ขั้นบันได เชื่อมพื้นที่ในบ้านแบบมีดีไซน์ - บ้านและสวน
ขั้นบันได

ทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ ขั้นบันได

ขั้นบันได ในทางสถาปัตยกรรมถือเป็นโครงสร้างหนึ่งของบ้านที่ทำหน้าที่เชื่อมชั้นต่างๆเข้าด้วยกัน

ปัจจุบัน ขั้นบันได ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เชื่อมชั้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ถือเป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่นักออกแบบต่างให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบ โครงสร้าง รูปแบบ การวางตำแหน่งบันไดให้ถูกที่ถูกทาง ช่วยให้การใช้งานสะดวกและเหมาะสม

องค์ประกอบของบันได

  1. แม่บันได คือ ส่วนโครงสร้างของบันได มีหน้าที่รองรับน้ำหนักที่เกิดจากการใช้งาน มีทั้งบันไดไม้ บันไดเหล็ก และบันไดโครงสร้าง คอนกรีตเสริมเหล็ก 
  2. ลูกนอน คือ ขั้นบันไดในแนวนอน ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร 
  3. ลูกตั้ง คือ ขั้นบันไดในแนวตั้ง มีความสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร 
  4. ชานพัก คือ พื้นที่ที่คั่นอยู่ระหว่างช่วงบันได ต้องมีความกว้าง × ยาวไม่น้อยกว่าความกว้างบันได 
  5. ราวบันได ใช้สำหรับช่วยประคองตัวขณะขึ้นหรือลงบันไดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ระยะความสูงที่เหมาะสมประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร
  6. พื้นหน้าบันได คือ บริเวณพื้นที่ว่างก่อนขึ้นหรือลงบันได และพื้นที่ว่างเมื่อขึ้นหรือลงบันได ขั้นสุดท้าย 
  7. ช่วงบันได บันได 1 ช่วงไม่ควรสูงเกิน 3 เมตร หากมากกว่านั้นต้องมีชานพักบันได 

โครงสร้างบันได

แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ

  • โครงสร้างแม่บันไดคู่
โครงสร้างแม่บันไดคู่เป็นโครงสร้างที่ทำได้ง่าย โดยใช้แม่บันไดรับน้ำหนักสองฝั่งที่ด้านล่างหรือด้านข้างของขั้นบันได
  • โครงสร้างแม่บันไดเดี่ยว
โครงสร้างแม่บันไดเดี่ยวแบบแม่บันไดอยู่ตรงกลาง ยื่นลูกนอนออกไปสองข้าง โดยไม่ต้องมีลูกตั้งเพื่อให้ดูโปร่งเบา
โครงสร้างแม่บันไดเดี่ยวแบบแม่บันไดอยู่ข้าง อาจก่อผนังในแนวเดียวกับแม่บันไ ทำให้เห็นเฉพาะขั้นบันไดลอยออกมาจากกำแพง ก็ดูเท่อย่างมีดีไซน์
  • บันไดเป็นโครงสร้างด้วยตัวเอง เป็นงานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใส่โครงสร้างอยู่ในขั้นบันได
บันไดค.ส.ล.แบบท้องเรียบ ก่อสร้างได้ง่าย เหมาะกับส่วนที่ไม่ต้องโชว์หรือต้องการใช้พื้นที่ใต้บันได
บันไดค.ส.ล.แบบพับผ้า ต้องใช้ไม้แบบทำเป็นรูปขั้นบันได ก่อสร้างยากและเปลืองกว่า เหมาะกับบันไดแบบลอยตัวเพื่อโชว์โครงสร้างที่สวยงาม

รูปแบบของบันได

บันไดหักฉาก (L-Shaped Stairs) เป็นบันไดที่มีการเลี้ยวเป็นมุม 90 องศา โดยจุดที่หักเลี้ยวนั้นนิยมใช้เป็นชานพักคั่นกลางระหว่างสองช่วงบันได จำนวนบันไดในแต่ละช่วงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน สำหรับบ้านที่มีมากกว่า 2 ชั้น การวางบันไดของแต่ละชั้นในตำแหน่งเดียวกัน จะทำให้การเดินขึ้น – ลงบันไดมีความต่อเนื่อง และทางราบของแต่ละชั้นควรยาวเพียงพอให้ได้พักขาก่อนเดินขึ้นสู่บันไดชุดต่อไป

จังหวะของบันไดที่มีการหักเลี้ยวทำให้ดูน่าสนใจ จึงนิยมออกแบบให้บันไดในช่วงแรกที่เดินขึ้นมีระยะทางสั้นกว่าช่วงหลัง

บันไดหักกลับ (U-turn Stairs) เป็นบันไดทางตรง 2 ชุดเชื่อมต่อกันด้วยชานพัก เพื่อการเปลี่ยนทิศทางเดิน 180 องศา ช่วยลดจำนวนของขั้นบันไดในแต่ละชุด ทำให้ได้ผ่อนคลายความเมื่อยล้าก่อนจะขึ้นหรือลงบันไดชุดต่อไป ซึ่งบันไดแบบนี้จะมีพื้นที่ใต้บันไดค่อนข้างเตี้ยและแคบ จึงมักใช้เป็นที่เก็บของที่ไม่ค่อยได้ใช้ เช่น กระเป๋าเดินทาง

เพราะเราใช้บันไดเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงสามารถจัดวางบันไดในฝั่งทิศตะวันตก เพื่อช่วยกรองแสงแดดและความร้อนในช่วงบ่ายได้อีกด้วย

บันไดทางตรง (Straight Run Stairs) เป็นบันไดเชื่อมระหว่าง 2 ชั้นโดยไม่มีการเลี้ยวหรือโค้ง เหมาะกับบ้านที่มีหน้าแคบแต่ยาว พบได้บ่อยในตึกแถว โดยมักวางให้ชิดไปกับผนังฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพื่อประหยัดพื้นที่ ถ้าความสูงระหว่างพื้นสองชั้นแตกต่างกันมาก ควรมีชานพักตรงกลางเพื่อความปลอดภัย 

พื้นที่ใต้บันไดแบบนี้ความสูงค่อนข้างมาก ทำให้เพิ่มลูกเล่นได้หลากหลาย อาจมีการออกแบบบิลท์อินเพื่อความสวยงามและทำให้ใช้งานได้เต็มพื้นท

บันไดโค้ง (Curved Stairs) เป็นบันไดที่สวยงามและใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก จึงเหมาะกับบ้านที่มีขนาดใหญ่ นิยมวางตำแหน่งของบันไดโค้งไว้บริเวณโถงหน้าบ้าน ซึ่งมองเห็นบันไดได้อย่างชัดเจน มักจะใส่รายละเอียดที่ราวบันไดเพื่อความหรูหราและสวยงาม 

บันไดโค้งขนาดใหญ่ทำให้พื้นที่บริเวณบันไดกลายเป็นจุดเด่น นิยมจัดวางตกแต่งพื้นที่บริเวณนี้ด้วยของแต่งบ้านที่น่าสนใจ เช่น แจกันดอกไม้ขนาดใหญ่หรือเปียโน

บันไดเวียน (Spiral Stairs) เป็นบันไดที่ใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพราะบันไดทุกขั้นถูกยึดอยู่กับเสาหลักเพียงต้นเดียว ทำให้ขนาดของบันไดค่อนข้างเล็ก ต้องใช้ความระมัดระวังเมื่อใช้งาน ไม่นิยมใช้เป็นบันไดหลักของบ้าน นอกเสียจากมีพื้นที่จำกัดจนไม่สามารถสร้างบันไดรูปแบบอื่นได้

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับบันได

  • บันได ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนหักส่วนขั้นบันไดที่เหลื่อมกันแล้วกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร แต่ระยะที่เดินสบาย ลูกตั้งควรสูงประมาณ 18 เซนติเมตร และมีลูกนอนกว้าง 25-27.5 เซนติเมตร
ระยะของบันไดที่เดินสบาย ลูกตั้งควรสูงประมาณ 18 เซนติเมตร และมีลูกนอนกว้าง 25-27.5 เซนติเมตร
  • ชานพักและพื้นที่หน้าบันได ต้องมีความกว้างยาวไม่น้อยกว่าความกว้างสุทธิของบันได เว้นแต่บันไดที่มีความกว้างสุทธิเกิน 2 เมตร ชานพักและพื้นที่หน้าบันไดจะมีความยาวไม่เกิน 2 เมตรก็ได้ ถ้าบันไดสูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น ระยะดิ่งจากขั้นบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยู่เหนือบันไดต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร
ถ้าบันไดสูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น
  • ราวกันตก ควรสูง 85-90 เซนติเมตร และอย่าลืมทำแผงกันเด็กตกบริเวณส่วนล่างสูงจากพื้น 10-15 เซนติเมตร
ราวกันตกที่ออกแบบเป็นไม้ทรงเหลี่ยมและยาวแบบไร้รอยต่อ ส่วนที่หักมุมก็ต่อและขัดแต่งให้เรียบเนียน เพื่อให้รับกับดีไซน์ของขั้นบันได
  • ขั้นบันได แต่ละขั้นควรเหลื่อมกัน 1 นิ้ว จะทำให้เดินสะดวกขึ้น
  • พื้นที่ใต้บันได ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ถ้าเป็นบันไดโชว์ก็จัดสวน สวนกรวด หรือบ่อน้ำให้สวยงาม หรือถ้าเป็นบันไดใช้สอย สามารถทำเป็นตู้เก็บของหรือใช้แผ่นไม้อัดติดล้อเลื่อนสำหรับวางของ สามารถดึงเข้า-ออกแล้วหยิบของได้สะดวกขึ้น
พื้นที่ใต้บันไดที่จัดเป็นสวนกรวดแบบง่ายๆ
สำหรับบ้านที่เล่นระดับพื้นให้สูงไม่เท่ากัน สามารถสร้างความโดดเด่นได้ด้วยการใช้ขั้นบันไดมาเพิ่มความน่าสนใจ โดยออกแบบให้ลูกนอนแต่ละขั้นมีระยะไม่เท่ากัน บางขั้นไปซ้าย บางขั้นไปขวา แบบนี้จะใช้เป็นม้านั่งหรือชั้นวางของก็สวยเก๋ไม่แพ้กัน
  • วัสดุปูบันได ใช้วัสดุที่ทนทานและไม่ลื่นอย่างหิน กระเบื้องเซรามิก ไม้ เหล็กกันลื่น และทำจมูกบันไดกันลื่นด้วยการเซาะร่อง ติดแถบกันลื่น หรือใช้จมูกบันไดสำเร็จรูปที่ทำจากพีวีซีหรืออะลูมิเนียม
ทำจมูกบันไดกันลื่นด้วยการเซาะร่อง

บ้านและสวน มี ขั้นบันได แบบต่างๆมาให้คุณเลือกนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์ของบ้าน ดังนี้


เรื่อง : ศรายุทธ, jOhe

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, room, my home

ภาพประกอบ : นราวิชญ์ มวลจุมพล

ปรับ พื้นที่ใต้บันได ให้เป็นมากกว่า ที่เก็บของ

ไอเดียบันไดในสวน แก้ปัญหาระดับความสูงของพื้นที่รอบบ้านที่ไม่เท่ากัน