บ้านชนบทชั้นเดียว กลิ่นอายไทยผสมญี่ปุ่น - บ้านและสวน
บ้านชนบทชั้นเดียว

บ้านชนบทชั้นเดียว สไตล์ไทยผสมญี่ปุ่น

บ้านชนบทชั้นเดียว ที่มีกลิ่นอายแบบชนบทไทยและใส่รายละเอียดบางอย่างแบบบ้านญี่ปุ่นแบบที่เจ้าของบ้านชอบเอาไว้ โดยนำเอาระบบโมดูลาร์มาใช้ เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและเหลือเศษวัสดุน้อยที่สุด

บ้านชนบทชั้นเดียว
ชานบ้าน
ตัวบ้านทำหลังคาจั่วคลุมลงมายาวถึงด้านข้าง รอบบ้านแวดล้อมด้วยต้นไม้ร่มรื่นมีบรรยากาศแบบบ้านในชนบท

บ้านชนบทชั้นเดียว หลังนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่มีระยะทางไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ขับรถเลียบเลาะแม่น้ำปิงใช้เวลา 20 นาทีเศษมายังตำบลสันผีเสื้อ เข้าซอยมาในชุมชนเล็กๆ ที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่อยู่ประปราย จากปากทางเข้าบ้านขนาดพอดีจอดรถได้ 1 คัน เมื่อเดินลอดซุ้มประตูไม้เข้ามาจะพบกับที่ดินกว้างๆ พื้นที่ราว 96 ตารางวา มีบ้านหลังคาจั่วขนาดกะทัดรัดซ่อนตัวอยู่ในทิวไผ่ หลังคาบ้านที่ทอดยาวลงมาให้เห็นเพียงตัวบ้านและชานยื่นออกมารำไร รอบๆเป็นลานดิน มีกองไฟ ไม้ยืนต้น และพืชผักสวนครัวปลูกไว้ประปรายให้บรรยากาศแบบบ้านชนบทแสนสงบเงียบและเป็นธรรมชาติ

คุณเต้ย-ทรงชัย ทองผาสุข เจ้าของบ้านเป็นคนพังงา หลังจากทำงานในกรุงเทพฯได้ระยะหนึ่งก็ย้ายถิ่นฐานอีกครั้งมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว โดยทำอาชีพเป็นสถาปนิกดูแลงานแบบก่อสร้างให้ “ใจบ้านสตูดิโอ”  บ้านชนบทชั้นเดียว หลังนี้สร้างมาราวปีกว่า คุณเต้ยทั้งออกแบบและลงมือทำบ้านเองบางส่วน เป็นบ้านที่มีกลิ่นอายแบบชนบทไทยและใส่รายละเอียดบางอย่างแบบบ้านญี่ปุ่นแบบที่ชอบเอาไว้  

“ตอนแรกผมเล็งที่ดินไว้หลายที่เหมือนกัน แต่ยังไม่ได้สักที ระหว่างนั้นก็มีแปลนบ้านในหัวเรียบร้อย จนมาเจอที่ดินแปลงนี้ซึ่งทางเข้ามันแคบหน่อย คนส่วนใหญ่อาจจะไม่อยากได้ที่ดินแบบนี้ แต่ผมมองแล้วรถผมเข้าได้เลยตัดสินใจไม่ยาก ผมอยากสร้างบ้านเร็วและประหยัดที่สุด จึงนำเอาระบบโมดูลาร์มาใช้ กำหนดระยะและขนาดให้พอดีกับวัสดุที่นำมาใช้ เช่น พื้นใช้แผ่นซีเมนต์บอร์ดขนาด 1.20 x 2.40 เมตร ตัวบ้านโครงเหล็กซึ่งขนาดเหล็กยาว 6 เมตร หรือหลังคาเฉียงทำมุม 45 องศา เส้นตั้งตัดเส้นนอนมันจะพอดี คิดทุกอย่างให้ลงตัวและตัดวัสดุให้น้อยที่สุด เพราะผมตั้งใจว่าจะทำเองบางส่วนด้วย จึงไม่อยากยุ่งยากหากต้องมาตัดเอง บ้านหลังนี้ผมออกแบบแล้วก็ตัดโมเดลให้ช่างดูเลยจะได้เห็นภาพตรงกัน คิดวิธีให้ช่างทำงานง่ายสุด และเหนื่อยน้อยที่สุด ใช้งบประมาณสร้างบ้านประมาณ 450,000 บาท ช่างที่มาทำบ้านก็รู้จักกันตอนทำงาน  บางอย่างผมก็ลงมือทำเองและมีเพื่อน ๆมาช่วยทำด้วย ใช้เวลาสร้างอยู่ 6-7 เดือน”

ตัวบ้านยกพื้นสูง 50 เซนติเมตร พื้นบ้านและระเบียงปูแผ่นซีเมนต์บอร์ดหนา 25 มิลลิเมตร วัสดุราคาประหยัดที่ติดตั้งได้รวดเร็ว มีความแข็งแรงและใช้งานได้ดีเหมาะสำหรับพื้นที่ภายในที่ไม่โดนแดดและฝนจะมีอายุใช้งานยาวนาน
ระเบียงที่ยื่นออกมานอกจากจะเป็นมุมนั่งเล่นแล้วยังใช้แขวนอุปกรณ์งานช่างงานสวนผนังและวางฟืนเพื่อให้ฟืนเหล่านี้ไม่เปียกชื้น

วัสดุบ้านบ้าน หาได้ในท้องถิ่น

ตัวบ้านขนาด 6 x11เมตร (รวมระเบียง) เมื่อกำหนดขนาดและระยะพอดีกับวัสดุที่นำมาใช้ทำให้สามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและเหลือเศษวัสดุน้อย โครงสร้างฐานรากใช้ตอม่อสำเร็จรูป ยกพื้นสูงจากดิน 50 เซนติเมตร เหนือตอม่อวางโครงเหล็กทั้งหมด ผนังทำโครงคร่าวประกบเหล็กแล้วจึงกรุฝาไม้เก่า  ส่วนหลังคาใช้กระเบื้องลอนคู่สีขาว องค์ประกอบหลาย ๆอย่างในบ้าน เจ้าของบ้านลงมือทำเองโดยเฉพาะงานไม้ต่าง ๆ ทั้งฝาผนังไม้ ฝ้าไม้ไผ่ในบ้าน ชั้นไม้ที่ใช้เก็บของจิปาถะต่าง ๆ ซึ่งเขาย้ำว่างานไม้เหล่านี้ไม่ได้เนี้ยบถูกหลักการ แต่เน้นความแข็งแรงและใช้งานได้

โถงกลางบ้าน
ภายในบ้านหลังคาจั่วสูงโปร่งมีองค์ประกอบของวัสดุธรรมชาติและงานไม้ ทั้งผนังไม้ เสื้อแหย่ง ฝ้าฟากไม้ไผ่ สร้างบรรยากาศบ้านไม้น่าอยู่
แม่เตาไฟ
โถงบ้านเปิดโล่งใช้ได้งานอเนกประสงค์ทั้งนั่งพักผ่อน  นั่งล้อมวงคุยกับเพื่อรอบเตาไฟ และวางที่นอนง่าย ๆ  
บ้านชนบทชั้นเดียว
เตาไฟกลางบ้านผสมผสานการทำแม่เตาไฟแบบไทยและเตาอิโรริแบบบ้านญี่ปุ่นในชนบทเป็นมุมนั่งพูดคุยทำอาหารง่าย ๆ ฝั่งขวาทำเป็นตั่งยกลอยขึ้นมาใช้เป็นที่นั่งที่นอนสบาย ๆ

“ผมจะเลือกวัสดุราคาประหยัดมาใช้ อย่างพื้นภายในบ้านและระเบียงปูแผ่นซีเมนต์บอร์ด ส่วนผนังใช้ไม้เก่าหามาจากในเชียงใหม่ มีทั้งไม้อาคารเก่า  โรงเรียน และบ้านผสมๆกัน เอามาล้างทำความสะอาด ไม้พวกนี้จะคละกันมา มีทั้งไม้สัก ไม้แดง และไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ ส่วนใหญ่ไม้ฝาจะมาที่ความยาว 2.50 เมตร ผมจะมาดูว่าผนังแต่ละจุดใช้ไม้ประมาณเท่าไหร่แล้วคัดไม้เฉดสีเดียวกันมาติดตั้งบริเวณเดียวกัน ทำเองกับน้องๆ ที่ออฟฟิศ ช่วยคนละแผงสองแผง ใช้ตะปูลมยึดง่าย ๆ ประตูฝั่งระเบียงที่หันออก ผมใช้ประตูไม้ลูกฟักกระจก แต่อีกฝั่งที่มองไม่เห็นจากด้านนอกผมใช้บานเลื่อนอะลูมิเนียมง่าย ๆเลย เอาแบบราคาถูก ของถูกใส่ไปเลย

 “พื้นในบ้านจะปูเสื่อทับอีกทีเป็นเสื่อแหย่ง (ทำมาจากต้นคล้าน้ำ) ผิวจะเงาและนุ่มกว่าเสื่อไม้ไผ่  ปกติเสื่อแบบนี้นิยมใช้กันในวัดทางภาคเหนือ เท่าที่ใช้มาไม่มีปัญหาอับชื้นหรือเชื้อรานะ อาจเพราะในบ้านเราแห้งด้วย ซึ่งผมสั่งมาจากเพจที่มีแหล่งผลิตอยู่ในเชียงใหม่นี่เอง ตอนนั้นไม่มีไอเดียปูพื้น แล้วมีน้องทักมาว่าน่าปูอันนี้เลยได้ไอเดีย พอเราติดต่อไปเขาจะมาวัดขนาดหน้างานเอาไปทอที่บ้าน จากนั้นค่อยมาปูและเก็บขอบตามเสา เป็นขนาดเฉพาะบ้านใครบ้านมัน สั่งทำตารางเมตรละ 250 บาท ส่วนฝ้าในบ้านใช้ไม้ไผ่ลำตีเป็นโครงจันทันหลอกแล้วซ้อนฟากไม้ไผ่ ผมทำง่ายๆเอาแค่ครึ่งเดียวของหลังคา ไม่ได้ทำทั้งหมด”

รายละเอียดต่าง ๆที่คุณเต้ยลงมือทำอาจจะไม่สมบูรณ์แบบทั้งหมด แต่ก็มีเรื่องราวและความทรงจำอยู่ในนั้นระหว่างที่ได้ลงมือทำแต่ละขั้นตอน จากตัวบ้านโครงเหล็กเมื่อแรกเริ่มเมื่อเติมวัสดุธรรมชาติในองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ก็เปลี่ยนบรรยากาศให้กลายเป็นบ้านไม้แสนอบอุ่นได้

บ้านขนาดพอดีกับชีวิต

สำหรับภายในบ้านมีพื้นที่ใช้สอยตามการใช้ชีวิตจริง ๆ ลักษณะตัวบ้านเป็นโถงยาวมี “แม่เตาไฟ” อยู่ตรงกลาง ส่วนหนึ่งเป็นมุมนั่งเล่น ฟูกที่นอนวางกับพื้นง่าย ๆ ถัดเข้าไปคือโต๊ะทำงาน  ครัวอยู่ต่อเนื่องกัน และห้องน้ำ รอบบ้านมีระเบียงยาวกลิ่นอายแบบบ้านญี่ปุ่นในชนบท คุณเต้ยเรียกมุมนี้ว่า “ระเบียงชา” ที่ออกมานั่งห้อยขาเล่นกับแมวที่เลี้ยงไว้ รวมทั้งยังมีสุนัขเพื่อนบ้านแวะมานอนอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้ยังซ่อนบันไดไว้แนบเนียนสำหรับปีนขึ้นไปบนชั้นลอยที่มีลักษณะเป็นห้องใต้หลังคา ใช้เป็นห้องนอนในบางวันหรือรับรองเพื่อน ๆที่แวะมาหา บางครั้งก็แปลงเป็นมุมนั่งเล่นที่เปิดมุมมองเห็นต้นไม้รอบ ๆบ้านได้

ระเบียงไม้
ระเบียงยาวนอกบ้านไอเดียจากภาพยนตร์เรื่อง Little Forest ที่นางเอกมักจะมานั่งกินขนมริมระเบียง  คุณเต้ยเรียกมุมนี้ว่าระเบียงชา นอกจากจะเป็นมุมนั่งจิบชาแล้วยังเป็นมุมที่เจ้าชานมและชาดำ (หมาข้างบ้าน) มานอนเล่นอีกด้วย
มุมระเบียงยกพื้นสูง 50 เซนติเมตรให้ออกมานั่งห้อยขาสบาย ๆ บางวันก็นั่งเล่นกับเจ้าเควินและบักกี้แมวที่เลี้ยงไว้
บ้านไม้
สร้างบรรยากาศบ้านไม้โดยนำไม้เก่ามาเป็นองค์ประกอบ มีการเพิ่มพื้นที่จัดเก็บโดยติดชั้นไม้ตามมุมต่าง ๆทั้งผนังและหลังคา ส่วนฝ้าเพดานจงใจทำฝ้าไม้ไผ่เพียงครึ่งล่าง เพื่อให้ได้รับแสงจากหลังคาใสด้านบน
บ้านไม้
ยกตั่งลอยจากพื้น ใช้เหล็กกล่องเชื่อมเข้ากับเสาเหล็กและวางไม้อัดตรงกลางเป็นที่นั่งยกลอยจากพื้น ผนังไม้มีการย่นระยะสำหรับทำชั้นวางของได้ ส่วนหน้าต่างเลือกใช้เฟรมอะลูมิเนียมง่าย ๆ ราคาถูก
บ้านชนบท
เนื่องจากบ้านไม่มีมุ้งลวดจึงกางมุ้งนอนง่าย ๆ วางฟูกที่นอนบนพื้นและพับเก็บได้แบบบ้านญี่ปุ่น ซึ่งมุมที่นอนสามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ในมุมต่างๆ ของบ้านตามแต่ละฤดูกาล
โครงหลังคา
ชั้นลอยด้านบนใช้งานเป็นมุมนั่งพักผ่อนหรือห้องนอน ทำราวกันตกเป็นที่นั่งได้ด้วยในตัว
ชั้นลอย
บนชั้นลอยปูเสื่อแหย่งทับบนแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ มีหน้าต่างบานเลื่อนและช่องแสงทำให้บนนี้สว่าง จัดเป็นมุมนั่งเล่น บางวันก็ย้ายขึ้นมานอนบนนี้ หรือบางครั้งก็ใช้เป็นห้องนอนแขกได้ด้วย  
ชั้นลอย
หน้าต่างไม้เก่าบานกว้างฝั่งหน้าจั่วของบ้าน สำหรับเปิดรับลม ทำให้ห้องใต้หลังคาไม่ร้อน

“ตรงชั้นลอยผมเคยใช้เป็นที่นอนเหมือนกัน ช่วงย้ายมาอยู่แรก ๆ ผมนอนทุกมุมในบ้าน ทดสอบดูว่าแต่ละฤดูนอนตอนไหนเหมาะ  ถ้าดูแค่แปลนบ้านนี้มันจะเหมือนสตูดิโอ ตอนแรกผมต้องการแค่ห้องนอน ห้องน้ำ ครัว โต๊ะแค่นั้น ส่วนเตาเอามาจากในหนัง เป็นฟีลลิ่งหนังซามูไร  ไหนๆก็จะทำเลยเอาตามความชอบเลย หรืออย่างครัวได้ใช้งานค่อนข้างเยอะผมชอบทำอาหารเอง ติดมาจากที่บ้าน บ้านผมเป็นร้านอาหารตามสั่ง ผมเป็นเด็กช่วยที่บ้านหน้าเตาเลยคุ้นมือว่าจะต้องใส่อะไรก่อนหลังในอาหารบ้าง”

ภายในครัวแม้จะมีขนาดเล็ก วางโต๊ะวางเตาง่าย ๆแต่มีชั้นไม้วางอุปกรณ์เครื่องครัวและเครื่องปรุงกระจุกกระจิกมากมาย รวมทั้งชั้นลอยแขวนเครื่องปรุงโยงเชือกยึดโครงหลังคา ไอเดียที่เพิ่มพื้นที่จัดเก็บได้โดยไม่ต้องยึดชั้นเข้ากับผนัง

รายละเอียดจากสิ่งที่อยากให้เป็น

ศูนย์กลางของบ้านคงหนีไม่พ้นแม่เตาไฟกลางบ้านกลิ่นอายแบบบ้านญี่ปุ่นโบราณ มีบรรยากาศชวนให้นั่งล้อมวงคุยกัน ตรงกลางโยงยึดไม้ไผ่ลอยไว้สำหรับแขวนภาชนะตั้งบนเตา มีการใส่รายละเอียดช่องเก็บของซ่อนไว้ใต้พื้นไม้รอบเตา

“แรก ๆที่ผมยังทำครัวไม่เสร็จผมทำอาหารตรงนี้เลย หุงข้าว ย่างไก่ ทำผัดกะเพรา ตรงกลางเตาที่เป็นดินทำต่อขึ้นมาจากพื้นดินใต้ถุนบ้าน ใต้พื้นไม้รอบเตาผมก่ออิฐกั้นเป็นช่องขึ้นมาจากพื้นเอาไว้เก็บของ ได้ไอเดียมาจากภาพยนตร์เรื่อง  Mortal Kombat (2021) ที่มีตัวละครหนึ่งเอาลูกไปซ่อนใต้พื้นไม้  พื้นไม้สี่ชิ้นคือช่องเก็บของสี่ช่อง ขนาดช่อง 0.60 x 1.80 เมตร ผมเทปูนไว้สองช่องเอาไว้เก็บเครื่องมือช่าง อีกสองช่องผมเติมดินขึ้นมาเอาไว้ใส่ไหหมักเหล้าบ๊วย ตอนแรกกะว่าจะทำตู้เย็นดินที่ฝังภาชนะดินเผาลงไป แต่ลองแล้วยังไม่สำเร็จ ตอนนี้เพิ่งคิดจะเอาไว้เก็บมะนาว ลองทดสอบแล้วได้ผลดีนะครับ อุณหภูมิประมาณ 15-20 องศาเซลซียส เก็บได้นานประมาณหนึ่งเลย

“ภาพยนตร์อีกเรื่องที่ผมชอบคือ Little Forest: Summer & Autumn (2014) และ Little Forest: Winter & Spring  (2015) ผมชอบเตาในบ้าน  ปกติคนญี่ปุ่นจะใช้เตานี้เป็นฮีตเตอร์ช่วงหน้าหนาว ผมอยากได้เลยลองแกะสัดส่วนเอง ดูแล้วกดพอสซ้ำๆ ทำแบบ ถอดชิ้นส่วนหลัก แล้วไปสั่งดัดเหล็กมาเชื่อมเอง ช่วงหน้าหนาวผมก็ใช้เป็นฮีตเตอร์ นอนใกล้ๆเหมือนผิงไฟ แล้วพอดีมันว่าต้มน้ำข้างบนได้ ใช้อบขนมปังแบบในหนังก็ได้”

แม่เตาไฟ
เตาไฟกลางบ้านเป็นเหมือนศูนย์กลาง บางครั้งก็มีเพื่อนๆมานั่งล้อมวงรับประทานอาหารและพูดคุยกัน  พื้นที่ด้านหลังวางไว้เป็นเป็นส่วนครัวมีโต๊ะตัวใหญ่ใช้งานได้อเนกประสงค์วางคั่นพื้นที่ เหนือส่วนครัวทำชั้นลอยเป็นห้องใต้หลังคา
เตาไฟโบราณ
ใต้พื้นไม้ทำช่องทั้งหมด 4 ช่อง แบ่งไว้สำหรับเป็นอุปกรณ์งานช่าง 2 ช่อง เก็บไหหมักเหล้าบ๊วย 1 ช่อง อีกช่องที่เหลือใส่ไหดินเผาทำเป็นตู้เย็นดินแบบธรรมชาติ 
โต๊ะตัวกว้างคั่นพื้นที่ระหว่างส่วนลิฟฟวิ่งกับส่วนครัว ใช้งานอเนกประสงค์ เป็นทั้งโต๊ะทำงาน เตรียมอาหาร และรับประทานอาหาร
ครัวไทย
มุมครัวแบบเรียบง่ายบรรยากาศแบบบ้านสมัยก่อน ใช้เหล็กกล่องเชื่อมเป็นขาโต๊ะและวางท็อปหินทำความสะอาดง่ายวางเตาแก๊สและเตาถ่าน ทำช่องหน้าต่างโดยนำหน้าต่างเก่ามาวางแนวนอนเปิดแบบบานกระทุ้งช่วยระบายกลิ่น ส่วนผนังเชื่อมเหล็กและวางแผ่นไม้เป็นชั้นวางของจัดเก็บจานชามและเครื่องปรุงต่าง ๆ
ใช้เหล็กล่องยึดเข้ากับโครงบ้านและวางแผ่นไม้อัดทำชั้นวางของเหนือศีรษะ เพิ่มพื้นที่จัดเก็บข้าวของให้มากขึ้น
เคาน์เตอร์ล้างมือ
หน้าห้องน้ำด้านขวาทำเป็นมุมเก็บเสื้อผ้าและบันไดปีนไปยังชั้นลอย ส่วนห้องน้ำแยกส่วนแห้งและเปียกใช้งานสะดวก  ส่วนแห้งปูพื้นซีเมนต์บอร์ด ส่วนพื้นส่วนเปียกทำเป็นระแนงไม้ให้น้ำระบายลงไปยังพื้นดินใต้ถุนบ้าน
มุมเก็บเสื้อผ้า
กั้นส่วนพื้นที่เล็กๆเป็นมุมเก็บเสื้อผ้าทำราวแขวนง่าย ๆ พร้อมบันไดปีนขึ้นไปยังชั้นลอยใต้หลังคา
มุมเก็บเสื้อผ้า
ไอเดียเก็บเสื้อยืดแบบง่าย ๆใช้ลวดราวม่านมาขึงในแนวตั้ง 3 เส้น พับเสื้อยืดหันลายออกวางเรียงซ้อนขึ้นไปบนผนัง ทั้งหยิบใช้งานง่ายและประหยัดพื้นที่จัดเก็บ

แม้บ้านหลังนี้จะไม่มีมุ้งลวดเลย เพราะเจ้าของบ้านชอบให้บ้านโล่ง ๆ อาจจะมียุงและแมลงบ้าง แต่ก็นอนมุ้งได้ไม่มีปัญหา ยามเย็นที่ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำพร้อม ๆกับอุณหภูมิอากาศที่ลดลงจนเหลือเพียง 15 องศาเซลเซียส กาน้ำในเตากลางบ้านส่งไอร้อนลอยออกมา ถ้วยชาอุ่น ๆ ในมือคลายความเย็นจากอากาศรอบ ๆได้เป็นอย่างดี

“ช่วงหน้าหนาวบางทีอุณหภูมิอากาศเหลือเลขตัวเดียวก็มี” คุณเต้ยเล่าว่าอยู่เชียงใหม่มานานจนกลายเป็นคนที่นี่ไปแล้ว ส่วนบ้านที่พังงานานๆจึงกลับไปสักครั้ง จากความตั้งใจเมื่อแรกเริ่มสร้างบ้านคือใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด ลงมือทำเองให้มากที่สุด แต่ระหว่างนั้นเขากลับได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทั้งรายละเอียดการก่อสร้าง ความเข้าใจตัวเอง ปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ นำมาสู่บ้านที่เรียบง่ายพอดีตัวหลังนี้  

เจ้าของ-ออกแบบ : คุณทรงชัย ทองผาสุข


เรื่อง : วรัปศร

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

บ้านหลังนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ “บ้านประหยัดอย่างมีสไตล์” คลิกสั่งซื้อ ซึ่งรวบรวมบ้านหลากหลายรูปแบบที่สร้างในงบประมาณประหยัด แต่ละหลังมีไอเดียการตกแต่งและการสร้างบ้านที่น่าสนใจบอกเล่าผ่านประสบการณ์ตรงจากเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบบ้าน ใช้งบประมาณก่อสร้างตั้งแต่ไม่กี่แสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาท โดยมีขนาด การเลือกใช้วัสดุแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมกับการใช้งาน ในราคาเหมาะสมกับงบประมาณที่เจ้าของบ้านตั้งเอาไว้ ราคาที่ปรากฏในเล่มจึงเป็นแนวทางคร่าว ๆ ให้ผู้ที่สนใจสร้างบ้านอย่างประหยัดนำไปประเมินและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบ้านของตนเอง

บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนาที่จังหวัดสกลนคร

บ้านไม้หลังเล็ก ในฟาร์มเกษตร สะดวกกับการทำงานในไร่