มาปลูกผักสวนครัวไว้กินกันเถอะ
“ผักสวนครัวรั้วกินได้” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ อีกทั้งในปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน เป็นงานอดิเรก และเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก เรามักเห็นพืชผักสวนครัวอยู่ตามริมรั้วในชนบทโดยทั่วไปมักเน้นพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามาก ให้ประโยชน์ในแง่การใช้สอยมีผลผลิตให้เก็บกินได้ในครัวเรือนตลอดทั้งปี สิ่งเหล่านี้เองคือแนวทางใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้ บ้านและสวนจึงอยากชวนทุกคนปลูกผักในพื้นที่เพียงน้อยนิดให้กลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพปลอดสารพิษของคุณกันเถอะครับ
การเตรียมแปลงปลูก
กระบะปลูกเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับปลูกผักสวนครัว เพราะนอกจากช่วยให้ง่ายสำหรับการดูแลแล้วพืชผักในแปลงแล้ว ยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตและจัดการคลุมดินกลบผักเป็นปุ๋ยหมักได้ง่ายอีกด้วย โดยวัสดุมีให้เลือกมากมายส่วนมากที่ใช้กันคือไม้และบล็อกอิฐชนิดต่างๆทั้งดินเผาและคอนกรีต โดยกระบะไม้มีข้อดีคือสามารถรื้อถอนได้ง่าย เหมาะกับการปลูกผักหลายชนิดที่ต้องปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ วัสดุและขั้นตอนในการก่อสร้างก็ง่าย สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดประมาณ 1 – 1.80 เมตร สูงประมาณ 20 เซนติเมตร ปักหมุดหรือตอกเสาไม้ลงดินลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตรเป็นมุมทั้งสี่ด้าน หรือห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร และนำแผ่นไม้ตีทับด้วยตะปูหรือเครื่องผูก โดยเราสามารถตีแผ่นไม้ได้ตามความสูงที่เราต้องการได้ถึง 1 เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับกระบะปลูกที่ทำจากอิฐบล็อกหรืออิฐมอญที่ก่อสร้างโดยการขุดหลุมบริเวณที่จะสร้างกระบะลึกไปประมาน 20 เซนติเมตร จากนั้นก็ก่ออิฐฉาบปูเป็นกรอบกระบะรอบๆ ซึ่งจะมีความทนทานกว่าการใช้ไม้ เมื่อทำกระบะเสร็จควรใส่เศษฟางแห้งให้ทั่วและคลุมด้วยหญ้าสดอีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะโรยปุ๋ยหรือมูลสัตว์ตากแห้งผสมกับเศษเปลือกไข่ เพื่อเติมแร่ธาตุและแคลเซียมในดินใส่ปุ๋ยหมักอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพลงไปให้ทั่วกระบะประมาณ 1 บัวรดน้ำ และจึงใส่ดินปลูกปกติลงไป ก่อนปลูกผักที่ต้องการลงไป
ปลูกผักให้หลากหลาย
ในพื้นที่ทั้งแปลงเล็กและแปลงใหญ่เราสามารถปลูกผักได้หลากหลายชนิด เพื่อให้เก็บผลผลิตได้สม่ำเสมอ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่จำกัดอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งออกได้ดังนี้
ผักไม้เลื้อย
พี้นที่ริมรั้วหรือรอบไม้ยืนต้นร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่นๆที่แสงแดดส่องถึงเราสามารถใช้ประโยชน์สำหรับปลูกไม้เลื้อยที่รับประทานได้ทั้งไม้ดอก เช่น อัญชัน ขจร และชมจันทร์ ไม้ใบ เช่น พลู ตำลึง และผักเชียงดา และไม้ที่ออกผล เช่น ถั่วชนิดต่างๆ แตงกวา และฟัก ตามความเหมาะสมของขนาดต้น โดยมากควรเป็นต้นไม้เลื้อยขนาดเล็ก เช่น อัญชัน เสาวรส ถั่วชนิดต่างๆ ตำลึง พริกไทย ส่วนต้นไม้จำพวกฟัก บวบ ฟักทองที่ให้ผลขนาดใหญ่และลำต้นค่อนข้างหนักสามารถประยุกต์ปลูกให้เลื้อยขึ้นซุ้มที่แข็งแรงได้
ผักไม้ล้มลุก
ผักสวนครัวส่วนมากเป็นไม้ล้มลุก มีระยะเก็บผลผลิตแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด จึงควรปลูกให้หลากหลายชนิดหมุนเวียนกันไปในแปลงเดียวกัน เพื่อให้เกิดการดูดซึมแร่ธาตุแตกต่างกันไป และเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บผลผลิตรวมถึงดูแลรักษา มีตั้งแต่ต้นไม้ขนาดล่างอย่างผักสลัด ผักชี พริง กะเพรา แมงลัก โหระพา ไปจนถึงไม้ล้มลุกขนาดใหญ่อย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง และทานตะวัน รวมถึงไม้หัวอย่างกระชาย ขมิ้น ขิงและข่า หลังจากเก็บผลผลิตควรใช้วิธีไถกลบและพักไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ลำต้นที่เหลือกลายเป็นปุ๋ยหมักต่อไป
ผักไม้น้ำ
หากมีพื้นที่ริมน้ำในสวน ไม้น้ำหรือไม้ริมน้ำหลายชนิดก็สามารถปลูกเป็นผักสวนครัวได้ เช่น เตยหอม ผักกระเฉด ผักแพ้ว และใบบัวบก นอกจากรับประทานอาหารได้แล้ว ต้นไม้เหล่านี้ยังมีส่วนช่วยยึดเกาะหน้าดินและเป็นแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีประโยชน์มากสำหรับระบบนิเวศ
ผักไม้ประดับ
ไม้ประดับหรือผักสวนครัวหลายชนิดมีความสวยงามเฉพาะตัวและสามารถนำมาจัดร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่นเพื่อประดับจัดสวนได้ ทั้งไม้ดอกอย่างอัญชัญ ขจร ดาหลา โสน พวงชมพู กุหลาบ และไม้ใบอย่างเล็บครุฑ ใบเงินใบทอง แสงจันทร์ โกสน เป็นต้น โดยควรปลูกแทรกกับต้นไม้ชนิดอื่นๆเพื่อให้เกิดความหลากหลายของชนิดในการนำไปทำอาหารและความสวยงามของกลุ่มต้นไม้ในสวน
ผักไม้พุ่ม
ไม้พุ่มเป็นองค์ประกอบสำหรับใช้จัดสวนทั่วไป โดยเฉพาะสวนที่ต้องการเลียนแบบธรรมชาติ ไม้พุ่มที่รับประทานได้บางชนิดเหมาะกับการปลูกแบบเดี่ยวหรือแทรกในพื้นที่ที่แสงแดดทั่วถึง รวมถึงปลูกเรียงกันและตัดแต่งทำเป็นรั้ว โดยมีไม้พุ่มสำหรับรับประทานใบและยอดอ่อน ได้แก่ ชะอม มะดัน กระถิน มะกรูด และรับประทานผล เช่น มะเขือ มะนาว หม่อน และน้อยหน่า
ผักไม้ยืนต้น
ไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบที่ทุกสวนที่มีพื้นที่เพียงพอต้องมีอย่างน้อยหนึ่งต้น เพื่อประโยชน์ในการให้ร่มเงา เป็นไม้ประธาน ปลูกเป็นรั้ว ฉากหลัง หรือเก็บผลผลิต โดยมีตั้งแต่ไม้ยืนต้นสำหรับเก็บผลอย่างมะม่วง ชมพู่ ลองกอง มะยม ขนุน เป็นต้น ไม้ยืนต้นสำหรับรับประทานใบและยอดอย่างสะเดา ชะมวง ทองหลางน้ำ มะสัง ขี้เหล็ก และไม้รับประทานดอกอย่างแคนา แคบ้าน งิ้ว เป็นต้น
เรื่อง : “อิสรา” “ปัญชัช”
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน