ทำแบบนี้แล้ว บ้านประหยัดพลังงาน จริงไหม?
มาดู 8 เรื่องที่เราเข้าใจว่าทำให้ บ้านประหยัดพลังงาน มากขึ้น แต่นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด มาไขข้อสงสัยว่าทำแบบนี้แล้วประหยัดพลังงานขึ้นจริงหรือไม่
1.ติดฉนวนป้องกันความร้อนเข้าบ้านแล้ว ภายในบ้านจะไม่ร้อน
ความเข้าใจ : ถ้าติดฉนวนกันความร้อนและใช้วัสดุกันความร้อนที่หลังคาและผนังทั้งบ้านแล้ว ในบ้านจะต้องเย็นสิ
ข้อเท็จจริง : แน่นอนว่าการติดฉนวนกันความร้อนทั้งที่ผนังและหลังคาเป็นการช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างดี เพราะวัสดุฉนวนจะลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ตัวบ้าน ทั้งยังช่วยกักเก็บความเย็นภายในบ้านได้ดี ซึ่งปกตินิยมมาติดบริเวณผนังและหลังคาบ้าน แต่บ่อยครั้งพบว่าเมื่อกลับเข้าบ้านช่วงเย็น บ้านก็ยังร้อนอยู่ เนื่องจากฉนวนจะป้องกันความร้อนได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อภายในห้องนั้นเป็นพื้นที่ปิดทั้งหมด แต่ในบ้านปกติจะมีหน้าต่าง ช่องแสง และส่วนประกอบอาคารที่มีความเป็นฉนวนน้อย และตัวฉนวนเองก็กันความร้อนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังเป็นจุดที่นำพาความร้อนของแสงแดดเข้ามาได้ และกลายเป็นความร้อนสะสมอยู่ภายในบ้านตลอดทั้งวัน ทั้งยังระบายความร้อนออกไปได้ยากเนื่องจากมีฉนวนกั้นอยู่ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์กระติกน้ำร้อน (Thermal Flask Effect) อีกทั้งในช่วงเวลากลางวันเมื่อไม่มีคนอยู่ก็จะปิดหน้าต่างทุกบาน ส่งผลให้ความร้อนอบอ้าวสะสมอยู่ภายใน คล้ายกับการเกิดสภาวะเรือนกระจก บ้านประหยัดพลังงาน
วิธีประหยัดพลังงานที่ดี : ควรใช้ฉนวนกันความร้อน ร่วมกับการระบายความร้อนสะสมในบ้านซึ่งทำได้หลายวิธี คือ
- ระบายความร้อนสะสมออก ด้วยการแง้มหน้าต่างเพื่อให้อากาศร้อนระบายออกได้เอง การติดระบบระบายอากาศเพื่อดูดอากาศร้อนออก
- ลดความร้อนที่เข้ามาทางช่องเปิด ด้วยการติดฟิล์มกันความร้อน ติดม่านกันความร้อน หรือบังแดดให้ช่องเปิดด้วยการทำกันสาดหรือปลูกต้นไม้
2.ใช้กระจกกันความร้อนแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำแผงบังแดด
ความเข้าใจ : ลงทุนใช้กระจกฉนวน ไม่ต้องทำชายคาบังแดดหรือแผงบังแดด บ้านก็ไม่ร้อน
ข้อเท็จจริง : บ้านสไตล์โมเดิร์นนิยมออกแบบเน้นรูปทรงเรียบง่าย ไม่มีชายคา จึงมักทำผนังกระจกเต็มบานเพื่อความสวยงาม และสร้างความโปร่งโล่งให้พื้นที่ภายในบ้าน โดยเลือกใช้เป็นกระจกฉนวนสองชั้น (Insulated Glass) หรือกระจกที่มีประสิทธิภาพในการกันความร้อนสูงแทนการทำชายคาและแผงบังแดด แต่เนื่องจากกระจกฉนวนสองชั้นสามารถลดการถ่ายเทความร้อนได้ระดับหนึ่งเท่านั้น หากจัดวางอยู่ในทิศทางที่โดนความร้อนจัดอย่างทิศตะวันตกและทิศใต้ ก็ย่อมทำให้ความร้อนค่อยๆผ่านเข้ามาได้เช่นกัน
วิธีประหยัดพลังงานที่ดี : การใช้กระจกกันความร้อนอาจไม่ได้ช่วยประหยัดพลังงานหรือลดความร้อนได้ดีเท่ากับการใช้กระจกธรรมดาร่วมกับแผงบังแดด ดังนั้นการป้องกันที่ต้นเหตุนั้นถือว่าดีที่สุด คือการทำชายคาหรือแผงบังแดดเพื่อป้องกันแสงแดดมาโดยผนังกระจกและช่องเปิดกระจกโดยตรง หรือจัดวางผังให้ผนังกระจกอยู่ในทิศที่เหมาะสม เพื่อเปิดรับแสงที่ไม่ร้อนมาก
3. บ้านประหยัดพลังงาน ต้องเปิดให้แสงแดดผ่านเข้ามามากๆ
ความเข้าใจ : การนำแสงแดดเข้ามาจะช่วยให้ในบ้านสว่าง ลดการใช้ไฟแสงสว่างในช่วงกลางวัน
ข้อเท็จจริง : ความเข้าใจนี้อาจฟังว่าถูก แต่ถูกไม่ทั้งหมด เนื่องจากต้องคำนึงถึงวิธีการและประเภทของแสงธรรมชาติที่นำเข้ามาภายในบ้านด้วย โดยแสงธรรมชาติที่เข้ามาในบ้านควรเป็นแสงสว่างธรรมชาติ (Daylight) ที่ไม่ใช่แสงแดด (Sunlight) ที่กระทบโดยตรง เพราะแสงแดดจะมาพร้อมกับความร้อนเสมอ การทำผนังกระจกและปล่อยให้แสงแดดสาดเข้ามาในพื้นที่โดยตรง ย่อมทำให้พื้นที่นั้นมีความร้อนสะสมมากเกินจนทำลายสภาวะน่าสบาย และอาจต้องเปิดใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น หรือต้องปิดม่านเพื่อลดความร้อนแล้วเปิดใช้ไฟแสงสว่างแทน ซึ่งไม่ใช่วิธีการช่วยให้ บ้านประหยัดพลังงาน มากขึ้นอย่างแน่นอน
วิธีประหยัดพลังงานที่ดี : วิธีลดความร้อนของแสงแดดให้เป็นแสงสว่างธรรมชาติที่เหมาะจะนำเข้ามาในบ้านมีหลายวิธี เช่น
- ทำยื่นชายคาบ้านออกมาบังช่องแสง เพื่อป้องกันแสงแดดไม่ให้ส่องเข้าบ้านโดยตรง
- ติดตั้งแผงบังแดด ให้เหมาะสมกับทิศทางของแสงอาทิตย์ และปริมาณแสงที่ต้องการให้ผ่านเข้ามา
- เปลี่ยนแสงแบบตกกระทบทางตรง (Direction Light) ให้เป็นแสงแบบตกกระทบทางอ้อม (Indirection Light) ที่มีความร้อนน้อยลงได้ ด้วยการออกแบบช่องเปิดที่ทำให้มีการบังเงา และแสงเกิดการสะท้อนผ่านเข้ามาภายในได้
- ทำผนังต้นไม้กรองแสง ที่นอกจากจะช่วยลดความแรงของแสงแดดแล้วยังช่วยสร้างบรรยากาศร่มรื่นอีกด้วย
4.เมื่อปิดแอร์ไม่ควรเปิดหน้าต่างประตูทันที
ความเข้าใจ : การเปิดหน้าต่างทันทีจะทำให้เกิดความชื้นภายในห้อง
ข้อเท็จจริง : ห้องปรับอากาศจะมีอุณหภูมิและความชื้นน้อยกว่าภายนอกจึงทำให้รู้สึกสบาย ดังนั้นหากเมื่อปิดเครื่องปรับอากาศแล้วเปิดหน้าต่างในทันที จะทำให้อุณหภูมิห้องเปลี่ยนฉับพลัน อากาศร้อนจากภายนอกจะวิ่งเข้าหาอากาศเย็นภายในห้อง ด้วยอุณหภูมิที่แตกต่างมาปะทะกันจึงทำให้เกิดความชื้นสะสมอยู่ภายในห้อง โดยจะสะสมอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ทำให้การเปิดเครื่องปรับอากาศในครั้งถัดไปนั้นสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าเดิม เพราะเครื่องต้องทำการลดความชื้นภายในห้องออกไปพร้อมๆกับการลดอุณหภูมิ
วิธีประหยัดพลังงานที่ดี : แนะนำให้ปิดเครื่องปรับอากาศล่วงหน้า 15-30 นาที ก่อนออกจากห้อง แล้วหลังจาก 1 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิภายในห้องจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับภายนอก จึงเปิดประตู หน้าต่างได้ตามปกติ
5.ใช้ประตูห้องน้ำแบบบานเกล็ด ทำให้เปลืองพลังงานมากขึ้น
ความเข้าใจ : อากาศจะผ่านเข้าห้องน้ำได้ ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานมากขึ้น
ข้อเท็จจริง : การเลือกใช้ประตูห้องน้ำเป็นเเบบบานเกล็ดไม่ได้ช่วยในการประหยัดพลังงานแต่อย่างใด แต่ช่วยในการระบายอากาศและความอับชื้นภายในห้องน้ำออกไปมากกว่า ซึ่งอาจทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าเดิม หากห้องน้ำอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากความชื้นจากห้องน้ำจะเข้าไปสะสมภายในห้องนั้นด้วย และมีการถ่ายเทอุณหภูมิระหว่างห้อง โดยเฉพาะถ้าห้องน้ำมีช่องระบายอากาศที่เปิดค้างไว้ อากาศภายนอกก็จะหมุนเวียนเข้าออกตลอดเวลา ทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักมากขึ้น
วิธีประหยัดพลังงานที่ดี : การเลือกใช้ประตูห้องน้ำที่ติดห้องปรับอากาศควรใช้ประตูแบบทึบที่ปิดได้มิดชิด ส่วนห้องน้ำที่ติดกับพื้นที่ภายในที่เปิดโล่ง หรือห้องน้ำที่ไม่สามารถเปิดช่องระบายอากาศสู่ภายนอกได้ จึงเหมาะสมกับห้องประตูบานเกล็ด เพื่อช่วยระบายอากาศและความชื้น
6.ติดลูกหมุนระบายอากาศหลังคาบ้านดีกว่าติดฉนวนกันความร้อน
ความเข้าใจ : ลูกหมุนระบายอากาศหรือ “พัดลมฟักทอง” ช่วยระบายความร้อนออก ทำให้บ้านไม่ร้อน และราคาประหยัดกว่าฉนวนกันความร้อน
ข้อเท็จจริง : ทั้งการติดลูกหมุนระบายอากาศและการติดฉนวนเป็นการลดความร้อนให้บ้านทั้งสองวิธี แต่มีหลักการทำงานต่างกัน คือ ฉนวนจะช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้ผ่านเข้ามาหรือหน่วงความร้อนให้ผ่านมาช้าลง ส่วนลูกหมุมระบายอากาศจะช่วยในการระบายความร้อนออกจากใต้หลังคาและจะทำงานก็ต่อเมื่อมีแรงลมพัดผ่านมากพอ ซึ่งการติดลูกหมุนระบายอากาศจะเหมาะกับการใช้ระบายความร้อนในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีความโปร่งอย่างโรงงานและโกดัง ทำให้อากาศไหลจากด้านล่างขึ้นด้านบนได้สะดวก และติดตั้งในพื้นที่ที่มีลมพัดมากพอที่จะทำให้ลูกหมุนทำงาน จึงมักไม่เหมาะกับการติดบนหลังคาบ้านซึ่งมีพื้นที่ใต้หลังคาขนาดเล็กทำให้ประสิทธิภาพการระบายความร้อนน้อย และหากติดตั้งในพื้นที่เป็นซอกมุม มีอาคารบังกันซึ่งมีลมพัดผ่านน้อย ลูกหมุนก็จะไม่ทำงานหรือหมุนเพียงเล็กน้อย จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการลดความร้อนน้อย เมื่อเทียบกับฉนวนกันความร้อนที่ป้องกันความร้อนเข้ามาตั้งแต่ต้นทาง แล้วเรายังเลือกประสิทธิภาพการกันความร้อนได้ตามวัสดุฉนวนแต่ละชนิด
วิธีประหยัดพลังงานที่ดี : แนะนำให้ติดฉนวนกันความร้อนร่วมกับการระบายความร้อนสะสมในบ้านและใต้หลังคา หากเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการติดลูกหมุนระบายอากาศ สามารถใช้พัดลมระบายอากาศที่ใช้ไฟฟ้าแทน ซึ่งมีระบบที่มีแผงโซลาร์เซลล์ในตัวด้วย หรือออกแบบหลังคาให้มีช่องระบายอากาศเพื่อให้ระบายความร้อนได้เองตามธรรมชาติ
7.ปลูกต้นไม้บนหลังคา (Roof Garden) ทำให้บ้านเย็น แต่ต้องลงทุนและดูแลเยอะ
ความเข้าใจ : ความเย็นจากดินและร่มเงาต้นไม้จะช่วยให้หลังคาไม่ร้อน แต่ก็จะทำให้หลังคาชื้นด้วย
ข้อเท็จจริง : หลังคาเขียว (Green Roof) หรือสวนบนหลังคา (Roof Garden) คือ หลังคาที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ พืชพรรณธรรมชาติ โดยมีการทำชั้นดินที่ซึมซับน้ำไว้ ซึ่งมีความลึกของชั้นดินประมาณ 30 เซนติเมตรขึ้นไป หรืออาจทำเป็นสวนกระถาง โดยทำเป็นหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาประเภทนี้มีส่วนช่วยประหยัดการใช้พลังงานเพื่อให้บ้านเย็นอย่างแน่นอน เนื่องจากความชื้นและความหนาของดินช่วยลดการถ่ายเทความร้อนจากดวงอาทิตย์ แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุนด้านโครงสร้างอาคารที่จะรับน้ำหนักมากขึ้น การป้องกันความชื้นมาสร้างความเสียหายให้โครงสร้าง และการดูแลรักษาการระบายน้ำรวมถึงต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นหากไม่ต้องการดูแลรักษามาก การลงทุนติดตั้งฉนวนกันความร้อนประสิทธิภาพสูง ก็จะทำให้บ้านเย็นได้เช่นกัน
แต่ทำไมเราจึงเห็นการสร้างอาคารในเมืองรณรงค์ให้ทำหลังคาเขียวกันอย่างจริงจัง นั่นเพราะพื้นที่เมืองมีอัตราพื้นที่สีเขียวน้อย หากมีการทำหลังคาเขียวแทนหลังคาคอนกรีตหรือพื้นที่ดาดแข็งซึ่งมีสะสมความร้อนมาก ย่อมส่งผลให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยให้อุณหภูมิของเมืองลดลงได้ เป็นวิธีการออกแบบเพื่อส่วนรวมที่สร้างประโยชน์ในระดับมหภาค เพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น
วิธีประหยัดพลังงานที่ดี : นอกจากการปลูกต้นไม้บนหลังคาแล้ว ยังสามารถลดความร้อนของหลังคาดาดฟ้าได้ด้วยการวางแผ่นโซลาร์สแลป หรือการโรยกรวดบนหลังคา ก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก
8.บ้านแบบ Passive Design ต้องไม่ใช้เครื่องปรับอากาศเลย
ความเข้าใจ : บ้านที่ออกแบบให้เย็นตามธรรมชาติจะอยู่สบายจนไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ
ข้อเท็จจริง : Passive Design เป็นการออกแบบโดยคำนึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และสร้างสภาวะน่าสบายในการอยู่อาศัย เช่น การวางแนวอาคารโดยคำนึงถึงทิศทางของลมและแสงแดด เพื่อบังคับทิศทางลมให้ไหลผ่านตัวบ้านและเพื่อหลบแดด ซึ่งถ้าเป็นบ้านที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างบ้านไทยในสมัยก่อน ภายในบ้านก็จะเย็นตามสภาพแวดล้อมด้วย แต่ในยุคปัจจุบันที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น แม้จะออกแบบบ้านอย่างดี ก็ไม่อาจอยู่ไม่สบายเพราะอุณหภูมิภายนอกร้อน ดังนั้นการสร้างสภาวะน่าสบายภายในบ้าน จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือกลออย่างเครื่องปรับอากาศช่วยให้เหมาะกับการอยู่อาศัยที่ดี
วิธีประหยัดพลังงานที่ดี : หลักการ Passive Desgin เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้บ้านประหยัดพลังงาน เพราะเมื่อภายในบ้านไม่ร้อนมากเกินไป สามารถระบายความร้อนได้เองตามธรรมชาติ ก็ลดการใช้พลังงานเพื่อทำให้บ้านเย็นลงได้มาก
อ้างอิง
อรรจน์ เศรษฐบุตร, (2557). นิเวศวิทยาสถาปัตย์ Ecological Architecture. กรุงเทพมหานคร : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อรรจน์ เศรษฐบุตร, สถาปัตยกรรมสีเขียว การท้าทายเพื่อความยั่งยืน, ASA Journal
คอลัมน์ Home Expert พ.ย.66
เรื่อง Nantagan, ศรายุทธ
ภาพประกอบ เอกรินทร์ พันธุนิล
ภาพ คลังภาพบ้านและสวน