ไอเดียอยู่สบายฉบับ บ้านในเมือง - บ้านและสวน
house-metro

ไอเดียออกแบบ บ้านในเมือง ให้อยู่สบาย

บ้านในเมือง ที่ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยอาจไม่เอื้อให้เปิดรับวิว บดบังทิศลมและการระบายอากาศ การออกแบบบ้านจึงยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดี มาดูไอเดียการออกแบบบ้านไทยในบริบทเมือง ที่ผสมผสานภูมิปัญญาเดิมเข้ากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ โดยยังคงคุณภาพชีวิตและความอบอุ่นที่คุ้นเคยเอาไว้ได้


house-metropolitan
บ้านในบริบทเมืองที่มีขนาดที่ดินจำกัด แวดล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านระยะใกล้ชิด การออกแบบบ้านยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่สมาชิกในบ้าน

เพื่อนบ้านอยู่ชิดใกล้ แต่ก็ยังเป็นส่วนตัวได้

การสร้างความเป็นส่วนตัวจากภายนอก เป็นหนึ่งในจุดประสงค์หลักของการมี บ้านในเมือง ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย ยิ่งปัจจุบันพื้นที่รอบบ้านถูกบีบแคบลงจนเพื่อนบ้านอยู่ห่างออกไปเพียงผนังบางๆกั้น การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาให้เข้ากับบริบท และยังอยู่สบายในเวลาเดียวกัน จึงมีความสำคัญมากขึ้น

ผืนผนังซ้อนเหลื่อม บังมุมมองระยะไกล

บ้านที่มีพื้นที่รอบสักหน่อย สามารถออกแบบส่วนประกอบรอบบ้าน เช่น ผืนผนังซ้อนเหลื่อมกัน ไปมาเพื่อบดบังสายตา เมื่อมองจากนอกบ้านก็แทบจะมองไม่เห็นภายในบ้าน แต่เมื่อเข้าสู่ภายในก็จะ พบกับอาณาเขตส่วนตัวที่สามารถผ่อนคลายได้อย่างสบายใจโดยไม่รู้สึกปิดทึบ

house-metropolitan
บ้านครอบครัวอินทรนุกุลกิจ

ข้อแนะนำในการเลือกใช้วัสดุ : สามารถออกแบบให้เป็นผนังก่ออิฐวางบนคาน แผงระแนง กรองสายตา หรือเลือกใช้แนวพุ่มไม้บังสายตาก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญกับระยะต่างๆ ที่ยังทำให้ สัญจรสะดวก ลมพัดผ่านถ่ายเทอากาศได้ และวัสดุที่ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดเกินไป

ทำพื้นที่กึ่งภายนอก ให้สร้างขอบเขตได้ ใช้งานก็ดี

เฉลียง ระเบียง พื้นที่กึ่งภายนอกคลุมด้วยหลังคาหรือมีผนังบางส่วน สำหรับใช้งานเอนกประสงค์ที่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ โดยสามารถใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมภายนอก ผึ่งแดด รับลม ชมธรรมชาติรอบบ้านได้ ซึ่งความใกล้ชิดของบ้านในเมืองทำให้ลดความเป็นส่วนตัวลง ใช้งานได้ไม่สะดวกนัก สามารถแก้ไขได้ด้วยการติดตั้งแผงระแนงหรือผืนฟาซาด บังสายตา เพิ่มความเป็นส่วนตัว โดยที่ยังสามารถรับแสงรับลมได้

house-metropolitan

ข้อแนะนำในการเลือกใช้วัสดุ : พื้นที่กึ่งภายนอกที่ใช้เป็นส่วนนั่งพักผ่อน ควรเลือกใช้วัสดุสำหรับงานภายนอกที่ไม่สะสมความร้อนมากนัก เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้เทียม เพื่อสามารถใช้งานในเวลาที่แดดร่มได้อย่างสบาย ไม่อึดอัดจากการคายความร้อนของวัสดุ

บ้านคุณเสาวณีย์ และคุณแพร

ฟาซาดอาคาร กรองสายตาในระยะประชิด

บ้านในเมือง ที่ไม่ได้มีระยะรอบบ้านเพื่อกั้นความเป็นส่วนตัวมากนัก สามารถใช้ฟาซาด (Façade : ในเชิงสถาปัตยกรรมหมายถึงเปลือกอาคาร ออกแบบด้วยวัสดุและแพตเทิร์นที่หลากหลาย) ติดตั้งเกาะไปกับโครงสร้างหลักที่ซ้อนอยู่ภายนอกผนัง ทำหน้าที่เป็นผืนผนังชั้นนอกสุด สร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้าน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยกรองแสงแดด บรรเทาลมความแรงของฝน ลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวบ้าน ช่วยบดบังงานระบบที่ไม่เรียบร้อย รวมไปถึงสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวอาคารได้

house-metropolitan
บ้านคุณนพมาศ ฮวบเจริญ

ข้อแนะนำในการเลือกใช้วัสดุ : ควรคำนึงถึงน้ำหนักวัสดุไม่ให้มากเกินกว่าโครงสร้างจะรับไหว ฟาซาดคอนกรีต มีข้อดีที่ความคงทน แต่มีน้ำหนักมาก เหมาะกับบ้านที่มีการคำนวณโครงสร้างเผื่อรับน้ำหนักไว้แล้ว บ้านที่ต้องการติดตั้งฟาซาดเพิ่มเติม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินโครงสร้างว่าสามารถติดตั้งได้หรือไม่ และเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาในการติดตั้ง เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม

ปิดผนังทึบ เพื่อเปิดในบ้านให้โล่งกว้าง

การทำผนังทึบตลอดแนวเป็นอีกตัวเลือกที่เหมาะสำหรับบ้านมีผนังกระชั้นชิดกับเขตที่ดิน อยู่ริมถนน หรือติดบ้านข้างเคียง โดยผืนผนังทึบตันจะกั้นสภาพแวดล้อมออกจากตัวบ้านอย่างเต็มรูปแบบ ป้องกันทั้งสายตา แดด ลม และสามารถป้องกันเสียงได้หากเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม เช่น คอนกรีต เหล็ก

บ้านคุณอมรวรรณ ธาราสุข

ข้อแนะนำในการเลือกใช้วัสดุ : สำหรับงานภายนอกควรเลือกวัสดุที่ทนแดดฝนเพื่อให้ใช้งานได้อย่างยาวนาน โดยผนังด้านที่รับแดดทั้งวันแนะนำให้ก่อกำแพงอีกชั้นหนึ่งเป็น Double Skin เพื่อลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร นอกจากนี้ควรออกแบบช่องเปิดบริเวณอื่น เช่น ผนังส่วน หลังคา เพื่อให้สามารถระบายอากาศได้ด้วย

บ้านคุณอมรวรรณ ธาราสุข

อยู่สบาย ไม่อึดอัด

การจัดผังที่ดีจะทำให้บ้านอยู่ได้อย่างสบาย ด้วยหลักการง่ายๆ คือการวางผังให้ไม่เกิดมุมอับ  เปิดช่องลมให้มีทั้งทางเข้าและทางออกให้อากาศสามารถเคลื่อนตัวผ่านบ้าน ระบายอากาศเก่าอับชื้นออกไปแล้วหมุนเวียนมวลอากาศใหม่เข้ามาได้ แม้ในเวลาที่มีปัญหามลภาวะทำให้ต้องปิดบ้านเพื่อเปิดระบบปรับอากาศ ผังบ้านที่โล่งก็จะทำให้ปรับคุณภาพอากาศภายในห้องได้เร็ว ช่วยประหยัดไฟได้อีกทางหนึ่ง สำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด มีไอเดียที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความปลอดโปร่งให้บ้าน ดังนี้

รวบฟังก์ชันเป็นกลุ่ม เปลี่ยนทางสัญจรเป็นช่องลม

บ้านที่มีลักษณะแคบยาวขนาบด้วยอาคารทั้งสองฝั่ง เช่น บ้านทาวน์เฮ้าส์ สามารถจัดการใช้งานต่างๆ ของบ้านออกเป็นสองฝั่ง คือ กลุ่มพื้นที่ใช้งาน เช่น ส่วนนั่งเล่น โต๊ะรับประทานอาหาร แพนทรี่ รวมไว้ที่ฝั่งหนึ่ง และกลุ่มพื้นที่สัญจร เช่น ทางเดิน บันได จัดไว้ที่อีกฝั่งให้เป็นแนวยาวไปจนถึงหลังบ้าน ทำให้เดินง่ายไม่ต้องหลบหลีก และยังเป็นช่องโล่งให้ลมผ่าน ระบายอากาศได้ยาวตลอดแนวบ้าน

house-metropolitan
บ้านคุณกมลนาถ เตชะพุทธพงศ์ และคุณนกุล เตชะพุทธพงศ์

โอเพ่นแปลน เปิดมุมมองบ้านให้กว้าง

สร้างความรู้สึกเชื่อมต่อเหมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน โดยรวมส่วนใช้งานต่างๆ ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น ส่วนนั่งเล่น ส่วนทำงาน โต๊ะรับประทานอาหาร ให้กลายเป็นห้องเดียวกัน แต่แยกการใช้งานให้ชัดเจน ด้วยการใช้เฟอร์นิเจอร์แบ่งสัดส่วนพื้นที่และความแตกต่างของวัสดุพื้น จะทำให้ระยะสายตามองไปได้ไกล มากขึ้นเพราะไม่ถูกกั้นด้วยผนังหรือประตู ช่วยให้รู้สึกโล่งกว้าง ไม่อึดอัด

house-metropolitan
บ้านคุณสืบสกุล และคุณอุดมพร พันธุ์แพทย์

ข้อแนะนำในการออกแบบ : บริเวณห้องที่มีแผนใช้เครื่องปรับอากาศควรแบ่งพื้นที่ด้วยบานเปิด ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เชื่อมต่อเป็นพื้นที่เดียวกันในเวลาที่ต้องการให้ลมธรรมชาติถ่ายเท และในเวลาที่ ต้องการเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ปิดประตูกั้นส่วนปรับอากาศ ช่วยประหยัดไฟได้

เปิดฝ้าเพดานสูง สูดหายใจได้สบาย

แม้ห้องจะมีพื้นที่จำกัด ก็สามารถเพิ่มความโล่ง ลดความอึดอัดได้ ด้วยการเปิดฝ้าเพดานสูงต่อเนื่องถึงชั้นบน จะทำให้ภายในบ้านมีมุมมองที่กว้างมากขึ้น นอกจากนี้การเปิดช่องโล่งในแนวตั้ง จะทำให้ความร้อนในบ้านลอยตัวขึ้นสูงและถูกพัดออกทางชั้นบนของบ้าน ชั้นล่างของบ้านจึงใช้งานได้ ตลอดวันโดยไม่รู้สึกร้อนมากนัก

บ้านคุณกมลนาถ เตชะพุทธพงศ์ และคุณนกุล เตชะพุทธพงศ์

ข้อแนะนำในการออกแบบ : การออกแบบฝ้าควรคำนึงถึงตำแหน่งโคม และระดับความสูงฝ้าที่สามารถเปลี่ยนหลอดไฟได้อย่างปลอดภัย ไม่ให้สูงเกินกว่าที่บันไดจะพาดถึง ทั้งนี้ระดับความสูงที่ เหมาะสมไม่ได้มีระยะตายตัว ขึ้นอยู่กับการออกแบบที่ช่วยให้ซ่อมแซมได้อย่างสะดวกด้วย


ระบายอากาศได้ตามธรรมชาติ

ในบริบทเมือง ความร้อน ความชื้น และกลิ่นจากกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ถ่ายเทได้ยาก เนื่องจากถูกปิดล้อมและบังลมด้วยอาคารน้อยใหญ่ ระบบการระบายอากาศของบ้านที่อยู่ในเมืองจึงควรปรับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ และใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของบ้านให้ได้มากที่สุด

ระบายอากาศในแนวตั้ง

หลังคาเป็นอีกหนึ่งส่วนเชื่อมต่อภายนอกที่สามารถออกแบบเป็นช่องเปิดเพื่อระบายอากาศได้ และยิ่งช่องเปิดมีน้อยยิ่งควรใช้สอยให้คุ้มค่า หนึ่งช่องเปิดสามารถระบายอากาศในส่วนต่างๆ ของบ้านได้หลายส่วน ด้วยการเจาะพื้นระหว่างชั้นให้เชื่อมถึงสกายไลต์ชั้นบนสุด ช่วยให้เกิดการระบายความร้อน ในลักษณะ Stack Ventilation

บ้านคุณนีรรัตน์ เหลืองสิวากุล และคุณชนาวุฒิ ปัญญาวัฒนากุล

ข้อแนะนำในการออกแบบ : การระบายอากาศแบบ Stack Ventilation เหมาะกับอาคารที่มีหลายชั้นหรือมีช่องระบายอากาศสูงกว่าส่วนใช้งาน เพื่อไม่ให้ความร้อนสะสมอยู่ที่ชั้นบนและทำให้คนในห้องรู้สึกร้อน

บ้านคุณนีรรัตน์ เหลืองสิวากุล และคุณชนาวุฒิ ปัญญาวัฒนากุล

ทำช่องเปิดให้ปิด – เปิด ได้ตามต้องการ

ประยุกต์ไอเดียจากบ้านใต้ถุนสูงในสมัยก่อนให้เข้ากับการใช้งานปัจจุบัน โดยออกแบบเป็นชานกึ่งภายนอก ล้อมด้วยผนังที่เป็นช่องเปิดได้ ซึ่งสามารถเปิดรับลมระบายความชื้นในวันที่อากาศดี และปิดสนิทเพื่อเปิดระบบปรับอากาศ สูดลมหายใจในบ้านได้เต็มปอดในวันที่แดดลมไม่เป็นใจ

บ้านคุณคุณบี วิทยถาวรวงศ์

ข้อแนะนำในการออกแบบ : ออกแบบช่องเปิดผนังให้สูงยาวถึงฝ้า ช่วยเพิ่มความรู้สึกเชื่อมต่อถึงภายนอกได้ และควรยื่นชายคาให้ยาวอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อกันฝนสาดเข้าอาคาร และสามารถเปิดใช้งานในเวลาที่มีฝนตกได้

เสริมการระบายอากาศตามจุดเล็กจุดน้อย

เลือกวัสดุอาคารที่ไม่ได้เป็นโครงสร้างหลัก เช่น ลูกนอนบันได ผนังกั้นห้อง ราวกันตก ทางเดินชั้นลอย ให้อากาศสามารถไหลผ่านได้ ลดมุมอับในจุดต่างๆ เปิดทางลมในบ้านให้หมุนเวียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยกระจายแสงเข้าสู่ภายในบ้านได้มากขึ้นอีกด้วย

บ้านคุณปาริชาติ พัดบุรี

ข้อแนะนำในการเลือกใช้วัสดุ : ตะแกรงเหล็กฉีก แผงเหล็กเจาะรู เป็นวัสดุน้ำหนักเบาที่น่าสนใจสำหรับการทำพื้นระบายอากาศ ซึ่งในท้องตลาดมีจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ ควรเลือกวัสดุที่รองรับน้ำหนักสัญจรได้อย่างน้อย 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เพื่อให้เดินผ่านไปผ่านมาได้อย่าง ปลอดภัย

บ้านคุณปาริชาติ พัดบุรี

แยกครัวไทยกึ่งภายนอก

การมีเครื่องดูดควันสามารถช่วยกำจัดกลิ่นระหว่างประกอบอาหารได้ในระดับหนึ่ง แต่ในบ้านที่มีอาณาเขตจำกัด กลิ่นและควันจากการทำอาหารมื้อหนักอาจฟุ้งไปไกลเกินกว่าที่เครื่องดูดควันจะดูดไหว กว่าจะระบายอากาศออกไปได้กลิ่นก็ไปสะสมกลิ่นอยู่ตามเนื้อผ้า เมื่อนานเข้าก็จะทำให้ภายในบ้านเหม็นอับ ไม่ปลอดโปร่ง ทางออกสำหรับบ้านที่ทำอาหารเป็นประจำ แนะนำให้แยกครัวไทยออกไปเป็นพื้นที่กึ่งภายนอก ปิดประตูหน้าต่างส่วนที่เชื่อมกับครัวป้องกันกลิ่นเข้าสู่ตัวบ้านเมื่อประกอบอาหาร ลมและอากาศภายนอกบ้านจะช่วยเจือจางกลิ่นให้เบาลงได้

บ้านคุณนีรรัตน์ เหลืองสิวากุล และคุณชนาวุฒิ ปัญญาวัฒนากุล

เทคนิคทำครัวไม่รบกวนเพื่อนบ้าน : เลือกตำแหน่งครัวที่เสียงและกลิ่นจะรบกวนบ้าน รอบข้างน้อยที่สุด ติดเครื่องดูดควันเหนือเตาและเดินท่อปล่อยควันให้สูงเหนือหลังคาเพื่อนบ้าน


สะสมธรรมชาติไว้ใกล้ตัว

ธรรมชาติมีผลโดยตรงกับทั้งประสิทธิภาพในการทำงานและการพักผ่อน สามารถฟื้นฟูร่างกายได้โดยที่อาจไม่รู้ตัว ซึ่งในบริบทเมืองใหญ่ที่ล้อมไปด้วยตึกรามบ้านช่องก็สามารถแทรกมุมธรรมชาติเล็กๆ น้อยๆ ดูแลง่ายไว้ใกล้ตัว ให้ผ่อนคลายได้ทุกวันที่กลับไปถึงบ้าน ไม่ต้องรอสะสมวันลาแล้วไปเยียวยา ในวันพักร้อนเสมอไป

คอร์ตในบ้าน

หากพื้นที่รอบบ้านไม่เอื้อให้ออกไปผ่อนคลายกับธรรมชาติ สามารถกลับส่วนการใช้งาน โดยทำตัวอาคารล้อมพื้นที่สีเขียว เปิดคอร์ตกลางให้มีแดดส่องถึง สร้างสวนสวยที่เป็นส่วนตัวให้คนในบ้านมองเห็นร่วมกันตลอดทั้งวัน แนะนำให้ออกแบบเป็นพื้นที่กึ่งภายนอก มีชายคาคลุมเพื่อให้ระบายอากาศ และป้องกันฝนสาดเข้าสู่ตัวบ้าน เลือกใช้พรรณไม้ที่สอดคล้องกับแดด ความชื้น และมีระบบรากที่ไม่กระทบโครงสร้าง

บ้านคุณปาริชาติ พัดบุรี

ข้อแนะนำในการออกแบบ : การวางแผนทำสวนคอร์ตในบ้านควรออกแบบควบคู่กับ ระบบน้ำในบริเวณรอบๆ ให้สามารถดูแลรดน้ำและระบายออกสู่ท่อน้ำทิ้งได้ รวมถึงทางสัญจรเข้าออกนอกรั้วโดยที่ไม่ต้องผ่านภายในบ้าน เพื่อให้ดูแลสวนสวยได้อย่างสะดวก

Pocket Garden

เสริมความเขียวฉ่ำของต้นไม้ขึ้นไปบนอาคารแทรกไว้ในในพื้นที่กึ่งภายนอกอย่างเฉลียง ระเบียง หรือที่ว่างบนดาดฟ้า เพื่อสร้างจุดพักผ่อนตามมุมเล็กมุมน้อย โดยเลือกใช้เป็นไม้กระถางเพื่อให้ดูแลง่าย และจำกัดขนาดไม่ให้โตเร็วเกินไปนัก นอกจากนี้ควรเลือกพรรณไม้ให้เหมาะสมกับทิศแดดที่ส่องเข้าสู่ระเบียงด้วย

บ้านคุณกฤษณะ อำไพวรรณ และคุณอาภาณัฐ นิธิกุลตานนท์

ข้อแนะนำในการออกแบบ : หากมีแผนจะทำสวนบนอาคารที่ประกอบด้วยไม้ยืนต้นมีรากลึก จะต้องคำนึงถึงการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคารที่เพิ่มมาจากน้ำหนักดินและต้นไม้ รวมถึงความชื้นในดินที่อาจส่งผลถึงความแข็งแรงของอาคาร จึงควรปรึกษาวิศกร และออกแบบระบบกันซึมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับโครงสร้าง

ช่องแสงหลังคา

หลังคาบ้านเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้ โดยการออกแบบสกายไลต์ให้แสงระหว่างวันส่องลอดลงมาสู่ตัวอาคารได้อย่างทั่วถึง และเสริมดีเทลลดความร้อนแรงของแสงแดด ด้วยการใช้วัสดุผิวขุ่นคู่กับระแนงกรองแสง หรือออกแบบให้เป็นช่องแสงแบบ Indirect Light ปรับให้แสงที่เข้าสู่อาคารมีความนุ่มนวลขึ้นโดยที่ยังคงความสว่าง ช่วยประหยัดพลังงานจากการเปิดไฟได้

บ้านคุณอมรวรรณ ธาราสุข

ข้อแนะนำในการออกแบบ : ตำแหน่งช่องแสงหลังคาควรเลือกใช้ในส่วนที่เป็นทางสัญจร หรือส่วนที่ไม่มีการนั่งอยู่กับที่นานๆ ซึ่งโถงบันไดเป็นตำแหน่งหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นส่วนเชื่อมต่อให้ ทุกๆ ชั้นในบ้านรับแสงได้ทั่วถึงกัน อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นปล่องสูงที่สามารถระบายความร้อนขึ้นทางหลังคา (ด้วยการระบายอากาศแบบ Stack Ventilation) ช่วยลดความร้อนที่ส่วนล่างของบ้านได้

แชร์แสงสว่างภายในบ้าน

รับแสงธรรมชาติจากหน้าต่างบานหลักให้ส่องเข้าไปมากกว่าเดิม ด้วยการทำช่องแสงภายในบ้านกรุด้วยกระจกใสหรือวัสดุโปร่งแสง ช่วยเพิ่มความสว่างภายในบ้านที่มีหน้าต่างน้อย อย่างด้านในทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งมักจะมีช่องแสงอยู่ที่ด้านหน้าและหลังบ้านเพียงสองฝั่ง หรือบางบ้านก็มีช่องแสงเพียงฝั่งหน้าบ้านเท่านั้น โดยในบางห้องที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ก็ออกแบบตำแหน่งช่องแสงให้อยู่เหนือระยะสายตา เพื่อรับแสงธรรมชาติแต่ก็ใช้งานได้อย่างไม่ขัดเขิน

บ้านคุณดอน เบเกอร์ และคุณรุจิรา เตปา

เชื่อมความสัมพันธ์คนในบ้าน

บ้านที่มีความเป็นส่วนตัว แต่ไม่ตัดขาดออกจากคนในครอบครัว จะช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่น แบบไทยๆ ถึงแม้สมาชิกในบ้านจะชื่นชอบกิจกรรมที่แตกต่าง มีรูปแบบชีวิตประจำวันที่ไม่เหมือนกัน ก็สามารถปรับพื้นที่ในบ้านสร้างจุดร่วมให้มีช่วงเวลาของการอยู่ร่วมกันได้

พื้นที่ส่วนกลาง สำหรับใช้เวลาร่วมกัน

ออกแบบพื้นที่ที่ทุกคนในบ้านมาใช้เวลาร่วมกัน เช่น ส่วนนั่งเล่น โต๊ะรับประทานอาหาร และแพนทรี่ เชื่อมรวมกันให้มีขนาดกว้างในเพียงพอที่สมาชิกในบ้านสามารถรวมตัวกันได้อย่างไม่อึดอัด อาจเสริมด้วยการทำฝ้าเพดานสูง ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและปลอดโปร่งในช่วงเวลาที่อยู่พร้อมหน้า พูดคุย สร้างความสัมพันธ์ได้ในทุกๆ วัน

บ้านครอบครัวคุปตะวาทิน

เชื่อมส่วนใช้งาน ให้ชำเลืองเห็นกันได้

บ้านที่พฤติกรรมของคนในบ้านมีความหลากหลาย ถึงแม้ไม่ได้ใช้พื้นที่พร้อมกันทั้งหมด ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ให้รู้สึกถึงการอยู่ร่วมบ้านด้วยการออกแบบพื้นที่ให้สามารถเชื่อมถึงกันได้ เช่น ผังบ้านแบบโอเพ่นแปลนที่มองเห็นเชื่อมต่อกันได้หมด แต่ก็มีมุมส่วนตัวของแต่ละคนที่ไม่ทำให้ รู้สึกใกล้ชิดเกินไป เลือกใช้การกั้นห้องด้วยประตูกระจกที่ทำให้มองเห็น โบกไม้โบกมือทักทายได้ หรือแม้แต่บ้านในแนวสูง ก็สามารถเปิดฝ้าเพดานระหว่างพื้นชั้น 1 กับชั้น 2 แล้วปรับผนังเป็นช่องหน้าต่างหรือระเบียงที่สามารถชะโงกหน้ามองเห็นความเคลื่อนไหวที่ชั้นล่าง ทักทายพูดคุยกับคนอื่นๆ ทำให้ภายในบ้านมีชีวิตชีวาจากการเคลื่อนไหวที่มองเห็นจากมุมต่างๆ ได้

บ้านคุณภัทรชัย ทีฆบรรณ

เติมความอบอุ่นด้วยกลิ่นอายของบ้านเก่า

จัดวางเฟอร์นิเจอร์เก่าตัวโปรดที่ยังใช้งานได้ดี หรือของตกแต่งที่มีความทรงจำร่วมกันไว้ตาม มุมต่างๆ ร่วมไปกับการใช้เฟอร์นิเจอร์ใหม่ ช่วยเพิ่มความรู้สึกคุ้นเคยและเป็นกันเอง ในรูปแบบบ้านสมัยใหม่ที่ยังคงความสุขในวันวานได้

บ้านครอบครัวโชคเป็นธรรม

อ่านต่อฉบับเต็มใน นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนเมษายน 2567


คอลัมน์ Home Expert เม.ย. 67

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐวรา ธวบุรี

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


บ้านรีโนเวตครอบครัวขยาย เชื่อมต่อสเปซหลากหลายในบ้านหลังเดียว

บ้านสีขาวที่แก้ปัญหาบ้านแน่นให้กลายเป็นบ้านโล่ง

ติดตามบ้านและสวน