บ้านชั้นเดียว เปิดรับวิวดอยสวย
บ้านชั้นเดียว สร้างขึ้นตามแนวคิดการอาบป่าของญี่ปุ่น หรือการใช้ธรรมชาติบำบัดเพื่อฟื้นฟูพลังชีวิต เลยตั้งชื่อบ้านนี้ว่า ‘ชินรินโยคุ’ (ชินริน แปลว่า ป่า) (โยคุ แปลว่า อาบ) เพราะเลือกทำเลบนเนินเขาที่มองเห็นความสดชื่นของต้นไม้ได้รอบตัว
เพราะความฝันที่อยากจะมี บ้านชั้นเดียว ขนาดกะทัดรัดไว้อยู่อาศัยในช่วงชีวิตหลังเกษียณนั้นเปี่ยมพลังมากพอที่จะดึงให้วิศวกรหนุ่มจากจังหวัดชุมพรและอดีตแอร์โฮสเตสสาวจากเมืองกรุงจับมือกันมาตามหาความฝันนี้ แม้จะต้องเก็บหอมรอมริบและเดินทางมาไกลถึงพื้นที่เชิงดอยแม่ริมของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเพราะว่าทั้งคู่หลงรักในภูมิทัศน์ของทิวเขาที่สลับทับซ้อนกันไปกับอุณหภูมิที่เย็นสบายเกือบตลอดปี
ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน คุณปอ-สิทธิโชค ยอดรักษ์ และคุณเมี่ยง-สรัญภร พงศ์พฤกษา ได้มาซื้อที่ดินราว 6 ไร่บนเนินเขาแห่งนี้ไว้ ก่อนจะเริ่มมาปลูกต้นไม้และเริ่มสร้างบ้านโรงนาที่เป็นเรือนสังกะสีพร้อมพื้นที่เพาะชำต้นไม้ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็ลงมือสร้างบ้านหลังเล็กต่อมาอีกทีละหลังๆ โดยใช้ไม้เก่าที่สะสมไว้เพื่อเปิดเป็นบ้านพักสไตล์ฟาร์มสเตย์ในชื่อ Mori Natural Farm ซึ่งมีบ้านเพียง 4 หลัง แต่มีผู้คนสนใจต่อคิวจองกันแน่นมาตลอดทุกเดือน จนต้องดัดแปลงโรงนาเดิมเป็นบ้านพักในไร่อีกหลัง
บ้านหลังใหม่ที่ให้ความรู้สึกของการอาบป่า
ด้วยจำนวนบ้านพักที่มีจำกัดนั้นไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้มาเยือน คุณปอกับคุณเมี่ยงจึงยอมสละบ้านของตัวเองให้เป็นที่พัก แล้วย้ายไปใช้พื้นที่ชั้นบนของคาเฟ่เป็นที่อาศัยอยู่แทน แต่ความฝันที่จะมีบ้านของตัวเองนั้นก็ยังคงอยู่ คุณปอจึงเริ่มลงมือออกแบบและสร้างบ้านหลังใหม่นี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้พื้นที่บนเนินเขาด้านข้างซึ่งสามารถมองเห็นวิวธรรมชาติได้เกือบรอบตัว และเป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบบ้านหลังใหม่นี้
“ผมสร้างบ้านนี้ตามแนวคิดการอาบป่าของญี่ปุ่น หรือการใช้ธรรมชาติบำบัดเพื่อฟื้นฟูพลังชีวิต เลยตั้งชื่อบ้านนี้ว่า ‘ชินรินโยคุ’ (ชินริน แปลว่า ป่า) (โยคุ แปลว่า อาบ) เพราะเลือกทำเลบนเนินเขาที่มองเห็นความสดชื่นของต้นไม้ได้รอบตัวเพื่อให้เกิดการรับรู้บรรยากาศของป่าผ่านประสาทสัมผัสของเรา ทั้งการฟังเสียงนกเสียงใบไม้ สูดอากาศบริสุทธิ์ และได้กลิ่นต้นไม้ใกล้ๆ แต่อยู่ในมุมสงบห่างไกลจากความวุ่นวาย”
เพราะหลายๆ อย่างของที่นี่มาจากความประทับใจและหลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เช่นเดียวกับแนวคิดของการอาบป่าที่คุณปอนำมาใช้ ก็มาจากแนวคิดของหน่วยงานป่าไม้ในจังหวัดนางาโนะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เพื่อมาช่วยเยียวยาภาวะซึมเศร้าและอาการเสียสมาธิของคนเมืองที่อยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยการออกไปเที่ยวป่าและใช้ประสาทสัมผัสอยู่กับธรรมชาติ เพราะต้นไม้จะปล่อยสารเคมีที่ชื่อว่าไฟทอนไซด์ (Phytoncide) มาช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ลดความดันคลายความเครียดทั้งทางระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และสภาพจิตใจ
วัสดุประหยัดและแข็งแรงทนทาน
นอกจากจะออกแบบบ้านให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับธรรมชาติแล้ว คุณปอยังเน้นถึงความประหยัดและทนทานด้วย “ผมพยายามเลือกใช้วัสดุง่ายๆ หาได้ในท้องถิ่น อย่างไม้เก่าที่ซื้อจากชาวบ้านเพิ่มมา ผสมกับโครงสร้างเหล็กบนฐานตอม่อปูน เพราะบ้านของเราอยู่บนดอยเลยใช้โครงเหล็กที่เบาและถูกกว่าไม้ แล้วค่อยปิดผิวด้วยไม้อีกที หลังคาเป็นกระเบื้องหลังคาเก่าลอนคู่ขนาด 1.20 เมตร มาตัดให้สั้นเป็น 3 แผ่นขนาด 40 เซนติเมตร ฉีดน้ำล้างตะไคร่เก่าออกแล้วทาเคลือบใหม่เพื่อยืดอายุการใช้งาน การติดตั้งก็วางซ้อนเหลื่อมกัน ล็อกด้วยตะขอทองเหลืองที่ปรับมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยก่อน ไม่ต้องเจาะ เลี่ยงปัญหาการรั่ว เวลาแตกก็สามารถยกจากตะขอเพื่อเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ ทีละแผ่น ดูแล้วให้กลิ่นอายแบบญี่ปุ่นและยังทอนเสียงฝนให้เบาลงด้วย ใต้หลังคาลอนคู่ยังใส่ฉนวนอีกชั้นและปิดฝ้าเพดานด้วยแผ่นซีเมนต์บอร์ดหนา 6 มิลลิเมตร ล้อไปกับสโลปของหลังคา เพื่อให้มีช่องว่างระหวางหลังคากับฝ้าน้อยที่สุด จะได้ไม่มีการสะสมของฝุ่นบนแผ่นฝ้า
“ในบ้านมีพื้นที่ใช้สอยราว 60 ตารางเมตร เล็กๆ แต่ก็ครบทุกฟังก์ชันแบบกะทัดรัดและอบอุ่น เราเน้นสัมผัสจากไม้ แต่ไม่ได้ใช้ไม้สักทั้งหมดเพราะมันแพง เลยใช้ไม้สักหนาเซ็นครึ่งปูทับพื้นแผ่นสมาร์ทบอร์ดที่หนา 16 มิลลิเมตร วางบนคานเหล็กขนาด 40 เซนติเมตร ก็ได้ฟีลเหมือนบ้านไม้สัก แต่หมดปัญหาเรื่องปลวกเลย ส่วนผนังด้านที่หันไปทางถนนเราใช้ก่ออิฐฉาบปูนซ้อนด้วยฟังก์ชันของห้องน้ำก่อนเข้าถึงส่วนพักผ่อนเพื่อป้องกันเสียงรบกวนไปถึงห้องนอน แล้วไปเปิดผนังโล่งในฝั่งที่มองเห็นวิว ไม่มีเสียงรบกวน ตรงนี้เน้นเป็นผนังเบา (ซีเมนต์บอร์ดและโครงคร่าวเหล็กกัลวาไนซ์ด้านใน) และผนังกระจก ซึ่งตัวผนังเบายังทำเป็นสองชั้นใส่ฉนวนตรงกลาง ระหว่างรอยต่อของแผ่นซีเมนต์บอร์ดปิดด้วยคิ้วไม้สักแทนการโป๊รอยต่อเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในบ้านไม่ให้ร้อนและไม่หนาวเกินไปในช่วงฤดูหนาว”
เสน่ห์บ้านญี่ปุ่นกลางวิวดอย
ต้องยอมรับว่าเสน่ห์ของบ้านที่คุณปอสร้างและออกแบบเองตั้งแต่หลังแรกจนถึงหลังนี้ก็คือการผสมผสานกลิ่นอายญี่ปุ่นไว้ท่ามกลางวิวธรรมชาติสวยๆ บนดอยแม่ริม ประกอบกับการปลูกต้นไม้สลับไปตามเนินเขาซึ่งมีทั้งไม้ใบสวย ไม้ดอกน่ารัก เช่น เดซี่ สแตติส และไม้ให้ผลที่ให้คุณเมี่ยงได้เก็บเกี่ยวไว้ใช้ในครัวเรือนหรือเป็นวัตถุดิบในคาเฟ่ เช่น มันหวานญี่ปุ่น โรสแมรี่ สตรอว์เบอร์รี เลมอน อะโวคาโด ที่เหลือยังแบ่งขายได้ โดยเน้นปลูกหมุนเวียนสลับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
“ด้วยวิวที่ตั้งของบ้านนี้อยู่บนเนินสูง ผมเลยออกแบบระเบียงไม้นั่งเล่นไว้ถึงสองด้านให้สามารถนั่งห้อยขาดูท้องฟ้าดูภูเขาได้ทั้งวัน เป็นส่วนหนึ่งของไอเดียการอาบป่า แต่ภายในบ้านมีสเปซค่อนข้างจำกัดก็เลยออกแบบสเต็ปเล็กๆ กั้นส่วนระหว่างมุมนั่งเล่นกับห้องนอน แล้วเพิ่มม้านั่งยาวบิลท์อินไว้ด้านในสุด วางเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็นต้องใช้เพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัด ส่วนเก็บของก็ทำผนังซ่อนเอาไว้ แล้วเติมดีเทลที่อบอุ่นด้วยโครงเสาไม้ พื้นไม้ และประตูหน้าต่างไม้สักตีเป็นกรอบเล็กๆ แบบญี่ปุ่น ที่ใช้ไม้สักได้เพราะใช้งานแบบบานเลื่อนเลยไม่ต้องกลัวการยืดหด โดยวางประตูให้อยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก เมื่อเปิดออกพร้อมกันก็จะได้ความเย็นสบายจากลมธรรมชาติทั้งปี โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ส่วนในห้องน้ำใช้ไม้กระพี้เขาควายสีเข้มเป็นเคาน์เตอร์เพื่อให้ตัดกับพื้นไม้สักสีอ่อน เพราะอยู่กับความชื้นได้ ไม่บิดงอ แล้วก็ทำอ่างแช่ตัวแบบออนเซ็น โดยสูบน้ำแร่มาต้มให้อยู่ในอุณหภูมิ 39-40 องศาเซลเซียส เวลาอยากผ่อนคลายก็จะมาแช่ออนเซ็นกัน เสร็จแล้วก็เปลี่ยนน้ำที่ใช้แล้วออกไปทำเกษตรต่อได้”
คุณเมี่ยงบอกว่ามาอยู่แรกๆ ไม่รู้เรื่องการปลูกต้นไม้เลย แต่ก็มาเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด รอดบ้างตายบ้าง ส่วนใหญ่เน้นปลูกต้นที่ตัวเองชอบเป็นหลัก “เราปลูกผสมผสานและดูแลไปตามธรรมชาติเลย ไม่ใช้สารเคมี เพื่อจะได้สบายใจเวลาหยิบมากินหรือใช้ในคาเฟ่ บางทีไก่มาจิกกินไปก่อนบ้างก็ไม่เป็นไร แบ่งๆ กัน เพราะไก่ก็ช่วยกำจัดแมลงตามระบบนิเวศไปด้วย พอได้มาใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติแล้วรู้สึกสดชื่นมาก เช้าๆ ตื่นมาจิบชา ชมภูเขา มองท้องฟ้า ซึ่งจากบ้านตรงนี้เห็นวิวที่สวยที่สุดเลย โล่งสบายตา ยิ่งฤดูฝนยิ่งมีหมอกสวย โดยเฉพาะปลายฝนอากาศเริ่มเย็นสบายขึ้นอีก และตรงนี้ก็ไม่ค่อยมีฝุ่นควันเหมือนในเมือง เรียกว่าอากาศดีเกือบตลอดปีเลย”
เพราะนี่เป็นชีวิตหลังเกษียณที่ยังเปี่ยมไปด้วยพลังความสดชื่น ภายในบ้านขนาดกะทัดรัดซึ่งรายล้อมด้วยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ และคงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้ดูแลฟาร์มสเตย์และคาเฟ่เล็กๆ แห่งนี้ พร้อมกับสรรพชีวิตต่างๆ ทั้งน้องหมา แมว วัว แพะ เป็ด และไก่ในฟาร์มให้มีความสุขไปด้วยกัน
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณสิทธิโชค ยอดรักษ์ และคุณสรัญภร พงศ์พฤกษา Mori Natural Farm
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
สไตล์ : Suntreeya