บ้านริมนา อยู่สบายท่ามกลางธรรมชาติ
บ้านริมนา ที่ค่อยๆพัฒนาจากทุ่งหญ้ารกร้าง ขุดบ่อเก็บน้ำ ทำนา จนอยากใช้เวลาอยู่ที่ตรงนี้ให้นานขึ้น จึงมาปลูกบ้านหลังนี้
Design Directory สถาปนิก : ชาน สตูดิโอ
หาที่หนีน้ำท่วม บ้านริมนา
ย้อนไปเมื่อปี 2554 เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ คุณตั้น – ชัชพรรษ แสงสุข หนีน้ำท่วมมาอาศัยอยู่กับเพื่อนที่มีบ้านอยู่ติดกับที่ดินผืนนี้ ผ่านไป 3 ปีเมื่อมีการประกาศขายที่ดิน จึงตัดสินใจซื้อ จากความตั้งใจแรกที่จะทำการเกษตรควบคู่กับการปฏิบัติธรรม แต่ด้วยวิถีชีวิตที่อยู่ในกรุงเทพฯมาตลอด จึงต้องปรับตัว และเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด พยายามศึกษาหาข้อมูลความรู้ แต่ก็ใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จ เพราะผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร คุณตั้นเล่าว่า “ตอนแรกปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ได้ข้าว 50 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งน้อยมาก ทำให้รู้ว่าจะทำเรือกสวนไร่นา ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ น้ำเป็นส่วนสำคัญ เลยตัดสินใจ วางแผนแบ่งการใช้ที่ดินเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งขุดบ่อ เพื่อเก็บน้ำ และนำดินมาถมที่เตรียมปลูกบ้าน รูปทรงบ่อน้ำที่เห็นอยู่นี้ คนขุดรถแม็กโครก็ออกแบบมาให้เลย หลังจากนั้นก็เริ่มเลี้ยงปลา ปลูกไม้ผล ปลูกไม้ยืนต้นเป็นป่า พอเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก็ยิ่งต้องใช้เวลาอยู่กับมันมากขึ้น ก็เลยคิดว่าอยากมีศาลาเล็กๆไว้อยู่ดูแลสวนและปฏิบัติธรรม”
ศาลาเล็กๆ สู่บ้านสำหรับครอบครัว
จากแบบแรกที่เป็นศาลาเล็กๆ ยกพื้น มีแค่ห้องนอนสำหรับพักคนเดียว เมื่อครอบครัวมีสมาชิกเพิ่มขึ้น คือ คุณกรวรา ศุภอริยะนนท์ และเด็กชายติณณ์ แสงสุข ภรรยาและลูกชาย คุณตั้นจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ โดยมี คุณชาย-ศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ และ คุณแอน-อรพิมพ์ ตันติพัฒน์ สถาปนิกจาก ชาน สตูดิโอ มาดูแลบ้านหลังนี้
“ข้อมูลตอนแรกที่คุณตั้นใช้เพื่ออธิบายความต้องการ คือ ศาลาของหมู่บ้านพลัม ที่คุณตั้นเคยไปปฏิบัติธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไม้สบายๆ ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ใช้วัสดุดิบๆง่ายๆ แต่ปรับแบบให้อยู่สบายสำหรับทุกคน เป็นบ้าน 2 ชั้น ที่มีสัดส่วนขนาดไม่ใหญ่มาก ห้องนอนอยู่ชั้นบนเพื่อความปลอดภัยยามค่ำคืน ตัวบ้านยกพื้นเล็กน้อย เพื่อป้องกันสัตว์ แมลง และความชื้น ชานบ้านโล่งๆแผ่กว้าง มองเห็นบ่อน้ำตรงหน้า และวิวทุ่งนาโดยรอบ ใช้วัสดุที่ดูเป็นธรรมชาติ ให้ดูกลมกลืนไปกับบริบทโดยรอบ”
เชื่อมต่อภายนอก-ภายใน
ที่ดิน 10 ไร่ แนวยาวจากทิศตะวันออกไปตะวันตก สถาปนิกเลือกวางตัวบ้านรับทิศเหนือ-ใต้ ชิดกับบ่อน้ำ และมีชานบ้านยื่นออกไป ตัวบ้านชั้นล่าง สามารถเปิดโล่งรับลมจากทิศ ใต้ให้ไหลเวียนได้สะดวก ภายในบ้านเป็นเหมือนห้องขนาดใหญ่ลักษณะโอเพ่นแปลน ไม่ว่าจะอยู่มุมไหน ก็มองเห็นกันและกันได้เสมอ บริเวณโต๊ะกินข้าวออกแบบให้เป็นส่วนโถงสูง ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง ส่วนของหลังคาสกายไลต์เหนือแพนทรี่ ทำให้ภายในบ้านสว่าง แต่ดูนุ่มนวลด้วยระแนงไม้ที่ติดตั้งไว้ภายในบ้าน นอกจากนี้โถงสูง ยังทำให้สามารถมองเชื่อมต่อ กับหน้าต่างภายในของห้องนอนชั้นบน บันไดพาเราขึ้นไปบริเวณชานพัก ที่ออกแบบให้เป็นระเบียงเล็กๆ พร้อมที่นั่งชมวิวทุ่งนา และ มีบันไดอีกฝั่ง เป็นทางลงสู่ชานบ้านข้างนอก เป็นมุมบันไดในบ้าน-นอกบ้านที่แปลกตาไม่เหมือนใคร
ชั้น 2 เป็นส่วนของห้องนอน ที่ออกแบบให้มีความเป็นส่วนตัว สามารถเปิดออกสู่ระเบียงรูปตัวแอล (L) มองเห็นทุ่งนาได้จากมุมสูง ที่นั่งริมระเบียงเล็กๆ อยู่ใกล้ชิดกับหลังคาจั่วไม้ซีดาร์ ที่มีปีกหลังคายื่นยาว คล้อยลงมาใกล้ในระยะที่สัมผัสได้ ให้ความรู้สึกถึงความอ่อนน้อม และ โอบล้อมเราไว้เวลาที่อยู่ภายในบ้าน
คนกรุงกับการเกษตร
จากคนเมือง ที่เห็นแต่ตึกรามบ้านช่อง สู่เจ้าของเรือกสวนไร่นา ท่ามกลางธรรมชาติ ดูเป็นวิถีชีวิตที่หลายคนให้ความสนใจ “หลายคนที่เป็นมนุษย์ออฟฟิศ มีความฝัน อยากออกมาทำการเกษตร มาใช้ชีวิตแบบคนชนบท แต่ในความเป็นจริงจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าเริ่มต้นเหมือนของผมที่นี่ คือไม่มีความรู้อะไรเลย ลองผิดลองถูก เรียนรู้มาเรื่อยๆ ผลผลิตก็ไม่ได้ดั่งใจ จากการดูแล ปรับปรุงที่ดินผืนนี้มาเป็น 10 ปี มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด คำแนะนำแรกคิดว่า ให้ตอบตัวเองก่อนว่าเราจะทำเพื่ออะไร เรามีองค์ความรู้พวกนี้มากแค่ไหน แน่นอนว่า เรื่องของกำลังทรัพย์เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องมีเวลา มีการเรียนรู้ เรื่องการทำการเกษตรเพิ่มเติม แน่นอนว่ามันจะมีส่วนที่เสียหาย ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง” เป็นคำแนะนำที่ตรง และ จริงใจจากสิ่งที่คุณตั้นได้เรียนรู้
เข้าใจและเรียนรู้ไปด้วยกัน
“บ้านริมนา เป็นเหมือนบ้านพักหลังที่สองของครอบครัว นอกจากการทำเกษตรแล้ว เรายังต้องเรียนรู้กับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ พวกแมลง มด หนูที่ชอบมาทำรัง กัดสายไฟ หรือสัตว์มีพิษ เช่น งู ก็ต้องระวัง เรียนรู้วิธีที่จะจัดการ หาวิธีป้องกัน อยู่ร่วมกับเขาอย่างไร เราได้ความรู้ใหม่ว่าเลี้ยงห่านไว้ไล่งูได้ ก็ลองทำดู ต้องเข้าใจธรรมชาติ และเรียนรู้กันไป จากตอนแรก ที่คนรอบตัวไม่เห็นด้วย ตั้งคำถามว่าจะเอาเงินมาทิ้งที่นี่ทำไม กลายเป็นว่าเวลาเราจะมาที่นี่ ทุกคนในครอบครัว คุณตาคุณยาย หรือคุณย่า ก็จะตามมาด้วย ทุกคนเริ่มชอบที่นี่มากขึ้น จนบ้านเริ่มเล็กเกินไป เลยมีแผนที่จะต่อเติมเรือนนอนเล็กๆเพิ่มอีกหลัง เพื่อให้รองรับทุกคนได้อย่างสะดวกสบาย ความรู้สึกในวันแรก มันไม่เหมือนกับในวันนี้ ถึงจะเป็นอะไรที่เราไม่ได้คาดคิด แต่กลับเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง”
สถาปนิก : ชาน สตูดิโอ โดยคุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ และ คุณอรพิมพ์ ตันติพัฒน์
เจ้าของ : คุณชัชพรรษ แสงสุข คุณกรวรา ศุภอริยะนนท์ และเด็กชายติณณ์ แสงสุข
เรื่อง : คุณชัชพรรษ แสงสุข และ jOhe
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
แบบบ้านสวน โมเดิร์นทรอปิคัลอยู่สบายกับธรรมชาติ