บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก กึ่งชนบทสมัยใหม่ ตอบรับการใช้งานอย่างลงตัว
บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก ที่รองรับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายในบรรยากาศทุ่งนาธรรมชาติ

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาธรรมชาติในอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ที่ออกแบบให้ “เฉลียง”เป็นหัวใจของบ้าน เพื่อรองรับวิถีชีวิตของคนในครอบครัวที่เน้นการใช้พื้นที่ภายนอก บ้านจึงโอบล้อมไปด้วยสายลม แสงแดด และต้นไม้ ตอบรับกับวิถีอันเรียบง่าย และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยไม่ลืมที่จะผสานความเป็นพื้นถิ่น และความทันสมัยเข้าไว้ด้วยกัน

DESIGNER DIRECTORY สถาปนิก : Homesook Studio

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก หลังนี้ มีจุดเริ่มต้นในการออกแบบมาจาก คุณจี-จีรพา วงค์ธิดา และ คุณที-ณัฐพัชญ์ โชติฐิติกาญจน์ สองพี่น้องที่ต้องการสร้างบ้านให้คุณพ่อคุณแม่ บนผืนที่ดินเดิมให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุยิ่งขึ้น ด้วยตำแหน่งบ้านเดิมอยู่ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ณ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และขนาบข้างไปด้วยท้องทุ่งนากว้างสุดลูกหูลูกตา การออกแบบบ้านใหม่หลังนี้จึงพยายามดึงธรรมชาติโดยรอบมาเป็นส่วนหนึ่งของภายในบ้านให้มากที่สุด โดยไม่ลืมที่จะคำนึงถึงพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่สถาปนิกให้ความสำคัญ เพื่อออกแบบฟังก์ชันภายในบ้านใหม่ให้ตอบรับการใช้งานได้ดีมากกว่าบ้านหลังเดิม    

“บ้านที่อยู่สบายคือบ้านที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้อาศัย” สถาปนิกจากทางฮอมสุข สตูดิโอ บอกเล่าถึงความตั้งใจที่จะสร้างบ้านหลังนี้

จัดระเบียบฟังก์ชันใหม่ ผสานความต้องการของผู้อยู่อาศัยเข้าไว้ด้วยกัน 

ด้วยวิถีชีวิตของคุณพ่อและคุณแม่มักใช้เวลาว่างไปกับการทำงานอดิเรกอย่างงานจักสานและทำสวน จึงมักใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่บ้านหลังเดิมนั้นยังขาดพื้นที่รองรับการทำกิจกรรมดังกล่าว สถาปนิกจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่กึ่งภายนอกมากขึ้น โดยการออกแบบให้ฝั่งหนึ่งของบ้านเป็นเฉลียงยาวตลอดทั้งแนว  

เฉลียง
เฉลียงบ้านในฝั่งทิศตะวันออกยาวตลอดแนว และออกแบบให้อยู่ในระดับความสูงที่พอดีสำหรับการนั่ง สามารถมาใช้งานได้จากทั้งในบ้านและนอกบ้าน

เฉลียงยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างภายนอกกับภายในบ้าน เพื่อให้ลูกๆ ยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ซึ่งทำกิจกรรมอยู่นอกบ้านได้ ด้วยความเป็น บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก พื้นที่ต่างๆ จึงสามารถเข้าถึงกันได้ง่าย และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวขึ้น

“แต่ก่อนเวลากลับไปลำปาง เราแทบไม่ได้ใช้เวลาอยู่บ้านกันเลย เพราะรู้สึกอยู่ไม่สบาย แต่บ้านหลังนี้กลับทำให้เราอยากใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น ส่วนใหญ่ก็มักจะมานั่งเล่น จิบกาแฟกันที่เฉลียง มองวิวของท้องนาที่สวยสุดลูกหูลูกตาในบรรยากาศลมพัดเย็นสบาย” คุณจีและคุณที เจ้าของบ้านกล่าว

เฉลียงไม้
มุมมองจากเฉลียงบ้านสามารถมองเห็นวิวของท้องนาตลอดแนว สร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ
เฉลียงไม้
พื้นที่เฉลียงเชื่อมต่อถึงกันตั้งแต่โถงทางเข้าบ้านไปยังหลังบ้าน ช่วยให้การใช้งานไหลลื่นยิ่งขึ้น

บ้านที่คำนึงถึงแสงแดด ร่มเงา และการระบายอากาศ

การวางฟังก์ชันใช้งานของ บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก หลังนี้ค่อนข้างเรียบง่าย โดยคำนึงถึงทิศทางของแสงแดดและลม เพื่อให้พื้นที่ในบ้านใกล้ชิดและพึ่งพาธรรมชาติให้มากที่สุด ตัวบ้านจึงเปิดมุมมองของเฉลียงและห้องนั่งเล่นไปยังด้านทิศตะวันออกเพื่อรับแสงแดดยามเช้า ทำให้ช่วงบ่ายไม่ร้อนมาก

ผังพื้น

ในด้านฝั่งตะวันตกซึ่งติดกับถนนทางเข้าข้างบ้าน จะได้รับแสงแดดร้อนจัดในช่วงบ่าย สถาปนิกจึงออกแบบให้เป็นส่วนเซอร์วิส ห้องน้ำ และห้องนอนเพื่อลดความร้อนสะสมเข้ามายังพื้นที่นั่งเล่นในบ้าน โดยไม่ลืมหาวิธีออกแบบเพื่อลดความร้อนที่เข้ามายังห้องนอนอีกด้วย

“เราออกแบบให้ผนังบ้านฝั่งทิศตะวันตกมีความลึกที่ไม่เท่ากัน เพื่อให้ห้องนอนได้ร่มเงาจากแนวผนังของห้องน้ำที่ยื่นออกไปเป็นตัวช่วยบังแดดและลดความร้อน และยังทำให้รูปด้านของบ้านเกิดลูกเล่นที่ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วยเฉดและเงาที่ชัดเจน”

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก
ภาพจากมุมมองด้านบนจะมองเห็นตัวบ้านฝั่งเฉลียงเปิดมุมมองไปยังท้องนา

เมื่อด้านฝั่งทิศตะวันตกปิดทึบด้วยฟังก์ชันห้อง พื้นที่ส่วนนั่งเล่นภายในบ้านจึงต้องได้รับแสงแดดจากทางฝั่งทิศตะวันออกหรือฝั่งเฉลียงเป็นหลัก สถาปนิกจึงออกแบบให้มีช่องเปิดตลอดทั้งแนว โดยปรับเปลี่ยนขนาดไปตามฟังก์ชัน และเลือกใช้บานเฟี้ยมบริเวณเฉลียงบ้านเพื่อช่วยนำแสงเข้ามายังห้องนั่งเล่น ทั้งยังยืดหยุ่นต่อการใช้งานอีกด้วย

ช่องเปิดฝั่งหน้าบ้านขนาดเล็กกว่าฝั่งเฉลียงเพียงเพื่อให้เห็นมุมมองภายนอกมากกว่าการเปิดออกมาใช้พื้นที่

“นอกจากทิศทางของแดดที่เหมาะสมแล้ว ลมยังสามารถไหลเวียนผ่านเข้ามาในตัวบ้านได้อย่างเต็มที่ด้วยช่องเปิดจากทั้งฝั่งหน้าบ้าน หลังบ้านและข้างบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ของเฉลียง ทำให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก บ้านจึงเย็นสบายเหมาะสำหรับการพักผ่อนได้ตลอดทั้งวัน”

ประตูบานเฟี้ยม
ทำประตูบานเฟี้ยมตลอดทั้งแนว สามารถเลือกปิดหรือเปิดได้ตามความต้องการ ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก

ภายในบ้านยังมีพื้นที่ไว้สำหรับนั่งอ่านหนังสือริมหน้าต่างหรือ Window Seat บริเวณเฉลียงด้านนนอกจึงออกแบบเป็นคอร์ตขนาดเล็กไว้สำหรับปลูกต้นไม้ และเจาะหลังคาสกายไลต์ เพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามายังภายในมากขึ้น ช่วยสร้างความรื่นรมย์ให้พื้นที่อ่านหนังสือ

ทางเดินพื้นไม้

ภาษาอาคารที่เรียบง่ายและสอดคล้องไปกับการใช้งาน

ด้วยฟังก์ชันที่ค่อนข้างเรียบง่าย แบ่งออกเป็นเพียงสองส่วนหลักๆ คือพื้นที่ภายในบ้านและเฉลียงภายนอก สถาปนิกจึงออกแบบให้ขนาดของบ้านไม่โดดเด่นไปกว่ารอบข้างจนเกินไป โดยใช้วิธีการซ้อนหลังคาสองชั้นบริเวณเฉลียงแทนการใช้หลังคาผืนใหญ่เพียงผืนเดียว ช่วยลดทอนขนาด และทำให้อาคารดูกลมกลืนไปกับบริบทโดยรอบยิ่งขึ้น

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก
มุมมองจากด้านบนอาคารจะเห็นหลังคาบริเวณชานที่ลดระดับลงมาอีกชั้นหนึ่ง

หลังคาที่ลดระดับลงมาจึงทำหน้าที่คล้ายกับเป็นมุขของบ้าน สอดคล้องเป็นรูปแบบเดียวกันไปกับมุขด้านหน้าทางเข้า และด้านหลังซึ่งเป็นพื้นที่ทางเข้าห้องครัว โดยมุขที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารในแต่ละส่วนล้วนรองรับฟังก์ชันที่เกิดขึ้น

มุขบริเวณด้านหน้าเกิดจากพื้นที่เปลี่ยนผ่านก่อนเข้าตัวบ้าน สำหรับนั่งใส่รองเท้าหรือรองรับแขกก่อนเข้าไปยังพื้นที่ในบ้าน
บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก
มุขบริเวณหลังบ้านช่วยต่อขยายพื้นที่การใช้งานครัวออกไป เพื่อรองรับการทำกิจกรรมนอกบ้าน
หรือเป็นพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์

การซ้อนกันของหลังคาทำให้เกิดเป็นช่องผนังระหว่างคานหลังคาหรือที่เรียกว่าคอสอง สถาปนิกจึงออกแบบเป็นช่องกระจกเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามายังพื้นที่ภายในบ้านเพิ่มเติม ทำให้บ้านดูโปร่งและช่วยสร้างมุมมองจากภายในบ้านสู่พื้นที่ภายนอกมากขึ้นอีกด้วย

ช่องแสง
ช่องแสงด้านบนภายในบ้านช่วยเฟรมมุมมองให้เห็นท้องฟ้า และนำแสงธรรมชาติเข้ามาได้มากขึ้น

“เราออกแบบเน้นความเรียบง่าย ลักษณะของบ้านเกิดจากรูปแบบการใช้งาน และเลือกใช้วัสดุน้อยชนิด หน้าตาของบ้านจึงไม่ได้มีความหวือหวาอะไร แต่รองรับการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง”

รูปด้านของอาคารออกแบบเป็นฟาซาดระแนงไม้ทั้งในบริเวณหน้าบ้านและหลังบ้าน ให้ลมและแสงแดดสามารถผ่านเข้าไปได้ เช่นเดียวกับบานเลื่อนระแนงบริเวณห้องครัว การเลือกใช้ระแนงไปกับพื้นที่กึ่งภายนอกของบ้านทั้งหมดช่วยให้ภาพรวมของบ้านดูกลมกลืนมากกันขึ้นอีกด้วย

ระแนงไม้
บานประตูระแนงไม้ช่วยเพิ่มการระบายอากาศและกลิ่นในบริเวณห้องครัว

สอดแทรกโทนสีไม้เพื่อบอกเล่าความเป็นพื้นถิ่น

ไม้กลายเป็นวัสดุหลักที่ใช้กับบ้านหลังนี้เพื่อให้เข้ากับรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นพื้นถิ่นปะปนอยู่ด้วย พื้นไม้นอกบ้านและภายในบ้านเลือกใช้เป็นไม้เทียมเพื่อความทนทานและหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องความชื้น โดยยังคงให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก
บรรยากาศภายในบ้านดูอบอุ่นและเรียบง่ายด้วยโทนสีธรรมชาติของไม้ควบคู่ไปกับผนังสีขาวสะอาดตา

“เราเลือกใช้ไม้จริงในส่วนที่สามารถใช้ได้ เช่น เสา วงกบประตู-หน้าต่าง ส่วนโครงสร้างหลังคาจะใช้เป็นโครงสร้างเหล็กแต่ทาสีเทียบสีไม้ เพื่อให้มูดโทนของบ้านยังคงมีความพื้นถิ่น เข้ากับบริบทโดยรอบ”

บานเฟี้ยม
บานเฟี้ยมเลือกใช้เป็นเฟรมวงกบไม้
จันทัน
บริเวณเฉลียงเน้นโชว์โครงสร้างจันทันแทนการปิดฝ้า และทาสีโครงสร้างเหล็กเทียบสีไม้ เพื่อคงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นเอาไว้

เดิมบ้านแบบพื้นถิ่นจะใช้หน้าต่างเป็นบานฝาไหล แต่สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้บ้านหลังนี้มีความทันสมัยสอดแทรกอยู่ด้วย การออกแบบหน้าต่างและช่องเปิดจึงโชว์เส้นสายเรียบง่าย โดยเน้นกรอบเฟรมของหน้าต่างออกมาจากแนวผนังเพื่อให้รูปด้านของบ้านมีลูกเล่นแลดูทันสมัยกว่าบ้านพื้นถิ่นทั่วไป

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก
ทำหน้าต่างบานกระจกใสเข้ามุมที่ขับเน้นแนวขอบวงกบไม้ออกมาจากมุมผนัง เพื่อสร้างลูกเล่นของบ้านให้มีดูโมดิร์น

เป็นเวลาเกือบปีแล้วที่คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้เวลาอยู่ในบ้านหลังนี้ คุณจีและคุณที บอกเล่าถึงเรื่องราวที่สร้างความประทับใจมากที่สุดคือ “การมีพื้นที่ที่คนในครอบครัวได้มาใช้เวลาอยู่ร่วมกัน” ไม่ว่าจะทำงานอดิเรกหรือจะมานั่งเล่นอ้อยอิ่ง บ้านได้กลายเป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราว สร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว พร้อมกับโอบรับธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ทำให้อยู่อาศัยได้อย่างสบาย กล่าวได้ว่าบ้านชั้นเดียวหลังเล็กหลังนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับทุกคนในครอบครัว 

บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก

เจ้าของ : คุณณัฐพัชญ์ โชติฐิติกาญจน์

ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : ฮอมสุข สตูดิโอ (Homesook Studio)


เรื่อง : Nantagan

ภาพ : คุณพีระ แป้นคุ้มญาติ

“บ้านเรา” บ้านชนบทสมัยใหม่ ที่ตอบรับจังหวะชีวิตเรียบง่าย

ความงามของ บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น จากการประดิดประดอยอย่างตั้งใจ

ติดตามบ้านและสวน