กระถางปลูกผักสวนครัว กล่องโฟมปลูกผัก ถาดไดโซะ เข่งพลาสติก - บ้านและสวน

กระถางปลูกผักสวนครัว เลือกอย่างไรให้เหมาะกับพืชที่ปลูก

ข้อดีที่เด่นชัดของการใช้ กระถางปลูกผักสวนครัว คือความสะดวกในการเคลื่อนย้าย ลดข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ปลูกโดยเฉพาะพื้นที่เล็กแคบ หรือเป็นพื้นคอนกรีต ก็สามารถปลูกผักในกระถางได้ จึงเหมาะกับสวนครัวในเมืองเป็นอย่างยิ่ง

กระถางปลูกผักสวนครัว เลือกอย่างไร? สามารถใช้กระถางพลาสติกสีดำที่มีจำหน่ายในท้องตลาดปลูกผักเลยได้ไหม? คำตอบคือได้ แต่จะดีกว่าหากเลือกกระถางให้เหมาะกับชนิดผักที่ปลูก ทั้งวัสดุและรูปทรง จะช่วยประหยัดดิน ลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคพืช และช่วยให้รากของพืชเดินได้ดีในพื้นที่ที่เหมาะสม

หลักพื้นฐานในการเลือกกระถาง หรือภาชนะอื่นๆ ปลูกผัก จะต้องระบายน้ำดี ไม่เก็บความร้อน แต่ก็ต้องช่วยรักษาความชื้นในดินได้ด้วย หากเลือกได้เหมาะกับพืชที่ปลูกแล้ว กระถางปลูกผัก ก็ไม่ต่างจากผู้ช่วยดูแลสวนดีๆ นี่เอง ซึ่งมีวิธีพิจารณาประกอบการตัดสินใจดังนี้   

เลือกกระถางปลูกผักสวนครัว ต้องพิจารณาประเภทวัสดุ

กระถางปลูกผักสวนครัว

กระถางดินเผา ทำมาจากดินที่เผาด้วยความร้อนสูง มีรูพรุนรอบๆ กระถางจึงดูดซับความชื้นได้ดี แต่ก็ทำให้ดินสูญเสียความชื้นได้รวดเร็วเช่นกันเนื่องจากตัวกระถางจะดูดซับความชื้นจากดินด้วย กระถางดินเผาระบายอากาศปานกลาง ไม่เก็บความร้อนในดิน มีความแข็งแรง ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ ในตลาด ข้อด้อยคือมีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบาก

กระถางปลูกผักสวนครัว

กระถางพลาสติก ที่คุ้นเคยกันดีคือกระถางเพาะต้นไม้ ซึ่งมีราคาถูก น้ำหนักเบา และมีความแข็งแรง ด้วยราคาที่จับต้องได้จึงเป็นที่นิยม เก็บความชื้นได้น้อย ระบายอากาศปานกลาง มีขนาดให้เลือกเยอะตั้งแต่ 2-20 นิ้ว ข้อด้อยคือความสวยงามที่ไม่น่ามองเท่าใดนัก

ทั้งนี้มีกระถางพลาสติกแบบใหม่ที่เรียกว่า กระถาง Air pot คือกระถางที่มีรูระบายอากาศรอบๆ เพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายเทอากาศให้กับรากพืช แก้ปัญหากระถางพลาสติกแบบเดิมๆ ที่อบร้อน แต่ยังรักษาจุดเด่นในเรื่องน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวกไว้ นิยมใช้ปลูกพืชที่มีมูลค่าอย่างต้นกัญชา

เข่งพลาสติก ปลูกผักสวนครัว

เข่งพลาสติก เข่งไม้ เป็นม้ามืดมาแรงและได้รับความนิยมในหมู่คนปลูกผักทานเอง ด้วยคุณสมบัติที่มีช่องระบายอากาศทำให้เข่งพลาสติกระบายน้ำและอากาศได้ดี ทำให้รากของพืชชอนไชได้ดีด้วย เหมาะที่จะปลูกพืชที่ชอบดินโปร่งระบายน้ำดี เก็บความชื้นได้น้อย ราคาถูกเมื่อเทียบขนาดกับกระถางแบบอื่นๆ มีขนาดตั้งแต่ 12-15 นิ้ว ข้อด้อยคือเวลารดน้ำดินจะไหลออกจากช่องตะแกรง จึงควรมีจานรองรับน้ำอีกชั้น

ถุงปลูกแสนดี ปลูกผักสวนครัว

ถุงปลูก HDPE เป็นภาชนะปลูกผักที่ระบายความร้อนได้ดี เคลื่อนย้ายสะดวก น้ำหนักเบาง่ายต่อการขนส่ง ทำมาจากพลาสติก HDPE ถักทอคล้ายกระสอบปุ๋ยแต่มีความทนทานมากกว่า สามารถใช้งานได้นาน 5-8 ปี คุณสมบัติเด่นคือไม่ทำให้ดินร้อน ระบายน้ำและอากาศได้ดี เก็บความชื้นได้ดี มีให้เลือกหลายขนาดตั้งแต่ 5×8 นิ้ว, 5×11 นิ้ว, 8×15 นิ้ว,10×20 นิ้ว ข้อด้อยคือเมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดคราบสกปรกเห็นเป็นสีน้ำตาลเด่นชัด

กล่องโฟมปลูกผักสวนครัว

กล่องโฟม เป็นทางเลือกใหม่ นิยมใช้กล่องโฟมเหลือทิ้งจากการใช้เก็บความเย็น นำมาปลูกผักด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ซึ่งนำมาใช้เป็นภาชนะปลูกผักในดินได้ด้วย ข้อดีของกล่องโฟมคือน้ำหนักเบา ไม่เก็บความร้อน มีขนาดบรรจุให้เลือกตั้งแต่ 2 -40 ลิตร ก่อนใช้กล่องโฟมเป็นกระถางปลูกผักควรเจาะรูด้านล่างเพื่อระบายน้ำก่อนเสมอ ข้อด้อยคือ แตกหักได้ง่าย หากสัมผัสแดดร้อนจัดก็เสื่อมสภาพได้ง่ายเช่นกัน

ถาดไดโซะปลูกผักสวนครัว

ถาดไดโซะ ถาดพลาสติก ถาดเพาะกล้า เป็นอีกหนึ่งภาชนะปลูกผักที่ได้รับความนิยมใหมู่ผู้ปลูกผักสลัด ผักรากสั้น รวมถึงผักงอกและไมโครกรีน เนื่องด้วยความสะดวกในการขนย้าย ราคาเป็นมิตร ถาดไดโซะระบายน้ำและอากาศได้ดีเพราะมีช่องระบายน้ำก้นถาด มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 18 -20 นิ้ว ข้อด้อยคือความสูงจำกัด 3-5 นิ้วจึงเหมาะจะปลูกพืชรากสั้นเท่านั้น  

ทั้งนี้รูปทรงของกระถางก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้พิจารณาประกอบกัน

กระถางทรงสูง : คือกระถางที่มีความสูงมากกว่าความกว้างปากกระถาง เหมาะกับผักที่มีรากแบบเหง้า พืชระบบรากลึก ผักกินผล เช่น หัวไชเท้า แครอท ขิง ข่า ขมิ้น มันฝรั่ง มันหวานญี่ปุ่น  

กระถางมาตรฐาน : คือกระถางที่มีความสูงเท่ากับความกว้างปากกระถาง มีขนาดตั้งแต่ 2-20 นิ้ว เหมาะกับผักที่ระบบรากลึกและระบบรากไม่ลึกมาก เช่น มะเขือ มะเขือเทศ พริก เคล กะเพรา โหระพา กระชาย  

กระถางทรงเตี้ย : คือกระถางที่มีความสูงน้อยกว่าของความกว้างปากกระถาง มีขนาดตั้งแต่ 4 – 16 นิ้ว เหมาะกับผักที่มีรากตื้นสั้น เช่น ผักกาด กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก คอส ผักชี หอมแบ่ง ผักชีใบเลื่อย สะระแหน่ เป็นต้น

กระถางปลูกผักสวนครัว

Tips ปลูกผักในกระถางต้องรู้

  • กระถางขนาดเล็กจะเก็บความชื้นในดินได้น้อย จึงควรรดน้ำผักกระถางสม่ำเสมอ โดยสังเกตหน้าดินควรมีความชื้นอยู่เสมอ
  • หากรดน้ำผักในกระถางแล้วเกิดน้ำขัง ระบายได้ช้า ให้เข้าใจได้ว่าดินเริ่มแน่น ควรพรวนดินแล้วเติมอินทรียวัตถุเข้าไป หรือเปลี่ยนกระถางให้มีขนาดใหญ่ขึ้นพร้อมกับดินที่ร่วนระบายน้ำดี
  • หากยกก้นกระถางดูแล้วมีรากผักชอนไชออกมาข้างนอก นั่นคือผักเติบโตเต็มกระถางแล้ว ให้เปลี่ยนกระถางใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
  • ไม่ควรวางกระถางผักบนพื้นคอนกรีตโดยตรง เพราะความร้อนจะทำลายรากพืชได้ ให้วางจานรองก้นหรือยกให้สูงกว่าพื้น
  • กระถางทรงสูงปลูกผักรากสั้นได้ โดยใช้กาบมะพร้าวสับ ก้อนอิฐ ขอนไม้ รองก้นกระถางให้สูงในระดับหนึ่งก่อนเติมดินปลูกผัก
  • หากดินในกระถางแห้งเร็ว ให้คลุมดินด้วยฟางข้าว จะช่วยเก็บความชื้นได้นานขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะกระถางที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเท่านั้น แต่ภาชนะอื่นๆ ก็สามารถใช้ปลูกผักได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระป๋อง หม้อ กะละมัง ภาชนะเหลือใช้ เพียงแค่มีรูระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำขัง เพียงเท่านี้ก็เป็นอันใช้ได้

ไอเดียปลูกผักในภาชนะวัสดุเหลือใช้

“ปูเป้ทำเอง” สวนครัวในกระถาง ของคนที่ทำทุกอย่างใช้เอง

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm