ผึ้ง กับ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวนักผสมเกสรตัวจิ๋ว - บ้านและสวน

รวม 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ผึ้ง นักผสมเกสรตัวจิ๋ว

ก่อนเลี้ยงผึ้ง ต้องรู้ ! ผึ้ง เป็นแมลงที่มีความสำคัญ ในการช่วยผสมเกสรให้กับพืชแล้ว ยังเป็นแมลงที่ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ของระบบนิเวศอีกด้วย เนื่องจากผึ้งต้องการความหลากหลายของพืชพรรณ เพื่อให้สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ตลอดทั้งปี

แต่ปัจจุบัน ผึ้ง กลับมีจำนวนน้อยลง จากพื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น การใช้สารเคมีในแปลงเกษตร รวมถึงภาวะโลกร้อน ทำให้หลายพื้นที่แห้งแล้ง และ ไม่มีต้นไม้ให้ผึ้งได้ผสมเกสร ดังนั้น สำหรับใครที่อยาก เลี้ยงผึ้ง ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับพฤติกรรมของผึ้งกันก่อนดีกว่า ว่าผึ้งแต่ละตัวมีหน้าที่อะไร ผึ้งสื่อสารกันอย่างไรให้รู้ว่ามีแหล่งดอกไม้อยู่ตรงไหน ช่วงที่ไม่มีดอกไม้จะให้อาหารผึ้งอย่างไร ทำไมรสชาติของน้ำผึ้งแต่ละที่ถึงไม่เหมือนกัน รวมถึงมารู้จักกับผึ้งที่ไม่สามารถต่อยเราได้ จะมีอะไรกันบ้างนั้นมาชมกันเลย

ผึ้ง สื่อสารผ่านการเต้น

ผึ้งใช้การเต้น เป็นการบอกระยะทางและทิศทางของแหล่งอาหารที่สำรวจพบ ถ้าแหล่งอาหารอยู่ใกล้ ผึ้งจะเต้นเร็ว แต่ถ้าแหล่งอาหารอยู่ไกลผึ้งจะเต้นช้าลง โดยผึ้งรุ่นน้องจะได้เรียนรู้การเต้นนี้จากผึ้งรุ่นพี่ ในขณะที่ผึ้งรุ่นพี่กำลังเต้นอยู่ ผึ้งรุ่นน้องจะใช้หนวดไปแตะ เพื่อเรียนรู้ว่าการเต้นรำนั้นหมายความว่าอย่างไร

กลิ่นและรสชาติของน้ำ ผึ้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของดอกไม้

ผึ้งที่ได้จากการ เลี้ยงผึ้ง อย่างน้ำผึ้งที่เก็บมาจากไร่แมคคาเดเมีย กลิ่นที่ได้จะมีกลิ่นถั่วจางๆ หรือ น้ำผึ้งจากดอกกาแฟ จะมีกลิ่นหอมและรสขมของกาแฟ ส่วนน้ำผึ้งที่มาจากดอกไม้ป่า จะมีรสชาติที่แตกต่างจากน้ำผึ้งทั่วไป เพราะ ในป่ามีดอกไม้หลายชนิด ทำให้น้ำผึ้งที่ได้มีรสเปรี้ยว หวาน และ กลิ่นที่แตกต่างกันออกไป

ชันโรง ผึ้ง จิ๋วที่ไม่มีเหล็กใน

นอกจากผึ้งแล้วก็มี ชันโรง ซึ่งเป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่ไม่มีเหล็กใน มีขนาดเล็กกว่าผึ้งอย่างมาก สามารถผสมเกสร เก็บน้ำหวานได้เหมือนผึ้งเลย แต่มีข้อแตกต่างตรงที่ น้ำผึ้งของชันโรงมีคุณค่า ทางโภชนาการมากกว่าน้ำผึ้งทั่วไป โดยที่ชันโรงจะเก็บสัดส่วนระหว่าง น้ำหวาน ต่อ เกสรดอก ไม้ในอัตราส่วน 20 : 80 ซึ่งต่างจากผึ้ง ที่เก็บในอัตราส่วน 50 : 50 จึงทำให้ น้ำผึ้งของชันโรงมีเกสรอยู่มาก มีสารอาหารที่เยอะกว่านั่นเอง

ผึ้งงานเปลี่ยนหน้าที่ตามต่อมบนร่างกาย

ผึ้งงาน (The Worker) เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุดในรัง มีหน้าที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับอายุของผึ้ง เช่น ผึ้งงานอายุ 1-3 วัน ยังไม่มีต่อมต่าง ๆ จึงมีหน้าที่ ทำความสะอาดรัง ผึ้งงานอายุ 4-11 วัน ร่างกายมีต่อมพี่เลี้ยงแล้ว ก็จะทำหน้าที่ให้อาหารตัวอ่อน ผึ้งงานอายุ 12-17 วัน ร่างกายมีต่อมผลิตไขผึ้ง ก็จะมีหน้าที่ สร้างและซ่อมแซมรัง ผึ้งงานอายุ 18-21 วัน ร่างกายจะมีต่อมพิษ ทำหน้าที่ ป้องกันรัง และผึ้งงานอายุ 22 วันขึ้นไป ร่างกายมีต่อมน้ำลาย และ ต่อมกลิ่น ทำหน้าที่หาอาหาร

ผึ้ง

ผึ้งนางพญา (The Queen) ไม่ได้ผสมพันธุ์ในรัง

เมื่อผึ้งนางพญาสาวมีอายุได้ 3-5 วัน จะเริ่มบินออกจากรังไปผสมพันธุ์ ในช่วงที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส และ เมื่อผึ้งตัวผู้พอได้กลิ่นของนางพญาสาว ก็จะบินตามไปเป็นกลุ่ม โดยผึ้งนางพญาสาว 1 ตัว สามารถผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้ได้มากถึง 20 ตัว โดยการผสมพันธุ์ของผึ้ง จะเกิดขึ้นเฉพาะกลางอากาศเท่านั้น และ นางพญาสาวจะมีถุงสำหรับเก็บน้ำเชื้อไว้ ทำให้ ไม่ต้องการผสมพันธุ์อีกเลยจนกว่าจะตาย

ผึ้ง

ผึ้งตัวผู้ (The Drone) มีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียว

พอผึ้งตัวผู้ที่ได้กลิ่นของนางพญาสาว จะบินตามไปเพื่อผสมพันธุ์ โดยผึ้งตัวผู้จะใช้ขาเกาะกับนางพญาเพื่อผสมพันธุ์ ซึ่งแต่ละตัวใช้เวลาประมาณ 3 – 5 วินาที หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ ผึ้งตัวผู้ก็จะตกลงมาตาย และ ถ้าหมดฤดูผสมพันธุ์แล้วผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ ก็มักจะถูกไล่ออกจากรัง หรือไม่ ผึ้งงานก็จะหยุดให้อาหารและตายในที่สุด

ผึ้ง

ผึ้งปรับอุณหภูมิภายในรังด้วยการกระพือปีก

การที่ผึ้งกระพือปีกอยู่ที่ทางเข้าของรังผึ้ง จะทำให้อากาศภายในรัง หมุนเวียนตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังทำให้น้ำหวานที่เก็บสะสมอยู่กลายเป็นน้ำผึ้ง เนื่องจาก ความชื้นที่ปนอยู่ในน้ำหวานจะระเหยออกมา จนทำให้ น้ำผึ้งมีความชื้นน้อยที่สุด

ผึ้ง

ผึ้งไม่ได้เก็บแค่น้ำหวาน

รู้กันดีว่าน้ำหวานเป็นอาหารสำคัญของผึ้ง แต่ผึ้งเองยังเก็บเกสร เพื่อใช้ในเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนของผึ้งอีกด้วย โดยที่ ผึ้งจะเอาตัวลงไปคลุกเคล้ากับเกสร และใช้หวีที่อยู่ที่ขาคราดไปตามตัว เพื่อมัดรวมเกสรไปไว้ที่ตะกร้าเก็บเกสร และ ผึ้งยังเก็บน้ำมาผสมกับน้ำผึ้งให้เจือจาง เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนอีกด้วย นอกจากนี้ ผึ้งก็ยังเก็บยางไม้ เพื่อนำมาใช้เคลือบผนังรังให้แน่น ใช้อุดรูต่างๆ ใช้ปิดปากทางเข้ารังให้เล็กลง

ผึ้ง

ประโยชน์ของผึ้งในการเกษตร

ผึ้งช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ เพราะ ผึ้งเป็นแมลงที่สำคัญที่ช่วยผสมเกสรให้พืชหลายชนิด ทั้ง ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม มะม่วง สตรอว์เบอร์รี พืชตระกูลแตง ข้าวโพด เป็นต้น และ เกษตรกรบางรายก็มีการเลี้ยงผึ้งไว้ในสวน เพื่อช่วยในการผสมเกสร และ สามารถเก็บน้ำผึ้งไว้สำหรับจำหน่าย เป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย

ผึ้ง
เหล่าผึ้งที่กำลังเก็บเกสรเทียม

น้ำตาลและเกสรเทียมอาหารสำรองสำหรับผึ้ง

ช่วงที่ไม่มีดอกไม้ เกษตรกรเลี้ยงผึ้งต้องหาน้ำตาล และ เกสรเทียมให้เป็นอาหารกับผึ้ง โดยน้ำตาลให้เป็นน้ำเชื่อม โดยผสมน้ำตาลทราย 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน วางไว้ใกล้กับรังผึ้ง ส่วนเกสรเทียม ใช้แป้งถั่วเหลืองป่นละเอียด นมผงไร้ไขมัน บริวเวอร์ยีสต์ วิตามินอี และ วิตามินบี ผสมให้เข้ากัน วางไว้ในที่ร่ม และ ปล่อยให้ผึ้งมาเก็บเข้ารังไป

นอกจาก 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผึ้งแล้ว สำหรับผู้ที่ส่งใจเลี้ยงผึ้งสามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก หนังสือบ้านและสวน Garden&Farm Vol.6 มาเลี้ยงผึ้งและชันโรงกัน เพื่อทำความรู้จักผึ้งมากขึ้น การลงมือการเลี้ยงผึ้ง การทำเมนูต่างๆ จากน้ำผึ้ง ไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลี้ยงผึ้งได้

เลี้ยงชันโรง (ผึ้งจิ๋ว)ในสวน ช่วยผสมเกสรแถมได้น้ำผึ้ง

อยากให้รู้ก่อนจะกิน กับ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ดอกไม้กินได้”