ปลูกทุเรียน กับ 10 เรื่องที่ชาวสวนมือใหม่ต้องรู้ก่อนเริ่มปลูก - บ้านและสวน

รวม 10 เรื่อง ที่ชาวสวนมือใหม่ต้องรู้ ก่อนเริ่มปลูกทุเรียน

ทุเรียน นับว่าเป็นไม้ผลเศรษฐกิจของไทยที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะสำหรับชาวจีนที่ติดใจในรสชาติ และ กลิ่นของทุเรียนเป็นอย่างมาก การ ปลูกทุเรียน จึงสร้างรายได้ให้กับชาวสวนได้ไม่น้อย จากความต้องการอย่างล้นหลาม

หลายคนจึงสนใจหวังปลูกทุเรียนเพื่อสร้างรายได้เสริม แต่พอได้ลองแล้วกลับไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจาก การ ปลูกทุเรียน ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งการคัดเลือกกล้าพันธุ์ การเตรียมพื้นที่ปลูก และ ถ้าอยากให้ผลมีคุณภาพด้วยก็ต้องดูแลให้เป็น ทั้งหมดนี้ก็จะเพื่อให้เข้าใจภาพรวมก่อนเริ่มปลูกทุเรียน

ปลูกทุเรียน

1 I การเลือกซื้อต้นกล้าพันธุ์ทุเรียน

ต้นพันธุ์ทุเรียนที่ดีให้เลือกซื้อต้นที่ได้รับการเสียบยอด เพราะต้นตอเป็นพันธุ์พื้นเมือง มีรากที่แข็งแรง หาอาหารเก่ง กล้าพันธุ์อายุไม่เกิน 1 ปี ความสูงประมาณ 1 เมตร และ ไม่ควรเลือกทุเรียนที่แก่จัด เพราะรากจะขดอยู่ในถุงปลูก ทำให้โตช้า สังเกตได้จากสีของลำต้น ต้นที่ดีควรมีสีน้ำตาลอ่อน ใบมีสีเขียวเข้ม หนา แข็งแรง ไม่มีโรคแมลง

ปลูกทุเรียน
ภาพ : สวนพอใจ หลังสวน – Suan Porjai Langsuan 

2 I ปลูกทุเรียน ให้อร่อยจะต้องนับวันตัด

การนับวันตัดจะช่วยให้ไม่ต้องเผลอตัดทุเรียนอ่อน แล้วโดนผู้บริโภคร้องเรียน เพราะรสชาติที่ไม่อร่อย และ ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ของทุเรียนจะสามารถนับวันตัดเหมือนกันได้หมด เนื่องจากทุเรียนสามารถแบ่งตามอายุการแก่ของผลทุเรียนเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พันธุ์เบา พันธุ์กลาง พันธุ์หนัก

  • ทุเรียนพันธุ์เบา – ให้ผลเร็ว และ ใช้เวลาสุกเร็วประมาณ 90 วัน หลังจากดอกโรยเพื่อเก็บผลผลิต เช่น กระดุมทอง พวงมณี
  • ทุเรียนพันธุ์กลาง – ใช้เวลาประมาณ 100 วัน หลังจากดอกโรยเพื่อเก็บผลผลิต เช่น ชะนี ก้านยาว
  • ทุเรียนพันธุ์หนัก – ใช้เวลาประมาณ 120-130 หลังจากดอกโรยเพื่อเก็บผลผลิต เช่น หมอนทอง ทองย้อย
ปลูกทุเรียน

3 I ปลูกทุเรียน ใหม่ควรพรางแสงเพื่อป้องกันใบไหม้

การปลูกทุเรียนใหม่ควรใช้ซาแรนพรางแสงในแนวทิศตะวันตก และ ตะวันออก เพื่อไม่ให้ใบไหม้ และ ต้นแห้งตายจากแสงแดดที่ร้อนจัด จากนั้นใช้กาบมะพร้าว และ ฟางกลบรอบโคนต้นอีกชั้น เพื่อเก็บความชื้น และ ความอุดมสมบูรณ์ในดิน โดยช่วงที่เหมาะสำหรับปลูกทุเรียนมากที่สุด คือ ต้นฤดูฝน จะช่วยให้ต้นทุเรียนปรับตัวได้ง่าย

ภาพ : สวนพอใจ หลังสวน – Suan Porjai Langsuan 

4 I ปลูกทุเรียน ให้ใช้ดินที่เหมาะสมและการเตรียมแปลงปลูก

ทุเรียนชอบดินที่มีอินทรีย์วัตถุมาก ความเป็นกรดด่างของดิน 5.5-6.5 และ ระบายน้ำได้ดี เพราะทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสภาพน้ำท่วมขัง สำหรับพื้นที่ราบลุ่ม ระบายน้ำได้ยาก จำเป็นต้องทำโคกให้สูงประมาณ 80-120 ซม. เพื่อป้องกันน้ำขัง และ ระบายน้ำได้ดี มีฐานกว้าง 3-4 เมตร ระยะในการปลูก 8×8 หรือ 10×10 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของทุเรียน

5 I สายพันธุ์ทุเรียนแบ่งได้ 6 กลุ่ม

หลายคนคงเคยได้ชิมความอร่อยของทุเรียนนนท์ หลงลับแล ป่าละอู พวงมณี หมอนทอง แต่รู้ไหมว่า ทุเรียนในไทยจริงๆ แล้วมีอีกหลายสายพันธุ โดยถ้าแบ่งตามลักษณะของผลจะแบ่งได้ 6 กลุ่มตามนี้

  • ทุเรียนกลุ่มกบ – ผลมีลักษณะกลมรี ลักษณะของหนามเป็นแบบโค้งงอ
  • ทุเรียนกลุ่มลวง – ผลมีลักษณะ 2 แบบ คือ แบบทรงกระบอก และ แบบกลมรี ลักษณะของหนามจะเว้า สายพันธุ์ที่นิยมทาน คือ ชะนี
  • ทุเรียนกลุ่มก้านยาว – ผลมีลักษณะกลมรีคล้ายกับไข่กลับด้าน ลักษณะของหนามจะนูน
  • ทุเรียนกลุ่มกำปั่น – ผลมีลักษณะเป็นทรงขอบขนาด หนามตรง รู้จักกันดี คือ หมอนทอง
  • ทุเรียนกลุ่มทองย้อย – ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ และ หนามนูนแหลม
  • ทุเรียนกลุ่มเบ็ดเตล็ด – มีลักษณะที่ไม่แน่ชัด บางลักษณะก็คล้ายคลึงก็ 5 กลุ่มก่อนหน้านี้
ปลูกทุเรียน

6 I เมล็ดทุเรียนสามารถนำมาเพาะต่อได้

หากใครเคยทานทุเรียนแล้วนำเมล็ดมาเพาะ ไม่นานทุเรียนจะเริ่มแทงรากออกมาพร้อมเจริญเติบโตได้ไม่ยาก แต่รู้ไหมว่า เมล็ดทุเรียนที่จะนำมาเพาะส่วนใหญ่จะใช้เป็นทุเรียนพื้นเมือง หรือ ทุเรียนป่า ก็เพื่อเป็นต้นตอสำหรับเสียบยอดทุเรียนพันธุ์ดี อย่าง หมอนทอง ถึงแม้ว่าหมอนทองจะเองให้เนื้อเยอะ เมล็ดลีบ รสชาติอร่อย แต่รากจริงๆ กลับไม่แข็งแรง อ่อนแอต่อโรคได้ง่าย จึงนิยมนำมาเสียบยอดมากกว่า

ภาพ : สวนพอใจ หลังสวน – Suan Porjai Langsuan 

7 I ช่วยผสมเกสรดอกทุเรียนตอนกลางคืน

ในธรรมชาติดอกของทุเรียนจะบานช่วงกลางคืน และ มีค้างคาวคอยผสมเกสรให้ แต่โอกาสติดน้อยมาก อีกทั้งยังกำหนดตำแหน่งของผลทุเรียนไม่ได้ เกษตรกรจึงจะผสมเกสรด้วยตัวเองมากกว่า เพื่อเพิ่มโอกาสติดผลมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ทุเรียนมีผลผลิตคุณภาพดี รูปทรงสวยงาม เนื้อแน่น ตรงตามความต้องการของตลาด โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมเกสร คือ เวลา 19:00-19:30 เป็นต้นไป

ภาพ : สวนพอใจ หลังสวน – Suan Porjai Langsuan 

8 I ชะลอการออกดอก เพื่อให้ทุเรียนติดผลนอกฤดู

ทุเรียนนอกฤดูเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนนั้นขาดตลาด วิธีการนั้นจะเริ่มจากคัดเลือกต้นที่แข็งแรง มีอายุ 8-15 ปี และ จะนิยมทำในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

ขั้นแรกให้ปลิดดอกทุเรียนในฤดูกาลออกจนหมด ในระยะหัวตาปู และ เหยียดตีนหนู หรือ 12-17 วัน หลังเริ่มมีตุ่มดอก และ ให้ปุ๋ยที่เน้นไนโตรเจนเพื่อเร่งการแตกใบอ่อนแทน ดูแลจนแตกใบอ่อนรอบที่ 2 ก็ให้ใช้ปุ๋ยที่เน้นฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม เมื่อต้นสะสมอาหารเต็มที่ มีการสร้างใบที่เพียงพอ ให้ใช้สารพอโคลบิวทราโซล (Paclobutrazole) เพื่อกระตุ้นให้ออกดอก หลังจากนี้ให้ระมัดการให้น้ำไม่ให้มากเกินไป ไม่อย่างนั้นก็จะทำให้ดอกร่วงได้ ก็จะช่วยให้ต้นทุเรียนออกดอกนอกฤดูได้

ปลูกทุเรียน
ภาพ : สวนพอใจ หลังสวน – Suan Porjai Langsuan 

9 I การโยงกิ่งทุเรียน เพื่อป้องกันกิ่งหัก

เป็นที่ทราบกันดีกว่าทุเรียนเมื่อผลใหญ่เต็มที่มีน้ำหนักไม่น้อย โดยเฉพาะกับทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองที่มีน้ำหนักประมาณ 2-4.5 กิโลกรัมต่อผล การโยงกิ่งทุเรียนนี้จึงจำเป็น เพื่อช่วยพยุงกิ่งทุเรียนไม่ให้โค่นหักจากน้ำหนักของผลทุเรียน รวมถึงกระแสลมที่พัดผ่านเข้ามา วิธีการจะใช้เชือกมัดกิ่งทุเรียน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งจะยึดเข้ากับลำต้นทุเรียนเพื่อช่วยพยุงกิ่ง

ปลูกทุเรียน
ภาพ : Magik Growth

10 I ห่อผลทุเรียน เพื่อป้องกันหนอนเจาะ

ทุเรียนมีศัตรูพืชที่ยอดฮิตหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ หนอนเจาะผลทุเรียน ทำให้ที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อันตรายจากสารเคมี รวมถึงกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวช่วยที่เค้ามาแก้ไขจุดอ่อนตรงนี้ได้ดี คือ การใช้ถุงห่อผลทุเรียน ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาให้นอกจากจะสามารถช่วยป้องกันหนอนได้แล้ว ยังช่วยกันเพลี้ยด้วย ลดการสะสมของเชื้อราได้จากการถ่ายเทอากาศที่ดีขึ้น รวมถึงมีการใช้แสงสีแดงเพื่อกระตุ้นให้เปลือกบาง เนื้อเยอะมากขึ้น

พืชผักไม้ผล สินค้าเกษตร GI ในแต่ละพื้นที่ ของดีแต่ละจังหวัด!

เอบิว (Abiu) ไม้ผลแปลกน่าปลูก เรียนรู้เทคนิคการปลูกและดูแลให้ติดผล