ต่อเติมบ้านลอฟต์ให้เป็นคลับเฮ้าส์ของครอบครัว
จากความต้องการเพิ่มพื้นที่การใช้งาน บ้านโครงสร้างเหล็ก หลังนี้จึงเกิดขึ้น เป็นบ้านลอฟต์หลังใหม่ที่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการสังสรรค์ ช่วยเชื่อมชีวิต ช่องว่างระหว่างวัย และความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเก่า
เมื่อลูกเริ่มต้องการสเปซส่วนตัว
จุดเริ่มต้นของ บ้านโครงสร้างเหล็ก ที่ออกแบบเป็นบ้านลอฟต์สไตล์คลับเฮ้าส์หลังนี้เกิดจากความต้องการสร้างพื้นที่ไลฟ์สไตล์ให้ลูก เนื่องจากลูกชายและลูกสาวกำลังโตเป็นวัยรุ่นที่เริ่มมีชีวิตส่วนตัว มีสังคมเพื่อนฝูง และตัวบ้านเดิมซึ่งเป็นบ้านจัดสรรไม่ตอบโจทย์พื้นที่ใช้งาน ผนวกกับความต้องการให้ส่วนต่อเติมใหม่นี้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัยของพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น เป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมร่วมกันทั้งรูปแบบครอบครัวและส่วนตัว ที่พ่อแม่สามารถเห็นไลฟ์สไตล์ลูกๆ ในสายตา ขณะเดียวกันลูกๆ ก็ได้เห็นว่าพ่อแม่มีงานอดิเรกเลี้ยงปลาคาร์ป ทำสวน มีเพื่อนฝูงมาพบปะ ใช้ชีวิตเหมือนตัวเอง เพียงแค่ต่างวัยกันเท่านั้น
โครงสร้างเชื่อมต่อวิถีชีวิต
สถาปนิกเริ่มออกแบบโครงสร้างและพื้นที่การใช้งานจากสิ่งแวดล้อมเดิม ได้แก่ ทิศทางแดด และลม พื้นที่สวนที่มีต้นไม้ใหญ่ของคุณแม่และบ่อปลาคาร์ปของคุณพ่อ ซึ่งนำมาเป็นองค์ประกอบร่วมของการกำหนดรูปทรงบ้าน รูปแบบและทิศทางของพื้นที่ใช้งานแต่ละจุดของการต่อเติมบ้านลอฟต์ทั้งภายนอกและภายใน จึงออกมาเป็นบ้านลอฟต์ 2 ชั้นที่ทุกคนใช้พักผ่อน รับแขก เรียน ทำงาน ทำกิจกรรมได้ครบหมด ร่วมด้วยวิวสวนเดิมและบ่อปลาคาร์ปใหม่ ที่เป็นเหมือนการเชื่อมต่อวิถีชีวิตเดิมของพ่อแม่ในรูปแบบใหม่เข้ากับวิถีชีวิตของลูกๆ
เชื่อมต่อห้องลูกชายกับบ้านลอฟต์
การต่อเติมใหม่นี้ใช้วิธีสร้างความต่อเนื่องและจุดเปลี่ยนผ่านจากบ้านหลังเก่าสู่บ้านลอฟต์หลังใหม่ จากห้องนอนของลูกชายบริเวณชั้น 2 ที่ต่อเติมขยายห้องและมีประตูเชื่อมต่อกับพื้นที่สังสรรค์ใหม่ของเขาได้เหมือนเป็นบ้านส่วนตัว ส่วนสมาชิกในบ้านคนอื่นสามารถเดินมายังบ้านหลังใหม่โดยใช้จุดเชื่อมบริเวณชานพักบันไดชั้น 2 ที่เชื่อมติดกับพื้นที่ของบ้านคลับเฮาส์ชั้น 2 ได้เช่นเดียวกัน
ลอฟต์สนุก เปิดโล่ง เชื่อมความสัมพันธ์
บ้านลอฟต์หลังใหม่ออกแบบด้วยโครงเหล็ก วีว่าบอร์ด และผนังบานกระจกเกือบทั้งหลังเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงถึงกัน ไม่ว่าผู้อาศัยจะอยู่บ้านหลังใหม่หรือหลังเก่า หรืออยู่บริเวณสวน ก็สามารถมองเห็นทักทายกันได้ ภายในตัวบ้าน ออกแบบพื้นที่ใช้งานให้เปิดโล่งเชื่อมถึงกัน แต่แบ่งมุมใช้งานชัดเจน ประกอบด้วยโซนแพนทรี่ สำหรับเตรียมอาหารและมุมโซฟานั่งเล่น มีบันไดวนเหล็กเท่ๆ นำ ขึ้นสู่ชั้น 2 ซึ่งเป็นโซนพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ที่เชื่อมต่อกับห้องนอนของลูกชายได้ กับมุมเปลเชือกตาข่ายที่สามารถนอนเล่นมองทะลุเห็นชั้นล่างของตัวบ้านและบ่อปลาคาร์ปที่ลวดลายของปลาและเสียงนํ้าช่วยสร้างสีสันและความผ่อนคลายได้ตลอดวัน
ไม้ บิลท์อิน และสไตล์สแกนดิเนเวียช่วยเติมแต่ง
ด้านการตกแต่งภายในมีการใช้วัสดุไม้ ลายไม้ และเฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียโทนสีอบอุ่นมาช่วยสร้างบรรยากาศธรรมชาติและความผ่อนคลายให้ตัวบ้าน จึงเป็นบ้านลอฟต์เท่ๆ แฝงความอบอุ่น และใช้บิลท์อินโทนสีไม้กับมุมที่จำ เป็นต้องจัดเก็บใช้สอยอย่างแพนทรี่ หรือมุมชั้นวางหนังสือ เพื่อเปิดพื้นที่ส่วนกลางให้โล่งและเป็นอิสระ เหมาะกับการใช้งานอเนกประสงค์ได้มากที่สุด
ธรรมชาติ ต้นไม้ แสงแดด และการมีส่วนร่วม
อีกองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบโครงสร้างคือ ทิศของตัวบ้านที่ด้านหน้าเป็นทิศใต้ ซึ่งแดดแรง แต่โชคดีที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ร่มเงาอยู่ แม้จะใช้ผนังบานกระจกก็มีต้นไม้เป็นตัวช่วยกรองแสงและลดความร้อนให้ตัวบ้านได้ดี ส่วนตำแหน่งที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ช่วยบดบัง ใช้การก่อผนังทึบช่วยลดอุณหภูมิความร้อน ซึ่งบริเวณชั้น 2 จะตรงกับผนังบิลท์อินโต๊ะและชั้นวางหนังสือพอดี
บ้านที่เหมาะกับการ WFH
นอกจากเป็นคลับเฮ้าส์สำหรับสังสรรค์แล้ว บ้านลอฟต์หลังนี้ยังสามารถใช้เป็นสถานที่ WFH ของทุกคนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อที่มีธุรกิจส่วนตัวหรือคุณแม่ที่เป็นอาจารย์ ได้ใช้พื้นที่โต๊ะอเนกประสงค์บริเวณชั้น 2 ในการทำงานและประชุมออนไลน์ ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวและยังสามารถมองเห็นลูกๆ ทำกิจกรรมด้วยบรรยากาศของบ้านและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ มีทั้งต้นไม้ บ่อปลาคาร์ป สายน้าํ และสายลม ทำให้ การ WFH ไม่เครียดหรือน่าเบื่อ แต่สร้างความสุขสงบในการทำงานและความอบอุ่นที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว
เจ้าของ : คุณชุติมา ไวศรายุทธ์
สถาปนิก : กอปรฝัน โดยคุณอดุลย์ แก้วดี
นิตยสารบ้านและสวน ฉบับมีนาคม 2565
เรื่อง : กัลย์จีรา ชาตินันทฤกษ์ ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์