รวมแบบบ้านหลังคาเพิงหมาแหงน สวยทันสมัยแบบเรียบง่าย
แบบบ้านหลังคาเพิงหมาแหงน มีรูปลักษณ์ที่ดูเรียบง่าย ทว่าก็ให้ความรู้สึกโฉบเฉี่ยวและดูทันสมัยอยู่เช่นกัน สมัยก่อนอาจนิยมใช้ในงานก่อสร้างชั่วคราวหรืองานต่อเติมอาคารแบบง่ายๆ อย่างบริเวณชานพักนั่งเล่น โรงจอดรถ หรือครัว ปัจจุบันหลังคาเพิงหมาแหงนเป็นที่นิยมในอาคารทุกประเภท เพราะก่อสร้างง่าย มีรอยต่อน้อย
ด้วยความที่ แบบบ้านหลังคาเพิงหมาแหงน ทีโครงสร้างหลังคาไม่สลับซับซ้อนเหมือนหลังคารูปแบบอื่น จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องโครงสร้างหลังคา ค่าแรง และเวลา อย่างไรก็ตาม หลังคาเพิงหมาแหงนเป็นหลังคาที่มีองศาลาดเอียงเพียงด้านเดียว จึงบังแดดบังฝนได้จริงๆ เพียงทิศทางเดียว (ด้านที่หลังคาลาดต่ำกว่า) จึงควรเอียงหลังคาให้รับแสงแดดทางทิศใต้หรือทิศตะวันตกจะช่วยสร้างร่มเงาให้บ้านได้ดีที่สุด ส่วนการทำหลังคาสองผืนต่างระดับจะบังแดดให้กันเองได้ดีกว่า หรืออาจแก้ไขด้วยการทำระแนงหรือกันสาดเพิ่มในส่วนด้านที่สูงกว่าก็ได้ เราได้รวม แบบบ้านหลังคาเพิงหมาแหงน มาให้ชมกัน ดังนี้
อยู่ร่วมกับธรรมชาติใน บ้านชั้นเดียวขนาดเล็กสไตล์โมเดิร์น
- เจ้าของ : ครอบครัวนรธีร์ดิลก
- ออกแบบ : คุณรักษ์ชัย นรธีร์ดิลก
บ้านชั้นเดียวขนาดเล็กในป่ายางอันเขียวชอุ่ม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คุณแม่ได้ใช้พักผ่อนสังสรรค์กับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน โดยเลือกออกแบบเป็นบ้านปูนเปลือยที่ดูเรียบง่าย โครงหลังคาเป็นเหล็กทำสีดำแบบเพิงหมาแหงน บนพื้นที่ 43 ตารางเมตร และกำหนดให้งบประมาณไม่เกิน 7 แสนบาท >> อ่านต่อ
บ้านหลังน้อยสีขาว …ที่แสนน่ารักและอบอุ่น
- เจ้าของ – ออกแบบ : คุณพรพจน์ สุขสำราญ และคุณกฤติกา อ่อนหวาน
บ้านไม้หลังน้อยสีขาวยกพื้นสูง ตกแต่งในสไตล์วินเทจ เน้นความร่มรื่นและบรรยากาศชนบทใกล้ชิดธรรมชาติ ตัวบ้านมีขนาดเล็กกะทัดรัด โครงสร้างของตัวบ้านใช้โครงเหล็ก หลังคาแบบเพิงหมาแหงน กรุผนังด้วยไม้ฝาเฌอร่าสีขาว ปูพื้นภายนอกด้วยวีว่าบอร์ด ภายในห้องครัวปูพื้นด้วยกระเบื้องยางซึ่งติดตั้งกันเอง ตกแต่งให้มีกลิ่นอายของบ้านพักแบบหัวหิน ตามแบบที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ ด้วยงบประมาณไม่รวมของตกแต่ง 3.5 แสนบาท >> อ่านต่อ
บ้านเพิงหมาแหงน บ้านชั้นเดียวแสนสบายในพื้นที่กันดาร
- เจ้าของ : Mr.Erik Schmid และคุณณัฐภาคย์ พัฒนาพรหมชัย
- สถาปนิก-ตกแต่งภายใน : Erix Design Concepts
บ้านเพิงหมาแหงนที่ออกแบบอย่างชาญฉลาด ทำของธรรมดาให้ดูมีคุณค่าขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านรูปทรงเพิงหมาแหงน หลังคากระเบื้องลอนคู่ บล็อกซีเมนต์ ผนังปูนผสมสีฝุ่น รวมไปถึงต้นไม้ทนแดดทนฝนไม่กี่ต้นที่ดูเหมาะเจาะกันไปหมด >> อ่านต่อ
๗ Arts Inner Place บ้านที่สร้างสุขจากภายใน
- เจ้าของ-ตกแต่ง : คุณอนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี และคุณรุ่งวิสาข์ รุ่งธนพัฒน์
บ้านของนักศิลปะบำบัดหลังนี้นี้มีอีกชื่อหนึ่งคือ ๗ Arts Inner Place สร้างบนที่ดินซึ่งรายล้อมด้วยผืนนาและธรรมชาติอันสวยงามรอบดอยหลวงเชียงดาว โดดเด่นด้วยวัสดุก่อผิวอาคารที่มาจาก”ดินเชียงดาว” ซึ่งมีสีแดงอมน้ำตาลให้สีที่ดูอบอุ่น ช่วยให้คนที่มารับการบําบัดมีจิตใจเยือกเย็นขึ้น ลักษณะของบ้านเป็นอาคารสองหลังที่เชื่อมกันด้วยระเบียงหน้าบ้านและสะพานไม้บนชั้นสอง ทั้งสองฝั่งทำหลังคาแบบเพิงหมาแหงนเอียง 45 องศามาบรรจบเข้าหากัน ดูเหมือนเป็นหลังคาแบบจั่วอันเดียวกัน ตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสองหลังมีบ่อน้ำกั้น เพื่อให้ความเย็นแก่ตัวบ้าน และสร้างช่องลมให้มีลมพัดเข้ามาภายใน >> อ่านต่อ
บ้านชั้นเดียวที่โดดเด่นด้วยหลังคาเพิงหมาแหงน
- เจ้าของ : คุณสมจิตร อังศรีประเสริฐ
- สถาปนิกและตกแต่งภายใน : Deca Atelier โดยคุณสมชาย จงแสง
บ้านชั้นเดียวที่โดดเด่นด้วยทรงหลังคาเพิงหมาแหงนแบบโมเดิร์น ส่วนภายในบ้านมีการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยได้อย่างครบครันและ สะดวกสบาย แยกส่วนใช้สอยต่างๆ ออกด้วยการกั้นห้องและระดับพื้นที่ต่างกันอย่างชัดเจน >> อ่านต่อ
บ้านปูนเปลือยชั้นเดียวสร้างง่าย โอบล้อมด้วยนาข้าวและขุนเขา
- เจ้าของ-ออกแบบตกแต่ง: คุณสุกัญญา โชติสุกานต์
บ้านปูนเปลือยชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางผืนนาและทิวเขาที่เรียงสลับกันอยู่เบื้องหน้าบ้าน ตัวบ้านมีลักษณะคล้ายบ้านแฝด มีสองเรือนเชื่อมกัน และทำหลังคาแบบเพิงหมาแหงนหันเข้าหากัน ก่อสร้างโดยช่างชาวบ้าน ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีไม่น้อย >> อ่านต่อ
บ้านชั้นเดียวกลางทุ่งที่เปิดรับธรรมชาติอย่างเต็มที่
- เจ้าของ-ออกแบบ : คุณทวยเทพ พัฑฒนะ White Atelier Co.,Ltd.
บ้านชั้นเดียวที่ใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาแบบเพิงหมาแหงน เพื่อลดความยุ่งยากในการก่อสร้าง ออกแบบบ้านให้เปิดโล่งเพื่อรับแสงแดดในตอนกลางวัน รับแสงจันทร์ในตอนกลางคืน ทำให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น >> อ่านต่อ
บ้านโมเดิร์นทรอปิคัลที่แม้จะอยู่บนเนินเขาแต่ก็ยังต้องการใต้ถุน
- เจ้าของ: คุณนิรมล – นายแพทย์วีระศักดิ์ ว่องไพฑูรย์
- ออกแบบ: Spacetime Architects โดยคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล และคุณพิริยะ ไทยลิ่มทอง
บ้านโมเดิร์นใต้ถุนสูงหลังนี้เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาที่ดินมีความลาดเอียงค่อนข้างมาก ทั้งยังถูกเพื่อนบ้านและอาคารงานระบบของโครงการจัดสรรมาบดบังวิวไว้ส่วนหนึ่ง จึงต้องออกแบบเป็นบ้านแบบยกใต้ถุนสูง 3.40 เมตร คล้ายการสร้างบ้านเรือนไทยสมัยก่อน เพื่อแก้ปัญหาความลาดชันของพื้นที่และช่วยให้ไม่มีสิ่งใดมาบดบังมุมมอง สามารถเปิดรับวิวเขาใหญ่ได้เต็มที่ พร้อมทำหลังคาเพิงหมาแหงน >> อ่านต่อ
เรียบเรียง : Tarnda
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, room, my home