ไอเดียบ้านสวน อยู่สบายอย่างบ้านเขตร้อน
ชีวิตบ้านสวนก็สามารถอยู่อย่างสะดวกสบายได้ โดยเติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ออกแบบอย่างเข้าใจในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ
การออกแบบบ้านสำหรับอยู่อาศัยนอกเมือง นอกจากการจัดการสาธารณูปโภคให้ใช้ในบ้านได้อย่างสะดวกแล้ว ควรเสริม ไอเดียบ้านสวน ที่มีความสอดคล้องกับสภาพลมฟ้าอากาศที่ไม่เหมือนกับในเมือง เพื่อให้อาศัย ซึ่งบ้านและสวนมีไอเดียการออกแบบบ้านสวนให้อยู่สบาย ดังนี้
ช่องเปิดที่สามารถปรับการเปิด – ปิดได้
เพื่อให้ลมพัดผ่านได้อย่างทั่วถึง และลดความรุนแรงของลมพายุได้ในเวลาจำเป็น อย่างการทำผนังเป็นประตูบานเฟี้ยมที่เปิดให้โล่งเหมือนไต้ถุนบ้าน แต่ก็ปิดให้มิดชิดได้
อ่านต่อ >> บ้านไม้ สไตล์ปักษ์ใต้ร่วมสมัย แห่งพัทลุง
ชายคายืดยาวทำหน้าที่ป้องกันแดด
ออกแบบชายคายื่นยาว สร้างร่มเงาให้ผนังบ้านฝั่งที่ได้รับแดดมาก เช่น ทิศใต้และทิศตะวันตก ซึ่งหากชายคายาวมากกว่า 1 เมตร ควรเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างเพื่อช่วยในการรับน้ำหนักด้วย
บ้านสวนที่เน้นการระบายอากาศด้วยลมธรรมชาติ ผนังบ้านฝั่งทิศใต้ที่รับแดดมากที่สุดของวันออกแบบให้มีชายคายืดยาว เสริมความแข็งแรงของหลังคาด้วยแนวเสาเรียงกันเป็นแถว ช่วยบังแดดไม่ให้ส่องถึงผนังบ้านโดยตรงและยังสามารถเปิดช่องให้ลมผ่านเพื่อระบายอากาศในเวลาเดียวกันได้ ทำให้ในระหว่างวันที่ร้อนจัด ตัวอาคารก็ไม่ร้อนจนเกินไปนัก
อ่านต่อ >> สมถะ-สถาน บ้านสวนล้อมแปลงผัก ดูแลง่าย ของสถาปนิก
สร้างความเย็นสบายด้วยอ่างเก็บน้ำ
ความชื้นในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้คนในบ้านรู้สึกหายใจคล่อง และสบายตัว ซึ่งควรขุดบ่อให้มีความลึกมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป เพื่อให้น้ำช่วยลดอุณภูมิของลมที่พัดผ่าน และนำความเย็นเข้าสู่บ้านสร้างความรู้สึกสบายตัวได้
บ้านไม้ขนาดสองชั้นที่หันด้านยาวของตัวบ้านให้ขนานไปกับบ่อนํ้าและแนวภูเขา พร้อมออกแบบให้ผนังสามารถเปิดโล่งเพื่อรับลมและชมวิวธรรมชาติได้จากทุกมุมภายในบ้าน ออกแบบชานระเบียงริมน้ำสำหรับนั่งรับลมเย็นสบาย
และจากความรักที่จะอยู่ใกล้น้ำของเจ้าของบ้าน จึงต้องมีการออกแบบระบบน้ำเพื่อให้บ่อคงความใสสะอาด แก้ปัญหาทางน้ำเดิมที่มีอยู่ในที่ จัดการทิศทางของนํ้าให้ยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ต้องรองรับการไหลล้นของน้ำฝน น้ำจากภูเขา และไม่กีดขวางทางน้ำของเพื่อนบ้านในชุมชนด้วย
ออกแบบโครงสร้างบ้านให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ในตัว
พื้นที่บริเวณกึ่งภายนอกของบ้าน เช่น เฉลียง ระเบียง ชาน ควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่เสียหายเมื่อโดนแดดฝน หรือประยุกต์โครงสร้างให้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม ด้วยการทำขอบกันตกให้กว้างขึ้นเป็นม้านั่งที่แข็งแรง ไม่ต้องวิ่งเก็บในวันที่มีพายุ
ม้านั่งที่มีขนาดกว้างเป็นพิเศษสำหรับนั่งรับลมริมน้ำ เลือกใช้ไม้ตะแบบผืนใหญ่จากโรงไม้ใกล้บ้านติดตั้งเป็นม้านั่งแทนราวกันตก ความแข็งแกร่งของเนื้อไม้จึงสามารถใช้งานได้ยาวนานแม้จะโดนแดดฝน คงความสวยงามจากการกรำแดดตามธรรมชาติ
อ่านต่อ >> บ้านไม้ติดน้ำ รับลม และโอบล้อมด้วยวิวภูเขา
ออกแบบผังบ้านให้ลมผ่านได้ดี
การวางผังเป็นเรือนหมู่ที่เชื่อมถึงกันด้วยชานบ้าน ทางเดินเชื่อมระหว่างเรือนนั้นจะเป็นช่องให้ลมไหลผ่าน ทำให้ลมธรรมชาติสามารถเข้าถึงได้ทุกส่วนของบ้าน ช่วยในการระบายอากาศและความร้อน
จากความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่ “อยากให้ทุกคนได้มีพื้นที่ของตัวเอง แล้วก็เชื่อมพื้นที่เหล่านั้นด้วยโถงทางเดิน เปิดพื้นที่ตรงกลางเป็นสวนและกั้นความเป็นส่วนตัวของทุกห้องออกจากกัน แต่ก็ยังหลวมพอที่ลมจะไหลเวียนผ่านทุกส่วนของบ้านได้”
บ้านหลังนี้จึงมีการเว้นระยะของแต่ละห้องเพื่อให้อากาศสามารถไหลเวียนได้ทั่วบ้าน ไม่เกิดพื้นที่อับ และทำให้บ้านดูไม่อึดอัด นอกจากนี้ยังออกแบบพื้นที่รับแขกและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้เป็นชานนั่งเล่นได้อย่างลงตัว ทั้งโครงสร้างที่ยื่นออกไปยังช่วยกันแดดกันฝน เมื่อผนวกกับลมเย็นๆ ที่พัดผ่านตลอดทั้งวัน ทั้งสองบริเวณจึงเป็นพื้นที่พักผ่อนที่ใช้งานได้จริง และบอกเลย ว่าสบายมากๆ
อ่านต่อ >> บ้านที่เชื่อมกันด้วยชานนั่งเล่นแบบไทย
ยกใต้ถุนบ้าน
ใต้ถุนเป็นพื้นที่ใช้สอยมากประโยชน์ที่ช่วยปกป้องอาคารได้ในเวลาเดียวกัน เพราะช่วยในการระบายอากาศในส่วนล่างของตัวบ้าน ระบายความชื้นที่ระเหยขึ้นมาจากหน้าดิน และในฤดูฝนที่มีน้ำหลาก การยกไต้ถุนจะเป็นการเปิดทางให้นำไหลผ่านได้สะดวก
“คุณพ่อเป็นคนคลองอัมพวา คุณแม่เป็นคนบ้านแป้งซึ่งเป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสิงห์บุรี จึงมีความผูกพันกับแม่น้ำในสายเลือด เป็นความฝันของครอบครัวเราที่อยากมีบ้านสวนริมคลองที่อยู่เย็นเป็นสุขตามวิถีชีวิตคนไทย” ที่มาของการออกแบบบ้านริมน้ำของครอบครัวตุ้มปรึกษา
ซึ่งใช้การยกใต้ถุนสูงเป็นที่จอดรถและเรือเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วม ด้วยความคิดว่าหากน้ำท่วมคงไม่สามารถซ่อมบ้านให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ การยกหนีน้ำจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด แต่พื้นที่นี้ก็ไม่เคยเกิดน้ำท่วมด้านหน้าบ้านทำบันไดกลางแจ้งขึ้นชั้นบน มีชานเรือนอยู่ด้านหน้า เชื่อมส่วนนั่งเล่น โต๊ะรับประทานอาหาร และครัวให้ต่อเนื่องกัน เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันแบบอบอุ่นเหมือนเดิม
อ่านต่อ >> บ้านใต้ถุนสูง ริมคลอง ความสุขตามวิถีชีวิตแบบไทย
คอลัมน์ Home Expert ก.พ. 67
เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน