ผักเกล็ดหิมะ วิธีปลูกตั้งแต่เพาะเมล็ด จนเก็บเกี่ยวผลผลิต - บ้านและสวน

วิธีปลูกผักเกล็ดหิมะ (Crystal Ice Plant) ตั้งแต่เพาะเมล็ด จนเก็บเกี่ยวผลผลิต

จากคลิปรีวิวการรับประทาน ผักเกล็ดหิมะ ที่ผู้คนให้ความสนใจจนเป็นกระแส ด้วยหน้าตาของผักที่ไม่คุ้นตา มีเกล็ดคล้ายหยดน้ำกระจายทั่วทั้งต้น รสสัมผัสที่กรุบกรอบ อีกทั้งยังมีรสชาติที่เค็มเล็กน้อย จึงทำให้มีคนสนใจผักชนิดนี้เป็นอย่างมาก

ผักเกล็ดหิมะ หรือ Crystal Ice Plant มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Mesembryanthemum crystallinum เป็นพืชที่มีใบและลำต้นอวบน้ำ มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกา บริเวณชายฝั่งทะเลและบริเวณพื้นที่คล้ายกับทะเลทราย จึงทำให้มีลักษณะภายนอกที่คล้ายกับเกล็ดน้ำแข็ง (Bladder Cell) ทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหาร เพื่อช่วยให้สามารถทนเค็มและทนแล้งได้ดี

ผักเกล็ดหิมะ

ด้วยความแปลกที่มาพร้อมรสชาติที่น่าสนใจนี้ จึงเริ่มมีการนำมาปลูกเพื่อบริโภคเป็นผัก และขยายพื้นที่ปลูกไปยังหลายประเทศทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา ชิลี เม็กซิโก ประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน ออสเตเรีย และขยายไปยังจีน เกาหลี ญี่ปุ่น จนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก็เริ่มมีการนำมาปลูกที่ประเทศไทย

ถึงแม้ว่าจะมีการนำมาปลูกได้หลายปีแล้ว แต่กลับหากินได้ยากและมีราคาจำหน่ายสูงถึง 800 บาท/กิโลกรัม เพราะ การปลูกในประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่า ไม่ง่าย เนื่องจากเป็นพืชมาจากแอฟริกาที่สภาพอากาศหนาวเย็นในตอนกลางคืน ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มีอากาศร้อนจัด

ด้วยสภาพอากาศที่แตกต่างกันขนาดนี้ รับรองว่าปลูกไม่ง่าย แต่ปลูกได้ด้วยเทคนิคจาก อาจารย์โต – ผศ.ดร.ชัยรัตน์ บูรณะ เจ้าของ Crystal Ice plant Thailand ผู้บุกเบิกการปลูกและจำหน่ายผักเกล็ดหิมะ จะมาเล่าตั้งแต่วิธีเพาะเมล็ดจนเก็บเกี่ยวผลผลิต

สภาพแวดล้อมที่ ผักเกล็ดหิมะ ชอบ

ผักเกล็ดหิมะมาจากแอฟริกาที่สภาพแวดล้อมมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีอากาศเย็นในตอนกลางคืน หมายความว่า ช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นในประเทศไทย เป็นช่วงทีเหมาะสำหรับการเจริญเติบของผักเกล็ดหิมะมากที่สุด แต่ถ้าอยากจะปลูกให้ได้ทุกฤดู อาจารย์ชัยรัตน์เล่าว่า

“ผักเกล็ดหิมะถ้าดูตามงานวิจัยสามารถเจริญเติบโตได้ตั้งแต่ -1 ไปจนถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ช่วงที่โตได้ดีที่สุด คือ 25-28 องศาเซลเซียส ดังนั้น ถ้าประเทศไทยบริเวณไหนที่มีอุณหภูมิแบบนี้ ก็สามารถปลูกได้ แต่ถ้าอยู่ภาคกลางมีอากาศร้อน ดังนั้น ก็ควรจะปลูกในโรงเรือนระบบ Evaporative cooling system เพื่อช่วยลดอุณหภูมิ หรือ ไม่ก็ปลูกในระบบ Plant Factory ไปเลย”

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือที่มีอากาศหนาวเย็นหลายเดือนติดต่อกันสามารถปลูกได้ แต่ต้องปลูกในโรงเรือนมีหลังคาพลาสติก เพราะถ้าโดนน้ำฝนหรือน้ำค้างจะเน่าได้ง่าย ส่วนด้านข้างสามารถเปิดระบายอากาศ แต่ต้องมีมุ้งเพื่อกันแมลง และใช้ซาแรน 50% เพื่อช่วยพรางแสงในกลางวันด้วย

ผักเกล็ดหิมะ
ต้นกล้าผักเกล็ดหิมะ

วิธีปลูก ผักเกล็ดหิมะ

การปลูกจะเริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ด โดยให้นำเมล็ดไปเพาะในพีทมอส สามารถทำได้โดยการโรยเมล็ดให้กระจายตัวได้ดี และไม่แน่นเกินไป เพราะถ้าแน่นเกินไปมีโอกาสเกิดเชื้อรา และถ้าเกิดขึ้นต้องรีบถอนออกทันที หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ เพาะในถาดหลุม 1 เมล็ด/หลุม จะช่วยลดการเกิดเชื้อราลงได้

ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญและต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากต้นกล้าจะอ่อนไหวต่ออุณหภูมิและปริมาณน้ำอย่างมาก ถ้าน้ำเยอะเกินไปก็อาจเน่าได้ หรือถ้าน้ำน้อยเกินไปก็จะเหี่ยว ซึ่งพอเหี่ยวแล้วจะไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ต้องมีดูแลการให้น้ำให้ดี

ผักเกล็ดหิมะ
ผักเกล็ดหิมะอายุประมาณ 1 เดือน

จนกระทั่งอายุ 1 เดือน ใบจะมีขนาดใหญ่ขึ้น จากนั้นก็ให้ย้ายลงปลูกในแปลง โดยมีระยะปลูกที่เหมาะสม 40×40 ซม. ส่วนลักษณะของดินที่ดี ต้องมีความร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี สูตรดินที่ใช้ประกอบไปด้วย ดินร่วน มูลวัว แกลบดิบ ในอัตราส่วน 1:1:1 ให้นำไปหมักก่อนใช้เป็นวัสดุปลูก

ผักเกล็ดหิมะ

การดูแล ผักเกล็ดหิมะ

ในการดูแลผักเกล็ดหิมะหลังจากย้ายปลูกแล้ว จะไม่มีการใช้ปุ๋ยหรือยาต่างๆ เนื่องจากเป็นผักที่อ่อนไหวต่อสารเคมีอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมดินให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนย้ายลงแปลงปลูก

“ที่ผ่านมาเคยมีการใช้น้ำหมักฉีดพ่นบำรุงผักเกล็ดหิมะ พบว่า ทำให้ใบของผักเกล็ดหิมะเป็นคราบและมีอาการใบไหม้ไม่น่ารับประทาน นอกจากนี้ผักเกล็ดหิมะยังเป็นตัวชี้วัดสารเคมีได้ด้วย เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์แปลงผักใกล้เคียงฉีดสารเคมี แล้วละอองลอยมาทำให้ผักเกล็ดหิมะเหี่ยวเฉาและตายทั้งโรงเรือน การดูแลจึงไม่มีการใส่ปุ๋ยในระหว่างปลูกปลูก ดังนั้น การปรุงดินจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมาก”

“ถึงแม้ผักเกล็ดหิมะจะมีราคาสูงถึง 800 บาท/กิโลกรัม แต่ก็ดูแลยากกว่าผักสลัดหลายเท่า ดังนั้น ในการปลูกไม่ควรปลูกผักเกล็ดหิมะเพียงชนิดเดียว เพราะอย่างที่บอกไปว่าปลูกยากและมีความเสี่ยงที่จะตายได้ อย่างน้อยถ้ามีผักชนิดอื่นก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้”

ผักเกล็ดหิมะ
ภาพเปรียบเทียบระหว่างผักเกล็ดหิมะที่ให้น้ำปกติ กับ ผักเกล็ดหิมะที่มีการงดน้ำเพื่อกระตุ้นให้สร้างเกล็ด Bladder Cell หรือ เกล็ดหิมะ
ผักเกล็ดหิมะ

การเก็บเกี่ยว ผักเกล็ดหิมะ

เมื่อผักเกล็ดหิมะอายุได้ 3 เดือน จึงเริ่มเก็บเกี่ยวครั้งแรก วิธีการเก็บเกี่ยวจะนับจากยอดลงมา 3 ข้อ แล้วตัดเพื่อเก็บเกี่ยวยอด และเมื่อตัดยอดไปจะแตกออกมาจาก 1 ยอดเป็น 2 ยอด พอตัดอีกก็แตกอีก ซึ่งความถี่ในการเก็บเกี่ยวจะตัดยอด 1 ครั้ง/สัปดาห์ สามารถเก็บเกี่ยวได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน และยิ่งอายุมากขึ้นกิ่งก็จะแผ่กระจายความกว้างได้มาก

“ถ้าเป็นที่จีนสภาพอากาศดี ดินใช้ได้ สามารถเก็บเกี่ยวได้นานเกือบปี แต่ในไทยจะเก็บได้มากสุดที่ 15 รอบ (เก็บเกี่ยวได้ 3-4 เดือน) หลังจากนั้นก็จะเริ่มออกดอก และไม่สามารถทานได้”

ดอกและฝักของผักเกล็ดหิมะ

เมื่อผักเกล็ดหิมะออกดอก เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงจุดสิ้นสุดของการเก็บเกี่ยว เพื่อเตรียมตัวรื้อแปลงและปลูกใหม่อีกครั้ง ถ้าปล่อยไว้จากดอกก็จะติดฝักซึ่งภายในมีเมล็ด สามารถนำไปเพาะต่อได้ แต่คุณภาพก็อาจไม่ดีเท่าเดิมเพราะมีโอกาสกลายพันธุ์ได้

หลังจากเก็บเกี่ยวมาแล้วควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนในการขนส่ง เนื่องจากค่อนข้างช้ำง่าย และให้ล้างก่อนรับประทาน
ผักเกล็ดหิมะที่ปลูกในระบบ Plant Factory

การปลูก ผักเกล็ดหิมะ ในฤดูกาลต่างๆ

วิกฤตในการปลูกผักเกล็ดหิมะจะเป็นช่วงเดือนเมษายน ที่มีสภาพอากาศมีอุณหภูมิร้อนจัด รวมถึงดินที่ร้อนจัด จะทำให้รากไม่ดูดอาหาร และหยุดการเจริญเติบโตแต่ไม่ตาย ส่วนช่วงฤดูฝนสภาพอากาศอึมครึม ท้องฟ้าปิดติดต่อกัน 3 วัน ก็จะทำให้ผักเกล็ดหิมะหยุดการเจริญเติบโต จึงเป็นช่วงที่เจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ส่วนช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศเหมาะสมสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ปกติ

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในฤดูกาลต่างๆ การปลูกผักเกล็ดหิมะในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ในระบบ Plant Factory จึงสามารถตอบโจทย์มากที่สุด แต่ก็มีการลงทุนในระบบที่สูงเช่นกัน

ความเค็มของผักเกล็ดหิมะ

ที่ผ่านมีการทำงานวิจัย เรื่องความเค็มของผักเกล็ดหิมะเกิดจากอะไร? จึงมีการวิจัยระหว่างผักเกล็ดหิมะของไทยและของประเทศจีน พบว่า

“ได้มีการวิเคราะห์ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นผักเกล็ดหิมะที่มาจากเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน กับ อีกส่วนเป็นผักเกล็ดหิมะที่ปลูกโดยใช้ดินในประเทศไทย พบว่า มีรสชาติเค็มเหมือนกัน แต่ความเค็มต่างกันตรงที่ ความเค็มจากผักเกล็ดหิมะจากเซี่ยงไฮ้มาจากโซเดียม แต่ในดินของไทยเค็มมาจากเกลือของแคลเซียม ดังนั้น การรับประทานผักเกล็ดหิมะที่ปลูกในไทยจึงปลอดภัยกับผู้ป่วยโรคไต”

นอกจากความเค็มแล้ว ผักเกล็ดหิมะที่ปลูกในไทยก็จะมีความเปรี้ยวเล็กน้อยติดไปด้วย ซึ่งเป็นความท้าทายของผักตัวนี้ว่าเชฟจะดีไซน์ให้เมนูเป็นอย่างไร

การรับประทานผักเกล็ดหิมะ

“ผักเกล็ดหิมะนิยมทานทานสดเป็นผักสลัดคู่กับซอสญี่ปุ่นจะค่อนข้างเข้ากัน หรือ ทานคู่กับมายองเนสก็ได้ รวมถึงเสริฟพร้อมกับโอมากาเสะ เพราะส่วนใหญ่ที่รู้จักผักเกล็ดหิมะ จะมาจากที่ไปกินโอมากาเสะ แล้วที่ร้านจะเสริฟให้ เมนูละ 1-2 ยอด”

“ถ้ามีเยอะและไม่เสียดาย สามารถนำไปผัดเหมือนผักบุ้งไฟแดงก็ได้ ส่วนที่ประเทศจีนจะนำไปลวกในหม้อชาบูให้สลด รสชาติก็จะเข้มขึ้น และประเทศเกาหลีจะทำน้ำหมักเอนไซม์ที่ใช้ดื่ม โดยใช้ผักเกล็ดหิมะไปหมักเป็นส่วนผสมเพราะมีโพลีน คล้ายๆ กับเป็นยาอายุวัฒนะ”

การนำผักเกล็ดหิมะไปแปรรูป

นอกจากจะะรับประทานได้แล้ว ผักเกล็ดหิมะยังสามารถนำไปสกัดใช้ในด้านเวชสำอางได้ เนื่องจากมีสารชนิดหนึ่งที่คล้ายกับคอลลาเจน ทำให้ผู้ที่ใช้มีผิวที่ชุ่มชื้นและผลัดเซลล์ผิวใหม่ได้

“ในงานวิจัยยังพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายตัว เช่น superoxide dismutase (SOD) ที่ช่วยป้องกันผิวหนังจากการเข้าทำลายของรังสียูวีซี มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค อุดมไปด้วยสารไอโนซิทอล, โพรลีน, วิตามิน เค, เบต้าแคโรทีน ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีงานวิจัยว่าผักเกล็ดหิมะสามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ด้วย”

อาจารย์โต – ผศ.ดร.ชัยรัตน์ บูรณะ นอกจากจะเป็นนักปลูกผักเกล็ดหิมะแล้ว ปัจจุบันยังเป็นผู้ช่วยคณบดีงานวิจัย ที่ คณะเกษตรนวัตและการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และให้บริการวิชาการกับสังคมด้านการเกษตร รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่มีความสนใจพัฒนาด้านการเกษตร

สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องการเพาะปลูกผักเกล็ดหิมะ หรืออยากสั่งซื้อผักเกล็ดหิมะพร้อมทาน สามารถติดต่อได้ผ่านเฟซบุ๊ก Crystal Ice plant Thailand หรือ ติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก Chairat Burana หรือ โทร. 080-155-5425 (อาจารย์ชัยรัตน์)

เอบิว (Abiu) ไม้ผลแปลกน่าปลูก เรียนรู้เทคนิคการปลูกและดูแลให้ติดผล

อาซาอิ พืชมาแรง ผลอร่อย มากประโยชน์ น่าลองปลูกในไทย