บ้านล้านนา – โมเดิร์น คืนชีวิตใหม่ให้เรือนไม้หลังเก่า
บ้านล้านนา บ้านชั้นเดียวแสนอบอุ่นที่นำวัสดุไม้จากเรือนไทยภาคเหนือหลังเดิม มาตกแต่งใหม่อย่างเรียบง่าย ทันสมัย ในสไตล์ บ้านล้านนา-โมเดิร์น ที่คงกลิ่นอายท้องถิ่นและความทรงจำจากบ้านเก่า
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Housescape Design Lab
“คุณตา-คุณยายอยู่บ้านหลังนี้มาทั้งชีวิต เราเลยไม่อยากให้ท่านรู้สึกแปลกแยกกับบ้านหลังใหม่ โจทย์หลักจึงเป็นการนำไม้จากบ้านหลังเก่าที่มีอยู่เยอะและมีค่ามากกลับมาใช้ เพื่อสร้างบรรยากาศเดิมที่คุ้นเคย ใส่ความโมเดิร์นที่คุณนิกชอบเข้าไป ตามด้วยการหยิบเอาองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งฝาไหล เหล็กดัด และหน้าต่างบานเก่ามาใช้ด้วย”
คุณเบล – พีระพงษ์ พรมชาติ สถาปนิกจาก Housescape Design Lab เล่าถึงโจทย์หลักในการออกแบบบ้านหลังนี้ว่า เมื่อบ้านเรือนไทยยกสูงหลังเดิมที่ผู้อยู่ต้องปีนบันไดขึ้น-ลงเป็นประจำ ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยที่สะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุอีกต่อไป คุณนิก – แพรววนิต สุมังสะ และคุณแม่ จึงต้องการรื้อบ้านหลังเก่า และสร้างบ้านชั้นเดียวหลังใหม่ที่มีขนาดกะทัดรัด ใช้งานง่าย และทันสมัยสำหรับทุกคนในครอบครัวบนที่ดินเดิม สถาปนิกที่รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าของบ้านมายาวนานอย่างคุณเบล รวมถึงทีมออกแบบ จึงได้นำทั้งสไตล์มินิมัลแบบญี่ปุ่นตามความชอบของคุณนิก ความสามัญธรรมดาอย่างหลังคาหน้าจั่ว ซึ่งเหมาะกับการใช้งานตามความเห็นของคุณแม่ รวมถึงบรรยากาศของบ้านไม้หลังเก่าที่ทุกคนผูกพัน มาผสมผสานกันเป็นบ้านหลังใหม่นี้อย่างลงตัว
เรียบง่าย อยู่สบาย และคุ้มค่า
บ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นต่ำ จัดเรียงฟังก์ชันเป็นรูปตัวแอล (L) ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ประกอบด้วยห้องนั่งเล่นและพื้นที่รับประทานอาหารขนาดกะทัดรัด สะดวกต่อการดูแลทำความสะอาด ห้องนอน 3 ห้องพร้อมห้องน้ำในตัว และครัวนอกที่เชื่อมต่อกับ “เติ๋น” และ “ฮ้านน้ำ” พื้นที่พักผ่อนและรับแขกด้านนอกตามแบบฉบับเรือนไทยภาคเหนือ พื้นที่ทุกส่วนจัดวางโดยเน้นให้อากาศถ่ายเทสะดวก และรับแสงธรรมชาติอย่างพอเหมาะ โดยเฉพาะโซนห้องนั่งเล่นซึ่งถูกกั้นด้วยประตูบานเฟี้ยมขนาดใหญ่ สามารถเปิดรับลมจากเติ๋นหน้าบ้านให้พัดผ่านไปยังด้านหลังได้อย่างเต็มที่
การคุมราคาก่อสร้างให้เป็นไปตามงบที่ตั้งไว้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านการเลือกใช้วัสดุต่างๆ อย่างคุ้มค่า โดยโครงสร้างหลักเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กบนฐานรากแผ่ ตัวบ้านมีการนำวัสดุเหล็กและไม้มาใช้ควบคู่กันไปด้วย โดยพยายามนำไม้เก่ากลับมาใช้ให้ได้มากที่สุด ส่วนหลังคาเลือกมุงด้วยวัสดุเมทัลชีตแบบไร้รอยต่อ ซึ่งมีจุดรั่วซึมน้อย กันฝนได้ดี และมีน้ำหนักเบา ทำให้ประหยัดโครงสร้างหลังคาไปได้มาก
ไม้เก่า ในรูปโฉมใหม่
เมื่อคุณเบลได้มาสำรวจบ้านหลังเดิมก่อนการออกแบบ พบว่าเป็นเรือนไทยล้านนาหลังใหญ่โครงสร้างครึ่งไม้ครึ่งปูนอายุกว่า 60 ปี โดยไม้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพื่อใช้วัสดุเดิมให้เกิดคุณค่าและนำบรรยากาศเดิมที่ทุกคนคุ้นเคยกลับมา จึงมีการนำไม้จำนวนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเรือนไทยหลังเดิมมาใช้บ้านหลังใหม่ โดยคุณตาเจ้าของบ้านซึ่งเป็น “สล่า” หรือช่างไม้ในงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเองนั้น ก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ไม้ที่นำมาใช้ทั้งในบริเวณพื้น ผนัง และชายคา โดยเฉพาะบริเวณฮ้านน้ำและระเบียงทางเดินเข้าห้องนอน ซึ่งเผยให้เห็นโครงสร้างพื้นไม้เมื่อมองจากด้านนอก อีกทั้งเวลาเดินจะเกิดเสียงเอี๊ยดอ๊าด ให้อารมณ์เหมือนกำลังเดินอยู่ในบ้านไม้หลังเก่าด้วย อย่างไรก็ตาม คุณเบลเล่าให้เราฟังถึงกระบวนการก่อสร้างว่า อุปสรรคหนึ่งในการนำไม้เก่ามาใช้ใหม่คือการทำสี เพราะไม้เดิมที่ได้มามีหลายชนิด และมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งต้องมีการแก้สีใหม่หลายครั้งกว่าจะออกมาลงตัวถูกใจเจ้าของบ้าน โดยผลลัพธ์ที่ได้ทำให้บ้านไม้หลังใหม่นี้ดูมีความร่วมสมัย อบอุ่นในสไตล์ญี่ปุ่น แต่ยังคงกลิ่นอายแบบบ้านท้องถิ่นในเวลาเดียวกัน
เรือนล้านนา ในภาษาโมเดิร์น
แม้รูปลักษณ์จะดูทันสมัย แต่บ้านหลังใหม่นี้ยังมีการนำลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมของเรือนไทยล้านนามาจัดเรียงใหม่ในรูปแบบบ้านชั้นเดียวสไตล์โมเดิร์นได้อย่างกลมกลืนอีกด้วย ตั้งแต่จุดที่ถือเป็นไฮไลต์ของบ้าน นั่นคือ “ฮ้านน้ำ” พื้นที่คล้ายเพิงเล็กๆ ติดกับทางเข้าบ้าน พร้อมโต๊ะวางกระติกน้ำสำหรับต้อนรับแขก ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคเหนือ ส่วนที่ถัดเข้าไปด้านในคือ “เติ๋น” หรือชานบ้านที่มีหลังคาคลุม ซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างสเปซภายในและภายนอก นอกจากนั้นยังออกแบบห้องครัวเป็นลักษณะ “ครัวนอก” ที่แยกออกมาจากตัวบ้านหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงกลิ่นจากการทำอาหารท้องถิ่นที่มีรสจัด โดยวางห้องครัวในตำแหน่งที่ถ่ายเทอากาศได้ดี และเลือกใช้วัสดุผนังที่ไม่ปิดทึบ เพื่อรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
หน้าต่างฝาไหล และเหล็กดัดบานเก่าที่ถอดจากบ้านเก่ามาติดตั้งในบ้านใหม่ นอกจากจะเพิ่มลูกเล่นให้บ้านดูน่าสนใจขึ้นแล้ว ยังเป็นอีกสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นเรือนไทยล้านนาได้เช่นกัน โดยบานฝาไหลทำหน้าที่เป็นทั้งหน้าต่างและผนัง สามารถเลื่อนเปิด-ปิดเพื่อปรับแสงสว่างภายในบ้าน ส่วนเหล็กดัดที่มาพร้อมกับหน้าต่างบานเก่าจากห้องของคุณตา-คุณยายนั้นเป็นลวดลายที่มีชื่อเรียกว่า “ลายหม้อดอก” หรือ “ปูรณฆฏะ” ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในศิลปะของภาคเหนือ และถือเป็นสิ่งมงคลในวัฒนธรรมล้านนาด้วย
บ้านใหม่ ในบรรยากาศเดิม
บ้านหลังใหม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่ปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น สำหรับสมาชิกในครอบครัวทุกคนได้เป็นอย่างดี โดยมุมประจำของคุณนิกคือบริเวณห้องนั่งเล่นในที่โปร่งโล่ง เหมาะกับการนั่งดูทีวีสบายๆ ด้านใน ส่วนผู้ใหญ่ทั้งคุณแม่ คุณตา และคุณยาย ก็จะชื่นชอบพื้นที่ด้านนอกมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณเติ๋น ที่ถือเป็นมุมประจำของคุณตาสำหรับนั่งมองธรรมชาติรอบๆ ดูผู้คนที่เดินผ่านไปมา หรือนั่งคุยกับลูกหลานที่แวะเวียนมาหา เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาในบ้านหลังเดิม เพียงแต่บริบทเปลี่ยนไปตามกาลเวลา กลายเป็นบ้านชั้นเดียวหลังใหม่ ที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเรือนไทยล้านนาและความทรงจำเก่าๆ ที่ทุกคนคุ้นเคย ผ่านการออกแบบที่เรียบง่ายและการนำวัสดุดั้งเดิมกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างงดงาม ตามที่คุณนิกเล่าถึงความประทับใจเมื่อบ้านหลังใหม่เสร็จสมบูรณ์ว่า
“พอปรับปรุงเสร็จแล้วเพื่อนบ้านก็ชมกันค่ะว่าบ้านสวย ดูเหมือนบ้านญี่ปุ่น บ้านหลังนี้สร้างใหม่ก็จริง แต่กลับให้ความรู้สึกอบอุ่นและคุ้นเคย ตั้งแต่ยังไม่ได้ย้ายเข้าไปอยู่เลยค่ะ เหมือนบ้านหลังเก่า แต่เพิ่มเติมคือมีความเป็นระเบียบและทันสมัยมากขึ้นค่ะ”
เจ้าของ : คุณแพรววนิต สุมังสะ
ออกแบบ : Housescape Design Lab โดยคุณพีระพงษ์ พรมชาติ
เรื่อง : Tinnakrit
ภาพ : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์