บ้านน่าอยู่ โอบล้อมด้วยขุนเขา
เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณปวริศร์ – คุณสุรีย์ สุทธิสาร บ้านน่าอยู่
ไม่แปลกที่ธรรมชาติแห่งขุนเขาและกลิ่นหอมของดอกไม้ป่า รวมถึงสายลมอันบริสุทธิ์สดชื่นรอบๆเขาใหญ่จะกลายเป็นเหตุผลสำคัญของการบอกลาชีวิตในกรุงเทพฯ แต่เหนืออื่นใดก็คงเป็นเพราะ คุณแนน – สุรีย์ สุทธิสาร ภรรยาคนสวยเป็นคนพื้นถิ่นแถวนี้ ทำให้ คุณปั๊บ – ปวริศร์ สุทธิสาร ตัดสินใจมาสร้างครอบครัวและบ้านพักอาศัยหลังใหม่อยู่ที่เขาใหญ่เป็นการถาวร ระยะเวลาร่วม 8 ปีของการได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติสวยๆ เหล่านี้ ยังทำให้คุณปั๊บเกิดแนวคิดที่จะแบ่งปันความสุขด้วยการสร้างโครงการบ้าน 1.618 ขึ้นบนพื้นที่กว่า 42 ไร่ ที่ระดับความสูงประมาณ 430 เมตร ซึ่งมีขุนเขาสูงโอบล้อมรอบทิศทาง แถมด้วยช่องลมธรรมชาติที่รับลมได้ตลอดทั้งปี
สำหรับแนวคิดการออกแบบมีจุดเริ่มต้นจากอัตราส่วน 1.618 ที่เลโอนาร์โด ฟีโบนัชชี นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีคิดค้นขึ้นจากสัดส่วนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และกลายเป็นอัตราส่วนมหัศจรรย์ให้วงการศิลปะและสถาปัตยกรรมนำไปประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดโมนาลิซา วิหารพาร์เธนอน หรือโลโก้ของแบรนด์ Apple กระทั่งมาเป็นอัตราส่วนในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้ให้ลงตัวและงดงาม
“ผมอยากสร้างบ้านที่เข้ากับสภาพแวดล้อมของเขาใหญ่ให้มากที่สุด ไม่ใช่เอาบ้านจากประเทศไหนๆมาตั้งอยู่ที่เขาใหญ่เฉยๆ เพราะด้วยสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกมาก ผมจึงให้ความสำคัญกับหลังคาเป็นอันดับแรก ใช้เวลาเลือกวัสดุทำหลังคาอยู่นานครับ กว่าจะมาสรุปที่หลังคาชิงเกิ้ล (Asphalt Shingle) ที่ตอบรับเรื่องฝนและเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี ดูแลรักษาง่าย ตามมาด้วยชายคาที่สามารถระบายอากาศได้ ไม่เกะกะสายตา เพื่อเน้นการเปิดมุมมองออกสู่ธรรมชาติได้เต็มที่”
คุณปั๊บยังนำแรงบันดาลใจจากรูปทรงของขุนเขาที่ลดหลั่นอยู่รอบๆ มาเป็นรูปทรงหลักของหลังคาจั่วบ้าน เชื่อมต่อเหมือนยอดเขาที่ซ้อนกันอยู่ 3 ส่วน และกลายเป็นตัวบ้าน 3 ก้อน โดยยกระดับการใช้งานของบ้านให้สูงเหมือนบ้านไทยโบราณที่มีใต้ถุนโปร่ง เพื่อให้รับสายลมที่พัดผ่านได้ดี รวมถึงมองเห็นธรรมชาติจากมุมสูงไปในตัว แล้วยังสามารถปรับใช้พื้นที่ใต้ถุนให้เกิดประโยชน์ได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถในร่ม สวนสีเขียว หรือห้องครัวชั้นล่างก็ได้
พื้นที่ใช้สอยภายในราว 170 ตารางเมตร ส่วนใหญ่เน้นการเปิดโล่ง เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงาม ตั้งแต่บันไดทางขึ้นซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งภายใน เพราะแม้คลุมด้วยหลังคา แต่ผนังด้านหนึ่งก็เปิดโปร่งผ่านระแนงไม้เพื่อรับลม และมองผ่านถึงช่องตรงกลางที่เว้นพื้นที่ไว้ปลูกจิกเศรษฐี ซึ่งเป็นต้นไม้เด่นกลางบ้าน ส่วนผนังด้านข้างนั้นคุณปั๊บนำแผ่นชิงเกิ้ลที่ต่อเนื่องมาจากงานหลังคาปิดผิวไว้ส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดสัมผัสและโทนสีธรรมชาติ แถมยังกลายเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีด้วยเช่นกัน
“เพราะว่าเป็นบ้านพักตากอากาศ ผมจึงเน้นพื้นที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะห้องนั่งเล่นให้กว้างเป็นพิเศษ เปิดให้โล่งรอบทิศทางด้วยผนังกระจกบานสูงจรดเพดาน โดยเราวางตัวบ้านให้รับกับทิศทางของแสงและลมอยู่แล้ว ดังนั้นผนังด้านยาวที่เปิดโล่งจึงหันออกไปทางทิศเหนือและใต้เพื่อรับลม สามารถเชื่อมออกไปถึงระเบียงด้านหน้าซึ่งจัดเป็นมุมบาร์บีคิวของครอบครัวได้สบาย ส่วนผนังทึบด้านสั้นหันสู่ทิศตะวันออกและตะวันตก ผมใช้แผ่นชิงเกิ้ลมาปิดผิวผนังทั้งสองด้านนี้ รวมถึงฉีดโฟมหนาด้านในเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนเสริมไว้ ทำให้ตัวบ้านดูสวยงามแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”
พื้นที่ส่วนกลางของบ้านยังต่อเนื่องมาถึงห้องครัวและห้องอาหารซึ่งอยู่บริเวณอาคารฝั่งซ้าย (เมื่อหันหน้าเข้าสู่ตัวบ้าน) คุณปั๊บออกแบบให้มีส่วนเคาน์เตอร์ไอส์แลนด์ที่ทำจากหินอ่อนสีดำอยู่กลางห้องเชื่อมไปกับโต๊ะอาหารยาว พร้อมชุดครัวแพนทรี่สีขาวเข้ามุม เพื่อช่วยประหยัดพื้นที่และทำให้เกิดช่องว่างสำหรับลมพัดผ่านได้โดยรอบ จึงแทบไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ แม้ในช่วงกลางวันขณะที่อาคารฝั่งขวาเป็นห้องนอนใหญ่ซึ่งยังเน้นความโปร่งสบายด้วยผนังกระจกรูปทรงจั่วสูงจากพื้นจรดเพดาน ทำให้มองเห็นขุนเขาด้านนอกได้เต็มตา ภายในผสมผสานเฟอร์นิเจอร์ในสีเอิร์ธโทน ทั้งหมดเพื่อสร้างบรรยากาศของความผ่อนคลายให้ยิ่งดูนุ่มนวลและอบอุ่น
“เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ในบ้าน ผมพยายามเลือกให้มีความเป็นเมืองผสมชนบทหน่อยๆ แต่ไม่อยากให้โมเดิร์นมากเกินไป และให้ดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติรอบๆ ด้วยสีเอิร์ธโทน กระจกที่ใช้ก็เน้นสีชา เพราะเวลามองผ่านจากภายในออกสู่ภายนอกจะทำให้ทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกันกับสีเขียวของต้นไม้และสีน้ำตาลจากขุนเขารอบๆ แม้เราจะหาซื้อขุนเขามาเป็นเจ้าของกันไม่ได้ แต่ด้วยทำเลที่นี่ทำให้มีขุนเขาห้อมล้อมเหมือนรั้วธรรมชาติราวกับอยู่ในวัลเลย์ส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะแบบนี้ผมถึงหลงรักการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของเขาใหญ่มาโดยตลอดครับ” คุณปั๊บกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม บ้านน่าอยู่
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, earthday
อ่านต่อ : บ้านภูภัทราดีไซน์แห่งโมเดิร์นทรอปิคัล