ปรับปรุงและฟื้นฟูดินรอบบ้านจัดสรรให้ปลูกผักได้
ฟื้นฟูดิน เป็นเรื่องสำคัญในสวน เพราะปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร มักจะพบว่าบางโครงการนำดินที่ไม่มีคุณภาพมาถมที่ ทำให้ปลูกต้นไม้แล้วไม่เจริญเติบโตงอกงาม
หากพื้นที่รอบบ้านของคุณไม่ได้จัดสวนก็ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่หากต้องการปลูกต้นไม้ก็ควรจะ ฟื้นฟูดิน อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตดังต้องการ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสวนที่ปลูกต้นไม้มานาน ๆ แล้วดินเสื่อมสภาพลง ทำให้ต้นไม้ไม่สวยดังเดิม เราจึงจะชวนคุณมาลงมือฟื้นฟู และปรับปรุงดินในสวนให้กลับมาดีอีกครั้ง รับรองว่าต่อไปนี้จะปลูกต้นอะไรก็งามแน่นอน
นำดินที่ไม่ดีออกไปบ้าง
หากดินในสวนเป็นดินที่ไม่เหมาะสำหรับปลูกพืช เช่น มีเศษวัสดุก่อสร้างปะปน ดินลูกรัง แนะนำให้นำดินบริเวณที่ต้องการจะปลูกต้นไม้ออก โดยไม่จำเป็นต้องรื้อดินออกทั้งสวน หากต้องการปลูกไม้พุ่มหรือไม้คลุมดินให้ขุดดินออกลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ส่วนไม้ยืนต้นพวกไม้ล้อมให้ลองกะขนาดตุ้มดิน จากนั้นขุดหลุมปลูกลึกกว่าความสูงของตุ้มดินอีกราว 30 เซนติเมตร นำดินถุงที่มีคุณภาพดีใส่แทนดินเดิมในหลุมปลูก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอีกชั้น จากนั้นจึงปลูกต้นไม้ตามปกติ ส่วนบริเวณที่มีดินแข็งหรือดินลูกรัง ให้ขุดดินแล้วผสมคลุกเคล้าอินทรียวัตถุและปุ๋ยอินทรีย์ลงไป เพื่อช่วยเพิ่มช่องว่างในดิน จะทำให้ดินโปร่งและร่วนซุยขึ้น
อินทรียวัตถุตัวช่วยสำคัญ
การฟื้นฟูดินโดยใส่อินทรียวัตถุเป็นวิธีที่ง่ายและเห็นผลดีที่สุด แหล่งที่มาของอินทรียวัตถุ ได้แก่ เศษซากพืช เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ซากสัตว์ต่าง ๆ มูลสัตว์ต่าง ๆ ที่สลายตัวดีแล้วกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด รวมทั้งวัสดุจากธรรมชาติอื่น ๆ เช่น แกลบ ฟางข้าว เปลือกถั่ว กาบมะพร้าวสับ ใบไม้แห้ง อินทรียวัตถุเหล่านี้จะทำหน้าที่ปรับปรุงโครงสร้างดินโดยเข้าไปแทรกตามอนุภาคของดินทำให้ดินที่แข็งและแน่น ๆ ค่อย ๆ ร่วนซุยขึ้น ส่งผลให้รากพืชชอนไชได้ดี
ผู้ที่ไม่มีเวลามากนักให้นำอินทรียวัตถุมาโรยบนผิวดินได้เลย วัสดุเหล่านี้จะค่อย ๆ ปรับปรุงดินด้านล่างให้ร่วนซุยขึ้นช้า ๆ แต่หากมีเวลามากพอให้พรวนดินเล็กน้อยเพื่อให้วัสดุลงไปในดินได้ลึกและรวดเร็วขึ้น วัสดุเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ทำให้พืชดูดธาตุอาหารได้ดีขึ้น
อีกวิธีในการฟื้นฟูดินสำหรับพื้นที่ใหญ่ ๆ ซึ่งเกษตรกรทั่วไปนิยมใช้ก็คือ หลังจากเก็บเกี่ยวพืชไปแล้วให้ตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในดิน จากนั้นจึงปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ปอเทือง โสน ถั่วพร้า ถั่วแปบ แล้วไถกลบหรือตัดคลุมดินช่วงที่เริ่มออกดอก (ประมาณ 50 – 60 วันหลังปลูก) การไถกลบจะช่วยให้พืชย่อยสลายได้รวดเร็วขึ้น พืชเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ดินร่วนซุย แต่ยังอุดมด้วยธาตุไนโตรเจนจากเชื้อไรโซเบียมในปมรากถั่ว ซึ่งทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนในอากาศมาสร้างเป็นสารประกอบไนโตรเจนไว้ในดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์โดยแทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพิ่มเติมเลย
ต้องการความรู้เรื่องปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มเติม ทั้งการใช้งานและการทำปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ในบ้าน สามารถหาข้อมูลได้จากหนังสือ ปุ๋ยอินทรีย์ (ฉบับปรับปรุง) เขียนโดย รศ.มุกดา สุขสวัสดิ์ สำนักพิมพ์บ้านและสวน https://goo.gl/qdt9W2Cop สั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://www.facebook.com/Baanlaesuanbooks
แค่คลุมดินก็ใช้ได้
การคลุมดินใช้หลักการใกล้เคียงกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพียงแต่ไม่ต้องผสมวัสดุลงไปในดิน แต่ใช้วัสดุนั้นคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้น เช่น ฟางข้าว แกลบ กาบมะพร้าวสับ หญ้าแห้ง ใบหญ้าแฝก หรือแม้แต่ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมผิวดิน วัสดุเหล่านี้จะช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดินยามรดน้ำ ลดการสูญเสียธาตุอาหารพืช รักษาความชื้นในดิน ทำให้รากพืชลงไปได้ลึกทีละน้อย ดินจึงมีโครงสร้างดีขึ้น และเมื่อวัสดุคลุมดินย่อยสลาย ก็จะช่วยปรับปรุงดิน เพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช และมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
พรวนดินให้ร่วนซุย
ดินในสวนที่ปลูกมานาน ๆ ธาตุอาหารในดินเริ่มหมดไป รวมทั้งยังมีปัญหาดินอัดตัวแน่น ทำให้รากพืชไม่สามารถชอนไชได้ดีดังเดิม การใช้อินทรียวัตุก็เป็นตัวช่วยหนึ่งดังที่กล่าวไปแล้ว แต่การพรวนดินก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้ดินเกิดช่องว่างทำให้น้ำและอากาศแทรกตัวในดินได้ดีขึ้น การพรวนดินให้พรวนรอบ ๆ ทรงพุ่มต้นไม้ และเติมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปเพื่อช่วยให้ดินที่อัดตัวกันแน่นโปร่ง และร่วนขึ้น
ดินเป็นกรดแก้ได้
ดินกรด คือ ดินที่มีค่า pH ต่ำว่า 7 การตรวจสภาพดินโดยทั่วไปให้ใช้ชุดทดสอบดิน หรือข้อสังเกตดินกรดเบื้องต้นคือ หากต้นไม้มีการเจริญเติบโตช้าลง ให้ผลผลิตน้อยลง แสดงอาการเหี่ยวเหมือนขาดน้ำ เพราะรากไม่สามารถเจริญเติบโตในดินได้ตามปกติ รวมทั้งยังแสดงอาการขาดธาตุฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และแคลเซียม พบการแพร่ระบาดของโรคพืชเป็นประจำและมากขึ้น สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากดินกรด ดินกรดเกิดได้เองตาม ธรรมชาติ ทั้งจากการชะล้างละลายธาตุที่เป็นด่างออกไปจากดิน พืชดูดเอาธาตุที่เป็นด่างออกไปแล้วปลดปล่อยกรดลงไปแทนที่ หรืออาจเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีที่มีสารกำมะถันเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งฝนกรดในพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ดินกรดมีผลต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ลงสู่ดิน ทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ได้ แก้ไขโดยใส่ปูนชนิดต่างๆ เช่น ปูนมาร์ลหรือหินปูนฝุ่น (หินปูนบด) นิยมใช้ในนาข้าว ส่วนปูนโดโลไมต์ หรือปูนขาวใช้กับไม้ผล อัตราส่วนขึ้นกับความรุนแรงของกรดในดิน ไม้ผลหรือไม้ยืนต้นให้ใช้อัตรา 3 – 5 กิโลกรัมต่อหลุมปลูก การใส่ปูนยังช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช วิธีแก้ดินกรดอีกอย่างคือใส่อินทรียวัตถุลงไปในดิน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับธาตุอาหารในดิน ใช้วัสดุคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นและหน้าดิน
ไส้เดือนดิน… ผู้ช่วยสำคัญ
ไส้เดือนดินทำหน้าที่ ย่อยสลายอินทรียสารในดิน การเคลื่อนที่ของไส้เดือนดินยังช่วยพรวนดิน ทำให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศดีขึ้น กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช สังเกตว่าดินที่มีสภาพเป็นดินทราย ดินเหนียวจัด แปลงปลูกที่ถูกเหยียบย่ำจนเกิดเลน หรือมีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรหนัก ทำให้ดินอัดตัวแน่น ตลอดจนดินที่มีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช ปุ๋ยเคมีติดต่อกันมาเป็นเวลานานมักไม่พบไส้เดือนดิน เบื้องต้นทำให้ใส่อินทรียวัตถุลงไปปรับปรุงสภาพดินก่อน เมื่อดินดีขึ้นจะเห็นว่าไส้เดือนดินจะเริ่มมาอยู่อาศัย และทำหน้าที่ปรับปรุงโครงสร้างดินต่อไป
Tips
หากต้องการตัวช่วยฟื้นฟูดินในสวนแบบปลอดภัย แนะนำสารปรับปรุงคุณภาพดิน ลีโอเทค จากโซตัส สูตรเข้มข้น ผลิตจากแร่ลีโอนาไดท์ (Leonardite) ที่เป็นแหล่งอินทรีย์วัตถุจากประเทศออสเตรเลีย ประกอบด้วยโพแทสเซียม ฮิวเมท/ฟูลเวท และออร์กานิคคาร์บอนในสัดส่วนที่เหมาะสม มีคุณสมบัติช่วยปรับปรุงดินให้ร่วนซุย กระตุ้นการแตกรากใหม่พืชจึงดูดน้ำและปุ๋ยได้ดี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยอินทรีย์และเคมี ทำหน้าที่จับปุ๋ยไม่ให้ถูกชะล้าง ช่วยเพิ่มคาร์บอนและออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และมีจำนวนจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังฟื้นฟูระบบรากที่เสียหายจากการใช้สารกำจัดวัชพืชได้อีกด้วย ใช้ได้กับทั้งไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล รวมทั้งพืชผักต่าง ๆ
ลักษณะสารปรับปรุงดิน ลีโอเทค เป็นเกล็ดสีดำ การใช้งานควรใส่ก่อนใส่ปุ๋ย หรือใส่พร้อมกับปุ๋ยในระยะต่าง ๆของพืช เช่น หลังตัดแต่งกิ่ง ระยะก่อนออกดอกหรือช่วงสะสมอาหาร และระยะขยายขนาดผล
อ่านต่อ : ทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหาร
อ่านต่อ : ทำปุ๋ยใช้เองแบบบ้านๆ