บ้านเลขที่สิบ - บ้านและสวน

บ้านเลขที่สิบ

“ผมไม่ใช่นักสะสมของเก่า แต่เพราะมีโอกาสเดินทางและใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศ ก็เลยพอจะมีของติดไม้ติดมือ และได้แรงบันดาลใจกลับมาใช้ในการตกแต่งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นจากอินเดีย ฮ่องกง ฝรั่งเศส โมร็อกโก และศรีลังกา”

บริเวณรับแขกและครัวมีเพดานสูง ช่องแสงจากด้านบนทำให้ห้องดูสว่างโปร่งตา เจ้าของบ้านนำโครงหน้าต่างเก่าๆมาแขวนบนผนังทำให้ห้องดูไม่ทึบ และยังใช้เป็นตู้เก็บขวดเครื่องเทศ เครื่องปรุง และอาหารกระป๋องต่างๆได้อีกด้วย

                ถ้าเอ่ยถึงชื่อ “บ้านเลขที่สิบ” ชาวอังกฤษทั่วไปจะนึกถึง 10 Downing Street London บ้านพักและที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีของพวกเขา แต่ คุณแจ็ค อีเด็น เจ้าของบ้านเลขที่สิบหลังนี้ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆในประเทศอังกฤษเลย ว่ากันจริงๆแล้ว เขาเป็นชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศมาหลายสิบปีเสียด้วยซ้ำ

“ผมตั้งชื่อบ้านหลังนี้ไว้ให้นักท่องเที่ยวอังกฤษที่เดินไปเดินมาในกอลล์ฟอร์ตได้ขำกันเล่นๆเท่านั้น” คุณแจ็คเล่าขณะพาพวกเราขับรถชมบ้านเช่าสวยๆในเมืองท่องเที่ยวทางใต้สุดของประเทศศรีลังกา ซึ่งเขารับจ้างเป็นผู้จัดการและดูแลแทนเจ้าของชาวต่างชาติ เขาทำงานนี้และเรียกกอลล์ ฟอร์ตว่าบ้านมาเกือบสิบปีแล้ว

“สไตล์มัวริช” (Moorish) เกิดจากการที่ชาวตะวันตกโดยเฉพาะในประเทศสเปนช่วงคริสต์ศตวรรษที่19 หลงใหลความงดงามของสถาปัตยกรรมอิสลามที่พบได้ในกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง หรือพูดง่ายๆว่า สไตล์มัวริชก็คือลวดลายของสถาปัตยกรรมอิสลามร่วมสมัยผ่านสายตาชาวตะวันตกนั่นเอง ซึ่งก็คล้ายๆกับการตกแต่งที่คนไทยเราเรียกว่า “สไตล์โมร็อกโก” หรือจะมองมุมกลับก็เหมือนกับการนำสถาปัตยกรรมตะวันตกไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน ในบ้านหลังนี้จะเห็นงานไม้และลวดลายสไตล์มัวริช ซึ่งเจ้าของบ้านได้แรงบันดาลใจจากการไปเยือนประเทศ โมร็อกโก

“ผมรู้แต่ว่าบ้านหลังนี้เดิมทีเป็นบ้านพักของนายทหารดัตช์ที่มาประจำการในกอลล์ฟอร์ตเมื่อนานมาแล้ว  ตอนซ่อมแซมบ้านสมัยที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ ผมขุดเจอลูกปืนใหญ่ด้านหลังบ้านด้วย” คำพูดของคุณแจ็คทำให้เราคิดต่อว่าบ้านหลังนี้อาจเคยถูกระเบิดลง เพราะคงไม่มีใครเก็บลูกปืนใหญ่ไว้ใต้พื้นสนามเล่นๆแน่ “ส่วนหน้าของบ้านเป็นแบบเดิม แต่ด้านหลังที่ทำเป็นสองชั้นเป็นส่วนต่อเติมใหม่” แม้จะทำใหม่แต่ก็ออกแบบตกแต่งให้ดูเก่าเข้ากับด้านหน้าได้อย่างกลมกลืน “ผมไม่ใช่นักสะสมของเก่า แต่เพราะมีโอกาสเดินทางและเคยอาศัยอยู่ในหลายประเทศ ก็เลยพอจะมีของติดไม้ติดมือ และได้แรงบันดาลใจมาใช้ในการตกแต่งบ้าน  ไม่ว่าจะเป็นประตูไม้จากอินเดียและบาหลี รูปวาดจากฝรั่งเศส  ของพื้นเมืองศรีลังกา  รวมไปถึงลวดลายสไตล์มัวริช (Moorish) ที่ผมเคยเห็นในโมร็อกโก”

ไม่มีกำแพงแบ่งแยกห้องรับประทานอาหารกับคอร์ตยาร์ด แสงแดดทอดลงกำแพงด้านในผ่านช่องแสงบนเพดาน ทำให้ส่วนนี้สว่างตลอดวัน

เมื่อเดินผ่านโถงทางเข้าบ้านจะพบผนังสีส้มอมน้ำตาลที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองของส่วนห้องรับแขกและห้องครัว ส่วนครัวซึ่งมีรูปแบบสมัยใหม่ แต่คุณแจ็คต้องการให้ดูเก่าเข้ากับบ้าน จึงนำไม้หมอนรถไฟเก่าๆมาเคลือบเรซิน ทำเป็นเคาน์เตอร์และโต๊ะรับประทานอาหาร หรือนำมาฝานให้บางลง ทำเป็นบานเปิดตู้ในครัว

ตู้เก็บของบนผนังก็ทำจากหน้าต่างไม้เก่าๆ ข้างๆห้องรับแขกเป็นห้องทำงานออกแบบเสื้อผ้าของภรรยา ซึ่งทาผนังสีแดงสดใส เพื่อต้อนรับลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ

ห้องน้ำสีขาวสว่างตา อ่างอาบน้ำทรง “ไข่ครึ่งฟอง” ใบโปรดที่สั่งทำพิเศษให้มีขนาดใหญ่สำหรับให้ทั้งครอบครัวลงไปอาบน้ำพร้อมกันได้ โถชักโครกข้างๆดูเล็กจิ๋วไปเลย

แต่พอเดินต่อมายังคอร์ตยาร์ดและบริเวณส่วนหลังของบ้านจะพบว่าโทนสีของบ้านเริ่มอ่อนลง ผนังจะมีสีออกขาวหรือขาวอมเหลือง ห้องน้ำนอกจากจะทาสีขาวสะอาดตาแล้ว ยังได้แสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาในห้อง ทำให้ดูสว่าง จุดเด่นของห้องน้ำในบ้านนี้อยู่ที่สุขภัณฑ์ต่างๆซึ่งสวยแบบง่ายๆไม่เหมือนใคร เจ้าของบ้านเลือกที่จะไม่ใช้สุขภัณฑ์หรือกระเบื้องที่หาซื้อได้ทั่วไป (ยกเว้นโถชักโครก) “ผมให้ช่างหล่อปูนทำเป็นสุขภัณฑ์หินขัดทั้งหมด อยากได้ความสูงหรือขนาดเท่าไหร่ก็ทำได้ ห้องอาบน้ำ ชั้นวางของ พื้น ผนัง ถังเก็บน้ำหลังโถชักโครก และอ่างล้างหน้า ใช้วัสดุและสีเดียวกันทั้งหมด” คุณแจ็คบอกอย่างภูมิใจ

จากระเบียงชั้นสองมองข้ามคอร์ตยาร์ดไปอีกฝั่งเห็นหอเก็บน้ำ องค์ประกอบของภาพนี้ให้ความรู้สึกของพลาซ่าในเมืองของยุโรป ที่มีหอนาฬิกาเป็นจุดนำสายตาในที่โล่ง

เนื่องจากน้ำประปาในกอลล์ ฟอร์ตจะไหลวันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น บ้านเกือบทุกหลังจึงจำเป็นต้องมีแท็งก์หรือโอ่ง เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงเวลาที่เหลือ ส่วนมากแท็งก์พวกนี้จะอยู่บนหลังคาหรือไม่ก็แอบอยู่หลังบ้าน แต่คุณแจ็คมีไอเดียที่ไม่เหมือนใครในกอลล์ ฟอร์ต “ผมทำเป็นหอคอยบนหลังคาเลย ถ้าผมไม่บอก คุณอาจคิดว่ามันเป็นหอเก่าอายุหลายปี” ด้วยความซุกซน ผมเลยลองปีนบันไดขึ้นไปให้เห็นกับตา และพบว่านอกจากจะเป็นหอเก็บน้ำแล้ว ยังเป็นหอชมวิวได้อีกด้วย จากข้างบนผมสามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบของกอลล์ ฟอร์ตได้อย่างชัดเจน รวมถึงได้เห็นความสวยงามของหลังคากระเบื้องดินเผาของบ้านเรือนรอบๆซึ่งทำใช้กันมาตั้งแต่สมัยนักสำรวจชาวโปรตุเกสเข้ามาก่อตั้งเมือง

พื้นผิวของกำแพงหลังบ้าน เจ้าของบ้านตั้งใจไม่ทาสีหรือตกแต่งอะไรเพิ่มเติม เพื่อรักษาเรื่องราวของกาลเวลาหรือความเก่าให้เป็นบุคลิกของบ้าน

ระหว่างเดินชมบ้าน คุณแจ็คเล่าถึงเหตุผลของการมาลงหลักปักฐานห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนว่าเขาหลงใหลวัฒนธรรมของชาติตะวันออก เมื่อสิบปีก่อนขณะยังทำงานอยู่ที่ฮ่องกง เขามีโอกาสมาเที่ยวพักร้อนที่ประเทศศรีลังกา แล้วติดใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ของที่นี่ เมื่อโชคชะตาทำให้เขาต้องย้ายถิ่นฐาน เขาเลือกที่จะมาอยู่ศรีลังกาแทนการกลับไปอยู่ที่อังกฤษ ไม่ใช่เพราะว่าเขาเห็นช่องทางธุรกิจแต่อย่างเดียว แต่เขาเห็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมของศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลามอย่างมีเสน่ห์ และไม่รู้สึกแปลกถิ่นเมื่ออยู่ที่นี่ ทุกวันนี้เขาเรียกตัวเองว่า “คนท้องถิ่น” ภรรยาก็ทำธุรกิจร้านขายเสื้อผ้าอยู่ในกอลล์ ฟอร์ต ลูกๆก็อยู่โรงเรียนประจำในเมืองโคลัมโบ ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ก็จะลงมาอยู่กับพ่อแม่ ธุรกิจจัดการบ้านเช่าของเขาก็เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ทั่วโลก ณ วันนี้ ที่นี่คือบ้านที่เขาภูมิใจ

 

เจ้าของ – ตกแต่ง :  ครอบครัวอีเด็น

เรื่อง : เจรมัย พิทักษ์วงศ์

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ปิยะวุฒิ ศรีสกุล