณหภูมิผิวดินเย็นลง
เรื่อง : Ektida N.
ภาพหน้าปก : บ้านรองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ (อ่านต่อที่นี่)
ภาพประกอบ : คณาธิป
เรียบเรียง Parichat K.